พลังงานไทย ตอนที่ 4 : ชำแหละ ปตท ห้ามส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป?

“กลุ่มทวงคืนพลังงานไทย” สร้างนิทานเรื่อง “ประเทศไทยเป็นเศรษฐีพลังงาน” และเรื่อง “สัญญาสัมปทานขายชาติ” ก็เพื่อลากไปสู่ประเด็นโจมตีหลักคือ ราคาน้ำมันสำเร็จรูป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง น้ำมันเบนซิน ที่คนพวกนี้อ้างว่า มีราคาแพงในอันดับต้น ๆ ของโลก

ในปี 2555 ประเทศไทยกลั่นน้ำมันดิบนำเข้าและน้ำมันดิบ (รวมคอนเดนเสท) ที่ผลิตในประเทศ ออกมาเป็นน้ำมันสำเร็จรูป ประกอบด้วยผลผลิตหลัก เช่น ก๊าซแอลพีจี เบนซิน ดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันเครื่องบิน เป็นต้น รวม 988,964 บาร์เรลต่อวัน แต่ในปีเดียวกัน ประเทศไทยบริโภคน้ำมันสำเร็จรูปเป็นจำนวน 767,612 บาร์เรลต่อวัน จึงมีเหลือส่งออกไปต่างประเทศจำนวน 199,304 บาร์เรลต่อวัน นัยหนึ่ง

ประเทศไทยบริโภคน้ำมันสำเร็จรูปประมาณร้อยละ 80 ของปริมาณที่กลั่นได้ ที่เหลืออีกประมาณร้อยละ 20 จึงต้องส่งออก

“กลุ่มทวงคืนพลังงานไทย” โจมตีอีกว่า โรงกลั่นน้ำมันได้กำไรมหาศาลจากการที่ปตท ปล้นทรัพยากรไทยเอาไปขายน้ำมันสำเร็จรูปในต่างประเทศ ดังจะเห็นได้ว่า มูลค่าการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปของไทยในปี 2555 สูงถึง 270,000 ล้านบาท สูงกว่ามูลค่าการส่งออกข้าวไทยที่ 140,000 ล้านบาทเสียอีก!

คนพวกนี้บิดเบือนด้วยการพูดถึงกำไรมหาศาล แต่กลับอ้างตัวเลขยอดขายรวมแทน!

น้ำมันสำเร็จรูปที่ส่งออกไม่ได้เกิดมาจากอากาศธาตุ แต่ต้องใช้น้ำมันดิบเป็นวัตถุดิบ เรามีสถิติทั้งมูลค่าและปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบตลอดปี 2555 สามารถคำนวณราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบนำเข้าต่อบาร์เรลได้เท่ากับ 114 ดอลลาร์สหรัฐฯ ข้อมูลเดียวกันสำหรับน้ำมันสำเร็จรูปส่งออกได้เท่ากับบาร์เรลละ 118 ดอลลาร์สหรัฐฯ คือมีส่วนต่างเพียง 4 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หรือลิตรละ 0.75 บาทเท่านั้น ทั้งที่ยังไม่ได้หักต้นทุนค่าใช้จ่ายของโรงกลั่นแต่อย่างใด

เหตุใดโรงกลั่นจึงผลิตน้ำมันสำเร็จรูปล้นเกินและส่งออกในส่วนต่างราคาอันน้อยนิดเช่นนี้? คำตอบไม่ใช่ปตท ปล้นทรัพยากรไทย หรือเป็นเพราะทุนสามานย์แต่คือ การกลั่นน้ำมันเป็นอุตสาหกรรมหนัก เช่นเดียวกับก๊าซธรรมชาติ เหล็กและเหล็กกล้า ไฟฟ้า เป็นต้น คือต้องเดินโรงงานและเครื่องจักรให้เต็มหรือใกล้เต็มสมรรถนะร้อยละ 80-100 เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงและได้ต้นทุนต่อหน่วยต่ำ หากเดินเครื่องจักรต่ำกว่าสมรรถนะอย่างมาก ก็จะไม่มีประสิทธิภาพ สิ้นเปลืองพลังงาน และมีต้นทุนต่อหน่วยสูง

แต่ข้อวิจารณ์ที่ว่า น้ำมันสำเร็จรูปส่งออกไปขายในตลาดโลกมีราคาต่ำกว่าราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นในประเทศไทยนั้นมีส่วนจริง เพราะน้ำมันสำเร็จรูปเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ มีการซื้อขายในตลาดโลกเป็นปริมาณมหาศาล มีผู้ซื้อผู้ขายจำนวนมาก ผู้ที่ส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปชนิดใดก็ต้องขายในราคาเดียวกันในตลาดกลางของภูมิภาค ราคาหน้าโรงกลั่นในประเทศไทยยึดราคาอ้างอิงในตลาดกลางสิงคโปร์โดยมีส่วนต่างไม่เกินกว่าค่าขนส่ง ฉะนั้น โรงกลั่นจะส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปได้ ก็ต้องยอมขายต่ำกว่าราคาหน้าโรงกลั่น เพราะถ้าไม่กระทำเช่นนั้น ก็ต้องยอมจัดเก็บน้ำมันสำเร็จรูปส่วนเกินไว้ในคลังและจะมียอดเก็บกักสะสมเพิ่มทุกปี เป็นภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่คุ้มค่า

นัยหนึ่ง โรงกลั่นจะต้องเลือกระหว่างเดินเครื่องใกล้เต็มสมรรถนะให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ต้นทุนต่อหน่วยต่ำสุด แล้วมีผลผลิตส่วนเกินที่ต้องส่งออกในราคาต่ำกว่าราคาหน้าโรงกลั่น แต่ก็ยังได้ส่วนต่างราคาจากต้นทุนน้ำมันดิบอยู่บ้างดังตัวเลขข้างต้น หรือเดินเครื่องต่ำกว่าสมรรถนะ แล้วมีต้นทุนต่อหน่วยสูงขึ้น แต่มีผลผลิตส่วนเกินน้อยลง ไม่มีปัญหาต้องส่งออกหรือจัดเก็บจำนวนมาก ที่ผ่านมา โรงกลั่นไทยเลือกหนทางแรกเพราะมีความสมเหตุสมผลทางธุรกิจมากกว่า

จากการที่ประเทศไทยผลิตน้ำมันสำเร็จรูปล้นเกินจนต้องส่งออกไปต่างประเทศ ได้นำไปสู่ข้อเรียกร้องของ “กลุ่มทวงคืนพลังงานไทย” ให้ “งดส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปทั้งหมด เก็บไว้ในประเทศเพื่อให้คนไทยได้ใช้ในราคาถูก”

นี่เป็นข้อเสนออันตรายที่จะทำลายอุตสาหกรรมน้ำมันของไทยทั้งหมดไม่ใช่เพียงแค่การชำแหละ ปตท เพราะจะงดส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปได้ รัฐบาลต้องออกกฎหมายห้ามส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปข้ามแดนเท่านั้น ปัจจุบัน อุตสาหกรรมน้ำมันเป็นอุตสาหกรรมเปิดเสรี หากรัฐบาลประกาศห้ามส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป แน่นอนว่า จะทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศลดต่ำลงเพราะมีอุปทานล้นเกินในประเทศ ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดการลักลอบส่งออกน้ำมันข้ามแดนแล้ว ยังเป็นการทำลายธุรกิจโรงกลั่น เพราะหากรัฐบาลยังคงจัดเก็บภาษีน้ำมันในอัตราเดิม ราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นจะต้องลดลงอย่างมากด้วย

ถ้าประเทศไทยเป็นเศรษฐีพลังงาน มีน้ำมันดิบราคาถูกจำนวนมหาศาลอย่างที่ “พวกทวงคืนฯ” แอบอ้าง ด้วยต้นทุนน้ำมันดิบต่ำ โรงกลั่นก็อาจจะยังมีกำไรอยู่ได้ แต่ความจริงคือ ประเทศไทยไม่ใช่เศรษฐีน้ำมัน จึงยังต้องนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศจำนวนมากในราคาตลาดโลก และด้วยส่วนต่างราคาน้ำมันดิบนำเข้า-น้ำมันสำเร็จรูปส่งออกข้างต้นที่เพียงลิตรละ 0.75 บาท การกดราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นให้ต่ำลง จะทำให้โรงกลั่นประสบภาวะขาดทุนอย่างแน่นอน ซึ่งหากรัฐบาลดำเนินการดังกล่าวเป็นนโยบายถาวรจริง โรงกลั่นก็จะต้องเลิกกิจการไปในที่สุด

ยิ่งกว่านั้น การห้ามส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป นอกจากจะทำให้โรงกลั่นไม่มีแรงจูงใจขยายการผลิตแล้วยังจะลดการผลิตลงอีกด้วย ส่วนการบริโภคน้ำมันก็จะเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาที่ต่ำลง ในที่สุด การบริโภคจะเกินกว่าการผลิต ประเทศไทยที่เคยส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปก็จะกลับกลายเป็นประเทศนำเข้าทั้งน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป ดังเช่นที่ประเทศไทยเคยเป็นในอดีต เมื่อถึงเวลานั้น คนไทยก็ต้องกลับมาบริโภคน้ำมันราคาแพงเหมือนเป็นทุนสามานย์อีกอยู่ดี

การให้รัฐบาลเข้าแทรกแซงด้วยการห้ามส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป หมายความว่า ในแต่ละปี รัฐบาลจะต้องวางแผนล่วงหน้าว่า โรงกลั่นจะผลิตน้ำมันสำเร็จรูปเท่าใด ปริมาณบริโภคในประเทศเป็นเท่าใด และต้องนำเข้ามาให้พอเพียงอีกจำนวนเท่าใด หากรัฐบาลคาดการณ์ผิด อาจเกิดภาวะขาดแคลนน้ำมันสำเร็จรูป เป็นภาพรถยนต์เข้าคิวยาวเหยียดแย่งกันเติมน้ำมันที่สถานีจำหน่าย ซึ่งเป็นปัญหาเดียวกันกับสินค้าเกษตรหลายชนิด ที่รัฐบาลแทรกแซงด้วยการห้ามนำเข้า แต่ให้ส่งออกได้ เช่น น้ำตาล น้ำมันปาล์ม ซึ่งเมื่อรัฐบาลคาดการณ์ผิด ก็จะเกิดปัญหาขาดแคลน ผู้บริโภคหาซื้อในตลาดเปิดไม่ได้ ต้องไปซื้อในตลาดมืดในราคาสูง ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

นอกจากนั้น ธุรกิจน้ำมันของไทยเป็นธุรกิจเสรี มีนักลงทุนต่างชาติเข้ามามีบทบาทมาก ตั้งแต่สัมปทานสำรวจผลิต กลั่น ไปจนถึงการลงทุนในบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ไทย การเปลี่ยนนโยบายของรัฐบาลจากการเปิดเสรีมาเป็นการห้ามส่งออกจะกระทบกระเทือนต่อความน่าเชื่อถือของรัฐบาลไทยในสายตานักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติอย่างมาก

ข้อเรียกร้องที่ให้รัฐบาลห้ามส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปก็คือ ข้อเสนอให้ทำลายอุตสาหกรรมน้ำมันทั้งระบบนั่นเอง พลังงานไทย พลังงานใคร คำถามนี้ตอบได้ง่ายๆคือ พลังงานไทย ก็คือพลังงานของคนไทยทุกคน ไม่ใช่พลังงานของหน่วยใดหน่วยหนึ่ง ดังนั้นขอให้เปิดใจรับฟังข้อเท็จจริงนี้ด้วย

สามารถติดตามอ่านบทความดีๆได้ที่ https://www.xn--72caab2fl6azbbby8lpav6ezjxc.com/

Share This: