ข้อเท็จจริงพลังงานไทย ปตท. โกงพลังงานไทยจริงหรือไม่??

23-4-2556 12-07-44

ธุรกิจพลังงานเป็นธุรกิจเสรีและราคาพลังงานก็เป็นไปตามกลไกเสรี โดยจะเห็นได้จากราคาน้ำมันสำเร็จรูปในบ้านเรา อ้างอิงจากราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดโลก (สิงคโปร์) ซึ่งโดยมากราคาน้ำมันสำเร็จรูปและราคาน้ำมันดิบจะปรับตัวไปในทิศทางเดียวกัน โดยปกติแล้วเวลาที่ราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่สิงคโปร์ปรับตัวสูงขึ้น ปตท. ก็ไม่ได้ปรับราคาขายปลีกขึ้นทันที แต่จะพยายามตรึงราคาไว้ให้นานที่สุดจนค่าการตลาดต่ำกว่าระดับปกติ เผื่อตลาดโลกจะมีแนวโน้มปรับตัวลดลงมาบ้าง แต่ถ้าไม่ไหวจริงๆ หรือตลาดโลกยังมีแนวโน้มขึ้นต่อจึงจะปรับขึ้นราคาขายปลีก ดังนั้น ในทางกลับกันขาลงจึงอาจรู้สึกว่ามีการปรับลดลงช้ากว่าราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดโลกอยู่บ้าง ทั้งนี้ ก็เพื่อดึงค่าการตลาดให้กลับมาสู่ระดับปกติิ จึงทำให้หลายๆ ท่านเกิดข้อสงสัยว่า ปตท. โกงพลังงานไทยหรือเปล่า

การแข่งขันของ ปตท. นั้นอยู่บนการแข่งขันเสรี เช่น

•  ธุรกิจโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ไม่ได้เป็นธุรกิจผูกขาดเพราะเอกชนรายอื่นสามารถเข้ามาดำเนินธุรกิจได้ แต่สาเหตุที่มีผู้ประกอบการโรงแยกก๊าซฯ น้อยราย เนื่องมาจากต้องใช้เงินลงทุนสูง (เช่น โรงแยกก๊าซฯ ที่มีกำลังการแยกก๊าซฯ 800 ล้าน ลูกบาศก์ฟุต/วัน จะต้องใช้เงินลงทุนสร้างกว่า 30,000 ล้านบาท) และในปัจจุบันรัฐยังควบคุมราคา LPG ในประเทศต่ำกว่าตลาดโลก

•  ธุรกิจ NGV  ปัจจุบันมีผู้ประกอบการสถานีเอกชนประมาณ 88 สถานี จาก 470 สถานี และกำลังมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากการที่ ปตท. และภาครัฐสนับสนุนให้เอกชนมาลงทุนในสถานี NGV

•  ธุรกิจท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ปตท. มิได้ผูกขาด มีหลายบริษัทที่ลงทุนวางท่อส่งก๊าซ เช่น บริษัท อเมราดา เฮสส์ วางท่อจากแหล่งก๊าซภูฮ่อมถึงแหล่งก๊าซน้ำพอง บริษัท เชฟรอน วางท่อก๊าซในทะเลเพื่อเชื่อมแหล่งก๊าซต่างๆ ในพื้นที่สัมปทาน แต่เนื่องจากธุรกิจท่อส่งก๊าซใช้เงินลงทุนสูงมากซึ่งที่ผ่านมา ปตท.ได้ใช้เงินลงทุนไปแล้วกว่า 2 แสนล้านบาทและใช้เวลานานกว่าจะมีการใช้ท่อเต็มกำลังการส่งก๊าซ ดังนั้นเมื่อมีผู้ประกอบการรายใดลงทุนไปแล้วจึงไม่มีใครต้องการมาลงทุนในพื้นที่เดียวกันอีก

•  ธุรกิจการกลั่น เปิดเสรีตั้งแต่ปี 2533 แม้ว่า ปตท. ถือหุ้นอยู่ 5 โรงกลั่น โดยมีกำลังการผลิตคิดตามสัดส่วนการถือหุ้น ณ สิ้นปี 2554 รวม 443,000 บาร์เรล/วัน คิดเป็นเพียง 36% ของกำลังการกลั่นของทั้งประเทศ

•  นอกจากนี้การทำธุรกิจปิโตรเลียมยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของภาครัฐ โดยสำนักนโยบายและแผนพลังงาน กำหนดนโยบายโครงสร้างราคาพลังงาน และกำหนดนโยบายพลังงาน เช่น นโยบายการสำรองน้ำมัน

•  กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติควบคุมการให้สัมปทาน การสำรวจ การผลิต การเก็บรักษา การขนส่ง การขาย และการจำหน่ายปิโตรเลียม

•  กรมธุรกิจพลังงาน กำหนด ควบคุม และพัฒนามาตรฐานคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง, กำกับดูแลการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง, ควบคุมการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิง และให้อนุญาตการวางระบบท่อขนส่งน้ำมัน

•  คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กำกับกิจการไฟฟ้าและกิจการก๊าซธรรมชาติ (ยกเว้นโรงแยกก๊าซฯ และ NGV)  ภายใต้กรอบนโยบายของรัฐ และออกประกาศกำหนดประเภทใบอนุญาตการประกอบกิจการพลังงาน (ไฟฟ้า/ก๊าซฯ)

สรุปข้อเท็จจริงพลังงานไทยเรื่องประโยชน์จากทรัพย์สินที่ถูกโอนไปจากภาครัฐเมื่อตอนแปรรูป ปตท นั้นได้ดำเนินการโอนทรัพย์ที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ ปตท. มีอยู่ก่อนการแปลงสภาพเป็น บมจ.ปตท. ตามคำพิพากษา ให้กระทรวงการคลังครบถ้วนเรียบร้อยแล้ว ได้แก่  ที่ดินที่ได้มาจากการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ สิทธิการใช้ที่ดินของเอกชนเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ และทรัพย์สินที่เป็นท่อก๊าซธรรมชาติ และอุปกรณ์ที่ประกอบกันเป็นระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ รวมมูลค่าทั้งสิ้น 16,175 ล้านบาท

23-4-2556 12-08-43

Share This: