แปรรูปรอบ 2 ของ ปตท. … เข้าใจผิดหรือแค่พยายามบิดเบือน

ในโลกยุคโลกาภิวัฒน์ที่มีกระแสทุนนิยมเป็นหลักนั้น ย่อมต้องมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ผู้ที่ไม่เห็นด้วยก็จะเป็นกลุ่มคนที่คิดว่าตนเองเสียผลประโยชน์จะทำการคัดค้านและต่อต้าน ส่วนผู้ที่เห็นด้วยก็คงได้แต่รับฟังและปรับตัวเพื่ออยู่ให้ได้กับกระแสของทุนนิยม ย้อนกลับไปยุคหนึ่งสมัยหนึ่งประเทศไทยประสบกับวิกฤตการณ์ทางการเงินครั้งใหญ่ที่หลายๆคนเรียกว่า วิกฤตต้มยำกุ้ง ในปี 2540 ตอนนั้นประเทศไทยต้องกู้เงินจาก IMF (International Monetary Fund) ภาษาไทยเรียกว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งการที่จะกู้เงินจาก IMF ได้นั้น ต้องทำตามสิ่งที่เขากำหนด ซึ่งหนึ่งในข้อตกลงนั้นก็คือต้องแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นบริษัท (corporatization) โดย การนำหุ้นออกขายในตลาดหลักทรัพย์เพื่อถ่ายโอนความเป็น เจ้าของไปสู่ภาคเอกชน (privatization) ซึ่งจะทำให้รัฐวิสาหกิจกลายเป็น “องค์กรธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบ”

แต่รัฐบาลไทยขณะนั้นได้แก้ลำโดยการออกพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 เพื่อที่จะมีความยืดหยุ่นและยังคงสภาพรัฐวิสาหกิจไว้ในตลาดหลักทรัพย์ได้โดยที่กระทรวงการคลังถือหุ้นในสัดส่วนที่เกิน 50% โดยเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติระบุถึงการเปลี่ยนสถานะของรัฐวิสาหกิจจากรูปแบบเดิมที่เป็นรัฐวิสาหกิจประเภทองค์การของรัฐมาเป็นรูปแบบของบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด และระบุต่อว่าการเปลี่ยนสถานะโดยการเปลี่ยนทุนนี้เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินกิจการและเป็นพื้นฐานเบื้องต้นที่จะแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นองค์กรธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบ โดยการกระจายหุ้นที่รัฐถือไว้ ให้แก่ภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนและการบริหารจัดการ ขั้นตอนแรกที่เป็นการเปลี่ยนสถานะโดยการเปลี่ยนทุนนี้เอง พระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 มาตรา 4 บัญญัติถึงการนำทุนของรัฐวิสาหกิจมาเปลี่ยนสภาพเป็นหุ้นในรูปแบบของบริษัท และเรียกกันสั้น ๆ ว่า “เปลี่ยนสภาพ” ขั้นตอนถัดมาที่ระบุว่าเป็นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้นรวมถึงการกระจายหุ้นให้แก่เอกชนซึ่งในกรณีของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) คือการเสนอขายหุ้นผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ขั้นตอนหลังนี้เรียกกันสั้น ๆ ว่า “แปรรูป” นั้นเอง

และเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมามีข่าวว่าปตท.ทำการแยกกิจการให้กับ ปตท.โออาร์ไปแล้วเมื่อวันที่ 1 ก.ค.61 แล้วจะนำปตท.โออาร์ เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ช่วงปลายปี 2562 ทำให้เกิดกระแสที่พูดถึงเรื่องการแปรรูปรอบ 2 ของปตท. ในมุมมองส่วนตัวของผู้เขียนมองว่าการที่ปตท. นำบริษัทลูกเข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์นั้นไม่ได้ถือว่าเป็นการแปรรูปแต่อย่างใด เพราะการนำบริษัทลูกเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นั้นน่าจะมีสาเหตุได้หลายประการคือ 1. เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจในยุค Disruption 2. ความรวดเร็วในการดำเนินงานบางอย่างจะเร็วกว่าการเป็นรัฐวิสาหกิจที่การตัดสินใจขึ้นอยู่กับกระทรวงการคลังซึ่งบางครั้งก็ต้องประชุมครม.เพื่อออนุมัติบางเรื่อง 3. การลงทุนในต่างประเทศรูปแบบของเอกชนเต็มตัวจะคล่องตัวกว่าการไปในรูปแบบรัฐวิสาหกิจและเพื่อให้พ้นจากข้อจำกัดบางประการด้วย

ฝ่ายที่คัดค้านและโจมตีโดยใช้ความรู้ที่มีบิดเบือนข้อเท็จจริง ไม่พูดในแง่มุมของผลโดยรวม ใช้บางเหตุบางผลมาดึงให้คนมีความรู้สึกร่วมและคล้อยตามความคิด เอาแต่ย้ำคำเดิม ๆทั้ง ๆที่เรื่องราวก็จบไปนานแล้ว และการที่หยิบยกเอาประเด็นของการนำบริษัทฯลูกเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มาโจมตีว่าเป็นการแปรรูปรอบ 2 นั้น ก็ต้องพิจารณาในรายละเอียดในสาระสำคัญของกระบวนการต่าง ๆ ยิ่งการที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ด้วยนั้นจะถูกตรวจสอบทั้งเอกชนด้วยกันและหน่วยงานรัฐบาลจึงยิ่งทำให้มีความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ดีกว่าเดิมอีก ทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็อยากเพียงสื่อสารแค่ว่า ในโลกของธุรกิจการแข่งขันยุคไทยแลนด์ 4.0 นั้นหากไม่มีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงก็คงจะเป็นธุรกิจที่รอวันสูญหายไปอย่างเช่น KODAK เท่านั้นเองครับ.

Share This: