ทำไมแก๊ส LPG แพงจัง?ทั้งที่ราคาก๊าซตลาดโลกลด

ทำไมแก๊สแพง

คำว่า “น้ำมันแพง” หรือ “แก๊สแพง” กลายเป็นคำที่คนมักใช้ติดปาก แม้ว่าเราจะไม่สามารถวัดได้ว่า “แพง” หมายถึงอย่างไร และคำว่า “ถูก” ที่เราต้องการคือราคาเท่าไหร่ รู้แต่ว่าราคาถูก คือราคาที่ฉันอยากได้ เป็นราคาแบบตามใจฉัน แต่เพราะราคาปัจจุบันยังไม่ถูกใจ จึงกร่นด่าว่าแพงไว้ก่อน ซึ่งหากจะวัดคำว่าแพง จากกำไรที่ได้ ราคาแก๊ส (LPG) หน้าปั๊มอยู่ที่ 23.96 บาท ในขณะที่ค่าการตลาดหรือกำไรอยู่ที่ 3.2566 บาท (9/6/2558) เมื่อคิดเป็นสัดส่วนกำไรคือ 13.59% ยังไม่นับต้นทุนของแต่ละปั๊ม นั่นแปลว่าสินค้าชนิดนี้ไม่ได้สร้างกำไรให้ผู้ค้ามากมายเลย

บางท่านอาจแย้งว่า ในเมื่อก๊าซขุดได้ในประเทศ ทำไมจึงต้องตั้งราคาต้นทุนไว้ซะสูง โดยลืมคิดไปว่าในความเป็นจริง อุปสงค์หรือความต้องการใช้ก๊าซของประเทศไทยมากกว่าอุปทานหรือการจัดหาที่สามารถหาได้ในประเทศเสียอีก ทำให้ต้องพึ่งพาการนำเข้าก๊าซส่วนหนึ่งในรูป LNG (Liquid Natural gas) ซึ่งมีราคาสูงมาก นอกจากนี้ ราคาขายปลีกก๊าซบ้านเรายังรวมภาษีสรรพสามิตและเงินเก็บเข้ากองทุนอีกด้วย

ก่อนที่เราจะตัดสินใจว่า ทำไมแก๊สแพง (LPG) มาทำความรู้จักกับโครงสร้างราคากันก่อนดีกว่า

ทำไมแก๊สแพง

1. ในโครงสร้างราคาน้ำมันและ LPG นั้นจะประกอบด้วยหลักๆ คือ ราคาหน้าโรงกลั่น + ภาษีต่างๆ + เงินเก็บเข้ากองทุนฯ + ค่าการตลาด

2. ภาษีต่างๆ ประกอบด้วย
2.1 ภาษีสรรพสามิต คือภาษีที่เก็บกับสินค้า 4 ประเภทด้วยกันคือ 1. เกี่ยวกับอบายมุข 2.เกี่ยวกับความบันเทิง 3.เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม 4. เป็นภาษีที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต (สินค้าฟุ่มเฟือย)
2.2 ภาษีเทศบาล เก็บเพื่อบำรุงท้องที่ซึ่งต้องรับมลพิษ (หรือผลกระทบใดๆ ก็ตาม) จากการมีโรงกลั่นในพื้นที่นั้นๆ
2.3 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีทั่วไป

3. เงินเก็บเข้ากองทุนน้ำมัน ประกอบด้วย
3.1 เงินเก็บเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยมีประโยชน์เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันในประเทศเมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกเกิดการผันผวน
3.2 เงินเก็บเข้ากองทุนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมงานวิจัยหรือนโยบายเพื่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาพลังงานทดแทน เป็นต้น

4. ค่าการตลาด ที่ยังไม่ใช่กำไรสุทธิของผู้ค้าน้ำมัน ได้แก่
4.1 ค่าใช้จ่ายในการบริหาร จัดการคลังน้ำมัน
4.2 ค่าใช้จ่ายในการขนส่งจากคลังไปยังสถานี
4.3 ค่าใช้จ่ายในการบริหารงานทั่วไป
4.4 ค่าใช้จ่าย ณ สถานีบริการ เช่น ค่าแรง ค่าไฟ
4.5 กำไรในการขายส่งและปลีก

จากโครงสร้างราคาที่อธิบายคงพอจะเริ่มเห็นภาพกันแล้วว่าราคา LPG ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีที่มาอย่างไร คราวนี้จะขอพูดถึงราคา LPG ที่ปรับสูงขึ้นจากมติ ครม. เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 จนเกิดคำถามว่าทำไมแก๊สแพง การปรับราคาครั้งนี้ เป็นการขูดรีดประชาชนหรือไม่ และทำไมต้องปรับโครงสร้างให้แพงขึ้น โดยจะขออธิบายดังนี้
โครงสร้างราคาเดิมที่ราคาหน้าโรงแยกถูกตรึงโดยรัฐบาล ไม่สามารถปรับขึ้นปรับลงได้ ทำให้ราคาไม่เป็นธรรมกับผู้ผลิต และทำให้สินค้าไม่สะท้อนต้นทุนจริง ส่งผลให้เกิดปัญหากับโครงสร้างราคา ดังนี้
– ผู้ผลิต LPG จะเลือกขายให้ปิโตรเคมี เนื่องจากการขายให้ภาคปิโตรเคมี ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถตกลงราคากันเองได้
– เมื่อความต้องการในภาคปิโตรเคมีมากขึ้น ส่งผลให้ LPG เหลือสู่ภาคเชื้อเพลิงน้อยลง เป็นผลให้ต้องนำเข้าในปริมาณที่มากขึ้น
– ผู้ผลิต LPG จะไม่ขยายการผลิตแต่การใช้มีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้เกิดการนำเข้าที่มากขึ้น
– ภาคเชื้อเพลิงเป็นผู้รับภาระในส่วน LPG นำเข้า เมื่อตลาดโลกปรับสูงขึ้น เป็นผลให้ประชาชนรับภาระมากขึ้น
– เมื่อเข้าสู่ AEC เมื่อผู้ผลิตสามารถส่งออก LPG ได้ แล้วราคา LPG ในประเทศกำหนดราคาไว้ต่ำกว่าต้นทุน ผู้ผลิตจะสามารถส่งออก LPG ไปขายต่างประเทศได้ เกิดภาวะขาดแคลน LPG ในประเทศ
– การตรึงราคา LPG ทำให้เกิดเงินชดเชยที่มาจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เรียกเก็บจากผู้ซื้อก๊าซ LPG แต่ละกลุ่ม  ซึ่งยังไม่เพียงพอจนต้องนำเงินที่เรียกเก็บจากกลุ่มน้ำมันมาชดเชยข้ามกลุ่มด้วย ทำให้กองทุนน้ำมันฯ บางช่วงติดลบกว่า 10,000 หมื่นล้านบาท

โดยโครงสร้างใหม่ที่เกิดขึ้นต้นทุน LPG อยู่ที่ 488 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน หรือประมาณ 16.11 บาทต่อกิโลกรัม และส่วนการปรับสูตรคำนวณนี้จะพิจารณาใหม่ทุกๆ 3 เดือน จากเดิมอิงราคาหน้าโรงแยกก๊าซที่ 333 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน หรือประมาณ 11 บาทต่อกิโลกรัม ที่ตรึงราคาตั้งแต่ประมาณปี 2550

โครงสร้างใหม่ที่เกิดขึ้น ทำให้ราคา LPG ทุกภาคส่วนอยู่ในระดับเดียวกัน เพื่อสร้างความเท่าเทียมในทุกภาคส่วน และรับภาระที่เพิ่มขึ้น เหมือนๆ กัน ปรับเงินจ่ายเข้าออกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้มีค่าใกล้ศูนย์ และราคาสะท้อนต้นทุนจริง ทำให้ผู้ผลิตมีความต้องการในการจัดหา LPG มากขึ้น ส่งผลให้การนำเข้า LPG ลดลง รถติดแก๊ส LPG อ่วม หลัง รัฐย้ำไม่สนับสนุน รถติดแก๊ส LPG  ปรับขึ้นราคา LPG สูงขึ้น คนใช้รถแก๊สบ่นระงมแต่คงต้องทำใจอย่างเดียว ณ ตอนนี้
ทำไมแก๊สแพง LPG
เครดิตรูปภาพ : https://www.facebook.com/nongposamm

Share This: