แปรรูป ปตท. กับวาทะกรรมขายสมบัติชาติ

    คำว่า “ขายสมบัติชาติ” เป็นวาทะกรรมที่บางกลุ่มหยิบยกเพื่อโจมตีการแปรรูป ปตท.มาอย่างช้านานจนถึงปัจจุบัน โดยการแปรรูปในครั้งนี้ คุณบรรยง พงษ์พานิชหย่อนความคิดเห็นลงในบทความตอนหนึ่ง เรื่อง ตำนาน “การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ” … ปตท. เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ 2544 (ตอน 5) ว่า “คนจำนวนมากเข้าใจว่า เงื่อนไขการแปรรูปฯ นี้ถูกตั้งขึ้นเพื่อบังคับให้เรา “ขายสมบัติชาติ” เพื่อเอาเงินไปใช้หนี้ และมีไม่น้อยเลยที่คิดเลยไปว่าเป็นแผนการชั่วร้ายให้ขายให้ต่างชาติ” … ซึ่งถ้าอ่านจากบทความนี้จะพบว่าไม่ได้เป็นความจริงอย่างที่กล่าวกัน
    ทั้งนี้คุณบรรยง ได้อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องราวการแปรรูป ปตท. ครั้งนี้ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร และสร้างประโยชน์อย่างไรต่อประทศบ้าง
    “ผมขอยืนยันว่า การขายหุ้น IPO ของ ปตท.ในปี 2544 กระทำอย่างโปร่งใส อย่างมืออาชีพ ไม่ได้มีเรื่องสกปรกตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด ซึ่งผมและทีมงานได้เคยไปอธิบายในที่ต่างๆ มามากมาย รวมทั้งกรรมาธิการของสภา เพียงแต่ยังไม่เคยเขียนอธิบายด้วยตัวเอง (จะเขียนอธิบายในบทความครั้งหน้าภายในสุดสัปดาห์นี้ครับ…เพราะเมื่อก่อนยังไม่รู้ว่าตัวเองเขียนหนังสือเป็นมาก่อน)

    IPO ของ ปตท. โดยขายหุ้นทั้งหมด 920 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 35 บาท รวมมูลค่า 32,200 ล้านบาทในครั้งนั้น มีความสำคัญมากต่อเศรษฐกิจไทย ในประเด็นดังต่อไปนี้

– ปตท. ได้รับเงินไปเสริมฐานะ สามารถปรับโครงสร้างหนี้บริษัทลูกต่างๆ ได้ แถมมีเงินพอที่จะเข้าซื้อกิจการเอกชนอื่นๆ ที่มีปัญหา เช่น โรงกลั่นน้ำมัน ปิโตรเคมี ทำให้ขยายตัวเป็นกิจการที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นกิจการระดับโลก มีขนาดใหญ่กว่าปูนซีเมนต์ไทย (SCG) ที่เคยใหญ่ที่สุดในไทยถึง 3 เท่าตัว

– การเข้าตลาดหลักทรัพย์ทำให้ ปตท. มีการปรับปรุงระบบบริหาร เข้าสู่มาตรฐานสากล มีนักลงทุนทั่วโลกคอยติดตามตรวจสอบ รวมทั้งเป็นแรงกดดันให้พัฒนาก้าวหน้าตลอดเวลา

– การขยายตัวของกลุ่ม ปตท. ทำให้ไทยมีความมั่นคงและเสถียรภาพด้านพลังงาน ต่อเลยไปจนถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมปลายน้ำ (Downstream) ด้านปิโตรเคมี ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมหลัก

– ทำให้ตลาดทุนไทยพลิกฟื้นกลับมาได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลกใหม่ ในฐานะที่ทำงานอยู่ในตลาดทุนไทยมากว่า 36 ปี ผมกล้าพูดเลยว่า ถ้าไม่มีการเข้าตลาดฯ ของ ปตท. ตลาดหุ้นไทยจะไม่มีวันนี้ จะไม่ได้กลับมาเป็นกลไกหลัก เป็นแกนในการรวบรวมจัดสรรทรัพยากรให้ระบบเศรษฐกิจเช่นทุกวันนี้ หลังวิกฤติตลาดหุ้นไทยซบเซาอย่างหนัก โดยเฉพาะเมื่อธนาคาร 4 แห่งเพิ่มทุนได้แล้ว นักลงทุนผิดหวังขาดทุนทั่วหน้า ตลาดไทยแทบนับได้ว่าตายจากไปจากวงจรตลาดทุนโลก ในปี 2544 ก่อนขายหุ้น SET Index ตกต่ำที่ 280 Market Cap มีแค่ 1.5 ล้านล้าน ปริมาณซื้อขายเฉลี่ยแค่วันละ 6,300 ล้านบาท เพราะ ปตท. เข้าตลาด จึงปลุกตลาดหุ้นขึ้นมาใหม่ จนปัจจุบัน SET Index 1,350 Merket Cap 12 ล้านล้าน ซื้อขายกันวันละกว่า 30,000 ล้านบาท”
ในส่วนของ ปตท. เอง ก็เคยทำข้อมูลถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการแปรรูปว่าประเทศชาติและประชาชนได้ประโยชน์อะไรจากการแปรูปครั้งนี้ว่า

  • กระทรวงการคลังเป็นผู้หุ้นใหญ่ของ ปตท. และการที่ ปตท. เป็นบริษัทจดทะเบียนใน ตลาดหลักทรัพย์ ต้องปฏิบัติตามหลักการการกับดูแลกิจการที่ดีอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.บริษัท มหาชนจำกัด พ.ศ.2535 และ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 และยัง ต้องอยู่ภายใต้การการกับดูแลจากหน่วยงานภาครัฐและองค์กรอิสระต่างๆ
  • หลังการแปรรูปทำให้ ปตท. สามารถจัดหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติม และสร้างความมั่นคง ทางด้านพลังงานให้กับประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ปตท. มีความคล่องตัวในการบริหารงาน ส่งผลให้มีผลประกอบการที่ดีขึ้นอย่างกระโดด ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มมากขึ้นกว่าก่อนที่ ปตท. แปรรูป
  • กำไรของ ปตท. กลับคืนสร้างผลประโยชน์สุขให้แก่ประชาชนในรูปแบบต่างๆ
    51.9% นำไปลงทุนสร้างความมั่นคงทางพลังงานใช้ได้อย่างเพียงพอและต่อเนื่อง และนำไปชำระหนี้ระยะยาว และเพื่อลงทุน โดยอีก 5 ปี ข้างหน้า ปตท. และบริษัทในกลุ่มต้องใช้เงินทุนรวมกว่า 900,000 ล้านบาท
    2. 26.4% ปตท.นำส่งให้รัฐในรูปแบบภาษี
    3. 14.3% กลับคืนสู่รัฐในรูปแบบเงินปันผลของกระทรวงการคลังและกองทุนวายุภักดิ์
    4. 7.2% จ่ายเป็นเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น
  • ปี 2542-2555 กลุ่ม ปตท. ส่งรายได้ให้รัฐในรูปเงินปันผลและภาษีเงินได้ รวมประมาณ 541,034 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้ให้กับรัฐมากที่สุด และรัฐสามารถนำเงินดังกล่าวไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้กับประเทศและคนไทยทุกคน อาทิ การศึกษา คมนาคม สาธารณสุข ฯลฯ

ปตท. ส่งรายได้ให้รัฐ 2542-2555.jpg

จากที่กล่าวมาจะเห็นข้อดีของการแปรรูปครั้งนี้ โดยที่รัฐยังคงถือหุ้นใหญ่ใน ปตท. นั่นแปลว่า ปตท. ยังคงอยู่ภายใต้รัฐ และผลประกอบการที่ ปตท. ทำได้ ก็นำส่งรัฐตามสัดส่วนการถือหุ้น ไม่ได้เปลี่ยนมือสมบัติเป็นของใคร หรือเป็นการขายสมบัติชาติตามที่พยายามกล่าวหากัน

Share This: