เมื่อรัฐมนตรีพลังงานให้สัมภาษณ์ว่า ไทยนำเข้านั้น “เกือบจะ” 100%
2-3 วันที่ผ่านมา ( 30 ตุลาคม 62) ภายหลังกลุ่มที่เรียกตนเองว่าผีเสื้อกระพือปีก ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่ม คปพ. กลุ่มที่เราคุ้นเคยกันดีจากที่พยายามเรียกร้องเรื่องต่างด้านๆ พลังงาน ที่มีเป้าหมายในการพยายามเรียกร้องให้มีการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ พร้อมกับเสนอให้กลุ่มตัวเองที่อ้างว่าเป็นตัวแทนภาคประชาชนเข้าไปนั่งมีตำแหน่งในบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ได้ออกมาพยายามเรียกร้องให้รัฐทำให้ราคาสำเร็จรูปประเทศไทยเทียบเท่ากับมาเลเซีย
โดยประเด็นถึงเหตุผลที่มาที่ไปของประเด็นเรื่องราคาน้ำมันไทย-มาเลซียคงมีการกล่าวถึงไปบ้างแล้ว เพราะฉะนั้นในบทความนี้จะขอแชร์ข้อสังเกตที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นมาตามจากประเด็นเรื่องราคาน้ำมันไทย-มาเลซียให้ได้ทราบกัน
ภายหลังจากที่มีประเด็นการเดินขบวนของเรียกร้องราคาน้ำมันไทยเท่ามาเลซียของกลุ่มผีเสื้อกระพือปีก พร้อมการโจมตีราคาน้ำมันไทยว่าไม่เป็นธรรมและสูงเกินไป การเดินขบวนครั้งนี้พุ่งเป้าไปที่รัฐบาลมากกว่าที่จะเจาะจงโจมตีบริษัทน้ำมันใดบริษัทน้ำมันหนึ่ง กลายเป็นที่มาของประเด็นเรื่องนโยบายภาครัฐอย่าง “ภาษี” ที่ทำให้ราคาน้ำมันไทยแพงกว่าประเทศอื่นภายในกลุ่มที่โจมตีเรื่องพลังงานของประเทศ และเกิดเป็นกระแสการโพสต์ สร้างรูปภาพ ตัดต่อโดยเน้นโจมตีการทำงานของภาครัฐที่เก็บภาษีสูงทำให้น้ำมันไทยมีราคาสูง
เหตุผลเรื่อง “ภาษี” เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อราคาพลังงานโดยตรง ที่มีการพยายามสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องมาอย่างยาวนาน แต่เป็นกลุ่มที่โจมตีเรื่องพลังงานเองที่พยายามสร้างวาทะกรรม ว่า ปตท. นั่นแหล่ะที่เป็นคนกำหนดราคาน้ำมันในประเทศ เพราะโดยธรรมชาติ การสร้างผู้ร้ายให้เกิดการเกลียดชังมันง่ายกว่าสร้างเรื่องร้ายที่ไม่รู้จะสามารถโทษใครได้
กับเรื่องโจมตีภาษีในครั้งนี้ เราเห็นอะไร?
1. เห็นว่า … ไม่ได้มีบริษัทใดบริษัทหนึ่งในประเทศเป็นผู้กำหนดราคาน้ำมัน หากแต่ราคาน้ำมันมีโครงสร้างและภาครัฐเป็นผู้วางนโยบาบและกำหนดกรอบของราคา อย่างที่เราได้เห็นจากสถานกาณ์ การพยายามให้ยกเลิกภาษีน้ำมันในครั้งนี้ หรือการโจมตีเรื่องกองทุนน้ำมันเหตุการณ์ที่ผ่านมาๆ
2. เห็นว่า … กลุ่มที่โจมตีเรื่องราคาพลังงาน ไม่ได้สนใจข้อเท็จจริงใดๆ สนเพียงการพยามยามสร้าง “ผู้ร้าย” โดยใช้สถานการณ์นั้นๆ เป็นตัวผลัก และไม่สนใจผลกระทบด้านพลังงานที่เกิดขึ้นจากการพยายามเรียกร้องของกลุ่มตนจะเป็นอย่างไร เพราะต้องการเพียงแค่พลังมวลชนเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองเท่านั้น เห็นได้จากสถานการณ์ในครั้งนี้ที่แต่ก่อนโจมตีว่าราคาน้ำมันแพงเพราะ ปตท. หรือ ปตท. เป็นคนกำหนดราคาน้ำมัน พร้อมผลักให้ ปตท. เป็นผู้ร้าย ก็ปรับเปลี่ยนมาเป็น ราคาน้ำมันแพงเพราะภาษี และภาครัฐเป็นคนกำหนดราคาน้ำมัน พร้อมผลักดันให้ รัฐหรือกระทรวงพลังงานกลายเป็นผู้ร้าย
และการพยายามผลักให้ภาษีเป็นตัวปัญหา มันไม่ใช่ทางออกของการจัดการเรื่องพลังงานเลย เพราะประเทศจำเป็นต้องใช้ภาษีในการพัฒนาประเทศ หากจะไม่ให้รัฐเก็บภาษีจากน้ำมัน รัฐก็จำเป็นต้องไปหาทางเก็บภาษีด้านอื่นอยู่ดี ดีหน่อยรัฐก็อาจไปเก็บภาษีจากสินค้าที่เราไม่ได้ใช้ ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันก็ไม่แพงขึ้น แต่ถ้าหากรัฐหันไปเก็บภาษีกับสินค้าที่ทุกคนใช้ล่ะ? การไม่เก็บภาษีน้ำมัน โดยผลักภาระไปที่การเก็บภาษีจากสินค้าประเภทอื่นๆ มันเป็นธรรมกับคนไม่ใช้น้ำมันอย่างไร?
สุดท้ายแล้วคงจะหาคำที่ดีกว่าการแสดง “ธาตุแท้” ของกลุ่มคนบางกลุ่มไม่ได้เลย กับการพยายามทำทุกอย่างให้สินค้าชนิดเดียวมีราคาถูกลง เพียงเพราะประชาชนให้ความสนใจ โดยไม่สนว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศ ไม่สนใจว่าจะสร้างให้ใครเป็นผู้ร้าย ไม่เว้นแม่แต่นักการเมืองบางคน หรือ กลุ่ม NGO บางคนก็ออกมารับลูกเพื่อเอาหน้ากันอย่างสนุกสนาน แน่ละแรงสั่นสะเทือนนี้มันทำอะไรระบบไม่ได้หรอก กลุ่มคนที่ออกมาพูดมาโจมตีไม่เคยมีใครคิดจะลงมือทำ หรือลงทุนทำบริษัทกันหรอก เพราะในใจรู้กันอยู่แล้วว่าสิ่งที่เรียกร้องน่ะ มันทำไม่ได้ในทางปฎิบัติ แต่สิ่งที่น่ากลัวคือความเข้าใจผิดที่จะฝังรากลงไปในกลุ่มคนที่ไม่เข้าใจเรื่องพลังงานทั่วไปต่างหาก