ทำไมประเทศไทยต้องเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน

    “น้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ภายในประเทศ นั้น มีหน้าที่ที่จะต้องส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ตามอัตราที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานกำหนด ซึ่งปัจจุบันน้ำมันที่ต้องส่งเงินเข้า / ชดเชยจากกองทุนฯ คือ น้ำมันเบนซินออกเทน 95 น้ำมันแก๊สโซฮอล์ น้ำมันก๊าด น้ำมันดีเซล และน้ำมันเตา โดยอัตราส่งเงินเข้า/ชดเชยจากกองทุนฯ สามารถเปลี่ยนแปลงได้ และเงินจำนวนนี้คือรายรับและรายจ่ายของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

    ประเทศไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงไม่สามารถที่จะกำหนดราคาเองได้ เมื่อราคาน้ำมันเชื้อเพลิงตลาดโลกสูงและมีความผันผวน เราจะได้รับผลกระทบในส่วนนี้อย่างเต็มที่ ดังนั้น การมีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง สามารถช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ระดับหนึ่ง ดังจะเห็นได้จากในช่วงราคาน้ำมันในตลาดโลกเคลื่อนไหวอยู่ในระดับสูงและมีความผันผวนมาก รัฐก็ได้ใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นเครื่องมือ คือ รักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงไว้ที่ระดับหนึ่ง โดยการใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจ่ายชดเชย และเมื่อราคาน้ำมันลดลงจึงเก็บส่วนที่่ชดเชยไปคืนกลับมา ซึ่งสามารถลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจ และช่วยให้ประชาชนไม่ต้องจ่ายราคาน้ำมันในราคาที่สูงเกินไป”

เครดิต : http://www.efai.or.th

    พูดถึงกันบ่อยกับสถานการณ์กองทุนน้ำมัน ซึ่งปัจจุบัน สภาพของกองทุนน้ำมันอยู่ที่บวกสี่หมื่นกว่าล้านบาท บ้างก็เห็นว่ากองทุนน้ำมันไม่ควรมี ควรปล่อยให้เป็นไปตามตลาด 100% บ้างก็ว่าในเมื่อสถานการณ์ เป็นบวกมากขนาดนี้ ทำไมไม่ลดอัตราการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน และบางความเห็นก็ว่าควรจะเก็บเข้ากองทุนน้ำมันต่อไป
เก็บเงินเข้ากองทุน

    กองทุนน้ำมันคือกองทุนสำหรับอุดหนุนราคาน้ำมันยามที่ราคาน้ำมันผันผวนไม่ให้กระทบต่อรายจ่ายในชีวิตประจำวันมากเกินไปหรือสนับสนุนพลังงานทดแทนบางชนิด เพื่อให้ประชาชนหันมาใช้กันมากขึ้น เช่น สถานการณ์ปัจจุบัน กองทุนน้ำมันอุดหนุนราคา E85 ลิตรละ 9.30 บาท อุดหนุนราคา E20 ลิตรละ 2.75 บาท เป็นต้น
    ถ้าจะพูดกันแบบเข้าใจง่าย กองทุนน้ำมันก็เหมือนทำประกันชีวิต ตราบเท่าที่เรายังไม่เจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุ เราย่อมยังไม่เห็นถึงความสำคัญ ยิ่งเป็นเงินที่เราๆ ต้องจ่ายออกไปแล้วไม่ได้มีผลกระทบกับตัวเราโดยตรงแล้ว เราก็ยิ่งเห็นถึงความสำคัญน้อยลง เพราะฉะนั้นเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น จึงจำเป็นเป็นต้องสร้างสถานการณ์ที่เข้าใจง่าย
    หากไม่มีกองทุนน้ำมัน หมายความว่า เมื่อใดก็ตามที่ราคาน้ำมันผันผวน ประชาชนก็จะได้รับผลกระทบโดยตรงกับรายจ่าย ยิ่งเป็นธุรกิจ SME ที่เกี่ยวข้องกับราคาพลังงาน นั่นทำให้ต้นทุนราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และอาจทำให้ธุรกิจขนาดเล็กล้มก่อนที่จะเกิดโดมิโนไปสู่เศรษฐกิจโดยรวม
    หากคิดว่าควรเลิกเก็บ หรือเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันน้อยลงเพราะปัจจุบันกองทุนฯ บวกกว่าสี่หมื่นล้าน เราลองคำนวณกันว่า ไทยใช้น้ำมันประมาณ 76 ล้านลิตรต่อวัน สมมติสถานการณ์ราคาน้ำมันผันผวน จนกองทุนน้ำมันต้องช่วยอุดหนุนราคาน้ำมันทุกชนิด ลิตรละ 2 บาท นั้นหมายความว่า เราต้องใช้กองทุนน้ำมันชดเชย เดือนละ 4,560 ล้านบาท และกองทุนนี้จะหมดไปในระยะเวลาไม่ถึง 10 เดือน ซึ่งบางคนอาจคิดว่านาน แต่ถ้าต้องอุดหนุนในราคาที่สูงกวานี้ละ เช่น ลิตรละ 5 บาท กองทุนน้ำมันก็จะอุดหนุนราคาได้ไม่ถึง 5 เดือน
    ฉะนั้นหากจะถามว่า กองทุนน้ำมันมีความสำคัญไหม ถ้ามองในฐานะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ก็คงต้องตอบว่ามาก ดูจากประเทศที่เจริญแล้ว คนก็มักจะให้ความสำคัญกับการทำประกันอยู่เสมอ เพราะสถานการณ์ในอนาคตเราไม่สามารถรู้ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น จึงต้องเตรียมความพร้อมอยู่เสมอ

Share This: