ข้อสงสัย สตง เรื่องการรับรองรายงานบัญชีประจำปีของ ปตท.
ตั้งข้อสงสัยถึง สตง เรื่องการรับรองรายงานบัญชีประจำปีของ ปตท. กับ การตรวจสอบเรื่องคืนท่อก๊าซ
หากท่านผู้อ่านได้เคยอ่านรายงานประจำปี ของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ อย่างหนึ่งที่ต้องมีคือ การตรวจสอบเอกสาร รับรองทรัพย์สินและค่าใช้จ่ายต่างๆ และในกรณีของบริษัทที่เป็นรัฐวิสาหกิจด้วยแล้ว รายงานประจำปี ย่อมมีความเข้มงวดในการตรวจสอบจาก หน่วยงานต่างๆ
กลับมาที่เรื่อง การคืนท่อส่งก๊าซ ที่เป็นคดีกันอยู่ขณะนี้ระหว่าง ปตท. กับ คตง. ที่ได้มีการออกสื่อไปต่างๆ ซึ่งขัดกับการระบุลงไปในรายงานประจำปี ของ ปตท. โดยสิ้นเชิง ดังนั้นน่าจะต้องกลับมาตั้งข้อสังเกตุที่เป็นหน่วยงานที่ทำการตรวจสอบบัญชีว่า มีจุดประสงค์ใดกันแน่
- สตง. ขาดความรู้ความเข้าใจในหลักการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจ และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จากที่ให้ความเห็นเรื่องท่อในทะเลถือเป็นสาธารณะสมบัติ เป็นการตีความโดยไม่เป็นไปตามคำสั่งศาลและการพิจารณาของ ครม. หรือไม่?
- สตง. บกพร่องในหน้าที่ เนื่องจากได้รับข้อมูลแบ่งแยกทรัพย์สินจาก ปตท. ตั้งแต่เดือนม.ค. 2551 แต่ดำเนินการล่าช้า โดยให้ความเห็นไม่ทันกำหนดเวลาที่ต้องรายงานศาลในเดือน ธ.ค. 51 หรือไม่?
- สตง. ปกปิดความบกพร่องของตนเอง กล่าวร้ายผู้อื่น ขาดจริยธรรมและจรรยาบรรณของการปฏิบัติหน้าที่หน่วยงานตรวจสอบของรัฐ โดยกล่าวหา ปตท. ว่าให้ข้อมูลไม่ครบต่อศาล ทั้งที่เป็นผู้ให้ข้อมูลล่าช้าเอง และยังปกปิดข้อเท็จจริงที่ศาลมีความเห็นยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรกลับไปที่ผู้ว่า สตง. หรือไม่?
- สตง. ไม่รักษาจุดยืน ขาดดุลยพินิจในความเหมาะสมของการปฏิบัติหน้าที่ โดยเคยมีหนังสือยอมรับคำตัดสินศาลเป็นที่สิ้นสุด แต่ยังมีความเห็นขัดแย้งตลอดมา สร้างปัญหาให้กับข้าราชการ และรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทมหาชน ในการปฏิบัติราชการ และสร้างความสับสนให้กับสังคม และความเสียหายกับเศรษฐกิจ หรือไม่?
- สตง. กระทำความผิดร้ายแรง ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ผู้รับสอบบัญชี ไม่เหมาะสมที่จะทำหน้าที่ผู้รับสอบบัญชีให้บริษัทมหาชนต่อไป เพราะในฐานะผู้รับสอบบัญชีของ ปตท. ที่ได้รับแต่งตั้งโดยผู้ถือหุ้น เมื่อมีความเห็นว่าท่อในทะเลเป็นทรัพย์สินที่จะต้องคืนให้รัฐ แต่กลับรับรองงบดุลต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2552 โดยไม่บันทึกความเห็นใดๆ ประกอบงบ กระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุนไทยและต่างชาติในตลาดหลักทรัพย์ สร้างความสับสนและเสียหายต่อผู้ถือหุ้นและบริษัทจดทะเบียน หรือไม่?
- สตง. ขาดสำนึกในเรื่องการดำเนินการโดยมีผลประโยชน์ทับซ้อน ในกรณีการตรวจสอบทรัพย์สินของ บมจ.ปตท. จากการแปลงสภาพการปิโตรเลียมฯ เนื่องจากบทบาทผู้ตรวจสอบที่ต้องรับผิดชอบต่อรัฐ และผู้รับสอบบัญชีที่ต้องรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น มีประโยชน์ขัดแย้งกัน ควรที่จะต้องประกาศต่อผู้ถือหุ้น และไม่รับเป็นผู้รับสอบบัญชีให้ ปตท. ตั้งแต่ปี 2552 หรือไม่?
- สตง. ใช้อำนาจโดยมิชอบ สร้างความเสื่อมเสียชื่อเสียงให้รัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐ โดยกล่าวหาว่าละเลย ไม่ปฏิบัติหน้าที่ ทั้งที่ครม.มีมติมอบหมายการปฏิบัติตามคำสั่งศาลอย่างเป็นทางการ และผู้รับมอบหมายได้ปฏิบัติหน้าที่ครบถ้วน หรือไม่?
- ผู้ว่า สตง. กระทำการเกินอำนาจหน้าที่ ผิดมารยาทและจรรยาบรรณของผู้ตรวจสอบ โดยให้สัมภาษณ์สื่อสาธารณะและให้ข้อมูลบุคคลภายนอกเกี่ยวกับผลการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่ คตง.จะเห็นชอบอย่างเป็นทางการ หรือไม่?
และหากเป็นเช่นนี้ การที่ให้ข้อมูลเรื่องการพิจารณานำคืนท่อก๊าซในส่วนเส้นที่ไม่ได้ใช้อำนาจมหาชนในการรอนสิทธิคืนนั้น อาจจะยังส่งผลให้ต้องตีความเรื่องอื่นๆ ของ สตง. เกี่ยวกับทรัพย์สินที่เป็นสาธารณะสมบัติซึ่งต้องคืนให้รัฐ จะมีผลลูกโซ่ถึงรัฐวิสาหกิจที่แปลงสภาพเป็น บมจ. อื่นๆ ตามมาอีกหรือไม่?
หมายเหตุ เอกสารรายงานผู้สอบบัญชีโดย สตง. ในรายงานประจำปีของ ปตท. ตั้งแต่ปี 2550 – 2558 จะเห็นว่าตั้งแต่ปี 2550 – 2551 มีการระบุเรื่องการดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้มีปรากฎรายละเอียดเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด
แหล่งข้อมูล : http://energythaiinfo.blogspot.com/2016/05/pttpipelineoag.html