ปตท.เป็นคนกำหนดราคาน้ำมันจริงหรือ?

ผมเห็นจากข่าวทีวีและในเฟสบุ๊คว่ามีกลุ่มคนเดินทางประท้วงเรื่องราคาน้ำมันแพงที่หน้าทำเนียบรัฐบาลโดยใช้แคมเปญว่า “ราคาน้ำมันไทยต้องเท่ามาเลเซีย” แล้วนำป้ายราคาน้ำมันของ 2 ประเทศมาเปรียบเทียบกัน ซึ่งดูแล้วผมก็คิดว่า จริงด้วยเลย! ทำไมต่างกันเท่าตัวเลย ทั้งๆ มาเลเซียกับไทยก็เป็นคู่แข่งทั้งกีฬาฟุตบอลและตะกร้อ อีกทั้งเศรษฐกิจก็แข่งกันในระดับภูมิภาคอาเซียนมาตลอด เป็นแบบนี้ได้อย่างไร ผมเลยลองศึกษาว่า ทำไมราคาน้ำมันถึงต่างกันขนาดนี้ โดยได้ประเด็นหลักๆ อยู่ 2 ประเด็น คือ 1. โครงสร้างราคาน้ำมัน และ 2. คุณภาพน้ำมัน แน่นอนว่าอย่างหลังคุณภาพน้ำมัน บ้านเราใช้น้ำมันมาตรฐานยุโรป 4 หรือ EURO 4 ส่วนประเทศมาเลเซียใช้ EURO 2 – EURO 4 ซึ่งต่ำกว่าบ้านเรา แน่นอนครับของเกรดต่ำกว่าราคาก็ต้องถูกกว่าเป็นเรื่องปกติ แต่นั่นมันก็ไม่น่าถึงจะเป็นราคาที่ห่างกันเท่าตัวใช่ไหมครับ ผมเลยก็ต้องย้อนกลับไปดูข้อแรก นั้นคือโครงสร้างราคาน้ำมัน

โดยโครงสร้างราคาน้ำมันจะ 3 ส่วนหลักๆ คือ 1. ต้นทุนเนื้อน้ำมัน หรือ ราคาหน้าโรงกลั่น มีสัดส่วนต่อราคามากกว่า 65% และต้นทุนตัวนี้ ก็สะท้อนราคานำเข้าน้ำมันดิบจากตลาดโลก ที่ปรับไปตามกลไกอุปสงค์-อุปทาน (Demand-Supply)
2. ภาษีและเงินส่งกองทุนต่างๆ ที่จัดเก็บตามวัตถุประสงค์ต่างๆ กัน มีอัตราส่วนราวๆ 28% ที่มีผลต่อขายปลีกราคาน้ำมันของไทย และยังเป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันของไทย แตกต่างจากราคาของประเทศเพื่อนบ้าน และ 3. สุดท้าย ค่าการตลาด ซึ่งเป็นรายได้ของผู้ของประกอบการปั๊มน้ำมัน ซึ่งค่าการตลาดบวกภาษี เฉลี่ยอยู่ที่ราวๆ 6-7%
ซึ่งระบบการค้าน้ำมันเป็นระบบการค้าเสรี บริษัทน้ำมันสามารถกำหนดราคาขายปลีกได้ด้วยตนเอง โดยอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ตลาดสิงคโปร์ เป็นตลาดซื้อขายน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในเอเซีย ขณะนี้ตลาดน้ำมันในประเทศอยู่ในภาวะแข่งขันกันอย่างเต็มที่ ทำให้ตลาดเป็นของผู้ซื้อ หน่วยงานที่กำกับดูแลทางด้านราคาน้ำมัน คือ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) หากเรามาพิจารณาจริงๆ ตัวเลขที่ปตท.สามารถปรับขึ้นลงเองได้ ก็มีแต่ส่วนของค่าการตลาดซึ่งเป็นรายได้ผู้ประกอบการปั๊ม อัตราส่วน  6-7 เปอร์เซนต์จากราคาน้ำมันที่เราเติมเป็นตัวเลขน้อยมากๆครับ มันจึงไม่มีผลกระทบเท่าไรกับราคาน้ำมันและมันก็บอกได้ว่าทำไม่น้ำมันแต่ละยี่ห้อถึงต่างกัน 5 – 10 สตางค์ได้ แต่เท่าที่เคยเติมๆมา ปตท.ราคาน้ำมันถูกสุดนะครับ(ไม่นับปั๊มหลอดที่ขายเถื่อนนะครับ)

ตัวที่กระทบกับราคาน้ำมันจริงๆ จึงเป็นตัวเนื้อน้ำมันซึ่งเป็นไปตามกลไกตลาดโลก เพราะมีสัดส่วน 65% และ ส่วนที่ทำให้ต่างกับประเทศเพื่อนบ้าน คือส่วนของภาษีและเงินส่งเข้ากองทุน 28% ภาษีที่จัดเก็บแพงแบบนี้ก็เพราะน้ำมันถูกจัดเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยตั้งแต่สมัยก่อน(สมัยนั้นคงเห็นว่าใครมีรถต้องเป็นคนรวยเท่านั้น และน้ำมันเป็นสินค้าใช้คู่กันจึงใช้ภาษีฟุ่มเฟือยเหมือนกัน สมเหตุสมผลอยู่ครับ) จึงเป็นเรทภาษีที่อยู่ในระดับสูงมาถึงปัจจุบันครับ การเปลี่ยนแปลงภาษีคงต้องใช้อำนาจของรัฐบาลออกเป็นกฏหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงภาษี แต่ก็จะกระทบรายได้รัฐบาลซึ่งตอนนี้หากดูๆแล้วงบประมาณน่าจะขาดดุลยาวอีกประมาณ 5 ปีเป็นอย่างต่ำครับ เรื่องนี้จึงพับเก็บไปได้เลยครับ ได้แต่ลุ้นแค่ว่าราคาน้ำมันตลาดโลกจะยังคงอยู่ระดับต่ำต่อไปเรื่อยๆ ครับ  ที่เขียนๆมาก็เพียงจะบอกว่าส่วนใหญ่ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ปตท.ไม่ได้กำหนดราคาน้ำมันได้ตามใจเหมือนสินค้าอื่นๆทั่วๆไปที่ ผลิตแล้วบวกกำไรถึงตั้งราคา เพราะมีกลไกราคา,โครงสร้างราคาและมีหน่วยงานที่กำกับดูแลราคาน้ำมันจึงเท่ากับว่า ส่วนใหญ่ของราคาน้ำมันประมาณ 95เปอร์เซนต์เลยก็จะว่าได้ จะถูกปัจจัยภายนอกกำหนดเกือบทั้งหมดครับ.

Share This: