สาเหตุราคาน้ำมันขึ้นลงไม่เท่ากัน เช่นขึ้น 60 สต. ลง 40 สต.

    เชื่อว่าเพื่อนๆหลายคนต้องเคยสงสัยเวลาดูข่าวการปรับราคาน้ำมันหน้าปั๊ม และก็คงเหมือนกับผมที่ข้องใจบ้างไม่มากก็น้อยว่าทำไมการขึ้นลงของราคาแต่ละครั้งมันไม่เท่ากันเลยและราคามักจะขึ้นในสัดส่วนมากกว่าตอนลงบ่อยๆ เช่นเวลาขึ้นๆ 60 สต. แต่ตอนลงๆแค่ 40 สต.

 

    จากที่ลองรวบรวมข้อมูลราคาน้ำมันและโครงสร้างราคาย้อนหลัง ผมพบว่าสัดส่วนการขึ้นลงของราคาน้ำมันจะสัมพันธ์กับค่าการตลาดในช่วงนั้น  และการจะเข้าใจในเรื่องนี้ จะต้องทำความใจใน สามประเด็นนี้ก่อนว่า

 

1.ราคาสิงคโปร์และค่าการตลาดมีผลต่อการปรับราคาหน้าปั๊ม และ

2.ช่วงเวลาในการปรับราคามีผลทำให้การขึ้นลงแต่ละครั้งไม่เท่ากัน

3.แล้วมีเหตุผลอะไรที่ต้องทำแบบนั้นด้วย ?? (แล้วปั๊มน้ำมันได้ประโยชน์จากส่วนต่างตรงนี้หรือไม่?)

 

    ประเด็นแรก ค่าการตลาดมีผลต่อการปรับราคาน้ำมัน โดยหลักการแล้วราคาน้ำมันในประเทศจะอิงกับราคาสิงคโปร์เมื่อราคาสิงคโปร์มีการปรับ ราคาหน้าโรงกลั่นไทยก็จะมีการปรับตาม ทำให้ค่าการตลาดในประเทศเปลี่ยนเพราะค่าต้นทุนน้ำมันๆเปลี่ยน ยกตัวอย่างง่ายๆเช่น เมื่อราคาหน้าโรงกลั่นลดลงในขณะที่ปั๊มยังขายราคาเดิมอยู่จะทำให้ค่าการตลาดสูงเพราะปั๊มมีรายได้เพิ่มขึ้นเพราะต้นทุนน้ำมันถูกลง  และเมื่อค่าการตลาดมันสูงเกินเกณฑ์ค่าเฉลี่ย (จากการศึกษาของสถาบันปิโตรเลียม ค่าการตลาดโดยเฉลี่ยที่เหมาะสมของทุกผลิตภัณฑ์น้ำมันจะอยู่ที่ประมาณ 1.7-2.0) ผู้ค้าก็จะมีการปรับลดราคาลง ในทางกลับกันเมื่อราคาหน้าโรงกลั่นเพิ่มในขณะที่ปั๊มยังขายราคาเดิมอยู่ก็จะทำให้ค่าการตลาดต่ำเพราะต้นทุนน้ำมันๆสูงขึ้นทำให้รายได้ของปั๊มลดลง และเมื่อค่าการตลาดมันต่ำกว่าเกณฑ์ค่าเฉลี่ย ผู้ค้าก็จะมีการปรับราคาขึ้น โดยหลักการพื้นฐานแล้วมันจะเป็นแบบนั้นครับ (ราคาน้ำมันจะมีการปรับเมื่อค่าการตลาดสูงหรือต่ำกว่าค่าเฉลี่ย)

 

    ประเด็นที่สอง เรื่องช่วงเวลาในการปรับ (หรือช่วงห่างระหว่างค่าการตลาดโดยเฉลี่ยกับค่าการตลาดน้ำมันในช่วงนั้น) อันนี้สำคัญมากที่เป็นเหตุผลที่จะอธิบายว่าทำไมการขึ้นลงของราคาแต่ละครั้งมันไม่เท่ากันและทำไมสัดส่วนที่ปรับขึ้นมากกว่าตอนที่ปรับลง (อย่างเช่น ปรับขึ้น 60 สต. แต่ปรับลงแค่ 40 สต.) จากย่อหน้าที่แล้วเรารู้แล้วว่าค่าการตลาดมีผลต่อการปรับราคาหน้าปั๊ม ..แต่ตัวที่ทำให้การปรับราคาขึ้นลงไม่เท่ากันมันคือช่วงระยะเวลาในการปรับคับ ตรงนี้ผมขออนุญาติอธิบายแยกเป็นสองส่วนคือตอนที่ปรับราคาลงกับตอนที่ปรับขึ้น..

 

  -ตอนปรับลง มักจะลงน้อยกว่าตอนปรับขึ้นเพระตอนที่ปรับราคา ค่าการตลาดมันสูงกว่าค่าเฉลี่ยไม่มาก โดยส่วนใหญ่จากที่ลองสังเกตุดู ถ้าค่าการตลาดสูงเกินเกณฑ์เมื่อไร ก็มักจะมีการปรับราคาลงทันที และเมื่อค่าการตลาดมันไม่ได้สูงมากนัก ตอนปรับราคาลงจึงไม่ได้ปรับเยอะ บางทีอาจปรับลง 20 สต. หรือบางครั้ง ก็ 40 สต. ขึ้นอยู่กับว่าค่าการตลาดตอนนั้นมันสูงกวาค่าเฉลี่ยมากแค่ไหน

 

ค่าการตลาดก่อปรับราคาน้ำมันขึ้น

    -แต่ตอนปรับขึ้นที่ปรับราคาสูงกว่าตอนที่ปรับลดนั้น เช่นบางทีปรับขึ้น 60 สต แต่ก็มีบ้างเหมือนกันที่ขึ้นแค่ 30 สต ซึ่งมันก็ขึ้นอยู่กับว่าค่าการตลาดในช่วงนั้นมันต่ำกว่าเกณฑ์มากน้อยแค่ไหน ซี่งจากที่ผมลองสังเกตุย้อนหลังดูจะเห็นว่าส่วนใหญ่จะยังไม่มีการปรับราคาน้ำมันขึ้นทันทีเมื่อค่าการตลาดต่ำกว่าเกณฑ์ แต่มักจะมีการปรับขึ้นราคาเมื่อค่าการตลาดต่ำกว่าเกณฑ์มากๆเหมือนมีช่วงอั้นมากกว่าตอนที่ปรับราคาลง เวลาปรับราคาขึ้นทีมันก็สูงกว่าตอนที่ปรับลงเพราะช่วงห่างจากค่าการตลาดเฉลี่ยมันสูงกว่าตอนปรับราคาลงนั่นเอง
ค่าการตลาดก่อปรับราคาน้ำมันลง

    สรุปง่ายๆคือราคาน้ำมันจะขึ้นหรือลงมากน้อยแค่ไหน มันขึ้นอยู่กับว่าค่ำการตลาดในช่วงนั้นเป็นยังไง ถ้าค่าการตลาดต่ำกว่าเกณฑ์ค่าเฉลี่ยมากเวลาปรับขึ้นก็จะแรง กลับกันถ้าค่าการตลาดสูงกว่าเกณฑ์ค่าเฉลี่ยไม่มากตอนปรับลงก็จะลงไม่เยอะ ถ้าอธิบายเป็นภาพก็น่าจะประมาณนี้คับ
ทำไมราคาน้ำมันขึ้นลงไม่เท่ากัน

ประเด็นสุดท้าย แล้วปั๊มน้ำมันได้ประโยชน์จากส่วนต่างตรงนี้หรือไม่??
    เมื่อมองแบบผิวเผินมักจะทำให้เข้าใจว่า ผู้ค้าน้ำมันเอาเปรียบ เพราะราคาปรับขึ้นมากกว่าตอนลงแต่ถ้าดูภาพรวมแล้วข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะในส่วนกำไรของปั๊มที่อยู่ในค่าการตลาด เมื่อดูจากค่าเฉลี่ยทั้งปีแล้วมันไม่ได้สูงเกินไปเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยที่เหมะสม
ค่าการตลาดราคาน้ำมัน 2016
    และค่าการตลาดก็มีหน่วยงานของรัฐกำกับดูแลอยู่เพื่อไม่ให้ปั๊มหากำไรจนเกินควร ซึ่งทุกปั๊มก็ขายราคาเดียวกันหมดเพราะโครงสร้างราคาเหมือนกัน การปรับราคาขึ้นลงแต่ละครั้งที่มันไม่เท่ากัน มันน่าจะเป็นเรื่องของช่วงเวลาการปรับมากกว่า ที่ตอนปรับขึ้นมักจะช้ากว่าเพราะอั้นรอให้ค่าการตลาดต่ำมากๆก่อนจึงค่อยปรับราคาขึ้นทีเดียว แต่ตอนปรับลงมักจะปรับลงได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้ค่าการตลาดสูงเกินไป ไม่น่าจะใช่การเอาเปรียบของปั๊มน้ำมัน และนั่นหมายถึงปั๊มจะมีช่วงที่ต้องรับภาระค่าการตลาดต่ำยาวนานกว่าตอนที่ค่าการตลาดสูงด้วย

    สุดท้ายหวังว่ากระทู้นี้น่าจะมีประโยชน์กับเพื่อนสมาชิกบ้างไม่มากก็น้อยนะครับ ผิดถูกอย่างไรก็กราบขออภัยด้วยครับผม

ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก
https://pantip.com/topic/36390309

Share This: