พลังงานไทย ตอนที่3 ผลประโยชน์จากสัมปทานปิโตรเลียม

semi_submersible2

“กลุ่มทวงคืน พลังงานไทย นอกจากจะแต่งนิทานเรื่องประเทศไทยเป็นเศรษฐีพลังงานแล้ว ยังตั้งข้อกล่าวหาที่สำคัญอีกข้อหนึ่งคือ “กลุ่มผลประโยชน์” ที่ครอบงำ ปตท ไปอยู่เบื้องหลังบริษัทสำรวจและผลิตต่างชาติให้สัมปทานผลิตปิโตรเลียมในเงื่อนไขที่บริษัทต่างชาติจึงทำให้ได้ผลตอบแทนมหาศาล ปตท กำไรแสนล้าน แต่แบ่งปันผลประโยชน์ให้กับรัฐไทยเป็นจำนวนน้อยนิด “กลุ่มทวงคืน พลังงานไทย อ้างถึงค่าภาคหลวงที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ว่ามีอัตราเพียงร้อยละ 12.5 ของมูลค่าปิโตรเลียมที่จำหน่ายกับภาษีตามพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียมที่อัตราร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิ ซึ่งคนพวกนี้อ้างว่า “ต่ำที่สุดในอาเซียน” และต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มีทั้งค่าภาคหลวง ส่วนแบ่งผลประโยชน์จากกำไรก่อนหักภาษีแล้วยังมีภาษีเงินได้ปิโตรเลียมอีก รวมเป็นประโยชน์ให้รัฐสูงถึงร้อยละ 80-90 ข้อเสนอของคนพวกนี้มีตั้งแต่ให้แก้กฎหมายเพิ่มสัดส่วนผลประโยชน์ให้รัฐได้สูงขึ้นเป็นร้อยละ 80-90 ไปจนถึงยกเลิกสัมปทานบริษัทต่างชาติทั้งหมด แล้วให้บริษัท ปตท สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) สำรวจขุดเจาะและผลิตแต่เพียงรายเดียว

ความจริงคือ ระบบสัมปทานปิโตรเลียมของประเทศไทยมีพัฒนาการมาสามขั้นตอน มีการแก้กฎหมายหลายครั้ง มีการปรับเปลี่ยนอัตราการแบ่งปันผลประโยชน์ไปตามยุคสมัยและประสบการณ์ของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ระบบ Thailand I เริ่มตั้งแต่ พรบ.ปิโตรเลียมฉบับแรก พ.ศ.2514 กำหนดค่าภาคหลวงร้อยละ 12.5 ของมูลค่าปิโตรเลียมที่จำหน่าย และ พรบ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมอีกร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิ โครงการระยะที่หนึ่งประสบความสำเร็จพอสมควร จนถึงปี 2524 มีการค้นพบแหล่งปิโตรเลียมจำนวนหนึ่ง ประกอบกับโลกกำลังประสบภาวะวิกฤตราคาน้ำมัน รัฐบาลไทยจึงได้ปรับเปลี่ยนการแบ่งปันผลประโยชน์เสียใหม่ แก้ไขกฎหมายให้ผู้รับสัมปทานแบ่งผลประโยชน์แก่รัฐเพิ่มขึ้น โดยเริ่มต้นปี 2525 กำหนดว่านอกจากจะจ่ายค่าภาคหลวงร้อยละ 12.5 ของมูลค่าจำหน่ายแล้ว ให้ผู้รับสัมปทานหักค่าใช้จ่ายตาม พรบ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมได้ไม่เกินร้อยละ 20 ของรายรับ (จากที่เคยหักค่าใช้จ่ายได้ตามจริง) และจ่ายโบนัสเพิ่มรายปีเป็นอัตราขั้นบันไดจากร้อยละ 27.5 ถึงร้อยละ 43.5 ของรายได้จากน้ำมันดิบที่ผลิตเฉลี่ยวันละตั้งแต่ 10,000 บาร์เรล ถึงเฉลี่ยวันละ 30,000 บาร์เรล ระบบใหม่นี้เรียกว่า Thailand II ปรากฏว่าจนถึงปี 2532 มีผู้รับสัมปทานไปเพียง 6 รายเท่านั้น แม้จะมีการสำรวจพบแหล่งปิโตรเลียมบนบกเพิ่มเติม แต่ไม่มีการลงทุนผลิตเชิงพาณิชย์เลย สาเหตุคือ แหล่งปิโตรเลียมบนบกมีขนาดเล็ก กระจัดกระจาย ทำให้มีทั้งความเสี่ยงและต้นทุนในการผลิตต่อบาร์เรลสูง ผู้รับสัมปทานต้องแบ่งผลประโยชน์ให้รัฐสูงจนไม่มีความคุ้มค่าทางธุรกิจ ผลก็คือ รัฐบาลไทยไม่สามารถจัดเก็บผลประโยชน์ปิโตรเลียมตามระบบ Thailand II ได้เลย

ในปี 2532 จึงได้มีการแก้ไขกฎหมายอีกครั้งเป็นระบบ Thailand III ระบุผลประโยชน์แก่รัฐสามส่วน ส่วนแรกคือ ค่าภาคหลวงเป็นอัตราขั้นบันไดตั้งแต่ร้อยละ 5 ขึ้นไปถึงร้อยละ 15 ตามปริมาณจำหน่ายปิโตรเลียมต่ำสุดจากไม่เกิน 60,000 บาร์เรลต่อเดือน ไปจนถึงสูงกว่า 600,000 บาร์เรลต่อเดือน ส่วนที่สองคือภาษีเงินได้ปิโตรเลียมในอัตราร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิ ส่วนที่สามคือ ผลประโยชนตอบแทนพิเศษจากกำไรส่วนเกิน โดยจะจัดเก็บเมื่อยอดจำหน่ายปิโตรเลียมเพิ่มเกินกว่าระดับที่กำหนด ระบบ Thailand III จึงมีความยืดหยุ่นมาก ผู้รับสัมปทานที่ค้นพบแหล่งขนาดเล็กและมีต้นทุนต่อหน่วยสูง ผลิตได้น้อยก็สามารถพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ ขณะที่ผู้ที่ค้นพบแหล่งขนาดใหญ่ ต้นทุนต่อหน่วยต่ำกว่าและผลิตได้มากก็ต้องแบ่งผลประโยชน์ให้รัฐเพิ่มขึ้นตามสัดส่วน จนถึงปี 2555 มีการสำรวจพบแหล่งปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นอีกมากและสามารถผลิตเชิงพาณิชย์แล้ว 48 สัมปทาน นอกจากนี้ผู้รับสัมปทานในระบบ Thailand II ก็ได้โอนมาเข้าระบบ Thailand III ด้วย ปัจจุบันประเทศไทยมีสัมปทานปิโตรเลียมทั้งสิ้น 63 สัมปทาน โดยมีผู้รับสัมปทานที่ยังอยู่ในระบบ Thailand I เพียง 9 สัมปทานเท่านั้นและจะเริ่มหมดอายุลงตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป นอกนั้นเป็นผู้รับสัมปทานในระบบ Thailand III แต่ “กลุ่มทวงคืนพลังงาน” ก็บิดเบือนว่า ผู้รับสัมปทานทั้งหมดยังคงแบ่งผลประโยชน์ให้รัฐตามสูตร Thailand I คือจ่ายค่าภาคหลวงเป็นอัตราคงที่ร้อยละ 12.5 ของยอดจำหน่ายและภาษีเงินได้ปิโตรเลียมร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิ เป็นความจริงที่ส่วนแบ่งผลประโยชน์ให้รัฐจาก Thailand I ไม่นับว่าสูงถ้ามองจากธุรกิจปิโตรเลียมในปัจจุบัน แต่ Thailand I มีกำเนิดในยุคสมัยแรกเริ่มที่แตกต่างจากปัจจุบันอย่างมาก ในเวลานั้นราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอยู่ในระดับต่ำเพียงแค่สองดอลลาร์ต่อบาร์เรล อีกทั้งประเทศไทยก็มีการค้นพบแหล่งปิโตรเลียมที่อำเภอฝางเท่านั้นและมีขนาดเล็กจิ๋วมาก แค่วันละ 1,000 บาร์เรล การกำหนดให้แบ่งผลประโยชน์แก่รัฐที่ไม่สูงมากจึงมีเหตุผล ก็เพื่อจูงใจให้บริษัทต่างชาติกล้ารับความเสี่ยงเข้ามาสำรวจขุดเจาะในประเทศไทย เพราะถ้าขุดเจาะแล้วไม่พบอะไร ค่าใช้จ่ายก็สูญเปล่าทั้งหมด

ตั้งแต่มีสัมปทานปิโตรเลียมจนถึงปัจจุบันกว่า 40 ปี รัฐไทยได้รับผลประโยชน์จากปิโตรเลียมรวมกันกว่าหนึ่งล้านล้านบาทแล้ว คิดเป็นสัดส่วนรายได้รัฐต่อรายได้สุทธิของเอกชน (ก่อนหักภาษี) เท่ากับร้อยละ 55:45 และถ้าคำนวณเฉพาะระบบ Thailand III ตั้งแต่ปี 2532 สัดส่วนของรัฐก็ยิ่งสูงคือ ร้อยละ 74:26 ซึ่งเป็นอัตราปานกลางค่อนไปทางสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ “กลุ่มทวงคืนพลังงาน” อ้างว่า หลายประเทศที่เป็นเศรษฐีพลังงานจัดเก็บผลประโยชน์สูงถึงร้อยละ 80-90 ของรายได้สุทธิของผู้รับสัมปทาน แต่ข้อสังเกตคือ ประเทศเหล่านั้น (เช่น เยเมน บาห์เรน บรูไน พม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย) ล้วนเป็นประเทศเศรษฐีพลังงานตัวจริงทั้งสิ้น มีแหล่งปิโตรเลียมขนาดใหญ่ ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยต่ำ ผู้รับสัมปทานสามารถจ่ายผลประโยชน์เข้ารัฐได้มาก ประเทศที่จัดเก็บผลประโยชน์สูงที่สุดในโลกคือ เวเนซูเอลา จัดเก็บสูงถึงร้อยละ 95 ผลก็คือ ปัจจุบันอุตสาหกรรมปิโตรเลียมของเวเนซูลามีอัตราการสำรวจใหม่ที่ลดลงอย่างมากและถ้าไม่มีการแก้ไข อีกไม่นานอัตราการผลิตก็จะลดลงด้วย ส่วนข้อเรียกร้องให้ยกเลิกสัมปทานต่างชาติทั้งหมด แล้วให้ ปตท.สผ.ผูกขาดการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแต่ผู้เดียวในประเทศไทย เมื่อผนวกกับข้อเรียกร้อง ทวงคืน ปตท ที่ให้ ปตท กลับคืนเป็นรัฐวิสาหกิจเต็มรูปเหมือนเดิม ทั้งหมดนี้เป็นข้อเสนอที่อันตรายอย่างยิ่ง เพราะเป็นการสร้างการผูกขาดโดยรัฐแบบครบวงจรตั้งแต่การสำรวจผลิตก๊าซและน้ำมันดิบไปจนถึงการกลั่นน้ำมันสำเร็จรูปและขายปลีกที่สถานีจำหน่ายทำให้ ปตท และปตท.สผ.รวมกันเป็นแหล่งผลประโยชน์ขนาดมหาศาลในมือรัฐอย่างแท้จริง แล้วรัฐวิสาหกิจไทยแต่ไหนแต่ไรมา เป็นแหล่งผลประโยชน์ของใครบ้าง? มีความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ รู้จักปรับปรุงคุณภาพของบริการและเอาใจใส่ประชาชนผู้บริโภคสักแค่ไหนกัน?

ที่มา: http://pichitlk.blogspot.com/2013/04/blog-post.html

Share This: