เพิ่มพื้นที่สีเขียว “โครงการปลูกป่าวังจันทร์” สถาบันปลูกป่า ปตท.

โครงการปลูกป่า

    สำหรับใครที่ยังไม่เคยมีโอกาสไปเยี่ยมชมโครงการปลูกป่าวังจันทร์ อยากให้ลองไปกันสักครั้ง เพราะนอกจากจะได้มีโอกาสเยี่ยมชมธรรมชาติที่สวยงาม เรายังได้รับความรู้มากมายทั้งประโยชน์ของป่าที่เราควรหวงแหน ไปถึงวิธีการปลูกป่า ที่ไม่ใช่นึกอยากจะปลูกต้นอะไรไว้ตรงไหนก็ได้ แต่ทุกต้นที่ปลูก ทุกพื้นที่ที่ใช้ มีการศึกษาวิเคราะห์เป็นอย่างดี เพื่อให้ “ป่าประดิษฐ์” จากฝีมือมนุษย์ชิ้นนี้ มีความใกล้เคียงกับป่าจริง ระบบนิเวศจริงมากที่สุด และส่งมอบป่านี้สู่รุ่นต่อๆ ไป ไม่สิ้นสุด

    “โครงการปลูกป่าวังจันทร์” สถาบันปลูกป่า ปตท. อยู่ในพื้นที่ตำบลป่ายุบใน อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยองเกิดขึ้น ภายใต้ชื่อ “โครงการพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดินของ ปตท. อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง” เพื่อพัฒนาพื้นที่บางส่วนเป็นสถาบันอุดมศึกษาและโรงเรียนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) และโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS)) โดยกำหนดแผนแม่บทการใช้ที่ดิน จัดตั้ง “สถาบันปลูกป่า ปตท. วังจันทร์” เพื่อเป็นสถานที่ในการรวบรวมความรู้ พัฒนางานวิจัยด้านการปลูกป่าและจัดการป่าไม้ ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมากว่า 20 ปี ในรูปแบบการพัฒนาที่ดินและพื้นที่สีเขียวร่วมกันอย่างกลมกลืน โดยได้ร่วมมือกับคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกป่าเชิงนิเวศ มีการพัฒนาเป็นพื้นที่ต้นแบบในการเรียนรู้รูปแบบการฟื้นฟูป่าอย่างเป็นระบบใน 3 พื้นที่หลัก โดยพื้นที่ดังกล่าวถือเป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction) หรือโครงการ T-VER ภาคป่าไม้พื้นที่แรกของประเทศ ได้แก่

  1. พื้นที่ดำเนินการปลูกป่าธรรมชาติ: ป่าดิบแล้ง

        การปรับเปลี่ยนพื้นที่เพื่อฟื้นฟูป่าธรรมชาติที่สมบูรณ์ในแปลงปลูกป่าธรรมชาติ พื้นที่ 132.9 ไร่ ดำเนินการวางแผน ออกแบบเทคนิควิธีการปลูกและดูแลรักษาต้นไม้ รวมถึงศึกษาสภาพพื้นที่ตามลักษณะป่าธรรมชาติดั้งเดิมซึ่งเป็นลักษณะป่าดิบแล้ง ซึ่งส่งผลต่อวิธีการเตรียมพื้นที่ การคัดเลือกพันธุ์ไม้ การจัดวางตำแหน่งของชนิดพันธุ์ไม้อย่างเป็นธรรมชาติ รวมถึงติดตามและประเมินผลการเจริญเติบโต และปริมาณการกักเก็บคาร์บอนของหมู่ไม้ในพื้นที่แปลงปลูกป่า

    วิธีการปลูกป่าธรรมชาติ มีขั้นตอน ดังนี้

    1. สำรวจพื้นที่เบื้องต้น ด้วยภาพถ่ายดาวเทียม พร้อมเครื่องมือจับพิกัดภาคพื้นดิน (GPS) พร้อมการสำรวจภาคสนามในพื้นที่จริง
    2. การประชุมวางแผน ออกแบบ และสร้างแนวความคิดการปลูกป่าเชิงนวัตกรรมการสร้างป่า
    3. การเตรียมพื้นที่ ใช้วิธีการไถพรวนพื้นที่เพื่อกลบวัชพืชหน้าดินให้เน่าเปื่อยเป็นปุ๋ยเพิ่มความสมบูรณ์ของดิน
    4. การคัดเลือกชนิดพันธุ์ไม้ และการดูแลรักษากล้าไม้ รวมทั้งสิ้น 64 ชนิด ใน 4 กลุ่ม
    5. จัดวางตำแหน่งของต้นไม้แต่ละชนิดแบบผสมผสานกันตามระดับความสูงของพื้นที่จากยอดเขาลงสู่ที่ราบตามลักษณะของดินและความชื้นในดินเพื่อให้กล้าไม้แต่ละต้นเจริญเติบโตดีที่สุดและมีลักษณะเหมือนป่าธรรมชาติที่มีหลายชั้นเรือนยอดตามโครงสร้างป่าตั้งแต่ไม้ประธานเรือนยอดเด่น ไม้ประธานเรือนยอดรอง ไม้เรือนยอดรอง ไม้โตเร็ว และ ไม้พุ่ม
    6. การปลูกต้นไม้แบบประณีต กล่าวคือ รูปแบบการปลูกจะทำการเลียนแบบธรรมชาติ โดยปลูกไม่เป็นแถวเป็นแนว กำหนดจำนวนต้นไม้ต่อไร่ 400-500 ต้นต่อไร่ หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือนจะทำการสำรวจต้นไม้ที่ตายและทำการปลูกซ่อม โดยกำหนดอัตราการรอดตายไม่ต่ำกว่า 90%
    7. การดูแลรักษาหลังการปลูก โดยการกำจัดวัชพืชผิวดิน จำนวน 4 ครั้งในรอบปี (ขึ้นอยู่กับสภาพความเหมาะสม) การพรวนดินและใส่ปุ๋ยคอก จะดำเนินการหลังจากมีการกำจัดวัชพืชทุกครั้ง พร้อมนำเศษวัชพืชที่ได้จากการกำจัดมาคลุมที่โคนต้นของกล้าไม้เพื่อช่วยรักษาความชื้นในดิน
    8. การติดตามและประเมินผล การติดตามผลการเปลี่ยนแปลงจะดำเนินการทุกๆ 2 เดือนหลังจากที่ได้มีการปลูกต้นไม้ไปแล้ว ส่วนการประเมินผลคือการดำเนินงานวิจัยที่ประกอบไปด้วยการเก็บข้อมูลด้วยแปลงตัวอย่างถาวร และการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อคำนวณหาอัตราการรอดตาย ผลผลิตและปริมาณการกักเก็บคาร์บอนของหมู่ไม้ในพื้นที่ปลูก โดยจะเริ่มดำเนินการเมื่อการปลูกผ่านไปแล้วเป็นเวลาประมาณ 8 เดือน
  2. พื้นที่ดำเนินการวิจัยปลูกป่าต้นแบบ

        การออกแบบจำลองที่เป็นต้นแบบสำหรับการปลูกป่าจำนวน 43 ไร่ ในรูปแบบต่างๆ เพื่อทำการศึกษาและวางแนวทางในการฟื้นฟูป่าให้เหมาะสมกับระบบนิเวศดั้งเดิมในแต่ละพื้นที่ และสอดคล้องกับมิติการดำรงอยู่ของผู้คน วัฒนธรรม และประเพณี ให้ป่าที่ดำเนินการฟื้นฟูสามารถกลับคืนความอุดมสมบูรณ์ในด้านนิเวศวิทยา พร้อมกับการเอื้อประโยชน์ให้ผู้ที่มีส่วนร่วมในระดับต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นตัวแบบในการดำเนินงานปลูกป่าใน 4 รูปแบบอันได้แก่

    โครงการปลูกป่า

    • โมเดลรูปแบบที่ 1 : รูปแบบการฟื้นฟูป่าธรรมชาติ (ตามนิเวศดั้งเดิมป่า) รูปแบบการฟื้นฟูป่าธรรมชาติ โดยคัดเลือกชนิดพันธุ์ไม้ยืนต้นดั้งเดิมป่าในพื้นที่ ปลูกเพื่อการสร้างโครงสร้างของป่าเดิม และเร่งให้เกิดการฟื้นตัวตามธรรมชาติในพื้นที่ที่ทำการปลูก อย่างยั่งยืนภายหลังการปลูกเพียงครั้งเดียว ชนิดพันธุ์ไม้ที่ทำการปลูก ได้แก่ สัก, ตะแบก, สำรอง, มะค่าโมง, ถ่อน, เลือดแรด, ยางนา และ ตะเคียนทอง เป็นต้น
    • โมเดลรูปแบบที่ 2 : รูปแบบป่าที่เน้นไม้โตเร็ว (ไม้ใช้สอย) หรือกลุ่มไม้เศรษฐกิจ พันธุ์ไม้ในกลุ่มนี้มักมีรอบตัดฟันสั้น ให้ค่าความร้อนสูงจึงเหมาะสำหรับทำไม้เชื้อเพลิง วัตถุประสงค์ของการปลูกเน้นการผสมผสานพันธุ์โตเร็วชนิดต่างๆ เข้าด้วยกัน ต้นไม้ที่นับได้ว่าเป็นไม้โตเร็ว เมื่อปลูกแล้วจะได้รับผลตอบแทนภายในระยะเวลา 5 – 10 ปี ชนิดพันธุ์ไม้ที่ทำการปลูก ได้แก่ ยูคาลิปตัส, สัก, มะฮอกกานี, นนทรีป่า และ กระถินเทพา เป็นต้น
    • โมเดลรูปแบบที่ 3 : รูปแบบวนเกษตร การนำเอาระบบเกษตรมาอยู่ร่วมกับความยั่งยืนถาวรของระบบป่าในพื้นที่ โดยการปลูกไม้ยืนต้น ไม้ผล และไม้ใช้สอยต่าง ๆ ผสมผสานกับการปลูกพืชชั้นล่างที่ไม่ต้องการแสงแดดมาก หรือได้อาศัยร่มเงา และความชื้นจากการที่มีพืชชั้นบนขึ้นปกคลุม รวมทั้งการจัดองค์ประกอบการผลิตทางการเกษตรให้มีความหลากหลายชนิดของพืชและสัตว์ ชนิดพันธุ์ไม้ที่ทำการปลูก ได้แก่ ยางนา, พะยูง, มะค่าโมง, ตะเคียนทอง, สัก รวมถึงปลูกไม้กินได้ และทำนาข้าว ในพื้นที่
    • โมเดลรูปแบบที่ 4 : รูปแบบป่าไม้ผลกินได้ รูปแบบการนำเอาชนิดพันธุ์ไม้อาหารหรือไม้กินได้ โดยมุ่งหวังให้คนสามารถเก็บหาอาหารจากแหล่งธรรมชาติ ทั้งผัก ผลไม้ และพืชสมุนไพร การปลูกไม้ที่สามารถให้หน่อ ใบ ดอก ผล ใช้เป็นอาหารได้ก็จะทำให้ชุมชนมีอาหารและสมุนไพร ในธรรมชาติให้มีกินมีใช้อย่างไม่ขาดแคลน ชนิดพันธุ์ไม้ที่ทำการปลูก ได้แก่ มังคุด, ขนุน, เงาะ, มะขาม, ทุเรียน, ลางสาด, สะเดา, จำปา และ มะม่วง เป็นต้น

        ทั้งนี้ไม่ใช่เพียงแค่การเยี่ยมชม แต่ “เรา” มีโอกาสตอบแทนสิ่งแวดล้อมด้วยการช่วยกันปลูกป่าได้ที่นี่ เพราะการปลูกป่านี้ ไม่ใช่เพียงเพื่อช่วยสิ่งแวดล้อมลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่านั้น แต่สถาบันปลูกป่า ปตท. ยังตระหนักถึงการอยู่ร่วมกันระหว่างชาวบ้านและผืนป่า เพื่อให้ป่าที่สร้างขึ้นนี้ เจริญงอกงามและยั่งยืนสืบไป

โครงการปลูกป่า

Share This: