PTTOR จะไม่ซ้ำรอย หุ้นหมดเร็วแบบแม่ PTT

ช่วงที่ผ่านมาเห็นข่าวการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุนหลายบริษัทมาก ซึ่งล่าสุดที่เห็นข่าวก็คือบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด มหาชน หรือตัวย่อว่า BAM ที่เป็นหน่วยงานของรัฐโดยมีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เป็นผู้ถือหุ้นทั้งจำนวน ผมก็เลยนึกถึงความคาดหวังในหุ้นตัวถัดไป ที่คาดหวังว่าปี2563 จะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งก็คือบริษัทในเครือ ปตท. ที่มีชื่อว่า บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ แล้วมันก็เป็นเรื่องบังเอิญที่ เมื่อ 18 ปีที่แล้ว(2544) ช่วงเดือนพฤศจิกายนที่หุ้น ปตท. ได้เปิดจองซื้อหุ้นเป็นครั้งแรกหรือเรียกว่า IPO (Initial Public Offering) ในตอนนั้นมีข้อครหาในการจองหุ้นหมดเร็ว ใช้เวลาเพียง 1 นาที 17 วินาที หรือ มีคำเรียกกันในหมู่นักเล่นหุ้นว่า หุ้น 77 วิ ในตอนนั้น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่แปรสภาพมาจาก การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยได้เสนอขายหุ้น จำนวน 920,000,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 35 บาท รวมมูลค่า 32,200,000,000 บาท โดยจัดสรรให้แก่ 1.) ผู้จองซื้อรายย่อยจำนวน 220 ล้านหุ้น 2.) บุคคลทั่วไป จำนวน 235 ล้านหุ้น 3.) ผู้มีอุปการะคุณ จำนวน 25 ล้านหุ้น 4.) ผู้ลงทุนในต่างประเทศ จำนวน 320 ล้านหุ้น 5.) การจัดสรรหุ้นส่วนเกิน ไม่เกิน 120 ล้านหุ้น ทั้งนี้ สัดส่วนที่เสนอขายให้แก่นักลงทุนในต่างประเทศจะไม่เกินสัดส่วนการถือหุ้นของบุคคลที่ไม่ใช่สัญชาติไทย ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของ บมจ. ปตท. โดยวิธีการจัดสรรหุ้นให้แต่แต่ประเภทมีกำหนดไว้ในหนังสือชี้ชวน(แบบ Filing) ไว้หมดแล้ว ซึ่งผมขอหยิบมา 2 ข้อที่มีประเด็นในตอนนั้นคือ วิธีการจัดสรรให้แก่ผู้จองซื้อรายย่อย โดยผู้จัดการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย จะใช้หลักการจัดสรรให้ผู้จองซื้อก่อน จ่ายเงินก่อน มีสิทธิได้รับการจัดสรรก่อน (First Come First Serve) โดยข้อมูลการจองซื้อนั้นจะต้องปรากฏที่ศูนย์กลางข้อมูลที่ผ่านตัวแทนจำหน่ายหุ้น ซึ่งสิทธินี้บังคับใช้กับผู้จองซื้อหุ้นรายย่อยอย่างเท่าเทียบกัน โดยผู้จองซื้อจะต้องปฎิบัติตามวิธีการจองซื้อและการชำระเงินค่าจองซื้ออย่างเคร่งครัด และอีกวิธีจัดสรรหุ้นให้แก่ผู้มีอุปการะคุณ ให้อยู่ในดุลยพินิจของ บมจ. ปตท. ซึ่งหากย้อนกลับไปในยุคสมัยนั้นทั้งเทคโนโลยีการสื่อสารคงไม่รวดเร็วและสะดวกอย่างเช่นปัจจุบัน การจองซื้อหุ้นเป็นแบบใช้มือเขียนกระดาษแล้วพิมพ์ลงคอมพิวเตอร์ส่งเข้าศูนย์กลางข้อมูล และสภาวะเศรษฐกิจช่วงกำลังฟื้นตัวหลังจากวิกฤตค่าเงินต้มยำกุ้งตอนปี 2540 คนมีเงินที่อยากลงทุนจึงมีจำนวนจำกัดอยู่ไม่กี่กลุ่ม นามสกุลก็จะเป็นบรรดานักการเมือง, เจ้าสัว และนักเลงหุ้น ทำให้เกิดข้อครหาที่ว่ากระจายหุ้นไม่เป็นธรรมและไม่ทั่วถึง ซึ่งในตอนนั้น รายชื่อจึงซ้ำไปมาไม่กี่ตระกูล แต่ก็ไม่มีรายใดที่ถูกห้ามซื้อตามกฎหมาย และพอหลังข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ราคาหุ้นก็ลงต่ำกว่าราคาจองซื้อ ประเด็นก็เงียบหายไปและกลับมามีประเด็นอีกครั้งทางการเมืองสมัยคุณทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วมีการประท้วงจึงหยบยกประเด็นของปตท.มาโจมตี

กลับมาปัจจุบันกันบ้างนะครับ การกระจายหุ้นในปัจจุบันนี้สะดวกรวดเร็วและง่ายด้วยเทคโนโลยีและความชัดเจน ตัวอย่างล่าสุด บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด มหาชน (BAM) เขาใช้วิธีการกระจายหุ้นจัดสรรผ่านกระบวนการสุ่มเลือก (Random) โดยระบบคอมพิวเตอร์ของบริษัท เซ็ทเทรด ดอทคอม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยระบบคอมพิวเตอร์จะทำการรวมใบจองของผู้จองซื้อรายเดียวกันที่มีเลขที่บัตรประจำตัวประชาชน หรือเลขที่นิติบุคคลเดียวกันจากตัวแทนจำหน่ายหุ้นทุกรายเป็น 1 สิทธิ และสุ่มเลือก แต่จำกัดจำนวนหุ้นที่ได้รับจัดสรรไม่เกิน 1,000,000 หุ้นต่อหนึ่งรายและจำนวนหุ้นขั้นต่ำในการจองซื้อเท่ากับ 500 หุ้น และจะต้องเป็นจำนวนทวีคูณของ 100 หุ้นทำให้เกิดความทั่วถึงและไม่กระจุกอย่างในอดีตที่มีการเก็บหุ้นไว้ให้รายใหญ่ๆของผู้แทนจำหน่าย และถ้าหากมีการจองซื้อหุ้น IPO ของโออาร์ในจังหวะตลาดกำลังเป็นขาขึ้นพอดี ความต้องการซื้ออาจจะมากมายมหาศาลและจะทำให้เกิดสถิติใหม่ในการจองซื้อหุ้นก็เป็นได้ครับ

 

 

Share This: