สตง. ให้ ปตท. ชี้แจงเรื่องแบ่งแยกท่อก๊าซไปให้รัฐ

ท่อก๊าซ ปตท. สำคัญไฉน
โดย ฉกาจนิตย์ จุณณะภาต นักกฎหมายพลังงาน

    จากการเดินสายชี้แจงเรื่อง hot issue ที่ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ต้องการให้ ปตท. แบ่งแยกท่อก๊าซของ ปตท. ไปให้รัฐ ในช่วงที่ผ่านมา นั้น

    ผมเริ่มมองเห็นภาพว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของ ปตท. กับ รัฐ อย่างที่เคยเข้าใจเสียแล้ว แต่การหาทางออกที่ไม่ถูกต้องของเรื่องนี้ จะกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ประชาชนทุกคนมากทีเดียว

    ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น คือ ตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทยจะเกิดความปั่นป่วนอย่างมาก เพราะขนาดของกลุ่ม ปตท. ในตลาดมีขนาดถึง 1 ใน 4 ของภาพรวม

    เอกชนและนักลงทุน จะสูญเสียความเชื่อมั่นและไม่กล้าลงทุนในโครงการใหญ่อีก เพราะไม่รู้ว่าจะโดนรัฐยึดไปเมื่อไหร่

    นอกจากนั้น ระบบคุ้มครองสิทธิ์ของเอกชนโดยศาลจะสั่นคลอน เพราะคำพิพากษาของศาลไม่ถูกเชื่อถือโดยหน่วยงานของรัฐ

    เรื่องย่อๆ เกี่ยวกับท่อก๊าซ ปตท. นี้ เพจ ‘สรุป’ ได้จัดทำไว้แล้วค่อนข้างดีสำหรับผู้ที่ไม่ได้ติดตามมาก่อน #สรุป #สรุปเดียว ลองอ่านกันได้ครับ

    สำหรับในโพสต์นี้ ผมจะขอสรุปเรื่องนี้อีกครั้ง เพื่อจะเสริมให้พอเห็นภาพว่า เรื่องท่อก๊าซ ปตท. เริ่มต้นจากตรงไหน และหน่วยงานรัฐออกมาขอให้ ปตท. แบ่งแยกท่อก๊าซ โดยใช้หลักการอะไร

  1. เมื่อปี 2544 ปตท. ได้แปลงสภาพตัวเองจากองค์การของรัฐให้ป็นบริษัทมหาชน เพื่อระดมทุนและประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ถามว่าทำให้ประสิทธิภาพต่างกันตรงไหนกับของเดิม เพื่อนๆ ลองเทียบการรถไฟ องค์การโทรศัพท์ กับ ปตท. การท่าอากาศยาน ทุกวันนี้ดูครับ
  2. ในการแปลงสภาพ ปตท. ต้องใช้กฎหมายฉบับหนึ่ง เรียกย่อๆว่า ‘กฎหมายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ’ ซึ่งกำหนดว่า ทรัพย์สินทั้งหมดที่มีอยู่เดิม ให้โอนมาเป็นของ ปตท. ที่แปลงสภาพแล้วทั้งหมด กฎหมายกำหนดไว้แบบนี้ เพื่อให้บริษัทที่แปลงสภาพมีทุนในการดำเนินการต่อ มิเช่นนั้น ก็ต้องมาแบบตัวเปล่าๆ ซึ่งถ้าต้องหมดตัวเช่นนั้น ก็ไม่รู้ว่า ปตท. จะแปลงสภาพมาเพื่ออะไร
  3. หลังจากนั้นอีก 5 ปี มีกลุ่ม NGO ยื่นฟ้องศาลปกครองสูงสุด บอกว่า ปตท. แปรรูปไม่ได้ ผิดกฎหมาย ศาลท่านก็ตัดสินว่า การแปรรูป ปตท. เดินมาไกลถึงขนาดนี้แล้ว คงไม่ต้องให้เดินถอยหลังกลับไปอีก
  4. แต่ครั้งนี้ ศาลได้วางหลักกฎหมายขึ้นมาบอกว่า แม้ ปตท. จะแปรรูปแล้ว แต่ก็ต้องแบ่งแยกทรัพย์สินที่ใช้ ‘อำนาจมหาชน’ ที่ได้มาก่อนแปรรูป ปี 2544 ให้กับรัฐนะจ๊ะ ซึ่งตอนนั้น ปตท. ก็ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะไม่แฟร์กับนักลงทุน ก็ตอนที่ ปตท. เปิดขายหุ้นให้นักลงทุนทั่วไป ได้รวมมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดไปแล้ว ไม่เห็นมีใครออกมาทักท้วงอะไร แต่พอผ่านมา 5 ปี จะมาแบ่งทรัพย์สิน ปตท. ไปเฉยเลย ก็เท่ากับว่านักลงทุนถูกหลอกเมื่อ 5 ปีที่แล้ว แต่ศาลก็คือศาล ทุกคนต้องเคารพ มันคือกติกา ปตท. ก็ไม่มีปัญหาอะไร แบ่งแยกทรัพย์สินคืนไป
  5. หลักการแบ่งทรัพย์สิน หน่วยงานต่างๆ ก็มาตกลงกันตามที่ศาลบอก คือ อันไหนที่ใช้ ‘อำนาจมหาชน’ ได้มาก่อน ปตท. แปรรูป ก็ให้กับรัฐไป ได้แก่ การเวนคืนที่ดิน การรอนสิทธิที่ดินเอกชน และทรัพย์สินที่อยู่บนที่ดินเหล่านั้น (ซึ่งก็คือ ท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ปตท. นั่นเอง)
  6. พอ ปตท. แบ่งแยกเสร็จ ก็ส่งคืนให้กับรัฐไปตามหลักเกณฑ์ ซึ่งศาลปกครองสูงสุดก็เห็นด้วยว่า ปตท. ส่งท่อก๊าซให้รัฐตามคำพิพากษาครบแล้ว
  7. แต่ปรากฏว่าวันที่ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งว่า ปตท. ส่งครบแล้ว สตง. กลับส่งหนังสือไปถึงศาลบอกว่า ปตท. ยังส่งคืนไม่ครบนะ โดยเฉพาะท่อก๊าซในทะเล แต่ สตง. ก็ดันไปสัญญากับศาลว่า เรื่องที่ว่าจะคืนครบหรือไม่นั้น ก็แล้วแต่ศาลปกครองสูงสุดจะพิจารณาละกันขอรับ สตง. เพียงแต่ให้ข้อมูลเพิ่มว่าศาลอาจจะได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วน ตอนที่รับรองว่า ปตท. ส่งท่อก๊าซครบแล้ว
  8. ศาลปกครองสูงสุดก็ดูข้อมูลที่ สตง. ส่งมาให้ แล้วพิจารณาว่า ท่อก๊าซในทะเลไม่เข้าหลัก ‘อำนาจมหาชน’ ที่ศาลตัดสินเอาไว้ ดังนั้น ที่ศาลรับรองว่า ปตท. ส่งท่อก๊าซครบ จึงถูกต้องแล้ว ศาลก็เลยส่งหนังสือไปแจ้ง สตง. ว่า ศาลพิจารณาความเห็น สตง. แล้ว ก็ยังยืนยันแบบเดิมว่า ปตท. ส่งท่อก๊าซครบแล้ว ‘ตามหลักกฎหมาย’
  9. เรื่องท่อส่งก๊าซ ปตท. ก็เงียบไปอยู่หลายปี และ สตง. ก็รับรองงบการเงิน ปตท. ต่อตลาดหลักทรัพย์มาตลอดไม่มีประเด็นเรื่องท่อส่งก๊าซอีก ทุกอย่างดูเหมือนจะจบตามที่ศาลปกครองสูงสุดบอก
  10. ปรากฏว่าหลัง คสช. ยึดอำนาจปี 2557 ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ออกมาเคลื่อนไหวเรื่อง ท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ปตท. อีกครั้ง คราวนี้ไปไกลกว่าเดิม ยิ่งกว่า สตง. คือ ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง (อีกครั้ง) ขอให้ ปตท. แบ่งแยกท่อส่งก๊าซธรรมชาติทั้งหมด ไม่ว่าก่อนหรือหลังแปรรูป มูลค่า 68,000 ล้านบาท พูดง่ายๆ ว่าขอให้ ปตท. มอบท่อก๊าซทั้งหมดให้รัฐนั่นเอง เพราะผู้ตรวจการแผ่นดินบอกว่าท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ประชาชนใช้ร่วมกันก็ต้องตกเป็นของแผ่นดิน!
  11. พอกระแสถูกจุดขึ้นมาอีกครั้ง สตง. ที่เคยเงียบไป ก็ลืมสัญญาที่ตัวเองให้ไว้กับศาล ออกมาร่วมวงกับเขาด้วย โดยขอให้ ปตท. มอบท่อก๊าซในทะเลที่ สตง. เคยบอกไว้นานมาแล้วให้กับรัฐ แต่เนื่องจาก สตง. ไม่มีอำนาจไปฟ้องเรียกท่อก๊าซเอง จึงบังคับเชิงข่มขู่ว่า ให้คณะรัฐมนตรี กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน ไปเอามาแทน สตง. มิเช่นนั้น สตง. จะฟ้องศาลให้เอาผิด!

    เมื่อตอนนี้อำนาจศาลถูกท้าทาย ก็ต้องดูกันต่อไปครับว่า เรื่องนี้จะหาทางออกกันอย่างไร

    สรุปคือ เรื่องท่อก๊าซธรรมชาติ ปตท. ก็กลับมาเป็นมหากาพย์ด้วยประการฉะนี้ครับ สาเหตุหลักเกิดจากมีบุคคลและหน่วยงานบางกลุ่มไม่เชื่อตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดเมื่อหลายปีก่อนนั่นเอง

    สำหรับในความเห็นส่วนตัวของผม การเอาท่อส่งก๊าซของ ปตท. ไปได้สำเร็จ นั้น อาจจะได้แค่เพียงความสะใจในช่วงสั้นๆ แต่ถ้ามองระยะยาวแล้ว มันไม่คุ้มกันเลยกับมูลค่าท่อเพียงไม่กี่หมื่นล้าน กับ ความพังพินาศของระบบความเชื่อมั่นของประเทศไทย ซึ่งประเมินค่าไม่ได้

    ทุกวันนี้จึงได้แต่ภาวนาขอให้ผู้นำประเทศไทย ยึดมั่นในหลักกฎหมายและนิติรัฐอย่างมั่นคงครับ

—————————————————————————————————-

แล้วถ้า เรื่องการที่จะให้กฤษฎีกาตีความเรื่องนี้ในขณะนี้ ทำได้หรือไม่? อย่างไร? ควรทำหรือไม่?

  1. ความจริงแล้วมติ ครม. 18 ธันวาคม 2550 ที่รับทราบคำพิพากษาของคดีแปรรูป ปตท. บอกไว้ว่า หากมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการตีความคำพิพากษาของศาล ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้ตีความครับ
  2. แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นคือ ก่อนที่ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งรับรองการคืนทรัพย์สินของ ปตท. เป็นเวลาถึง 1 ปี (ระหว่างวันที่ 18 ธ.ค. 2550 – 26 ธ.ค. 2551) ไม่มีหน่วยงานใดยื่นให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความคำพิพากษาเลยครับ แม้แต่ สตง. เองก็ตาม

  3. ดังนั้น จึงมองเป็นอื่นไม่ได้ว่า ก่อนศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งรับรอง ปตท. นั้น หน่วยงานของรัฐเองก็ไม่เคยมองว่ามีข้อโต้แย้งในการตีความคำพิพากษา

  4. แม้ว่าต่อมา สตง. เลือกที่จะลืมข้อเท็จจริงสองข้อข้างต้นนี้ไป และส่งหนังสือไปแจ้งศาลปกครองสูงสุดภายหลังที่ศาลมีคำสั่งรับรองไปแล้วเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2552 ว่า สตง. ไม่เห็นด้วยกับการแบ่งแยกทรัพย์สิน (แทนที่จะส่งไปยังกฤษฎีกาตามมติ ครม.)
  5. แต่ สตง. ก็ต้องไม่ลืมว่า ตนเองได้สละสิทธิ์ที่จะหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาไปแล้วตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ. 2552 เพราะ สตง. แจ้งศาลเองว่า “การแบ่งแยกทรัพย์สินครบถ้วนหรือไม่ ให้คำวินิจฉัยศาลเป็นที่สุด”

  6. แต่พอศาลวินิจฉัยแล้วว่า ในความเห็นของศาล ปตท. ได้แบ่งแยกทรัพย์สินครบถ้วนตามคำพิพากษาแล้ว สตง. กลับลืมคำมั่นสัญญาของตัวเองที่เคยให้ไว้ นำเรื่องส่งคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อตีความในสิ่งที่ศาลมีคำพิพากษาไปแล้ว

    ดังนั้น ในความเห็นของผม จึงมองว่า การกระทำของ สตง. ที่ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ควรทำและไม่เหมาะสมครับ เพราะเป็นการท้าทายอำนาจศาลปกครองสูงสุดโดยตรง และยังเป็นการผิดคำพูดของตัวเองอีกด้วย

    สำหรับในมุมของคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็น่าเห็นใจอยู่นะครับ เพราะเป็นที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล จะไม่รับเรื่องที่หน่วยงานรัฐส่งมาหารือก็ไม่ได้

    ซึ่งเรื่องนี้ต้องถาม สตง. มากกว่าครับ ว่า เหตุใดจึงส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาล่าช้าไปถึง 7 ปี และถ้าคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นที่เหมือนศาลหรือแตกต่างจากศาล สตง. จะทำอย่างไรต่อไป?

เพราะความเห็นกฤษฎีกาไม่อาจเพิกถอนคำพิพากษาของศาลได้

ที่มา: Facebook: Pum Chakartnit

Share This: