จบในเล่มเดียว “ ปตท.คืนท่อก๊าซฯครบหรือไม่ ? ”

เมื่อเร็วๆนี้ผู้เขียนได้มีโอกาศอ่านหนังสือ ‘ปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเหนือท่อปิโตรเลียมของ ปตท. : พิจารณาตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ที่ ฟ.35/2550’ โดย ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ที่ได้จัดทำขึ้นโดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก คณะ นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนื้อหาในหนังสือเป็นการบรรยายสรุป ครอบคลุมเนื้อหาตั้งแต่ มูลเหตุที่มาของการฟ้องร้องคดี ตลอดจนปัญหาข้อกฎหมายตามคำพิพากษาหรือคำสั่งต่างๆของศาลที่เกี่ยวข้องกับคดีทั้งหมดตลอดจนคำโต้แย้งของหน่วยงานต่างๆที่คัดค้านว่าการปฏิตามคำพิพากษายังเป็นไปโดยไม่ถูกต้อง มีความยาวทั้งหมด 116 หน้า

ประเด็นพิพาทเรื่อง ‘ท่อก๊าซฯ’ โดยเฉพาะ ‘ท่อก๊าซฯในทะเล’ ว่า ปตท. ได้คืนครบแล้วหรือไม่นั้น เป็นที่ถกเถียงกันมานานนับสิบปี โดยประเด็นดังกล่าวได้ปรากฏอยู่ตามสื่อออนไลน์ต่างๆมากมาย มีการฟ้องคดีสืบเนื่องจากประเด็นดังกล่าวหลายครั้ง กระทั่งในปัจจุบันก็ยังไม่มีทีท่าจะยุติลง ผู้เขียนเห็นว่านี่เป็นโอกาสดีที่จะได้นำเสนอเนื้อหาในหนังสือดังกล่าว เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจภาพรวมของปัญหาตลอดจนข้อสงสัยข้อโต้แย้งที่ปรากฎตามสื่อต่างๆ และด้วยเนื้อหาทั้งหมดในหนังสือเล่มนี้ที่ส่วนใหญ่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่อธิบายผ่านสำนวนภาษากฎหมาย อาจเป็นเรื่องยากสำหรับผู้อ่านที่ไม่คุ้นชินกับสำนวนดังกล่าว ผู้เขียนจึงได้ปรับแต่งลดทอนภาษากฎหมาย โดยอาจยกหลักกฎหมาย หรือรายละเอียดในคำพิพากษามาประกอบการอธิบายเท่าที่จำเป็นเท่านั้น จุดประสงค์หลักเพื่อมุ่งอธิบายตอบข้อสงสัยในประเด็นที่คนทั่วไปส่วนใหญ่ให้ความสนใจ โดยแยกสรุปออกมาเป็นข้อๆได้ดังนี้ครับ

 

1.ท่อก๊าซฯ เป็นกรรมสิทธิ์ของใคร?

บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบัน เดิมทีคือ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยถูกจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2521 ถือเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติที่รัฐถือหุ้น 100% จึงสามารถใช้อำนาจมหาชนในนามของรัฐ และการถือครองทรัพย์สินต่างๆ ย่อมเป็นการถือครองในนามของรัฐอย่างไม่มีข้อสงสัย แต่ในปัจจุบันได้ถูกแปรรูปตาม พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 โดย อำนาจ สิทธิ์และประโยชน์ของ ปตท. หลังแปรรูป รวมถึง การยกเลิกการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเดิม ให้เป็นไปตาม พระราชกฤษฎีกา ที่ตราขึ้นในคณะรัฐมนตรีในยุคนั้นอีก 2 ฉบับ (พ.ศ.2544)

หลังการแปรรูป ปตท. จึงมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นว่า ปตท.ที่ปัจจุบันที่ไม่ใช่องค์ที่รัฐถือหุ้น 100% ยังคงมีอำนาจมหาชน และยังสามารถถือครองทรัพย์สินในนามของรัฐได้หรือไม่ และ สิทธิ์ และอำนาจของ ปตท.หลังแปรรูปมีอะไรบ้าง ขอบเขตแค่ไหน? มีทรัพย์สินอะไรบ้างที่ต้องคืนให้กับรัฐ?

ข้อพิพาทโต้แย้งดังกล่าว ศาลปกครองสูงสุดได้วางหลักไว้ในคำพิพากษา คดีแดงหมายเลขที่ ฟ.35/2550 ว่า พระราชกฤษฎีกา ที่กำหนดอำนาจ สิทธิ์และประโยชน์ ของ ปตท. ที่กำหนดให้โอนอำนาจมหาชน เช่น การเวรคืนที่ดิน การประกาศกำหนดเขตระบบการส่งปิโตรเลียมทางท่อ และการใช้ที่ดินของเอกชนที่อยู่ภายในเขตระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ เป็นเรื่องไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมีคำพิพากษา ให้ผู้ถูกฟ้อง (รวม ปตท.) ให้ร่วมทำการแบ่งแยกทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของ ปตท.

เมื่อพิจารณาจากคำพิพากษา ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาเฉพาะเท่าที่เกี่ยวกับกรณี ที่ดินที่เวนคืน กรณีสิทธิในการวางระบบท่อส่งปิโตรเลียมในเขตที่มีการประกาศกำหนด กับกรณีทรัพย์สินที่เป็นท่อส่งปิโตรเลียมและอุปกรณ์ที่ประกอบกันเป็นระบบท่อส่งก๊าซและท่อส่งน้ำมันที่ได้มาจากการเวนคืนที่ดิน และสิทธิในการวางระบบท่อในเขตที่มีการประกาศเท่านั้น ดังนั้นทรัพย์สิน ส่วนท่อก๊าซฯ ที่ไม่ได้เข้าหลักเกณฑ์ ตามคำพิพากษา และได้มาโดยไม่ได้ใช้อำนาจมหาชน อาทิเช่น ท่อก๊าซธรรมชาติในทะเลที่ไม่ได้เข้าหลักเกณฑ์ตามคำพิพากษดังกล่าวจึงถือเป็นทรัพย์สินของ ปตท.

ซึ่งภายหลังศาลปกครองสูงสุดได้มีคำวินิฉัยในทำนองว่า ผู้ถูกฟ้อง (รวม ปตท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว (นั่นย่อมหมายความว่าการแบ่งแยกทรัพย์สิน(ท่อก๊าซฯ)ได้ดำเนินการแบ่งแยกส่วนที่ต้องส่งคืนรัฐเป็นที่เรียบร้อยตามคำพิพากษาแล้ว)

 

2.วิเคราะห์เชิงลึก : ทำไมท่อก๊าซฯในทะเลจึงไม่ใช่สาธารณะสมบัติที่ต้องส่งคืนรัฐ?

ความเห็นในเรื่องท่อก๊าซในทะเลของ ปตท. ที่ควรตกเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาโต้แย้งจากหน่วยงานของรัฐ เช่น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และ ผู้ตรวจการแผ่นดินนั้น ตั้งอยู่บนความคิดทางกฎหมายสองประการ คือ พื้นทะเลและพื้นดินใต้ทะเลถือเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินและทรัพย์สินที่เป็นส่วนควบ(ท่อก๊าซฯในทะเล)ที่มีลักษณะติดตรึงกับทะเลหรือพื้นดินใต้ทะเลต้องถือว่าเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินด้วย และการวางท่อปิโตรเลียมในทะเลนั้นต้องมีการประกาศกำหนดเขตระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อตามกฎหมายจัดตั้งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยนั้น ถือเป็นการใช้อำนาจมหาชนของรัฐ ท่อก๊าซในทะเล จึงควรตกเป็นของแผ่นดินตามหลักการดังกล่าว

ความเข้าใจและการตีความแบบนี้มีส่วนถูกต้องแค่บางส่วน แต่ใช้ไม่ได้สำหรับกรณี ท่อก๊าซในทะเลของ ปตท. ที่ได้มีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดไปแล้ว กล่าวคือในคำวินิจฉัยของศาลนั้นใช้หลักความเสมอภาพระหว่างบุคคลอันเป็นหลักกฎหมายทั่วไปที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญของไทยมาโดยตลอด โดยได้ยืนยันในคำพิพากษาคดีนี้ว่า “การให้นิติบุคคลตามกฎหมายเอกชน ใช้อำนาจมหาชนของรัฐได้ เป็นการดำเนินการที่ขัดต่อหลักการทางกฎหมาย” และ พระราชกฤษฎีกาที่กำหนดให้ ปตท. สามารถใช้อำนาจมหาชนได้จึงไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ศาลปกครองสูงสุดจึงพิจารณาว่า พระราชกฤษฎีกาในส่วนดังกล่าวไม่อาจใช้บังคับต่อไปได้ จึงได้มีคำพากพากษา “ให้มีการแบ่งแยกและโอนกรรมสิทธิ์และสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาจากการใช้อำนาจมหาชนของรัฐเหนือกรรมสิทธิของเอกชน” คืนให้แกกระทรวงการคลัง

ดังนั้นจะการพิจารณาว่าท่อก๊าซในทะเลเป็นสาธาณะสมบัติที่ต้องส่งคืนกระทรวงการคลังตามคำพิพากษาหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาในประเด็นที่ว่าเป็นการใช้อำนาจมหาชนตามคำพิพากษาหรือไม่ ไม่ใช่ไปพิจารณาในประเด็นทางกฎหมายว่าท่อก๊าซในทะเลนั้นได้มีการวางไว้โดยติดตรึงถาวรจนถือเป็นส่วนควบของพื้นดินใต้ทะเล เพราะเป็นเรื่องนอกเหนือจากคำพิพากษา อีกทั้งการวางท่อในทะเลเป็นการใช้สิทธิของรัฐดำเนินการโดยได้รับอนุญาติจากหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบดูแลรักษาพื้นที่อยู่ตามอำนาจหน้าที่ แช่น กรมเจ้าท่า กองทัพเรือ กรมพาณิชย์นาวี ฯลฯ ย่อมไม่มีผลกระทบต่อกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินใดๆ ของเอกชน ที่จะถือว่าเป็นการใช้อำนาจมหาชนในการรอนสิทธิ์เอกชนได้ เพราะไม่มีเอกชนใดมีสิทธิ์เหนือที่ดินใต้พื้นทะเลอยู่แล้ว

ยิ่งไปกว่านั้นในความเป็นจริง ทะเลอาณาเขตของรัฐและเขตเศรษฐกิจจำเพาะ มิได้มีแต่เพียงการวางท่อปิโตรเลียมเท่านั้น แต่ยังมีการวางสายเคเบิลใต้น้ำที่ดำเนินการโดยเอกชน ซึ่งในกฎหมายของไทยและกฏหมายระหว่างประเทศก็ไม่ได้ถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ แต่ยังถือว่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ที่อยู่ในความดูและของเอกชนเช่นเดิม

 

3.ความเห็นหน่วยงานของรัฐ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแห่งชาติ มีผลทางกฎหมายอย่างไร?

หลายครั้งที่ความเห็นของ สตง. ที่ ‘คณะรัฐมนตรี’ กำหนดให้เป็นผู้รับรองความถูกต้องในการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษานั้น ถูกหยิบขึ้นมาเป็นประเด็นว่ามีผลต่อคดีที่ศาลปกครองสูงสุดได้ตัดสินไปแล้วหรือไม่ หรือมีผลทำให้การรายงานการแบ่งแยกทรัพย์สินโดย ปตท. ต่อศาลถือเป็นรายงานเท็จหรือไม่นั้น?

กรณีดังกล่าวผู้เขียนเห็นว่าถ้าได้พิจารณาจากคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด จะเห็นได้ว่าประเด็นดังกล่าวมีข้อยุติไปเรียบร้อยแล้ว

3.1 ประเด็นรายงานสรุปผลการดำเนินงานตามคำพิพากษา ของ ปตท. ที่ได้เสนอต่อศาลนั้นเป็นการรายงานสรุปที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะยังไม่ได้รับการตรวจสอบและรับรองความถูกต้องจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินนั้น

ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยว่า  การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ในคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.35/2550 ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด รายงานสรุปผลการดำเนินงานตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าว และศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่าศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาว่าผลการดำเนินการตามคำพิพากษาดังกล่าวเป็นไปไปโดยถูกต้องครบถ้วนแล้ว

 

3.2 ประเด็นคำร้องของ ปตท. ที่ยื่นต่อศาลปกครองสูงสุด โดยยังไม่มีการตรวจสอบและรับรองจากสำนักการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งสำนักการตรวจเงินผ่นดินได้ตรวจสอบและยืนยันว่าการส่งมอบทรัพย์สินยังดำเนินการโดยไม่ถูกต้องและครบถ้วน จึงทำให้รายงานสรุปการดำเนินการดังกล่าวไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนดนั้น

ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปฎิบัติให้เป็นไปตามคำพิพากษาไม่ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากล่าวกันภายในหน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของคณะรัฐมนตรี มิใช่เป็นเหตุที่จะกล่าวอ้างว่าเป็นการดำเนินการที่ยังไม่ถูกต้องสมบรูณ์ตามกฎหมาย เพราะเป็นกระบวนการที่กำหนดขึ้นโดยมติของคณะรัฐมนตรีเท่านั้น

 

อีกทั้งเมื่อพิจารณาจากหนังสือทั้งท้วงของสำนักการตรวจเงินแผ่นดินแห่งชาติที่ได้ยื่นต่อศาลปกครองสูงสุดสุด ผู้เขียนมีความเห็นว่าเมื่อพิจารณาถ้อยคำตามตัวอักษรอย่างเป็นกลางแล้ว ย่อมเห็นได้ว่าทางสำนัการตรวจเงินแผ่นดินเองถึงแม้จะได้มีหนังสือทั้งท้วงไปแต่ถ้อยคำในตอนท้ายกลับเป็นการยืนยันว่าการแบ่งแยกทรัพย์สินจะครบถ้วนตามคำพิพากษาหรือไม่ให้ขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลปกครองถือเป็นที่ยุดิ

“ถ้าแม้รายงานของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจะนำเสนอ บมจ.ปตท.  ภายหลังจากวันที่ บมจ.ปตท. เสนอรายงานการดำเนินการต่อศาลปกครองสูงสุดก็ตาม บมจ.ปตท. จะต้องนำเสนอรายงานของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อประกอบการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด เนื่องจากรายงานของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการแบ่งแยกและส่งมอบทรัพย์สิน ทั้งนี้ การดำเนินการแบ่งแยกและส่งมอบทรัพย์สินของ บมจ.ปตท. ให้กระทรวงการคลังตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดจะครบถ้วนและเป็นไปตามคำพิพากษาหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดที่จะพิจารณา ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดถือเป็นที่ยุติ”

 
ท้ายสุดแล้ว ประเด็นเรื่องท่อก๊าซฯ ในปัจจุบัจยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ โดยความเห็นส่วนใหญ่มักถูกหยิบยกมานำเสนอในมุมมองเฉพาะด้านตามความเห็นของแต่ละคน ซึ่งผู้เขียนเห็นว่ายังไม่ครอบคลุมและขาดความเห็นในแง่มุมทางกฎหมายจากนักกฎหมายที่เชี่ยวชาญจริงๆ หนังสือเล่นนี้ถือเป็นบทวิเคราะห์นำเสนอข้อพิพาทดังกล่าวในแง่มุมทางกฎหมายที่ครบถ้วนที่สุดตั้งแต่มีมา ถ้าผู้อ่านมีโอกาสได้ศึกษาจะมีความเข้าใจอย่างครบถ้วน โดยบทความนี้ผู้เขียนได้แยกสรุปเนื้อหาในหนังสือออกเป็นข้อๆในประเด็นที่สังคมให้ความสนใจเท่านั้น โดยหวังจะสามารถตอบคำถามในประเด็นที่สังคมให้ความสนใจได้ โดยไม่ตกเป็นเหยื่อของข้อมูลบิดเบือนที่ปรากฏบนสื่อสังคม

 

หนังสือประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ

Share This: