แฉ ปตท แปรรูปแล้วประชาชนได้อะไร?

รัฐต้องการให้ ปตท. เป็นหน่วยงานหลักในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ หลังจากการแปรรูป ปตท. ทำให้ ปตท. สามารถจัดหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติม และสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ โดยขยายการลงทุนในโครงข่ายพลังงานต่างๆ และพัฒนาพลังงานทางเลือกอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนไทยมีพลังงานใช้อย่างเพียงพอ และปกป้องการแสวงหาประโยชน์ของบริษัทพลังงานต่างชาติ

เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ที่ได้รับประโยชน์ที่แท้จริงจากการแปรรูป ปตท. ก็คือ “ประชาชน” ทั้งในส่วนของภาพรวมเศรษฐกิจและในฐานะผู้บริโภคพลังงาน ในทางกลับกัน หากไม่มีการแปรรูป ปตท. รัฐจะต้องมารับภาระในการลงทุนด้านพลังงาน อันจะส่งผลกระทบต่อการจัดหางบประมาณสำหรับการดำเนินการพัฒนาในด้านอื่นๆ ของประเทศ เช่น ด้านสังคม ด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข และการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน เป็นต้น

จากความคล่องตัว มีประสิทธิภาพ และการมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของ ปตท. จึงมีส่วนสำคัญในการเพิ่มฐานะทางการเงินของรัฐในรูปเงินปันผล และภาษีเงินได้ที่ กลุ่ม ปตท. ส่งคืนภาครัฐ โดยรัฐสามารถนำไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้กับประเทศ นอกจากนี้ ยังส่งผลให้ ปตท. มีศักยภาพในการแข่งขันกับบริษัทข้ามชาติต่างๆ ในกลไกตลาดเสรี รักษาและสร้างสมดุลในด้านราคาพลังงานให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและยุติธรรม

การกระจายหุ้นไอพีโอ ปตท. โปร่งใส ราคาเหมาะสมจริงหรือ?

การระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยของ ปตท. ไม่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มใด เนื่องจากได้มีการกระจายหุ้นตามหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ และตามแนวปฏิบัติที่เป็นสากล คือ การจองซื้อจะต้องผ่านตัวแทนจำหน่ายหุ้นที่เป็นธนาคาร หรือจองซื้อผ่านนายหน้าค้าหลักทรัพย์ที่ตนเป็นลูกค้าอยู่ในราคา IPO ที่ 35 บาทต่อหุ้น ซึ่งได้ผ่านการตรวจสอบความถูกต้องโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.)

นอกจากนี้ ราคาหุ้น ปตท.ก็อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและตลาดในช่วงนั้น (SET Index = 305 จุด) ซึ่งพิสูจน์ได้จากราคาหุ้น ปตท. ที่ขึ้นลงอยู่ในระดับใกล้เคียงกับราคาจองซื้ออยู่ถึงเกือบปีและบางช่วงมีระดับต่ำสุดถึง 29 บาท ดังนั้นหากนักลงทุนที่จองซื้อไม่ได้ สามารถซื้อในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ในราคาที่ต่ำกว่าราคาจอง

แล้วกำไรของ ปตท. ไปไหนล่ะ? หรือเพราะความอัปปรีย์ของปตท กำไรถึงเยอะ?

ส่วนหนึ่งของกำไรใช้ลงทุนต่อยอดขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านการจัดหาพลังงานให้แก่ประเทศ โดยอีก 5 ปี ข้างหน้า ปตท. และบริษัทในกลุ่ม ต้องใช้เงินลงทุนรวมกว่า 900,000 ล้านบาท อีกส่วนหนึ่ง นำส่งรัฐในรูปของภาษีเงินได้และเงินปันผล ไปพัฒนาประเทศด้านต่างๆ ตั้งแต่ปี 2544-2554 ปตท. ได้ส่งเงินให้รัฐรวมแล้วกว่า 460,000 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้ให้กับรัฐมากที่สุด

ปี 2554 ปตท. มีกำไรสุทธิ 105,296  ล้านบาท จากรายได้ 2,475,495 ล้านบาทคิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ   4.25% ของทรัพย์สินรวมของ ปตท. กำไรของ ปตท. ส่วนใหญ่เกิดจากการที่ ปตท. ไปลงทุนในบริษัทย่อยต่างๆ (55%) มากกว่าจากธุรกิจที่ ปตท. ดำเนินการเอง (45%)

หากเปรียบเทียบผลตอบแทนของ ปตท. กับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมพลังงานต่างประเทศ จะพบว่าอัตราผลตอบแทนของ ปตท. ยังต่ำกว่าผู้ประกอบการรายอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน

พลังงานไทยมีการแข่งขันเสรี

การดำเนินธุรกิจพลังงาน “ครบวงจร” ของ ปตท. ครอบคลุมตั้งแต่ธุรกิจพลังงานต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ทุกธุรกิจของ ปตท.อยู่ภายใต้การแข่งขันเสรี และภายใต้การติดตาม ดูแลจากภาครัฐอย่างใกล้ชิดโดย

  • ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการปิโตรเลียม ภายใต้ พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 โดยกระทรวงพลังงานเป็นผู้ให้สัมปทานกับบริษัทเอกชนที่ยื่นประมูลแข่งขันกัน สำหรับราคาจำหน่ายทั้งก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน และคอนเดนเสทที่ผลิตได้จะอ้างอิงราคาตลาดโลก กำกับดูแลโดยคณะกรรมการปิโตรเลียม ปัจจุบันมีจำนวนผู้รับสัมปทานทั้งสิ้น 72 ราย โดยบริษัท ปตท.สำรวจและผลิต (มหาชน) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ปตท.เป็นหนึ่งในผู้รับสัมปทานนั้น
  • ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ เป็นธุรกิจที่ไม่มีการผูกขาด เอกชนสามารถทำธุรกิจจัดหาและวางท่อส่งก๊าซฯ ได้ ภายใต้ พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และ พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ซึ่งก็มีเอกชนหลายรายวางท่อส่งก๊าซฯ ทั้งบนบกและในทะเล โดยลูกค้าก๊าซฯรายใหญ่ อาทิ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยก็มีการซื้อก๊าซธรรมชาติโดยตรงจากผู้ผลิตรายอื่นๆ นอกจากนี้ผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน รวมถึงผู้ใช้เชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมต่างๆ สามารถเลือกใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ (น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ หรือถ่านหิน) และเลือกซื้อเชื้อเพลิงจากผู้ผลิตต่างๆ ได้อย่างเสรี
  • ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ดำเนินการนำเข้าและส่งออกน้ำมัน รวมถึงบริหารความเสี่ยงราคาน้ำมันที่มีความผันผวนมาก โดยเป็นธุรกิจที่ต้องแข่งขันกันมากกับบริษัทต่างชาติในตลาดโลก  ซึ่งล้วนแต่เป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญ และบางบริษัทก็เป็นบริษัทในเครือของบริษัทน้ำมันของโลกขนาดใหญ่
  • ธุรกิจการกลั่น รัฐเปิดเสรีตั้งแต่ปี 2533 เพื่อให้ประเทศมีกำลังการกลั่นน้ำมันสำเร็จรูปมากพอที่จะใช้ในประเทศทดแทนการนำเข้า และสร้างความมั่นคงในการจัดหาซึ่งราคาซื้อขายผลิตภัณฑ์ที่ออกจากโรงกลั่นจะอิงกับตลาดโลก โดยมีกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงพลังงานดูแล ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงกลั่นทั้งหมด 7 แห่ง กำลังการกลั่นรวม 1.23 ล้านบาร์เรลต่อวัน การถือหุ้นในโรงกลั่นของ ปตท. มีความเป็นมาจากนโยบายภาครัฐที่ต้องการให้ ปตท.เข้าไปสนับสนุนการตั้งโรงกลั่นในไทย รวมถึงการช่วยเหลือโรงกลั่นที่ประสบภาวะขาดทุน ขาดสภาพคล่อง ในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง รัฐบาลจึงให้ ปตท. เข้าเพิ่มทุนในโรงกลั่นต่างๆ เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ สร้างพลังร่วม จนสามารถอยู่รอด และสามารถแข่งขันกับโรงกลั่นอื่นๆ ในต่างประเทศ นอกจากนี้การถือหุ้นในโรงกลั่นของ ปตท. 5 แห่ง คิดเป็นสัดส่วนของกำลังการกลั่นทั้งประเทศเพียง 36%
  • ธุรกิจปิโตรเคมี เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มจากก๊าซธรรมชาติตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยต่อเชื่อมผลิตภัณฑ์ที่ได้จากโรงแยกก๊าซธรรมชาติไปสู่อุตสาหกรรม จนถึงสินค้าอุปโภค บริโภค เพื่อประชาชน และเป็นการแข่งขันเสรีกับผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ
  • ธุรกิจน้ำมัน รัฐเปิดเสรีตั้งแต่ปี 2534 ปัจจุบันมีจำนวนผู้ค้าน้ำมันถึง 42  ราย (ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7) สถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศ รวมกว่า 20,000 แห่ง โดยโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันยังคงเป็นโครงสร้างเดียวกับโครงสร้างที่รัฐกำหนดในช่วงที่มีการควบคุมในปี 2522-2534 ประกอบด้วย 1) ราคา ณ โรงกลั่น ซึ่งขึ้น-ลงตามราคาตลาดโลกและอัตราแลกเปลี่ยน 2) ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และกองทุนเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งเป็นส่วนที่รัฐกำหนด และภาษีมูลค่าเพิ่ม 3) ค่าการตลาดที่ผู้ค้าน้ำมันกำหนด โดยแบ่งกันระหว่างผู้ค้าน้ำมันและเจ้าของสถานีบริการ ดังนั้นการปรับขึ้น-ลง ราคาขายปลีกน้ำมันขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย ดังกล่าว โดยในส่วนที่อ้างอิงกับราคาตลาดโลกอยู่นอกเหนือการควบคุม แต่ในส่วนของภาษีและกองทุนขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล ซึ่งคิดเป็นประมาณ 20-35% ของราคาขายปลีกน้ำมัน สำหรับค่าการตลาดนั้น ขึ้นอยู่กับสภาวะการแข่งขันในตลาด ตามกลไกตลาดเสรี ซึ่งคิดเป็นประมาณ 4-5% ของราคาขายปลีกดังนั้นจะเห็นได้ว่า ทุกธุรกิจของกลุ่มปตท. อยู่ภายใต้การแข่งขันเสรี และดำเนินการเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานควบคู่ กับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจประเทศ บางทีความอัปปรีย์ของ ปตท ที่เราคิดกันอยู่ตอนนี้ อาจจะช่วยให้เราไม่ต้องทนทรมานกับค่าน้ำมันที่แพงมหาโหดจากผู้ค้าน้ำมันต่างชาติก็เป็นได้

Share This: