อนาคตความมั่นคงทางพลังงานของไทย

ความมั่นคงทางพลังงาน ตีความหมายง่ายๆ คือการที่ประชาชนมีทรัพยากรปิโตรเลียมใช้อย่างไม่ขาดแคลน ในราคาที่เป็นธรรม และมีแผนคอยรับมือสถานการณ์ทางพลังงานที่จะเกิดขึ้น ซึ่งประชาชนบางกลุ่มอาจมีทัศนคติที่แตกต่าง หรือยังไม่เข้าใจเรื่องความมั่นคงทางพลังงาน จึงเกิดคำถามมากมาย โดยเฉพาะว่าความมั่นคงทางพลังงานนั้น เพื่อใคร?

ความมั่นคงทางพลังงาน
ประชาชนมีทรัพยากรปิโตรเลียมใช้อย่างไม่ขาดแคลน หลักๆ คือการจัดหาปิโตรเลียมในประเทศ จากการเปิดสัมปทานหรือจะหยุดสัมปทาน และการนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ของประชาชน ซึ่งตรงนี้ประชาชนบางกลุ่มอาจมีคำถาม เช่น ในเมื่อต้นทุนปิโตรเลียมไทย ราคาแพงกว่าการนำเข้า ทำไมไม่หยุดสัมปทาน แล้วนำเข้าอย่างเดียว อันนี้ต้องทำความเข้าใจว่าราคาตลาดนั้นมีขึ้นมีลงทุกวัน และการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมก็ใช้ระยะเวลาเป็นปีๆ หากวันหนึ่งสถานการณ์เปลี่ยน ราคานำเข้าแพงกว่าต้นทุนในประเทศ และต้องการเปิดสัมปทาน ก็จะกินระยะเวลาหลายเดือน กว่าจะเปิดสัมปทานได้ และต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะผลิตปิโตรเลียมได้ รัฐคงไม่เสี่ยงกับการนำเข้าพลังงานเพียงอย่างเดียว เพราะหากเกิดปัญหาด้านการนำเข้า นั่นแปลว่าประชาชนชาวไทยจะไม่มีพลังงานใช้ทันที หรือคำถามที่ว่าในเมื่อปิโตรเลียมไม่พอใช้ในประเทศ ทำไมจึงยังมีการส่งออก ซึ่งสามารถอธิบายได้ง่ายๆ ว่า ปิโตรเลียมที่เอามากลั่นนั้น จะได้ผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างกันไป ซึ่งสัดส่วนที่กลั่นได้นั้น ไม่ใช่สัดส่วนในการใช้ของคนในประเทศ รัฐจึงต้องสั่งน้ำมันดิบมาเกิน เพื่อกลั่นออกมาให้ทุกผลิตภัณฑ์เพียงพอต่อความต้องการ ส่วนผลิตภัณฑ์ไหนที่มากเกินความต้องการก็จะส่งออก นำเงินไปซื้อน้ำมันดิบหมุนเวียนเข้ามาในประเทศ
ราคาที่เป็นธรรม ตรงนี้ประชาชนมีคำถามมาก เพราะคิดว่าทุกวันนี้ราคาน้ำมันแพงกว่าความเป็นจริง เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อนักลงทุนมากกว่าประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง เพราะราคาน้ำมันจำเป็นต้องเป็นธรรมกับทุกฝ่าย แม้แต่สิ่งแวดล้อม!
– เป็นธรรมต่อประชาชน ในราคาที่ไม่แพงเกินไป คำว่า “แพง” ที่มักเอามากล่าวกันก็ไม่ใช่คำที่ระบุได้ว่าราคาเท่าไหร่จึงเรียกว่า “ถูก” แต่ประชาชนมักเอาไปเปรียบเทียบราคาน้ำมันดิบจากต่างประเทศ ซึ่งยังไม่ได้รวมค่าใดๆ เลย อย่าลืมว่าหากราคาน้ำมันแพงเกินไปนั่นก็ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศ
– เป็นธรรมต่อผู้ลงทุน ตรงนี้ถามว่าพวกเขาได้กำไรเกินไปไหม เราสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ในโครงสร้างราคาน้ำมันอยู่แล้ว ซึ่งราคาขายรัฐเป็นคนกำหนด นั่นแปลว่านักลงทุนไม่มีสิทธิ์ที่จะกำหนดราคาขายตามใจตัวเอง อีกทั้งเราต้องไม่ลืมว่าหากบังคับให้นักลงทุนขายน้ำมันอย่างไม่มีกำไร จนต้องปิดตัวลง ประเทศเราจะมีความมั่นคงทางพลังงานได้อย่างไร
– เป็นธรรมต่อรัฐบาล ทรัพยากรใต้ดินที่เป็นของรัฐ ย่อมตอบแทนรัฐด้วยเงินภาษีต่างๆ ให้รัฐนำไปพัฒนาประเทศเพื่อความเป็นอยู่ของประชาชนอีกทอดหนึ่ง
-เป็นธรรมต่อสิ่งแวดล้อม ปิโตรเลียมจัดเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย เพราะมลพิษที่เกิดจากการใช้ ทำลายสิ่งแวดล้อม รัฐจึงจำเป็นต้องเก็บเงินส่วนหนึ่งซึ่งนำไปอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
แผนคอยรับมือสถานการณ์ทางพลังงานที่จะเกิดขึ้น
– สถานการณ์ราคาที่ผันผวน เป็นเหตุผลที่รัฐยังจำเป็นต้องเปิดสัมปทานต่อไป เพราะหากราคานำเข้าเกิดพุ่งสูงขึ้น รัฐจะยังมีต้นทุนการจัดหาในประเทศเพื่อเฉลี่ยราคาให้ถูกลง รวมถึงการจัดตั้งกองทุนน้ำมัน อันนี้ประชาชนด่ากันเยอะ เพราะยังไม่เห็นประโยชน์ของกองทุนนี้ โดยลืมว่าช่วงวิกฤตราคาน้ำมัน ประชาชนก็ได้กองทุนน้ำมันช่วยอุดหนุนราคาจนกองทุนติดลบเป็นพันล้าน
– สถานการณ์ปิโตรเลียมในประเทศที่ลดลง รัฐยิ่งจำเป็นต้องเปิดสัมปทานรอบใหม่เพื่อเกิดการลงทุนขุดเจาะ ทำให้มีโอกาสที่จะเจอปิโตรเลียมที่ยังไม่สำรวจมากขึ้น
– สถานการณ์การนำเข้าปิโตรเลียมที่มากขึ้น จึงเกิดโครงสนับสนุนพลังงานทดแทน ทั้งในรูปของไบโอดีเซล และเอทานอล ซึ่งสามารถผลิตได้ในประเทศ แม้จะมีราคาแพงกว่าราคาน้ำมัน แต่เป็นการอุดหนุนเกษตรกรในประเทศและลดการนำเข้าปิโตรเลียม
– สถานการณ์พลังงานขาดแคลน เกิดโครงการพลังงานทดแทน ซึ่งมีต้นทุนสูงกว่าราคาพลังงานจากปิโตรเลียม จึงยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก แต่รัฐก็ยังมีโครงการเพื่อให้จัดหาพลังงานได้เพียงพอต่อการใช้
จะเห็นว่าความมั่นคงทางพลังงาน ล้วนเกิดประโยชน์ต่อประชาชนไม่ทางตรงก็ทางอ้อม และไม่ได้เป็นเพียงหน้าที่ของรัฐ ประชาชนก็สามารถช่วยสร้างความมั่นคงให้แก่รัฐได้ ด้วยการประหยัดพลังงาน รวมถึงศึกษาทำความเข้าใจเรื่องพลังงานให้ถูกต้อง

Share This: