ยกเลิกกองทุนน้ำมัน แก้ไขปัญหาพลังงานอย่างยั่งยืนได้จริงหรือ??

หลังจากที่มีทั้งเสียงสนับสนุนและเสียงคัดค้านการยกเลิกกองทุนน้ำมันออกมามากมาย จนทำให้หลายคน เกิดความสงสัยกับเจ้ากองทุนน้ำมันว่ามันคืออะไร และถ้ายกเลิกไปแล้วมันจะทำให้อะไรๆ  ดีขึ้นจริงเหรอ วันนี้เรามาหาคำตอบไปพร้อม กันนะครับ
ก่อนอื่นผมขอเล่าประวัติความเป็นมาและประโยชน์ของกองทุนน้ำมันโดยย่อแล้วกันว่า กองทุนน้ำมันจัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2522 ประเทศไทยประสบกับวิกฤติราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เนื่องจาก OPEC ประกาศขึ้นราคาน้ำมันดิบ 4 ครั้ง  ซึ่งรัฐบาลโดยพลเอกเกรียงศักดิ์  ชมะนันท์ เป็นนายกรัฐมนตรีพยายามที่จะรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศให้มีเสถียรภาพไม่ต้องปรับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศให้มีเสถียรภาพ ไม่ต้องปรับราคาขายปลีกตามราคาน้ำมันดิบทุกครั้งที่ราคาน้ำมันดิบเปลี่ยนแปลง และต้องการรวมกองทุนต่างๆ ที่มีอยู่แล้วเข้าด้วยกัน จึงได้อาศัยอำนาจพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2516 ออกคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ สร. 0201/9 ลงวันที่ 27 มีนาคม 2522  จัดตั้ง กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งรวมกองทุนรักษาระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิง กับกองทุนรักษาระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิง (เงินตราต่างประเทศ) เข้าด้วยกัน โดยมีวัตถุประสงค์  เพื่อใช้เป็นกลไกของรัฐในการป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง และใช้ในการรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศ ในกรณีที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงขึ้น เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความเดือดร้อน ของประชาชน น้อยที่สุด
ในปี 2534 รัฐบาลได้ยกเลิกการควบคุมราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของน้ำมันเบนซิน ก๊าด ดีเซลและเตา โดยเหลือเพียงก๊าซปิโตรเลียมเหลว (ก๊าซหุงต้ม หรือ LPG ) ที่ยังคงมีการควบคุมราคาอยู่ ปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จึงใช้ในการรักษาระดับราคาของก๊าซปิโตรเลียมเหลวเป็นหลัก ซึ่งบทบาทนี้เองทำให้เกิดปัญหาการบิดเบือนราคาก็ชื่อมันก็บอกอยู่นี่ครับว่าเป็นกองทุนน้ำมัน เอาไปอุดหนุน LPG มันก็ดูจะผิดวัตถุประสงค์ไปหน่อย แต่เอาหล่ะ ในเมื่อรู้แล้วว่าทำผิดกันมานาน ปล่อยไว้ปัญหาก็คงไม่จบไม่สิ้น หนทางที่ดีที่สุดคือการแก้ไขปัญหา     โดยใช้วิธีการลอยตัว ก๊าซหุงต้มจึงส่งผลให้ก๊าซหุงต้ม ขึ้นราคา แต่ว่าขึ้นแบบทยอยขึ้นไม่ได้พรวดพราด เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาที่สะสมมานานให้มันถูกต้องเข้าที่เข้าทางสักทีครับ
แต่ในเมื่อสถานการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไป เรื่องพลังงานก็ถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้ง โดยเฉพาะเรื่องการยกเลิกกองทุนน้ำมัน มีหลายสงสัยนะครับว่าการยกเลิกกองทุนน้ำมันนั้นมันสามารถทำให้น้ำมันราคาถูกลงได้จริงๆ เหรอ?? ตอบกันตามตรงก็จริงครับ  แต่…มันถูกลงแค่บางชนิด และน้ำมันบางชนิดก็จะปรับตัวสูงขึ้นด้วยครับ อาทิเช่น  เบนซิน 95 จะปรับลดลง 10.70 บาท จากปัจจุบันขายลิตรละ 48.75 บาท เหลือ 38.05 บาท แก๊สโซฮอล์ 95 ลดลง 3.53 บาท เหลือ 37.20 บาท แก๊สโซฮอล์ 91 ลดลง 1.28 บาท เหลือ 37 บาท  แต่ที่น่าตกใจคือ อี 85 ราคาจะเพิ่มขึ้น 12.41 บาท เป็น 37 บาทต่อลิตร ส่วนราคาแอลพีจีlpgจะถูกลอยตัวดยอัตโนมัติ โดยทุกภาคส่วน  ทั้งครัวเรือน ภาคขนส่ง ฯลฯ จะใช้ในราคาเดียวกัน ดังนั้นผลกระทบที่จะตามมาคือ ผู้ใช้น้ำมันจะเลิกใช้ แก๊สโซฮอล์เพราะราคาไม่เป็นที่จูงใจ จะส่งผลอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมการผลิต เอทานอล และเกษตรกร  จำนวนมากที่หันมาปลูกพืชพลังงานทดแทนตามการสนับสนุนของทุกรัฐบาล ที่ดำเนินงานมาเกือบ 9 ปี ต้องยุติลง เพราะที่ผ่านมามีการใช้เงินกองทุนน้ำมันฯไปสนับสนุนให้กับผู้ผลิตเอทานอล ที่นำมาผสมกับน้ำมันเบนซินกลายเป็นแก๊สโซฮอล์ ช่วยลดภาระการนำเข้าน้ำมันของประเทศ ตามนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ถือว่าประสบความสำเร็จค่อนข้างสูงที่ประชาชนหันมาใช้แก๊สโซฮอล์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เมื่อรู้ถึงข้อดีและข้อเสียจากการยกเลิกกองทุนน้ำมันแล้ว สิ่งที่เราต้องมองกันต่อไปก็คือ “อนาคต” ครับ สิ่งไหนที่ทำแล้วมันส่งผลกระทบต่ออนาคตน้อยที่สุด เราก็ควรเลือกวิธีนั้น แต่ทั้งนี้ก็สุดแท้แล้วแต่ประชาชนอย่างเราๆ ว่าจะสามารถตีโจทย์อันนี้ให้แตกได้หรือไม่ ถ้าตีโจทย์แตกแก้ปัญหาถูกก็ได้สบายระยะยาวไปถึงลูกถึงหลานกันเลยทีเดียวครับ

Share This: