ปลอดภัยแน่ แม้ไร้เสาเข็ม

มาเข้าใจกันก่อนว่า ฐานราก คืออะไร

ฐานราก คือ โครงสร้างทางวิศวกรรมที่รับน้ำหนักจากสิ่งปลูกสร้างต่างๆ  แล้วถ่ายน้ำหนักนั้นลงสู่ชั้นดิน  ซึ่งสามารถสร้างได้หลายแบบ ขึ้นกับลักษณะสิ่งปลูกสร้าง และลักษณะของดินบริเวณนั้น  ทั้งนี้ ฐานรากโดยทั่วไปมี 2 ประเภท คือ

  1. ฐานรากแบบลึก : คือ ฐานรากเสาเข็ม จะใช้เมื่อเนื้อดินอ่อนเกินไปจนไม่สามารถรับน้ำหนักโครงสร้างได้  ซึ่งการออกแบบฐานรากประเภทนี้ จะใช้เมื่อชั้นดินคุณภาพดีอยู่ระดับความลึกที่ประมาณ 3-10 เมตร
  2. ฐานรากแบบตื้น : คือ ฐานรากแบบแผ่  จะใช้เมื่อเนื้อดินแน่นแข็งแรงพอจะรับน้ำหนักบรรทุกได้ดี และมีการทรุดตัวไม่มากกว่าข้อกำหนดทางวิศวกรรม จึงไม่จำเป็นต้องใช้เสาเข็ม  ซึ่งการออกแบบฐานรากประเภทนี้ จะใช้เมื่อชั้นดินคุณภาพดีอยู่ระดับ 2-3 เมตร

ดังนั้น การที่ไม่ใช้เสาเข็ม ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีฐานราก  แม้เสาเข็มเป็นฐานรากแบบลึก ที่อาจให้ความรู้สึกปลอดภัยมากกว่าก็ตาม….  แต่เราไม่จำเป็นต้องใช้เสาเข็มในทุกกรณีเสมอไป   เราเข้าใจกันไปเองว่า เวลาจะก่อสร้างสิ่งใด ต้องตอกเสาเข็มเสมอ

 

มั่นใจได้อย่างไร ฐานรากแบบแผ่เหมาะกับโรงแยกก๊าซฯ หน่วยที่ 6 ?

ดินแข็งแรง รากฐานแข็งแรง

เริ่มจากดำเนินการสำรวจพื้นที่ในโครงการ โดยเก็บตัวอย่างดินตลอดความลึก 20-30 เมตร ในทุกๆ ระยะความลึก 1.50 เมตร ทั่วพื้นที่โครงการฯ  เรียกว่าตรวจกันอย่างละเอียดยิบ  แล้วจึงส่งดินตัวอย่างนั้นไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจสอบคุณภาพอย่างละเอียด    ซึ่งผลการการเจาะสำรวจและวิเคราะห์คุณสมบัติของดิน พบว่าสภาพดินบริเวณที่ก่อสร้างนั้นเป็นดินแน่นถึงแน่นมาก (SC : Dense up to Very Dense Clayey Sand) และดินแข็งถึงแข็งมาก (CL: Stiff to Hard Sandy Clay)

ผู้เชี่ยวชาญด้านปฐพีกลศาสตร์ และวิศวกรรมฐานราก จากบริษัท กรุงเทพฯ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแทนด์ จำกัด ซึ่งได้รับใบอนุญาตจากสภาวิศวกร  และรับรองผลวิเคราะห์โดยวิศวกรชั้นสูงสุดคือวุฒิวิศวกรว่าสิ่งปลูกสร้างบริเวณนี้สามารถใช้ได้ทั้งฐานรากแบบตื้น และฐานรากแบบลึก  ดังนั้น โรงแยกก๊าซฯ หน่วยที่ 6  จึงมีทั้งแบบใช้เสาเข็มและแบบไม่ใช้เสาเข็ม  โดยบริเวณที่ใช้ฐานรากแบบตื้นหรือไม่มีเสาเข็ม  ผู้ออกแบบ คือ บริษัท ซัมซุง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ได้ทำการปรับปรุงคุณภาพดินในพื้นที่ โดยขุดลอกดินอ่อน หรือวัสดุที่ไม่เหมาะสมสำหรับรองรับฐานรากออก  แล้วนำวัสดุที่มีคุณสมบัติที่ดีกว่า นั่นคือ “หินคลุก” มาถมกลับแล้วบดอัดด้วยเครื่องบดอัดขนาดใหญ่  เพื่อให้มีความแน่นตามข้อกำหนดและมาตรฐานทางวิศวกรรม จากนั้นจึงทำการทดสอบการรับน้ำหนักของดินว่าเป็นไปตามการออกแบบจริง   ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่า ดินที่รองรับโรงแยกก๊าซฯ หน่วยที่ 6 มีความมั่นคงแข็งแรงและปลอดภัยสูงสุด

 

  • ความปลอดภัยที่ผ่านการคำนวณ

หินคลุกที่นำมาถมและบดอัด จะถูกทดสอบคุณภาพมาแล้วว่ามีความแข็งแรง และหลังจากที่ถมและบดอัดแล้ว ก็จะถูกทำการทดสอบซ้ำเพื่อหาค่าความสามารถในการรับน้ำหนักของดินอีกครั้งโดยผู้เชี่ยวชาญ

ผลการทดสอบพบว่า ดินสามารถรับน้ำหนักได้สูงถึง 90 ตันต่อตารางเมตร  แต่ผู้ออกแบบได้ทำการออกแบบฐานรากโดยใช้ค่าเพียง 30 ตันต่อตารางเมตร  นั่นคือ มีค่าความปลอดภัย = 3 ซึ่งเป็นค่าความปลอดภัยที่สูงกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ และแสดงให้เห็นว่า ปตท. ได้มีการเผื่อค่าความปลอดภัยไว้อีกขั้นแล้ว

ส่วนน้ำหนักบรรทุกที่นำมาพิจารณาในการออกแบบฐานรากนั้น  ครอบคลุมตั้งแต่โครงสร้างด้านบนทั้งหมด ได้แก่ แผ่นพื้น ผนัง คาน เสา น้ำหนักวัสดุ  สิ่งของ เครื่องจักร ผู้ใช้อาคาร ฯลฯ  รวมทั้ง น้ำหนักที่เกิดจากแรงลม   ซึ่งรวมทั้งหมดแล้ว มีค่าไม่เกินกว่าค่าความสามารถในการรับน้ำหนักของดินที่วิเคราะห์ไว้โดยผู้เชี่ยวชาญด้านปฐพีกลศาสตร์ และวิศวกรรมฐานราก

 

  • ทรุดไม่กลัว ไม่กลัวทรุด

เป็นที่รู้กันในวงการก่อสร้างว่า ค่าการทรุดตัวที่น้อยกว่าข้อกำหนดมาตรฐานไม่ถือเป็นเรื่องต้องกังวลใดๆ เพราะโครงสร้างทุกประเภท  ไม่ว่าจะตอกเสาเข็มหรือไม่ตอกเสาเข็ม ก็มีการทรุดตัวทั้งนั้น แต่การทรุดต้องผ่านการประเมินและควบคุมได้โดยหลักการทางด้านวิศวกรรม

ทั้งนี้ อัตราการทรุดตัวของโครงสร้างที่ประมาณการไว้ตลอดอายุการใช้งานของโรงงานถือว่าน้อยมาก  ปกติแล้วการทรุดตัวจะเกิดขึ้นทันทีในปีที่ก่อสร้างแล้ว และเมื่อทุกอย่างอยู่ตัว การทรุดตัวจะน้อยลงเรื่อยๆ จนแทบไม่ทรุดเลย  ซึ่งในการก่อสร้างโรงแยกก๊าซฯ หน่วยที่ 6 ของนี้  การทรุดตัวที่เกิดขึ้นจริง มีค่าน้อยกว่าที่วิศวกรประมาณการไว้อีก  จึงมั่นใจได้เต็มร้อยถึงความปลอดภัยบนฐานรากมาตรฐานระดับโลกของโรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 6   และเชื่อมั่นในความตั้งใจจริงของ ปตท. ในการดำเนินงานบนมาตรฐานระดับสากล
PTT_BASE-InsidePTT_BASE-Outside

Share This: