สารพัดค่าที่ทำให้ราคาน้ำมันไม่ลดตามตลาดแบบบัญญัติไตรยางค์

“ทำไมราคาน้ำมันแพง ทั้งที่ตลาดโลกก็ลดมาเยอะแล้ว”
“แต่ก่อนตลาดโลก 60 น้ำมันไทย 30 ตอนนี้ตลาดโลก 20 น้ำมันไทยต้องเหลือ 10 บาทสิ”
“สถานการณ์ตลาดโลกลดไปตั้งเยอะ ของไทยลดนิดเดียวเอง”
… สารพัดคำบ่นของผู้ใช้น้ำมันที่มีต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่พบเห็นเป็นประจำในคอมเมนต์ปรับลดราคาน้ำมัน (ไม่นับพวกที่บ่นว่าน้ำมันถูก แต่ออกไปไหนไม่ได้) มันบอกอะไรเราได้หลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องคนทั่วไปที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องโครงสร้างราคาที่น้อยมาก เลยจะขออธิบายสั้นๆ ถึงเหตุผลที่เราไม่สามารถเอาราคาตลาดที่ประกาศกันโครมคราม ตอนรายงานข่าวเศรษฐกิจตอนเช้า มาเทียบกับราคาหน้าปั๊มไทยได้แบบบัญญัติไตรยางค์ (สมมติว่าทุกคนเข้าใจตรงกันว่าราคาตลาดในที่นี้ หมายถึงราคาตลาดน้ำมันสำเร็จรูปสิงคโปร์ ไม่ใช่ตลาดน้ำมันดิบอเมริกา (WTI) ที่หลายคนชอบเข้าใจผิดเอาราคาน้ำมันไทยไปเทียบ)

ในโครงสร้างราคามีมากกว่าแค่ราคา ณ โรงกลั่น
โครงสร้างราคาน้ำมัน หรือราคาขายปลีกหน้าปั๊มที่เราใช้อยู่ มีหลายส่วนที่ประกอบกันกลายเป็นราคาขายปลีกหน้าปั๊ม ซึ่งมันมีมากกว่าแค่ราคา ณ โรงกลั่นที่เราอ้างอิงราคาตลาด ทั้งนี้ในโครงสร้างราคายังประกอบไปด้วย

01

– ภาษี … ทั้งภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล รวมไปถึงภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยภาษีสรรพสามิต รัฐจะเป็นผู้กำหนดตายตัว ดังนั้นภาษีส่วนนี้จึงไม่ได้ขึ้นลงตามราคาตลาด เช่นเดียวกับภาษีเทศบาลที่จะเป็นไปตามสัดส่วนของภาษีสรรพสามิต โดยมีเพียงภาษีมูลค่าเพิ่มชนิดเดียวที่มีอัตราส่วนการเก็บเป็นร้อยละ 7 เทียบกับราคา และตัวเลขจะปรับขึ้นลงตามราคาน้ำมัน

02

– กองทุนน้ำมัน … ในส่วนนี้รัฐเป็นคนกำหนดนโยบายเรื่องการจัดเก็บกองทุนฯ ทั้งหมด ทั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและกองทุนอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งบางตัวรัฐก็จัดเก็บ บางตัวรัฐก็เอาเงินมาช่วยอุดหนุนราคา (เช่น แก๊สโซฮอล E20 และ E85 หรือ ดีเซล B10 และ B20) ดังนั้นกองทุนส่วนนี้จึงไม่ได้ปรับขึ้นลงตามราคาน้ำมัน นอกจากรัฐจะมีการปรับเปลี่ยนนโยบาย03

– ค่าการตลาด … คือส่วนของรายได้ที่ยังไม่หักค่าใช้จ่ายภายในปั๊ม มองกันอย่างแฟร์ ๆ ราคาน้ำมันลง ค่าบริหารจัดการภายในปั๊ม อาทิ ค่าน้ำมันค่าไฟ ค่าจ้างเด็กปั๊ม ทุนในการก่อสร้างปั๊ม หรือแม้แต่กระทั่งดอกเบี้ย และที่ลืมไม่ได้คือ ผู้ค้ามาตรา 7 ต้องสำรองน้ำมันสำเร็จรูป 1% สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ลดลงตามสถานการณ์ราคาน้ำมันเลย หันไปดูที่แบรนด์ค่าจัดการ การขนส่งต่าง ๆ ก็ไม่ได้ลดลงตามสถานการณ์เช่นเดียวกัน (บางคนบอกว่า น้ำมันดิบลด ค่าขนส่งต้องลดสิ อันนี้คงต้องถามกลับว่าน้ำมันดิบสามารถเอามาเติมรถได้หรืออย่างไร) ดังนั้นไม่แปลก หากค่าการตลาดจะคงระดับไว้ ไม่ปรับลดตามราคาน้ำมันตลาดที่ปรับขึ้นหรือลง

04

แน่นอนว่า ราคาหน้าโรงกลั่นเป็นส่วนที่อ้างอิงมาจากราคาตลาดโดยตรง แต่ในนั้นยังมีบางค่าที่ไม่ได้ปรับตามราคาตลาด อาทิ
– ค่าปรับปรุงคุณภาพ … น้ำมันที่ซื้อขายกันในตลาดเป็นน้ำมันยูโร 4 (เมื่อก่อนใช้ น้ำมันยูโร 3) ในขณะที่น้ำมันในประเทศไทยใช้น้ำมันยูโร 4-5 รวมถึง สเปคที่สูงกว่าตลาด เช่น อะโรมาติก , โอเรฟิน ค่า Flash point เป็นต้น ที่ไทยดีกว่าของตลาด ทำให้โดยรวมมีคุณภาพสูงกว่า ดังนั้น โรงกลั่นจึงคิดค่าปรับปรุงคุณภาพ เนื่องจากน้ำมันที่ใช้เกรดสูงกว่าตลาด ซึ่งค่าปรับปรุงคุณภาพนั้นไม่ได้ขึ้นลงตามสถานการณ์ราคาน้ำมัน

– ค่าสำรองน้ำมันตามกฎหมาย …. เป็นส่วนที่ผู้ค้าต้องทำการสำรองกฎหมายตามกำหนด ซึ่งถือเป็นค่าใช้จ่ายเช่นกัน โดยกฎหมายกรมธุรกิจพลังงานกำหนดให้ผู้ค้าน้ำมัน(กลุ่มโรงกลั่น)ต้องสำรองน้ำมันดิบไม่ต่ำกว่า 6% ของปริมาณการจำหน่าย

– ค่าขนส่ง … ที่การปรับมาตรฐาน IMO ในน้ำมันดีเซลสำหรับการเดินเรือมีต้นทุนที่สูงขึ้น (ซัลเฟอร์ต่ำ) แต่ส่งผลให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น

พลังงานทดแทน … ประเทศไทยมีน้ำมันหลากหลายชนิดที่ผสมพลังงานทดแทน ทั้งเอทานอลที่ผสมในน้ำมันเบนซิน กลายเป็นแก๊สโซฮอล E10, E20 และ E85 หรือจะเป็นไบโอดีเซลที่ผสมอยู่น้ำมันดีเซล B7 B10 และ B20 โดยน้ำมันแต่ละประเภทก็มีส่วนผสมแตกต่าง ซึ่งราคาพลังงานทดแทนที่นำมาผสมก็ไม่ได้ปรับขึ้นลงตามสถานการณ์ราคาน้ำมัน ดังนั้นหากราคาน้ำมันตลาดมีการปรับ ก็จะมีส่วนของพลังงานทดแทนตรงนี้ที่ไม่ได้ปรับตาม

ดังที่กล่าวมาจะเห็นว่าในโครงสร้างราคานั้นยังมีอีกหลายปัจจัยที่มีผลต่อราคาน้ำมันที่เราใช้ โดยไม่ได้ปรับขึ้นหรือลงตามสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาด ดังนั้นหากจะถามว่าราคาน้ำมันไทยปรับตามตลาดไหม ก็คงตอบว่า “ใช่” แต่หากจะให้ราคาน้ำมันไทยลงเป็นบัญญัติไตรยางค์ตามตลาดที่เราอ้างอิงหรือแม้แต่ประเทศอื่นเองที่มีโครงสร้างราคาเรื่องภาษี กองทุนฯ หรือค่าการตลาด ก็เป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้นั่นเองและทั้งหมดนี้ก็คือคำตอบของเหตุผลว่าทำไมราคาน้ำมันไทยแพง เมื่อเทียบกับการขึ้นลงของตลาดน้ำมันในสถานการณ์ปัจจุบัน

Share This: