กลโกงปตท ทำไมต้องอ้างอิงราคาน้ำมันของตลาดกลางสิงคโปร์

เปิดหลักฐานปล้นประเทศไทยวันนี้ เราจะพูดถึงราคาน้ำมันของตลาดสิงคโปร์ ว่าทำไมเราถึงต้องอ้างอิงจากสิงคโปร์ด้วย ซึ่งถ้าหากมีโรงกลั่นที่นำน้ำมันดิบมากลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูปได้ น้ำมันสำเร็จรูปนี้ควรตั้งราคาขายไว้ที่เท่าไร??? พอเป็นน้ำมัน หลายๆคนอาจจะคิดว่า ก็ต้องคิดราคาถูกๆสิ ไปอ้างอิงราคาน้ำมันจากตลาดกลางสิงคโปร์ทำไม ต้องคิดราคาที่เป็นธรรม ฯลฯ สำหรับน้ำมันก็เหมือนกับสินค้าอุปโภคชนิดอื่น ที่มีความต้องการใช้สูง มีการซื้อขายตลอดเวลาเป็นจำนวนมากทั่วโลกจึงสินค้าสากล ซึ่งสะท้อนถึง อุปสงค์และอุปทาน ที่รวมต้นทุนน้ำมันดิบที่แท้จริงของภูมิภาคนั้นด้วย ดังนั้น ราคาที่เหมาะสมหรือราคาที่เป็นธรรมต่อทั้งผู้ซื้อและผู้ขายจำเป็นต้องตั้งราคาที่อ้างอิงมาจากตลาดกลางที่ซื้อขายน้ำมันในแต่ละภูมิภาค ซึ่งประเทศไทยอ้างอิงราคาน้ำมันจากราคาตลาดกลางสิงคโปร์ แต่ถ้าไม่ตั้งตามราคาอ้างอิงจากตลาดกลางสิงคโปร์ จะมีผลดังนี้ 

ถ้าราคาขายน้ำมันหน้าโรงกลั่น “แพงกว่า” ในตลาดกลางสิงคโปร์ >>>

ผู้ประกอบการขายปลีกน้ำมัน ก็จะนำเข้าน้ำมันจากตลาดกลางสิงคโปร์ที่มีราคาถูกกว่าแทนการซื้อน้ำมันจากโรงกลั่นในประเทศ และก็จะมีผู้ค้าน้ำมันนำน้ำมันสำเร็จรูปเข้ามาขายแข่งเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมันภายในประเทศและการจ้างงาน

ถ้าราคาขายน้ำมันหน้าโรงกลั่น “ถูกกว่า” ในตลาดกลางสิงคโปร์ >>> เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่เปิดตลาดเสรี ผู้ประกอบการโรงกลั่นก็จะสามารถนำน้ำมันส่งออกไปขายต่างประเทศที่ได้ราคาดีกว่าทันที ทำให้ในประเทศขาดแคลนน้ำมัน ผู้บริโภคในประเทศก็จะไม่ได้ใช้น้ำมัน ยิ่งทำให้ราคาขายปลีกในประเทศเพิ่มสูงขึ้นหนักเพราะ อุปทาน (Supply) น้อยกว่า อุปสงค์ (Demand) หรืออาจจะทำให้ผู้ประกอบการค้าปลีกน้ำมันก็จะประสบภาวะขาดทุน ถึงขั้นเจ๊งได้ (เพราะปริมาณการขายน้อย กำไรน้อยลง) และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศอย่างวงกว้าง เพราะขาดแคลนพลังงาน

ถ้าบังคับให้โรงกลั่นขายน้ำมันหน้าโรงกลั่น “ถูกกว่า” ในตลาดกลางสิงคโปร์ >>> ผู้ประกอบการโรงกลั่นจะขาดแรงจูงใจในการลงทุนเพราะลงทุนสร้างโรงกลั่นหรือค่าซ่อมบำรุงค่าดำเนินการโรงกลั่นในประเทศไทยมีต้นทุนสูงกว่า สาเหตุดังต่อไปนี้

1. ต้นทุนขนส่งการนำเข้าน้ำมันดิบสูงกว่า

เพราะประเทศไทยอยู่ห่างจากแหล่งน้ำมันดิบตะวันออกกลางไกลกว่าประเทศสิงคโปร์ รวมถึงประเทศสิงคโปร์เป็นเมืองท่า มีระบบการขนส่งและท่าเรือขนาดใหญ่และครบวงจร ทำให้ต้นทุนการขนส่งต่อหน่วยของประเทศสิงคโปร์มีต้นทุนต่ำกว่าของประเทศไทย

2. ต้นทุนการกลั่นต่อหน่วยของประเทศไทยสูงกว่า

เพราะกำลังการกลั่นของประเทศไทยมีขนาดน้อยกว่า (Economies of Scale)

3. ต้นทุนการผลิตน้ำมันสูงกว่า

เพราะโรงกลั่นในประเทศไทยผลิตน้ำมันคุณภาพสูงกว่าหรือยูโร 4-5 เพื่อมีความสามารถในการแข่งขันกับการนำเข้าน้ำมันจากโรงกลั่นสิงคโปร์และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า

4. มีต้นทุนการสำรองน้ำมันสูงกว่า

ในประเทศไทยต้องมีการสำรองน้ำมันดิบ และ น้ำมันสำเร็จรูปอย่างละ 5% ต่อความต้องการใช้ต่อปี เพื่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ในขณะที่ประเทศสิงคโปร์นั้นกลั่นเพื่อส่งออกจึงไม่มีการสำรองน้ำมัน ก็จะไม่มีภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายตรงส่วนนี้พอต้นทุนโรงกลั่นในประเทศไทยสูงกว่าแต่กลับขายได้ราคาต่ำกว่าราคาน้ำมันจากโรงกลั่นสิงคโปร์หรือราคาที่ควรจะเป็น อาจจะถึงขั้นขาดทุน ผู้ประกอบการจะย้ายเงินลงทุนไปลงทุนที่ต่างประเทศแทน ทำให้โรงกลั่นในประเทศต้องปิดตัวลง ทำให้ประเทศไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปแทน ส่งผลกระทบต่อการการจ้างงานสร้างรายได้และกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศอย่างวงกว้าง และขาดความมั่นคงทางพลังงาน

โรงกลั่นน้ำมันของ Singapore Refining Co. (SRC) ประเทศสิงคโปร์

ดังนั้นการอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปจากตลาดสิงคโปร์ จะทำให้โรงกลั่นภายในประเทศต้องพัฒนาศักยภาพและปรับปรุงการบริหารจัดการเพื่อลดต้นทุนการกลั่นน้ำมันให้สามารถแข่งขันกับโรงกลั่นอื่นๆ ในภูมิภาคหรือของโลกอยู่เสมอ ซึ่งจะเป็นผลดีกับผู้บริโภคและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศซึ่งปัจจุบัน โรงกลั่นในประเทศไทยสามารถกลั่นได้น้ำมันที่มีคุณภาพสูงกว่าประเทศสิงคโปร์ ในมาตราฐาน Euro 4 (E20 เป็น Euro 5 แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว) โรงกลั่นไทยจึงสามารถแข่งขันกับโรงกลั่นสิงคโปร์ที่กลั่นน้ำมันมาตราฐาน Euro 2 ได้  อย่างไรก็ตามจากข่าว โรงกลั่นในสิงคโปร์ของบริษัท Singapore Refining Co. (SRC) เตรียมลงทุนกว่า $500 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯเพื่ออัพเกรดโรงกลั่นให้กลั่นน้ำมันตามมาตารฐานยูโร 4

ในปัจจุบันนี้เหล่าโรงกลั่นในไทยจะมีค่าการกลั่นโดยเฉลี่ยอยู่ราวๆลิตรละ 2 บาท ค่าการกลั่นนี้ไม่ใช่ผลกำไรแต่เป็นส่วนต่างระหว่างน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นกับต้นทุนราคาน้ำมันดิบที่นำเข้ามา ถ้าหักต้นทุนและภาษีเงินได้เข้ารัฐแล้วกำไรน่าจะไม่ถึงลิตรละบาท เต็มที่ก็บาทนึง

ดังนั้นการตั้งราคาที่ต่ำกว่าราคาอ้างอิงตลาดกลางสิงคโปร์จะมีความเสี่ยงการขาดทุนสูง ค่าการกลั่นนั้นขึ้นอยู่กับบางช่วงเวลาเรียกว่า Gross Refinery Margin ดูข้อมูลได้จาก

http://www.eppo.go.th/petro/price/index.html

คำอธิบายค่าการกลั่น

http://www.marinerthai.com/sara/view.php?No=1115

อ้างอิงข่าวการอัพเกรดโรงกลั่นในสิงคโปร์http://fuelsandlubes.com/flw/src-soon-to-embark-on-us500-million-refinery-upgrade/#!prettyPhoto

ราคาน้ำมันตลาดกลางสิงคโปร์ กับ ราคาน้ำมันขายปลีกหน้าปั๊มสิงคโปร์ เป็นราคาเดียวกันหรือเปล่า?

หลายๆคนยังคงสับสนกับราคาสิงคโปร์ว่า มันเป็นราคาหน้าปั๊มน้ำมันของประเทศสิงคโปร์หรือเปล่า บอกเลยว่า “ไม่ใช่” ครับ อย่างที่อธิบายไว้แล้วว่าราคาที่เราอ้างอิงนั้นเป็นราคาที่เกิดจากตลาดการซื้อขายน้ำมันของภูมิภาคนี้ พอดีตั้งอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ แต่ทีนี้เรามาดูราคาขายปลีกหน้าปั๊มของประเทศสิงคโปร์กันดีกว่า ซึ่งเป็นราคาที่รัฐบาลสิงคโปร์มีการกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตต่างๆเหมือนบ้านเรานั่นเอง มาดูกันว่าราคาเป็นอย่างไร

ราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นตลาดกลางสิงคโปร์ วันที่ 21 มีนาคม – 18 เมษายน 2556

ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2556

ราคาล่าสุดตั้งแต่ วันที่ 16 เมษายน 2556 จะเห็นได้่ว่า ราคาเบนซิน 95 ขายปลีกในประเทศสิงคโปร์อยู่ที่ลิตรละ S$2.080 หรือ 48.12 บาทราคาน้ำมันเบนซิน 95 ตลาดสิงคโปร์ (Unleaded Petrol = MOPS95 หรือ Mean Of Platts Singapore 95) เฉลี่ย 3 วัน (16-18 เมษายน 2556) อยู่ที่บาร์เรลละ $109 หรือลิตรละ 19.88 บาทจะเห็นว่าราคานั้นคนละราคาเลย เพราะทางประเทศสิงคโปร์ ก็เก็บภาษีสรรพสามิต บริษัทน้ำมันก็เก็บค่าการตลาดเช่นเดียวกับประเทศไทยเหมือนกัน แถมโดยรวมแล้วยังเก็บมากกว่าประเทศไทยอีกด้วยประมาณลิตรละ 3.50 บาท ทั้งที่ราคาหน้าโรงกลั่นไม่มีค่าขนส่งเพิ่มเติมอีกด้วยเพราะตลาดซื้อขายกลางอยู่ในประเทศ (ราคาขายปลีกในไทยล่าสุดตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2556 ราคาเบนซิน 95 ลิตรละ 44.35 บาท ราคาหน้าโรงกลั่นอยู่ที่ลิตรละ 20.73 บาท รวมต้นทุนค่าขนส่ง ค่าประกัน ฯลฯ ประมาณลิตรละ 85 สตางค์)

(1 ดอลล่าร์สิงคโปร์ = 23.14 บาท, 1 ดอลล่าร์สหรัฐฯ = 29 บาท, 1 บาร์เรล = 159 ลิตร)

อ้างอิงราคาขายปลีกปั๊มคาลเท๊กซ์ในประเทศสิงคโปร์

http://www.caltex.com/sg/resources/fuel-price/

อ้างอิงราคาน้ำมันตลาดกลางสิงคโปร์

http://www.aip.com.au/pricing/marketwatch.htm

ประเทศมาเลเซียอ้างอิงราคาตลาดกลางสิงคโปร์ด้วยหรือไม่?

ประเด็นนี้ก็เป็นอีกประเด็นที่มีความสับสนอย่างมากมายในหมู่ประชาชนคนไทย ที่มักจะอ้างราคาน้ำมันประเทศมาเลเซียเสมอ เพราะที่นั่นขายถูกกว่าบ้านเราครึ่งต่อครึ่ง แต่น้อยคนนักที่จะเข้าใจว่า โครงสร้างราคาน้ำมันที่แท้จริงของประเทศมาเลเซียเป็นเช่นไร ก็เลยเข้าใจไปต่างๆนานาว่า “ประเทศมาเลเซียสามารถกำหนดราคาน้ำมันได้เอง” ความเข้าใจนี้เป็นความจริงแค่ครึ่งเดียว ประเทศมาเลเซียนั้นสามารถกำหนดราคาน้ำมันขายปลีกหน้าปั๊มได้ด้วยการกำหนดโครงสร้างภาษีและการอุดหนุนราคา แต่ไม่สามารถกำหนดราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นได้ครับ ทุกๆวันนี้ประเทศมาเลเซียเองก็อ้างอิงราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นตามตลาดกลางสิงคโปร์เช่นเดียวกัน ถ้าไม่อ้างอิงละก็ ก็จะเกิดเหตุการณ์เดียวกับที่อธิบายไว้ในหัวข้อก่อนหน้านี้แล้วทำไมราคาน้ำมันขายปลีกของประเทศมาเลเซียถึงถูกกว่าเรามาก? ก็เพราะประเทศมาเลเซียเค้ากำลังควบคุมราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศอยู่ ด้วยการงดเว้นการจัดเก็บภาษีและใช้เงินภาษีไปอุดหนุนราคาน้ำมัน ซึ่งงบประมาณส่วนนี้ส่วนใหญ่มาจากรายได้จากการส่งออกน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติในรูป LNG (ประเทศมาเลเซียเป็นประเทศส่งออกพลังงานสุทธิ)

ราคาน้ำมันขายปลีกประเทศมาเลเซียในปัจจุบัน

PETROL RON95 หรือเบนซิน 95 อยู่ที่ ~ 19 บาท (RM1.9) ส่วนดีเซลอยู่ที่ 18 บาท (RM1.80) ครับจากข้อมูลวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2556

โครงสร้างราคาน้ำมันของประเทศมาเลเซีย จากปั๊มน้ำมัน SHELL ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ วันที่ 16 มี.ค.2556

ราคาซ้ายคือ PETROL RON 95 หรือ เบนซิน 95 (กระดาษลอกๆหน่อย)

ราคาขวามือคือ DIESEL (ดีเซล)

Harga sebenar termasuk cukai ราคาที่แท้จริงรวมภาษี

Harga kawalan ราคาขายปลีกที่ถูกควบคุมราคาแล้ว (ราคาที่ประชาชนซื้อ)

Pelepasan Cukai oleh Kerajaan งดเว้นภาษีโดยรัฐบาล

Subsidi oleh Kerajaan เงินอุดหนุนจากรัฐบาล

RM 1 ประมาณ 10 บาท

จะเห็นได้ว่า ราคาขายปลีกของน้ำมันเบนซิน 95 ที่แท้จริงอยู่ที่ 35.40 บาท ถ้าไม่รวมภาษีจะเป็น 29.50 บาท  (ภาษีทั้งหมด 5.90 บาท) ซึ่งราคา 29.50 บาทนี้ คือราคาหน้าโรงกลั่นที่อ้างอิงตามตลาดสิงคโปร์ + ค่าการตลาด น่าเสียดายที่รูปนี้ไม่ได้ถอดค่าการตลาดออกมาให้ดู (รูปนี้ผมถ่ายเองกับมือตอนไปประเทศมาเลเซียเมื่อเดือนที่แล้ว)

ราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นตลาดกลางสิงคโปร์ วันที่ 7 มีนาคม – 4 เมษายน 2556

โครงสร้างราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศไทย วันที่ 15 มีนาคม 2556

เอาเป็นว่า ราคาหน้าโรงกลั่นอ้างอิงราคาสิงคโปร์ ในวันที่ 15 มีนาคม 2556 นั้น บาร์เรลละ $123 หรือลิตรละ 22.43 บาท สมมติว่ามีค่าขนส่งจากสิงคโปร์ประมาณลิตรละ 50 สต. (ให้น้อยกว่าขนส่งไปไทยนิดหน่อย) จะตกลิตรละประมาณ 23 บาท แต่ป้ายนี้อาจจะติดมาตั้งแต่ต้นปีแล้วก็ได้ (สังเกตกระดาษเปื่อยๆ)

ลองย้อนไปดูว่าราคาน้ำมันเบนซิน 95 ตลาดสิงคโปร์สูงสุดตั้งแต่ต้นปีราคาเท่าไร อยู่ราวๆ บาร์เรลละ $130 หรือตกละลิตรละ 24 บาท (บวกให้อีกลิตรละ 50 สต. สำหรับค่าขนส่งไปมาเลเซีย) ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์และต้นเดือนมีนาคม 2556 ที่ราคาเบนซิน 95 ในประเทศไทย อยู่ลิตรละ 48.75 บาท (วันที่ 1 มีนาคม 2556) แสดงว่าค่าการตลาดที่ปั๊มน้ำมันในประเทศมาเลเซียได้ไป ตกลิตรละ 5.00 – 6.50 บาท (ณ วันที่ 1 มีนาคม 2556 และวันที่ 15 มีนาคม 2556 ตามลำดับ) ถ้าราคาน้ำมันตลาดกลางสิงคโปร์น้อยกว่านี้แปลว่าค่าการตลาดจะยิ่งสูงกว่า ถ้ามาเลเซีย fix ราคาขายปลีกก่อนภาษีอยู่ที่ลิตรละ 29.50 บาท

เข้าใจแล้วว่าทำไมปั๊มนอกในไทยถึงเจ๊งกันบ่อยๆเพราะค่าการตลาดต่ำเตี้ยจริงๆเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ในวันนั้นค่าการตลาดเบนซิน 95 ในประเทศไทยอยู่ที่ลิตรละ 2.96 – 3.59 บาทเท่านั้น (ณ วันที่ 15 มีนาคม 2556 และวันที่ 1 มีนาคม 2556 ตามลำดับ) แบบว่ารายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายในปั๊มน้ำมันของไทยอยู่ประมาณครึ่งนึงของปั๊มน้ำมันในประเทศมาเลเซียและท้ายสุด รัฐบาลประเทศมาเลเซียก็อุดหนุนราคาให้ลิตรละ 10.50 บาท (งบประมาณนี้คือรัฐบาลช่วยประชาชนจ่ายให้บริษัทน้ำมัน ไม่ใช่ไปบังคับให้ปั๊มน้ำมันขายในราคาที่กำหนด เหมือน LPG หรือ ดีเซล ในประเทศไทยนี่เอง) ทำให้ราคาขายปลีกอยู่ที่ ลิตรละ 19 บาท นั่นเองส่วนน้ำมันดีเซลก็ใช้หลักการงดเว้นภาษีและการอุดหนุนราคาแบบเดียวกันครับ

(1 ดอลล่าร์สิงคโปร์ = 23.14 บาท, 1 ดอลล่าร์สหรัฐฯ = 29 บาท, 1 บาร์เรล = 159 ลิตร)

ข่าวรัฐบาลมาเลเซียจ่ายเงินอุดหนุนพลังงานกว่า 2 หมื่นล้านริงกิต หรือ 2 แสนล้านบาท

http://www.mcot.net/site/content?id=4ff6741d0b01dabf3c0345f0#.UXOZSJiJmJU

โรงกลั่นในประเทศไทย และกำลังการกลั่นในประเทศไทย

ปัจจุบันในประเทศไทยมีโรงกลั่นอยู่ทั้งหมด 7 แห่ง คือ

1. ไทยออยล์

2. เอสโซ่ ศรีราชา รีไฟเนอรี่

3. บางจาก ปิโตรเลียม

4. ระยองเพียวรีไฟเออร์

5. สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟนิ่ง

6. ไออาร์พีซี

7. พีทีที โกลบอล เคมิคอล

โดยมีข้อมูลกำลังการผลิตและสัดส่วนผู้ถือหุ้นดังต่อไปนี้

ข้อมูลกำลังการกลั่นและผู้ถือหุ้นของโรงกลั่นในประเทศไทย รวมถึงส่วนแบ่งการตลาดของ ปตท.

ซึ่งขณะนี้ประชาชนได้รับข้อมูลได้ไม่ครบถ้วนจึงเกิดความสับสนขึ้นมาว่า “แท้จริงแล้ว บริษัทคนไทยอย่าง ปตท. เป็นเจ้าของโรงกลั่นทั้งหมดยกเว้นเอสโซ่แต่เพียงแห่งเดียว ทำให้ ปตท. มีสิทธิ์กำหนดราคาได้” แต่ความจริงแล้ว จากข้อมูลในปัจจุบัน จะพบว่า ปตท. มีส่วนในการถือหุ้นโรงกลั่นทั้งหมด 5 โรงกลั่นจาก 7 โรงกลั่น ดูเหมือนเยอะ (อาจจะไม่นับ โรงกลั่นระยองเพียว RPC ที่กำลังมีปัญหาอยู่และกำลังการกลั่นน้อยมาก จะกลายเป็น 5 โรงจาก 6 โรง ทำให้สัดส่วนเหมือนราวๆ 83% ของกำลังการกลั่นในประเทศเลยทีเดียว) แต่ถ้าลองถอดสัดส่วนผู้ถือหุ้นดู จะพบกว่า ปตท.ถือหุ้นใหญ่เหลือเพียง 3 โรงกลั่นจาก 7 โรงกลั่น เพราะ …

โรงกลั่นสตาร์ปิโตรเลียมนั้น เชฟรอนถือหุ้นใหญ่ 64% เกินครึ่งอีกด้วย ขณะที่ ปตท โกงคนไทยถือส่วนที่เหลือและมาอีกขั้นนึงจะพบว่า…

โรงกลั่นบางจาก ปตท.ถือหุ้นใหญ่อันดับที่หนึ่งก็จริง แต่ถือแค่ 27.22% ขณะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ตัวจริง คือ คนไทยที่ถือหุ้นรายย่อยมีทั้งหมด 62.74% เกินครึ่งเช่นกัน  ซึ่ง ปตท. ไม่มีสิทธิ์หรือมีสิทธิ์จำกัดในการกำหนดนโยบายใดๆแล้วพอดูให้ลึกลงไป ปรากฎว่า ไม่มีโรงกลั่นไหนเลยที่ ปตท. ถือหุ้นใหญ่เกินครึ่ง ที่จะกำหนดทิศทางราคาได้แต่เพียงผู้เดียว ถ้าผู้ถือหุ้นรายอื่นๆไม่เห็นด้วยทั้งหมด ผมก็ได้ถอดสัดส่วนต่างๆให้ดูดังต่อไปนี้

1. ส่วนแบ่งการตลาดหรือสัดส่วนผู้ถือหุ้นที่แท้จริงของ ปตท. ทั้งหมด อยู่ที่ 34% ของกำลังการกลั่นในประเทศเท่านั้น 2.กำลังการกลั่นของโรงกลั่น ที่ ปตท.ถือหุ้นใหญ่ที่สุด อยู่ที่ 58% ของกำลังการกลั่นในประเทศ 3.กำลังการกลั่นของโรงกลั่นที่ ปตท โกงคนไทยถือหุ้นเกินครึ่งนึง ไม่มีเลย

หมายความว่า ถ้ารัฐบาลกำหนดให้ขายน้ำมันหน้าโรงกลั่นต่ำกว่าราคาสิงคโปร์ อย่างน้อย โรงกลั่นที่ ปตท.ไม่ได้ถือหุ้นใหญ่อยู่ราวๆ 42% ของกำลังการกลั่นในประเทศจะถูกส่งออกทันที (ประเทศไทยเป็นประเทศการค้าเสรี ทุกบริษัทมีสิทธิ์จะเลือกที่จะขายในประเทศหรือส่งออก) จะทำให้ประเทศไทยขาดแคลนน้ำมัน เพราะจะมีน้ำมันเหลือ 635,000 บาร์เรลต่อวันขณะที่ประเทศไทยบริโภคอยู่ราวๆ 850,000 – 900,000 บาร์เรลต่อวัน (ซึ่งยังไม่ลงไปในรายละเอียดน้ำมันคงเหลือของน้ำมันแต่ละชนิด)

แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่า ปตท.ที่ถูกกล่าวหาว่าปตท โกงคนไทย จะเป็นเจ้าของโรงกลั่นทั้งหมด 100% แต่ถ้าไม่อ้างอิงราคาตลาดสิงคโปร์ สุดท้ายแล้ว โรงกลั่นของ ปตท. ก็จะไม่สามารถแข่งขันกับโรงกลั่นในสิงคโปร์ ทำให้ธุรกิจโรงกลั่นขาดทุนและแข่งขันกับการนำเข้าน้ำมันจากสิงคโปร์ไม่ได้อยู่ดี ดังที่กล่าวไว้แล้ว สุดท้ายถ้าจะให้แข่งขันได้ ก็ต้องเอาภาษีของคนไทยไปอุ้มช่วยเหลืออยู่ดี ซึ่งสุดท้ายจะเป็นผลเสียต่อคนไทยโดยรวมมากกว่า

Share This: