ทำไมราคาน้ำมันสำเร็จรูปอ้างอิงราคาตลาดสิงคโปร์ ปตท โก่งราคาน้ำมัน

ประเทศไทย น้ำมันแพงที่สุดในโลก ปตท โก่งราคาน้ำมัน ปตท กลโกลแปดขั้น และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่เราถกเถียงกันว่าทำไมต้องอ้างอิงราคา น้ำมันตลาดฯสิงคโปร์ด้วย ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจคำว่าตลาดกลางคืออะไรครับ

ทำไมต้องมีตลาดซื้อขายสินค้ากลางหรือต้องอ้างอิงราคาซื้อขายจากตลาดกลาง

สินค้า อุปโภคบริโภค หรือ Commodities นั้น จะมีการแข่งขันสูง และความต้องการสูง เพราะเป็นสินค้าที่คนเราจำเป็นต้องกินต้องใช้กัน หรือเป็นสินค้าที่มีการซื้อขายกันเป็นประจำ เช่น น้ำมัน สินค้าการเกษตร ข้าว อาหาร ผลไม้ ทองคำ แร่ หรือแม้แต่ หุ้น ก็ต้องมีตลาดกลางในการรองรับการซื้อขาย ราคาที่มาจากตลาดกลางนี้ จะเป็นราคาอ้างอิง หรือบรรทัดฐานในการซื้อขายสินค้าชนิดเดียวกันในภูมิภาคเดียวกันโดยปริยาย 

ตัวอย่างที่จะกล่าวดังต่อไปนี้ ผมสมมติว่าทุกกรณีไม่มีค่าเดินทางและค่าขนส่งครับ

ตัวอย่างที่ 1: หุ้น

ผม ถือใบหุ้นบริษัท A อยู่แล้วมีนาย ก. ต้องการซื้อใบหุ้นนี้ต่อจากผม ผมต้องคิดราคาหุ้นตัวนี้เท่าไร? ผมแน่ใจว่าทุกคนมีคำตอบอยู่แล้ว ราคาที่ที่ทั้งผมและนาย ก. จะตกลงซื้อขายกันได้ ก็ต้องเป็นราคาที่อ้างอิงมาจาก “ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย” ที่เป็นตลาดการซื้อขายกลางที่มีนักลงทุนเข้ามาซื้อขายเป็นจำนวนมากเป็นการ สะท้อนถึงราคาหุ้นที่แท้จริงตามปัจจัยการลงทุน ณ ปัจจุบันนั่นเอง แต่ถ้าไม่อิงตามราคาใน “ตลาดหลักทรัพย์” จะมีผลดังต่อไปนี้

ถ้า นาย ก. เสนอซื้อราคา “ถูกกว่า” ในตลาดหลักทรัพย์ >>> ผมก็จะไม่ขายให้นาย ก. แต่ผมจะไปขายในตลาดหลักทรัพย์แทน ซึ่งผมก็ได้ราคามากกว่า

ถ้า ผมเสนอขาย “แพงกว่า” ราคาในตลาดหลักทรัพย์ >>> นาย ก. ก็จะไปซื้อในตลาดหลักทรัพย์ที่มีราคาถูกกว่าแทน น่ันเอง

ถ้า ผมถูกบังคับให้ขาย “ถูกกว่า” ราคาในตลาดหลักทรัพย์ >>> นาย ก. ก็จะรีบซื้อใบหุ้นจากผมไปทันที และไปขายในตลาดหลักทรัพย์ ทำกำไรแบบไร้ความเสี่ยง เรียกว่าArbitrage” ทันที เป็น กำไรจากส่วนต่างระหว่างราคาใบหุ้นที่ซื้อจากผมไปกับราคาหุ้นในตลาดหลัก ทรัพย์ ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรมต่อผม ทำให้ผมขาดโอกาสในการได้รายได้จากส่วนต่างนี้

รูปที่ 1: ตลาดหลักทรัพท์แห่งประเทศไทย

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย http://www.set.or.th

ตัวอย่างที่ 2: ผลไม้

ถ้า ผมมีธุรกิจค้าขายส่งผลไม้อยู่ในตลาดแห่งหนึ่ง สมมติว่าผมขายส่งส้มอยู่ในตลาดแห่งนี้ ผมควรจะขายส้มในราคาขายส่งเท่าไร? ทุกคนก็น่าจะมีคำตอบอยู่ในใจเช่นเดียวกัน ราคาที่ผมควรจะขายควรจะเป็นราคาที่อ้างอิงมาจาก “ตลาดกลางสินค้าการเกษตรแห่งประเทศไทย” หรือที่เรารู้จักในนาม “ตลาดไท” ซึ่ง เป็นตลาดการซื้อขายสินค้าการเกษตรที่ใหญ่ที่สุดไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่ใหญ่และสมบูรณ์แบบที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นตลาดที่ผู้ค้าสินค้าการเกษตรจะมาทำการซื้อขายเป็นจำนวนมากเป็นการสะท้อน ถึง อุปสงค์และอุปทาน (Demand และ Supply) ของสินค้าการเกษตรแต่ละชนิดอย่างแท้จริง แต่ถ้าผมจะตั้งราคาโดยไม่อิงตามราคาของ “ตลาดไท” จะมีผลดังต่อไปนี้

ถ้าลูกค้าเสนอราคา “ถูกกว่า” ในตลาดไท >>> ผมก็จะไม่ขาย แต่ผมจะขนไปขายในตลาดไทแทน ซึ่งผมจะได้ราคามากกว่า

ถ้าผมเสนอขาย “แพงกว่า” ในตลาดไท >>> ลูกค้าก็จะไปซื้อในตลาดไทที่มีราคาถูกกว่าแทน ผมก็จะขายไม่ออก

ถ้าผมเสนอขาย “ถูกกว่า” ในตลาดไท >>> จะมีนักลงทุนมาขนผลไม้ของผมไปทั้งร้าน แล้วไปขายที่ตลาดไท ทำกำไรแบบไร้ความเสียง (Arbitrage) ทันที เป็นกำไรจากส่วนต่างระหว่างราคาผลไม้ที่ซื้อจากผมไปกับราคาผลไม้ใน ตลาดไท ทำให้สินค้าของผมไม่เหลือขายให้ลูกค้าประจำที่ต้องการผลไม้ของผม จริงๆ

รูปที่ 2: ตลาดกลางสินค้าการเกษตรแห่งประเทศไทย หรือ ตลาดไท

รูปที่ 3: ภายในตลาดไท

ตลาดกลางสินค้าการเกษตรแห่งประเทศไทย หรือ ตลาดไท http://www.talaadthai.com

เห็น 2 ตัวอย่างแล้วพอเห็นภาพแล้วใช่มั้ยครับ เดี๋ยวมีตัวอย่างที่ 3 แต่ขอเข้าเรื่องตลาดซื้อขายน้ำมันสำเร็จรูปของโลกก่อนครับ

ตลาดการซื้อขายน้ำมันสำเร็จรูปของโลก

รูปที่ 4: ที่ตั้งของตลาดกลางการซื้อขายน้ำมันสำเร็จรูป 3 แห่งของโลก

น้ำมัน ก็เป็นสินค้าอุปโภคบริโภคชนิดหนึ่ง (Commodities) ซี่งมีการแข่งขันสูง การเปลี่ยนราคาหรือนโยบายการผลิตและการขายของผู้ค้าน้ำมันรายหนึ่งจะส่งผล กระทบโดยตรงต่อตลาดน้ำมัน จึงทำให้ผู้ค้าน้ำมันต้องปรับราคาให้สามารถแข่งขันกันได้ ดังนั้น ราคาน้ำมันที่เหมาะสมเพื่อใช้ “อ้างอิง” จึงควรจะกำหนดมาจากความต้องการและความสามารถในการผลิต ภายใต้กลไกระบบการค้าเสรีของกลุ่มตลาดซื้อขายน้ำมันที่อยู่ใกล้เคียง กัน ศูนย์กลางการซื้อขายน้ำมันของโลกกระจายอยู่ใน 3 ภูมิภาค ก็คือ

1. ทวีปอเมริกา โดยตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ตั้งอยู่ที่ นครนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา
2. ทวีปยุโรป โดยตลาด ICE (InterContinental Exchange) ตั้งอยู่ที่ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

3. ทวีปเอเชีย โดยตลาดสิงคโปร์ หรือ SIMEX (Singapore International Monetary Exchange) ตั้งอยู่ที่ ประเทศสิงคโปร์

“ตลาดสิงคโปร์” (The Singapore International Monetary Exchange หรือ SIMEX) 

ประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งคำว่า “ราคาสิงคโปร์” นั้นไม่ใช่ราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ประกาศโดยรัฐบาลหรือโรงกลั่นของประเทศสิงคโปร์ หรือราคาขายปลีกในประเทศสิงคโปร์ แต่ เป็นราคาซื้อขายน้ำมันระหว่างผู้ค้าน้ำมันมากกว่า 300 รายในภูมิภาคเอเชียที่ตกลงกันผ่านตลาดกลางฯที่ประเทศสิงคโปร์เป็นปริมาณ มหาศาล ประเทศไทยอยู่ในภูมิภาคเอเชียและตั้งอยู่ใกล้กับประเทศสิงคโปร์ จึงเลือกที่จะอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปจากตลาดสิงคโปร์ ซึ่งสะท้อนระดับราคาที่สมดุลกับกลไกระบบการค้าเสรีของตลาดในภูมิภาคนี้ ซึ่งยากต่อการปั่นราคา อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงของราคาก็สอดคล้องอย่างเป็นสากลกับตลาดซื้อขายน้ำมัน อื่นๆทั่วโลก 

รูปที่ 5: ภายในตลาด SIMEX ประเทศสิงคโปร์


ทำไมต้องอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปของตลาดกลางสิงคโปร์ (SIMEX)
ตัวอย่างที่ 3: น้ำมัน

ถ้าราคาขายน้ำมันหน้าโรงกลั่น “แพงกว่า” ในตลาดกลางสิงคโปร์ >>> ผู้ประกอบการขายปลีกน้ำมัน ก็จะนำเข้าน้ำมันจากตลาดกลางสิงคโปร์ที่มีราคาถูกกว่าแทนการซื้อน้ำมันจาก โรงกลั่นในประเทศ และก็จะมีผู้ค้าน้ำมันนำน้ำมันสำเร็จรูปเข้ามาขายแข่งเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมันภายในประเทศและการจ้าง งาน

 

ถ้าราคาขายน้ำมันหน้าโรงกลั่น “ถูกกว่า” ในตลาดกลางสิงคโปร์ >>> เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่

เปิดตลาดเสรี ผู้ประกอบการโรงกลั่นก็จะสามารถนำน้ำมันส่งออกไปขายต่างประเทศที่ได้ราคาดี กว่าทันที ทำให้ในประเทศขาดแคลนน้ำมัน ผู้บริโภคในประเทศก็จะไม่ได้ใช้น้ำมัน ยิ่งทำให้ราคาขายปลีกในประเทศเพิ่มสูงขึ้นหนักเพราะ อุปทาน (Supply) น้อยกว่า อุปสงค์ (Demand) หรืออาจจะทำให้ผู้ประกอบการค้าปลีกน้ำมันก็จะประสบภาวะขาดทุน ถึงขั้นเจ๊งได้ (เพราะปริมาณการขายน้อย กำไรน้อยลง) และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศอย่างวงกว้าง เพราะขาดแคลนพลังงานถ้าบังคับให้โรงกลั่นขายน้ำมันหน้าโรงกลั่น “ถูกกว่า” ในตลาดกลางสิงคโปร์ >>> ผู้ประกอบการโรงกลั่นจะขาดแรงจูงใจในการลงทุนเพราะลงทุนสร้างโรงกลั่นหรือค่าซ่อมบำรุงค่าดำเนินการโรงกลั่นในประเทศไทยมีต้นทุนสูงกว่า สาเหตุดังต่อไปนี้

1. ต้นทุนขนส่งการนำเข้าน้ำมันดิบสูงกว่า เพราะประเทศไทยอยู่ห่างจากแหล่งน้ำมันดิบตะวันออกกลางไกลกว่าประเทศสิงคโปร์ รวมถึงประเทศสิงคโปร์เป็นเมืองท่า มีระบบการขนส่งและท่าเรือขนาดใหญ่และครบวงจร ทำให้ต้นทุนการขนส่งต่อหน่วยของประเทศสิงคโปร์มีต้นทุนต่ำกว่าของประเทศไทย
2. ต้นทุนการกลั่นต่อหน่วยของประเทศไทยสูงกว่า เพราะกำลังการกลั่นของประเทศไทยมีขนาดน้อยกว่า (Economies of Scale)
3. ต้นทุนการผลิตน้ำมันสูงกว่า เพราะโรงกลั่นในประเทศไทยผลิตน้ำมันคุณภาพสูงกว่าหรือยูโร 4-5 เพื่อมีความสามารถในการแข่งขันกับการนำเข้าน้ำมันจากโรงกลั่นสิงคโปร์

พอ ต้นทุนโรงกลั่นในประเทศไทยสูงกว่าแต่กลับขายได้ราคาต่ำกว่าราคาน้ำมันจากโรง กลั่นสิงคโปร์หรือราคาที่ควรจะเป็น อาจจะถึงขั้นขาดทุน ผู้ประกอบการจะย้ายเงินลงทุนไปลงทุนที่ต่างประเทศแทน ทำให้โรงกลั่นในประเทศต้องปิดตัวลง ทำให้ประเทศไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปแทน ส่งผลกระทบต่อการการ จ้างงานสร้างรายได้และกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศอย่างวงกว้าง และขาดความมั่นคงทางพลังงาน !!!

รูปที่ 6: โรงกลั่นน้ำมันของ Singapore Refining Co. (SRC) ประเทศสิงคโปร์


 ดังนั้นการอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปจากตลาดสิงคโปร์ จะทำ ให้โรงกลั่นภายในประเทศต้องพัฒนาศักยภาพและปรับปรุงการบริหารจัดการเพื่อลด ต้นทุนการกลั่นน้ำมันให้สามารถแข่งขันกับโรงกลั่นอื่นๆ ในภูมิภาคหรือของโลกอยู่เสมอ ซึ่งจะเป็นผลดีกับผู้บริโภคและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
ซึ่ง ปัจจุบัน โรงกลั่นในประเทศไทยสามารถกลั่นได้นำ้มันที่มีคุณภาพสูงกว่าประเทศสิงคโปร์ ในมาตราฐาน Euro 4 (E20 เป็น Euro 5 แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว) โรงกลั่นไทยจึงสามารถแข่งขันกับโรงกลั่นสิงคโปร์ที่กลั่นน้ำมันมาตราฐาน Euro 2 ได้  อย่างไรก็ตามจากข่าว โรงกลั่นในสิงคโปร์ของบริษัท Singapore Refining Co. (SRC) เตรียมลงทุนกว่า $500 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯเพื่ออัพเกรดโรงกลั่นให้กลั่นน้ำมันตามมาตารฐานยูโร 4

ใน ปัจจุบันนี้เหล่าโรงกลั่นในไทยจะมีค่าการกลั่นโดยเฉลี่ยอยู่ราวๆลิตรละ 2 บาท ค่าการกลั่นนี้ไม่ใช่ผลกำไรแต่เป็นส่วนต่างระหว่างน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรง กลั่นกับต้นทุนราคาน้ำมันดิบที่นำเข้ามา ถ้าหักต้นทุนและภาษีเงินได้เข้ารัฐแล้วกำไรน่าจะไม่ถึงลิตรละบาท เต็มที่ก็บาทนึง ดังนั้นการตั้งราคาที่ต่ำกว่าราคาอ้างอิงตลาดกลางสิงคโปร์จะมีความเสี่ยงการ ขาดทุนสูง ค่าการกลั่นนั้นขึ้นอยู่กับบางช่วงเวลาเรียกว่า Gross Refinery Margin ดูข้อมูลได้จาก http://www.eppo.go.th/petro/price/index.html

คำอธิบายค่าการกลั่น http://www.marinerthai.com/sara/view.php?No=1115
อ้างอิงข่าวการอัพเกรดโรงกลั่นในสิงคโปร์
http://fuelsandlubes.com/flw/src-soon-to-embark-on-us500-million-refinery-upgrade/#!prettyPhoto

 

ราคาน้ำมันตลาดกลางสิงคโปร์ กับ ราคาน้ำมันขายปลีกหน้าปั๊มสิงคโปร์ เป็นราคาเดียวกันหรือเปล่า?หลายๆคนยังคงสับสนกับราคาสิงคโปร์ว่า มันเป็นราคาหน้าปั๊มน้ำมันของประเทศสิงคโปร์หรือเปล่า ผมบอกเลยว่า “ไม่ใช่” ครับ อย่างที่อธิบายไว้แล้วว่าราคาที่เราอ้างอิงนั้นเป็นราคาที่เกิดจากตลาดการ ซื้อขายน้ำมันของภูมิภาคนี้ พอดีตั้งอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ แต่ทีนี้เรามาดูราคาขายปลีกหน้าปั๊มของประเทศสิงคโปร์กันดีกว่าครับ ซึ่งเป็นราคาที่รัฐบาลสิงคโปร์มีการกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตต่างๆเหมือนบ้าน เรานั่นเอง มาดูกันว่าราคาเป็นอย่างไร

รูปที่ 7: ราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นตลาดกลางสิงคโปร์ วันที่ 21 มีนาคม – 18 เมษายน 2556

รูปที่ 8: ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2556

ราคาล่าสุดตั้งแต่ วันที่ 16 เมษายน 2556 จะเห็นได้่ว่า

ราคาเบนซิน 95 ขายปลีกในประเทศสิงคโปร์อยู่ที่ลิตรละ S$2.080 หรือ 48.12 บาท
ราคาน้ำมันเบนซิน 95 ตลาดสิงคโปร์ (Unleaded Petrol = MOPS95 หรือ Mean Of Platts Singapore) เฉลี่ย 3 วัน (16-18 เมษายน 2556) อยู่ที่บาร์เรลละ $109 หรือลิตรละ 19.88 บาท

จะเห็นว่า ราคานั้นคนละราคาเลย เพราะทางประเทศสิงคโปร์ ก็เก็บภาษีสรรพสามิต บริษัทน้ำมันก็เก็บค่าการตลาดเช่นเดียวกับประเทศไทยเหมือนกัน แถมโดยรวมแล้วยังเก็บมากกว่าประเทศไทยอีกด้วยประมาณลิตรละ 3.50 บาท ทั้งที่ราคาหน้าโรงกลั่นไม่มีค่าขนส่งเพิ่มเติมอีกด้วยเพราะตลาดซื้อขายกลาง อยู่ในประเทศ (ราคาขายปลีกในไทยล่าสุดตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2556 ราคาเบนซิน 95 ลิตรละ 44.35 บาท ราคาหน้าโรงกลั่นอยู่ที่ลิตรละ 20.73 บาท รวมต้นทุนค่าขนส่ง ค่าประกัน ฯลฯ ประมาณลิตรละ 85 สตางค์)

(1 ดอลล่าร์สิงคโปร์ = 23.14 บาท, 1 ดอลล่าร์สหรัฐฯ = 29 บาท, 1 บาร์เรล = 159 ลิตร)อ้างอิงราคาขายปลีกปั๊มคาลเท๊กซ์ในประเทศสิงคโปร์
http://www.caltex.com/sg/resources/fuel-price/

อ้างอิงราคาน้ำมันตลาดกลางสิงคโปร์
http://www.aip.com.au/pricing/marketwatch.htm

ประเทศมาเลเซียอ้างอิงราคาตลาดกลางสิงคโปร์ด้วยหรือไม่?

ประเด็น นี้ก็เป็นอีกประเด็นที่มีความสับสนอย่างมากมายในหมู่ประชาชนคนไทย ที่มักจะอ้างราคาน้ำมันประเทศมาเลเซียเสมอ เพราะที่นั่นขายถูกกว่าบ้านเราครึ่งต่อครึ่ง แต่น้อยคนนักที่จะเข้าใจว่า โครงสร้างราคาน้ำมันที่แท้จริงของประเทศมาเลเซียเป็นเช่นไร ก็เลยเข้าใจไปต่างๆนานาว่า “ประเทศมาเลเซียสามารถกำหนดราคาน้ำมันได้เอง” ความเข้าใจนี้เป็นความจริงแค่ครึ่งเดียวครับ ประเทศมาเลเซียนั้นสามารถกำหนดราคาน้ำมันขายปลีกหน้าปั๊มได้ด้วยการกำหนด โครงสร้างภาษีและการอุดหนุนราคา แต่ไม่สามารถกำหนดราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นได้ครับ ทุกๆวันนี้ประเทศมาเลเซียเองก็อ้างอิงราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นตามตลาดกลาง สิงคโปร์เช่นเดียวกัน ถ้าไม่อ้างอิงละก็ ก็จะเกิดเหตุการณ์เดียวกับที่ผมอธิบายไว้ในหัวข้อก่อนหน้านี้

แล้ว ทำไมราคาน้ำมันขายปลีกของประเทศมาเลเซียถึงถูกกว่าเรามาก? ก็เพราะประเทศมาเลเซียเค้ากำลังควบคุมราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศอยู่ ด้วยการงดเว้นการจัดเก็บภาษีและใช้เงินภาษีไปอุดหนุนราคาน้ำมัน ซึ่งงบประมาณส่วนนี้ส่วนใหญ่มาจากรายได้จากการส่งออกน้ำมันดิบและก๊าซ ธรรมชาติในรูป LNG (ประเทศมาเลเซียเป็นประเทศส่งออกพลังงานสุทธิ)

ราคาน้ำมันขายปลีกประเทศมาเลเซียในปัจจุบัน

PETROL RON95 หรือเบนซิน 95 อยู่ที่ ~ 19 บาท (RM1.9) ส่วนดีเซลอยู่ที่ 18 บาท (RM1.80) ครับจากข้อมูลวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2556

 

รูปที่ 9: โครงสร้างราคาน้ำมันของประเทศมาเลเซีย จากปั๊มน้ำมัน SHELL ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ วันที่ 16 มี.ค.2556

ราคาซ้ายคือ PETROL RON 95 หรือ เบนซิน 95 (กระดาษลอกๆหน่อย)ราคาขวามือคือ DIESEL (ดีเซล)

Harga sebenar termasuk cukai ราคาที่แท้จริงรวมภาษี

Harga kawalan ราคาขายปลีกที่ถูกควบคุมราคาแล้ว (ราคาที่ประชาชนซื้อ)

Pelepasan Cukai oleh Kerajaan งดเว้นภาษีโดยรัฐบาล

Subsidi oleh Kerajaan เงินอุดหนุนจากรัฐบาล

RM 1  ประมาณ 10 บาท
จะเห็นได้ว่า ราคาขายปลีกของน้ำมันเบนซิน 95 ที่แท้จริงอยู่ที่ 35.40 บาท ถ้าไม่รวมภาษีจะเป็น 29.50 บาท  (ภาษีทั้งหมด 5.90 บาท) ซึ่งราคา 29.50 บาทนี้ คือราคาหน้าโรงกลั่นที่อ้างอิงตามตลาดสิงคโปร์ + ค่าการตลาด น่าเสียดายที่รูปนี้ไม่ได้ถอดค่าการตลาดออกมาให้ดู (รูปนี้ผมถ่ายเองกับมือตอนไปประเทศมาเลเซียเมื่อเดือนที่แล้ว)

รูปที่ 10: ราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นตลาดกลางสิงคโปร์ วันที่ 7 มีนาคม – 4 เมษายน 2556

รูปที่ 11: โครงสร้างราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศไทย วันที่ 15 มีนาคม 2556

เอา เป็นว่า ราคาหน้าโรงกลั่นอ้างอิงราคาสิงคโปร์ ในวันที่ 15 มีนาคม 2556 นั้น บาร์เรลละ $123 หรือลิตรละ 22.43 บาท สมมติว่ามีค่าขนส่งจากสิงคโปร์ประมาณลิตรละ 50 สต. (ให้น้อยกว่าขนส่งไปไทยนิดหน่อย) จะตกลิตรละประมาณ 23 บาท แต่ป้ายนี้อาจจะติดมาตั้งแต่ต้นปีแล้วก็ได้ (สังเกตกระดาษเปื่อยๆ) ผมลองย้อนไปดูว่าราคาน้ำมันเบนซิน 95 ตลาดสิงคโปร์สูงสุดตั้งแต่ต้นปีราคาเท่าไร อยู่ราวๆ บาร์เรลละ $130 หรือตกละลิตรละ 24 บาท (บวกให้อีกลิตรละ 50 สต. สำหรับค่าขนส่งไปมาเลเซีย) ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์และต้นเดือนมีนาคม 2556 ที่ราคาเบนซิน 95 ในประเทศไทย อยู่ลิตรละ 48.75 บาท (วันที่ 1 มีนาคม 2556) แสดงว่าค่าการตลาดที่ปั๊มน้ำมันในประเทศมาเลเซียได้ไป ตกลิตรละ 5.00 – 6.50 บาท (ณ วันที่ 1 มีนาคม 2556 และวันที่ 15 มีนาคม 2556 ตามลำดับ) ถ้าราคาน้ำมันตลาดกลางสิงคโปร์น้อยกว่านี้แปลว่าค่าการตลาดจะยิ่งสูงกว่า ถ้ามาเลเซีย fix ราคาขายปลีกก่อนภาษีอยู่ที่ลิตรละ 29.50 บาท

เข้าใจแล้วว่าทำไมปั๊มนอกในไทยถึงเจ๊งกันบ่อยๆเพราะค่าการตลาดต่ำเตี้ยจริงๆเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ในวันนั้นค่าการตลาดเบนซิน 95 ในประเทศไทยอยู่ที่ลิตรละ 2.96 – 3.59 บาทเท่านั้น (ณ วันที่ 15 มีนาคม 2556 และวันที่ 1 มีนาคม 2556 ตามลำดับ) แบบว่ารายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายในปั๊มน้ำมันของไทยอยู่ประมาณครึ่งนึงของปั๊ม น้ำมันในประเทศมาเลเซียและท้ายสุด รัฐบาลประเทศมาเลเซียก็อุดหนุนราคาให้ลิตรละ 10.50 บาท (งบ ประมาณนี้คือรัฐบาลช่วยประชาชนจ่ายให้บริษัทน้ำมันนะครับ ไม่ใช่ไปบังคับให้ปั๊มน้ำมันขายในราคาที่กำหนด เหมือน LPG หรือ ดีเซล ในประเทศไทยนี่เอง) ทำให้ ราคาขายปลีกอยู่ที่ ลิตรละ 19 บาท นั่นเอง

ส่วนน้ำมันดีเซลก็ใช้หลักการงดเว้นภาษีและการอุดหนุนราคาแบบเดียวกันครับ

(1 ดอลล่าร์สิงคโปร์ = 23.14 บาท, 1 ดอลล่าร์สหรัฐฯ = 29 บาท, 1 บาร์เรล = 159 ลิตร)

ข่าวรัฐบาลมาเลเซียจ่ายเงินอุดหนุนพลังงานกว่า 2 หมื่นล้านริงกิต หรือ 2 แสนล้านบาท
http://www.mcot.net/site/content?id=4ff6741d0b01dabf3c0345f0#.UXOZSJiJmJU

 

โรงกลั่นในประเทศไทย และกำลังการกลั่นในประเทศไทย

ปัจจุบันในประเทศไทยมีโรงกลั่นอยู่ทั้งหมด 7 แห่ง คือ
1. ไทยออยล์
2. เอสโซ่ ศรีราชา รีไฟเนอรี่
3. บางจาก ปิโตรเลียม
4. ระยองเพียวรีไฟเออร์
5. สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟนิ่ง
6. ไออาร์พีซี
7. พีทีที โกลบอล เคมิคอล

โดยมีข้อมูลกำลังการผลิตและสัดส่วนผู้ถือหุ้นดังต่อไปนี้

รูปที่ 12: ข้อมูลกำลังการกลั่นและผู้ถือหุ้นของโรงกลั่นในประเทศไทย รวมถึงส่วนแบ่งการตลาดของ ปตท.

ซึ่ง ขณะนี้ประชาชนได้รับข้อมูลได้ไม่ครบถ้วนจึงเกิดความสับสนขึ้นมาว่า “แท้จริงแล้ว บริษัทคนไทยอย่าง ปตท. เป็นเจ้าของโรงกลั่นทั้งหมดยกเว้นเอสโซ่แต่เพียงแห่งเดียว ทำให้ ปตท. มีสิทธิ์กำหนดราคาได้ ” แต่ความจริงแล้ว จากข้อมูลในปัจจุบัน จะพบว่า ปตท. มีส่วนในการถือหุ้นโรงกลั่นทั้งหมด 5 โรงกลั่นจาก 7 โรงกลั่น ดูเหมือนเยอะเลยนะครับ (อาจจะไม่นับ โรงกลั่นระยองเพียว RPC ที่กำลังมีปัญหาอยู่และกำลังการกลั่นน้อยมาก จะกลายเป็น 5 โรงจาก 6 โรง ทำให้สัดส่วนเหมือนราวๆ 83% ของกำลังการกลั่นในประเทศเลยทีเดียว)

แต่ถ้าลองถอดสัดส่วนผู้ถือหุ้นดู จะพบกว่า ปตท.ถือหุ้นใหญ่เหลือเพียง 4 โรงกลั่นจาก 7 โรงกลั่น เพราะ โรงกลั่นสตาร์ปิโตรเลียม นั้น เชฟรอนถือหุ้นใหญ่ 64% เกินครึ่งด้วย ซึ่ง ปตท. ไม่มีสิทธิ์หรือมีสิทธิ์จำกัดในการกำหนดนโยบายใดๆ

แล้ว พอดูให้ลึกลงไป ปรากฎว่า ไม่มีโรงกลั่นไหนเลยที่ ปตท. ถือหุ้นใหญ่เกินครึ่ง ที่จะกำหนดทิศทางราคาได้แต่เพียงผู้เดียว ถ้าผู้ถือหุ้นรายอื่นๆไม่เห็นด้วยทั้งหมด ผมก็ได้ถอดสัดส่วนต่างๆให้ดูดังต่อไปนี้

1. ส่วนแบ่งการตลาดหรือสัดส่วนผู้ถือหุ้นที่แท้จริงของ ปตท. ทั้งหมด อยู่ที่ 34% ของกำลังการกลั่นในประเทศเท่านั้น
2. กำลังการกลั่นของโรงกลั่น ที่ ปตท.ถือหุ้นใหญ่ที่สุด อยู่ที่ 69% ของกำลังการกลั่นในประเทศ
3. กำลังการกลั่นของโรงกลั่นที่ ปตท. ถือหุ้นเกินครึ่งนึง ไม่มีเลย
หมายความว่า ถ้ารัฐบาลกำหนดให้ขายน้ำมันหน้าโรงกลั่นต่ำกว่าราคาสิงคโปร์ อย่างน้อย โรงกลั่นที่ ปตท.ไม่ได้ถือหุ้นใหญ่อยู่ราวๆ 31% ของกำลังการกลั่นในประเทศจะถูกส่งออกทันที (ประเทศไทยเป็นประเทศการค้าเสรี ทุกบริษัทมีสิทธิ์จะเลือกที่จะขายในประเทศหรือส่งออก) จะ ทำให้ประเทศไทยขาดแคลนน้ำมัน เพราะจะมีน้ำมันเหลือ 755,000 บาร์เรลต่อวันขณะที่ประเทศไทยบริโภคอยู่ราวๆ 850,000 – 900,000 บาร์เรลต่อวัน (ซึ่งยังไม่ลงไปในรายละเอียดน้ำมันคงเหลือของน้ำมันแต่ละชนิดนะครับ)

แต่ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่า ปตท. จะเป็นเจ้าของโรงกลั่นทั้งหมด 100% แต่ถ้าไม่อ้างอิงราคาตลาดสิงคโปร์ สุดท้ายแล้ว โรงกลั่นของ ปตท. ก็จะไม่สามารถแข่งขันกับโรงกลั่นในสิงคโปร์ ทำให้ธุรกิจโรงกลั่นขาดทุนและแข่งขันกับการนำเข้าน้ำมันจากสิงคโปร์ไม่ได้ อยู่ดี ดังที่กล่าวไว้แล้ว สุดท้ายถ้าจะให้แข่งขันได้ ก็ต้องเอาภาษีของคนไทยไปอุ้มช่วยเหลืออยู่ดี ซึ่งสุดท้ายจะเป็นผลเสียต่อคนไทยโดยรวมมากกว่า

เรื่องพลังงานต้องใช้ความรู้ ไม่ใช่ความรู้สึก

สิริวัต
21 เม.ย. 2556

อ้างอิงความหมายของมาตราฐานน้ำมันยูโร
http://www.doeb.go.th/knowledge/data/uro_4.pdfข่าวการขายน้ำมันแก๊สโซฮอล E20 ด้วยมาตราฐานยูโร 5 ของ บมจ.บางจาก
http://www.mcot.net/site/content?id=50c07e6b150ba0ab6500041f#.UXLkDpiJmJU

อ้างอิงคำอธิบายราคาสิงคโปร์
http://esso-th.listedcompany.com/faq.html#01
http://www.eppo.go.th/petro/pt-SingPrice.html

ข้อมูลราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศไทยย้อนหลังจากกระทรวงพลังงาน

http://www.eppo.go.th/petro/price/index.html

อ้างอิง ข้อมูลผู้ถือหุ้นโรงกลั่นอื่นๆที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

http://www.settrade.com

อ้างอิง ข้อมูลผู้ถือหุ้นในโรงกลั่น Star Petroleum Refining Co. จากรายงานประจำปีของ บริษัท เชฟรอน ประเทศไทย

http://www.chevronthailand.com/download/Chevron2012AnnualReport.pdf
อ้างอิง ข้อมูลกำลังการกลั่นของโรงกลั่นในประเทศไทย
http://www.vcharkarn.com/vblog/37277/3

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/siriwat.vitoonkijvanich

Share This: