ข้อถกเถียงรถติดก๊าซ NGV และ LPG ไม่มีอะไรอันตรายมากกว่ากัน

ถูกแชร์กันว่อนโซเชียลกับประเด็น NGV อันตรายกว่า LPG จนเกิดความสับสนว่าแท้จริงแล้วข้อเท็จจริงเป็นดั่งที่มีการแชร์ไปทั่วหรือไม่ ขณะเดียวกันรัฐบาลได้รณรงค์ให้ผู้ใช้รถยนต์ที่ประสงค์จะติดก๊าซนั้นหันไปใช้ NGV แทน LPG ที่มีแนวโน้มว่าจะปล่อยลอยตัวในอนาคตอีก ทำให้ผู้ใช้รถยนต์เกิดความกังวลว่าตกลงความเป็นจริงคืออะไรกันแน่

เราจึงได้สอบถาม วิสูตร ชินรัตนลาภ วิศวกรชำนาญการพิเศษ รักษาการผู้เชี่ยวชาญด้านก๊าซปิโตรเลียมเหลว กรมธุรกิจพลังงาน ถึงเรื่องนี้

วิสูตร อธิบายว่า  NGV : Natural Gas Vehicle หรือ CNG : Compressed Natural Gas คือ ก๊าซธรรมชาติที่ถูกบีบอัด มีคุณสมบัติเบากว่าอากาศ จึงลอยขึ้นข้างบน ส่วน LPG : Liquefied petroleum gas คือ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือที่เรียกกันว่า ก๊าซหุงต้ม ที่ใส่ถังใช้กันตามบ้านทั่วไป มีคุณสมบัติหนักกว่าอากาศ จึงกองรวมกับพื้น โดยทั้งสองตัวคือก๊าซธรรมชาติเหมือนกัน และ ทั้งสองตัวนี้ถูกนำมาใช้เป็นพลังงานทดแทนทั้งคู่เพื่อเป็นทางเลือกเพื่อความประหยัด ซึ่งในเมื่อไม่ใช่เชื้อเพลิงหลักที่ออกแบบมาโดยตรงแล้ว การบำรุงรักษาอุปกรณ์ต้องเข้มงวด

วิสูตร อธิบายว่า LPG เวลาบรรจุถัง จะควบแน่นอยู่ในรูปของเหลว มีข้อดีคือสามารถบรรจุได้เยอะ ถังที่ใช้ก็ไม่ต้องเป็นถังที่ทนแรงดันสูงมาก ส่วน NGV นั้นเบากว่าอากาศและระเหยง่าย การบรรจุถังเก็บอยู่ในรูปของก๊าซไม่ยุบตัวจึงต้องใช้แรงดันมากกว่า แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นว่าอันตรายกว่าเพราะในเมื่อแรงดันสูงภาชนะที่ใช้ก็ต้องปรับตัวให้รับแรงดันระดับนี้

สำหรับมาตรฐานความปลอดภัยของถังที่บรรจุก๊าซทั้งสองชนิดนั้น สำหรับ NGV ต้องใช้ถังเหล็กขึ้นรูป ไม่มีตะเข็บ หนาราว 8 มม. ส่วน LPG ต้องใช้ถังเหล็กขึ้นรูป ไม่มีตะเข็บ หนาราว 2.5 มม.

วิสูตร บอกว่า เรื่องความปลอดภัยนั้นการใช้งานต้องเอาใจใส่ เช็คเรื่องการรั่วไหลไม่ให้เกิดอันตราย เพราะก๊าซโดยธรรมชาติมีความสามารถรั่วง่าย และเล็ดลอดได้ง่าย แต่ถ้าอุปกรณ์แน่นหนาสมบูรณ์ก็ปลอดภัย การตรวจสอบสำคัญเพราะรถต้องมีกำหนดดูแล

“ที่สำคัญคือ จมูกเราต้องทำงาน อย่าง LPG จะหนัก เวลารั่วก็จะไหลลงดิน ฉะนั้นเราจึงเติมกลิ่นเข้าไปเพื่อให้ผู้ใช้รู้ว่ามีการรั่ว เมื่อมีสัญญาณนี้ต้องหาช่างมาตรวจสอบ อีกอย่างคือ หู สำคัญมาก หู เราต้องทำงานตลอด ได้ยินเสียงปี้ดๆต้องพิจารณา ถ้าจะให้ต่อยอดขึ้นไปอีก คือ ใช้ตาดู โดยใช้น้ำสบู่ ไปลูบไล้ตามท่อหรือข้อต่อ ดูว่ารั่วหรือไม่ ต้องตรวจสอบว่ามีรอยรั่วที่ท่อส่งหรือไม่ หากพบต้องปิดวาล์วที่ถังไม่ให้ออกมาเพ่นพ่าน เพราะอย่าลืมว่าถ้าก๊าซรั่วเฉยๆ ยังแก้ไขได้ คือถ้าเรารู้ก่อนก็ปิดวาล์วเสีย ส่วน CNG เวลารั่วก็จะลอยขึ้นข้างบน จะไม่สะสม ดังนั้นโอกาสที่จะเอาไฟไปจ่อก๊าซที่ลอยไปข้างบนก็ถือว่ายากกว่า”

แล้วอย่างไหนอันตรายกว่ากัน

ถ้าติดไฟก็อันตรายหมด ก็ต้องเข้าใจว่าองค์ประกอบการติดไฟ ต้องมี 3 อย่าง คือ เชื้อเพลง ประกายไฟ และ อากาศ หาก 3 อย่างนี้ผสมกันพอดีก็จะเกิดเพลิงไหม้ และถ้าไหม้ในที่อับอากาศก็จะเกิดเสียงดังขึ้น ชาวบ้านเรียกว่า ระเบิด ดังนั้นเมื่อก๊าซรั่วได้ สิ่งที่ต้องทำคือหมั่นดูแลก่อนจะเกิดอุบัติเหตุ ต้องบำรุงรักษาตรวจสอบ หรือไม่ใช้ผิดประเภท เช่น นำอุปกรณ์ LPG ไปใช้กับ NGV อย่างนี้อันตราย

วิสูตร บอกว่า ปัญหาของการรณรงค์ให้หันมาใช้ NGV มีอย่างเดียวคือ การตอบสนองคนใช้ไม่ทัน แต่ที่เราอาจจะเกิดความรู้สึก เพราะใช้ LPG มานาน ซึ่งที่จริง LPG นี้แรกๆ เลยก็ไม่มีคนใช้ รัฐบาลต้องส่งเสริมให้ใช้ เพื่อลดการตัดไม้เผาถ่าน ดังนั้นนโยบายให้รถหันมาใช้ NGV แทน ก็เป็นนโยบายหนึ่ง เพราะเวลาผ่านไปเราเห็นว่ามีประโยชน์ ซึ่งต่างชาติก็ใช้กันเยอะ อย่างเมืองจีนบังคับให้ติด CNG ด้วยซ้ำ ส่วน LPG ควรนำไปใช้กับการลงทุนที่ให้ผลคุ้มค่ากว่า ยกตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ก็ไม่ให้มีการใช้ LPG แล้ว

อย่างไรก็ตามเมื่อตัดสินใจใช้พลังงานทดแทนนี้ ไม่ว่า LPG หรือ NGV หลักคือต้องป้องกันไม่ให้เกิดการรั่วไหล ไม่ให้ประกายไฟเกิด อุปกรณ์ต้องมาตรฐาน ต้องตรวจสอบอย่างมั่นใจว่าถังแข็งแรงใช้เก็บเชื้อเพลิงได้ตามที่ออกแบบ จุดเชื่อมต่อต้องสนิทไม่รั่ว สิ่งที่อยากแนะนำคือควรมีเครื่องดับเพลิงเล็กๆ สำหรับฉุกเฉินไว้ด้วย

ขอบคุณบทความดีๆจาก prachachat.net

Share This: