ข้าราชการบอร์ด ปตท.ผลประโยชน์ทับซ้อน
ข้าราชการบอร์ด ปตท.
ตามที่กลุ่มบางกลุ่มที่คัดค้าน สัมปทานรอบที่ 21 และไม่เห็นด้วยกับกระบวนการทำงานของกระทรวงพลังงาน รวมถึง ปตท. มีการตั้งคำถามทั้งต่อคนที่มีความรับผิดชอบ ผู้บริหาร ไปจนถึงผู้ถือหุ้นต่างๆ ด้านพลังงาน ทุกคำถามมีการตอบคำถามและคำชี้แจง แต่น่าเสียดายที่คำตอบกลับมีผู้ให้ความสนใจน้อยเหลือเกินเมื่อเทียบกับคำถาม และหลายคำถามก็ได้สร้างอคติให้คนเข้าใจผิดเรื่องพลังงานจนเกิดเป็นกระแสต่อต้านอยู่ในทุกวันนี้
ยกตัวอย่างคำถามหนึ่ง ที่อดีต สว. ท่านหนึ่งเคยตั้งคำถามเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อนของข้าราชการ บอร์ด ปตท. ความว่า “ที่ผ่านมาเห็นชัดว่าข้าราชการของกระทรวงพลังงานคือตัวปัญหา เพราะเข้าไปนั่งเป็นทั้งบอร์ดปตท. และอยู่ใน กบง.ที่มีบทบาทกำกับดูแลราคาน้ำมัน ซึ่งเมื่อปตท.มีกำไร ข้าราชการที่เข้าไปนั่งเป็นบอร์ด ปตท.ก็จะได้รับโบนัส จึงเป็นเรื่องของผลประโยชน์หลายแสนล้านบาทที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคโดยตรง” ซึ่งคำถามดังกล่าวถูกนำมาเล่นเป็นละครรีเมคไม่จบสิ้น ทั้งที่อีกฝ่ายก็ตอบข้อข้องใจครั้งแล้วครั้งเล่า จนบางทีคนตอบยังท้อใจ ตรงนี้ผู้เขียนขอหยิบยกคำตอบของ ดร. คุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน ที่ตอบคำถามนี้ (อีกครั้ง) ในงานสัมมนา เดินหน้าประเทศไทยเพื่อความมั่นคงทางพลังงานที่ยั่งยืน ซึ่งจัดขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ชนิดคำต่อคำมาให้อ่านกัน
“ผมอยากที่จะเรียนอีกสักนิดหนึ่งครับที่ ท่าน สปช. รสนา พูดถึงผลประโยชน์ทับซ้อน ท่านธีระชัยด้วย เหมือนทวงความซื่อสัตย์สุจริตและการรักษาประโยชน์ส่วนรวมจากผม ผมก็เสียใจอยู่นิดหนึ่งครับว่า เราก็เป็น สปช. กรรมาธิการเดียวกัน ก็เอาไปพูดในนั้นก็ได้ ท่านพูดเหมือนกับว่า การที่ข้าราชการไปเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจ จะไปรักษาผลประโยชน์ของเอกชน เหนือผลประโยชน์ของส่วนรวม อันนี้ถ้าเป็นคนอื่นเขาน่าจะถือว่าหมิ่นประมาทแล้วนะครับ (เสียงโห่แสดงความไม่พอใจดังจากฝั่งกองเชียร์ภาคประชาชนทางด้านล่าง จนผู้ดำเนินการต้องขอให้อยู่ในความสงบ) ผมอยากจะเรียนนะครับในเมื่อท่านพูดนะ รัฐวิสาหกิจนี่ เป็นองค์กรของรัฐหรือเปล่าครับ แล้วใครควรจะเข้าไปดูแลรัฐวิสาหกิจ สมัยท่านธีระชัยเป็นรัฐมนตรีคลัง ท่านตั้งใครไปอยู่ในรัฐวิสาหกิจบ้าง ผมเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจที่ กฟผ. เข้าไปครั้งแรกสมัยท่านนายกอภิสิทธิ์ นะครับ ที่แต่งตั้งผมเข้าไป ผมก็ดูแล้วว่าท่านคงคิดว่าผมมีความรู้ความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริตที่จะดูแลผลประโยชน์ของรัฐได้ (เสียงปรบมือ ให้กำลังใจ )
ผมเป็นผู้แทนที่กระทรวงการคลัง เข้าไปในบริษัทเอสโซ่ ประเทศไทยจำกัด (มหาชน) ที่กระทรวงการคลังถือหุ้นเพียง 12.5% ด้วยหน้าที่ที่จะผลักดันให้เขาเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพื่อเพิ่มความโปร่งใส ตามธรรมาภิบาลของ กลต. ซึ่งท่านธีระชัยก็เคยเป็นเลขาธิการนะครับ แล้วพอผมครบเทอมที่เอสโซ่ รัฐบาลในยุคท่านนายกอภิสิทธิ์ ท่านรัฐมนตรีคลังในสมัยนั้น ก็อนุมัติให้ผมได้อยู่ต่อทั้งๆ ที่ควรจะเป็น Seat (ที่นั่ง) ของกระทรวงการคลัง
ผมว่าถ้าเรามองเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน แล้วว่าถ้าข้าราชการได้รับผลตอบแทนแล้วก็จะต้องไปเอื้อเอกชน ผมว่าเป็นการมองที่แคบเกินไปนะครับ แล้วก็เป็นการไม่ให้เกียรติท่านอื่น ย่ำยีศักดิ์ศรีคนอื่น เราอยู่ในสถานการณ์พิเศษนะครับท่านก็รู้ว่าสถานการณ์พิเศษเป็นอย่างไร ข้าราชการประจำอย่างผมจริงๆ แล้วไม่มีสิทธิ์ที่จะเข้าไปอยู่ในสปช. (สภาปฏิรูปแห่งชาติ) หรือในสนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) เลย แต่บ้านเมืองเป็นอย่างนี้ เราก็มีความรู้ความสามารถ ผมทำงานมาในเรื่องนี้และเรียนมาในเรื่องนี้ 30 กว่าปีนะครับ
เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมชี้แจงไป ก็ชี้แจงด้วยความรู้และประสบการณ์ขอให้ท่านฟังบ้าง ไม่ใช่ท่านไม่ฟังเลยแล้วสรุปว่ามีข้อบกพร่อง ผมว่าผมชี้แจงข้อบกพร่องที่ท่านชี้หมดทุกประเด็นแล้วนะครับ เพราะฉะนั้นผมก็อยากจะเรียนด้วยว่าถ้าท่านไม่อยากจะให้ข้าราชการไปเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ ซึ่งผมเรียนว่ามีประมวลจริยธรรมข้าราชการ แล้วเราก็มีคุณสมบัติที่ไม่ขัดกับ พ.ร.บ. คุณสมบัติมาตรฐานกรรมการพนักงานรัฐวิสาหกิจ แล้วถ้าเป็นรัฐวิสาหกิจที่มี พ.ร.บ.หลักทรัพย์ พ.ร.บ. บริษัทมหาชนเข้าไปอีก เขาเน้นเรื่องธรรมภิบาล ท่านธีระชัยก็ทราบว่าต้องส่งไปเรียน IOD (สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย) ไม่รู้กี่คอร์ส ผมคิดว่าถ้าเราตั้งแง่กันแบบนี้ เราจะเอาใครมาเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจที่เป็นของรัฐครับ เราจะเอาผู้รับเหมาหรือครับ หรือเราจะเอาหัวคะแนนมาเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ”
“ถ้าไม่ฟังจะถามทำไม” คงเป็นคำที่ขึ้นมาใจใครหลายคนที่คอยตอบทุกข้อสงสัยเรื่องพลังงาน จนบางครั้งเกิดความสงสัยว่าการตั้งคำถามเหล่านี้ เพียงเพื่อให้ตอบข้อสงสัย หรือเป็นการโยนคำถามให้ประชาชนเกิดอคติในใจกันแน่ และเรื่องพลังงานไม่ใช่เกมการเมืองที่เราควรใช้เหตุผลและหลักฐานในการพูดคุย มิใช่การพยายามดิสเครดิตอีกฝ่าย เพราะผลประโยชน์ของประเทศไม่ได้ขึ้นอยู่กับจุดนั้น