น้ำมันที่โรงกลั่น(ไทย)…..จะตั้งราคาอย่างไร จึงจะเป็นธรรม
หนึ่งในคำถามที่มีต่อโครงสร้างราคาน้ำมันในบ้านเรา นอกจากประเด็นการอิงราคาตลาดสิงคโปร์แล้ว ที่น่าสนใจก็ คือ การตั้งราคาของโรงกลั่น ประเด็นจะเริ่มต้นที่ว่า หากโครงสร้างราคาน้ำมันของประเทศไทยอิงราคาตลาดที่สิงคโปร์ (Simex) แล้วทำไมการกำหนดราคาน้ำมัน ณ โรงกลั่นของประเทศไทยต้องบวกค่าขนส่งจากประเทศสิงคโปร์มายังประเทศไทยด้วย (คุณโสภณ สุภาพงษ์ อดีตกรรมการผู้จัดการบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หนึ่งในกูรูด้านพลังงานของไทย บอกว่า ราคา ณ โรงกลั่นของไทยต้องต่ำกว่าราคาสิงคโปร์ (อันเนื่องมาจากการขนส่ง) 1-2 บาท /ลิตร และเป็นหัวหอกสำคัญในการตั้งประเด็นสาธารณะประเด็นนี้) ในเมื่อข้อเท็จจริงเราไม่ได้ขนย้าย-น้ำมันมาจากโรงกลั่นที่ประเทศสิงคโปร์
ประเด็นมีต่อไปอีกว่า โรงกลั่นน้ำมันในไทยซึ่งมีอยู่ 7 โรงนั้น ปัจจุบันใครเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ได้สิทธิในการบริหารโรงกลั่นของไทย จากข้อมูลที่มีอยู่ ก็คือส่วนใหญ่จะเป็นของ “กลุ่มปตท.” ประกอบด้วย ไทยออยล์ /ไออาร์พีซี /สตาร์ / ระยอง / บางจาก รวมทั้งสิ้นคิดเป็น 83 % ของกำลังผลิต (กลั่น) ยกเว้นอีก 2 โรง เป็นของคนอื่น คือ เอสโซ่และอาร์พีซี ประเด็นทั้งสองรวมกันแล้วพุ่งเข้าใส่ ปตท.ว่า เป็นผู้ตั้งราคา ปตท ปล้นพลังงานไทย เป็นผู้ที่มีส่วนในการบิดเบือนราคา เป็นการสร้างภาวะซ้ำเติมให้กับประชาชนผู้บริโภคตาดำๆ ในขณะที่ตัวเองกำไรปีหนึ่งๆ เป็นแสนล้าน จึงถูกมองว่า ปตท กำไรแสนล้าน ประเด็นตรงๆ ก็คือว่า ราคาน้ำมัน ณ โรงกลั่นของไทย ควรจะคิดและใช้ปัจจัยใดมาเป็นองค์ประกอบกำหนดราคา ข้อเท็จจริงก็คือ ราคาน้ำมันต้นทุน (วัตถุดิบต้นทุน) กับค่าการกลั่น (ต้นทุนและค่าใช้จ่ายของโรงกลั่น) ราคาน้ำมันต้นทุนที่ว่านั้นถูกต้องแล้ว ที่ต้องมีราคาที่ต้องมีหลักอ้างอิงที่เป็นธรรมอธิบายได้เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่าเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งในกรณีนี้ไทยเราอิงกับราคาตลาดสิงคโปร์ แต่ทำไมไปบวกราคาค่าขนส่งเข้าไปอีก ข้อนี้แหละเป็นคำถามและเป็นเรื่องที่หลายคนใช้เป็นบันได ไปดิสเครดิตของ ปตท.รวมกับประเด็นอื่นๆ ที่ ปตท.กำลังประสบอยู่ และถึงขั้นต้องจัดตั้ง Intelligent team / Crisis watch ขึ้นมาเพื่อติดตามข้อมูล ข่าว การเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ เพื่อนำมาประมวลเป็นการบริหารประเด็น (Issue Management) ซึ่งในเรื่องนี้ ปตท. น่าจะเป็นวิสาหกิจที่น่าจะมีประสบการณ์ตรงกับการเผชิญกับกรณีต่างๆที่เป็นภาพลักษณ์เชิงลบ มากกว่าองค์กรใดๆ ในไทย
ประเด็นนี้ไปเกี่ยวข้องกับวิถีการค้าและการตั้งราคาของสินค้าของโลกการค้าระหว่างประเทศ ที่มีการนำเอาปัจจัยอื่นมาคิดรวมเสมือนหนึ่งเป็นองค์ประกอบของราคาควบคู่กันไป ยกตัวอย่างในสินค้าน้ำตาล ที่ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลไปยังตลาดต่างประเทศเป็นลำดับสองรองจากบราซิล ซึ่งโดยปกติจะอิงราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่ตลาดนิวยอร์คหมายเลข 11 / Nymex และในหลักปฏิบัติเวลาที่โรงงานน้ำตาลของไทย ขายน้ำตาลไปให้กับผู้ซื้อในต่างประเทศ เช่น จีน ผู้ซื้อของจีน จะเปรียบเทียบกับประเทศผู้ค้าน้ำตาลจากประเทศอื่นที่แข่งขัน ประกอบกันด้วย ในที่นี้ก็คือบราซิล ก็จะพบว่า ถ้าจีนซื้อน้ำตาลมาจากบราซิล จะต้องชำระค่าน้ำตาลในราคาอิงตลาดนิวยอร์คบวกค่าขนส่งจากบราซิลมาจีน และก็เหมือนถ้าหากซื้อน้ำตาลจากไทย ก็จะต้องชำระค่าน้ำตาลในราคาอิงตลาดนิวยอร์คบวกค่าขนส่งเช่นกัน เพียงแต่ว่า ค่าขนส่งนั้นของไทยจะต่ำกว่า (เพราอยู่ใกล้กว่า) แสดงว่า ค่าขนส่ง เป็นส่วนประกอบเพิ่มจากราคาอ้างอิง และจีนในฐานะผู้ซื้อกับโรงงานน้ำตาลของไทยในฐานะผู้ขาย ก็จะต่อรองประเด็นขององค์ประกอบนี้อีกส่วนหนึ่งว่า ถ้าซื้อน้ำตาลจากไทย จะเพิ่มราคาให้เป็นพิเศษ (premium) อันเนื่องมาจากส่วนต่างค่าขนส่งระหว่างค่าจากบราซิลกับไทย โดยปกติไทยจะได้ราคา premium นั้นไม่เท่ากับส่วนต่างทั้งหมด / ได้เป็นบางส่วน ตามหลักการที่ผู้ซื้อ (จีน) ประหยัดลงไป ในขณะเดียวกัน ผู้ขาย ก็พอใจที่ขายให้กับจีนมากกว่าประเทศอื่นที่ไม่มี premium หรือมีต่ำกว่า หลักการนี้ ก็เป็นหลักเดียวกันกับกรณีโรงกลั่นน้ำมันของไทย คิดค่าขนส่งจากโรงกลั่นที่สิงคโปร์ มายังประเทศไทย โดยวิธีเปรียบเทียบในเรื่องของค่าขนส่ง ที่เป็นองค์ประกอบอีกเรื่องหนึ่งรวมกับราคาอ้างอิง เพราะถ้าผู้ค้าน้ำมันของไทย ไม่ซื้อน้ำมันจากไทย ก็ต้องไปซื้อที่สิงคโปร์ ซึ่งจะต้องมีค่าขนส่ง
คำถามก็คือ ทำไมต้องคิด / ไม่คิดได้ไหม เพราะจะทำให้ราคาน้ำมันขายปลีกที่ออกจากโรงกลั่นน้ำมันของไทย ลดลงไปเท่ากับค่าขนส่งจากสิงคโปร์
คำตอบก็คือ ได้
แต่โรงกลั่นน้ำมันของไทยย่อมจะเลือกขายน้ำมันไปยังต่างประเทศมากกว่าที่จะขายในประเทศ เหตุผลก็คือ โรงกลั่นจะได้ส่วนเพิ่มจากค่าขนส่ง / ส่วนเพิ่มจากราคาอ้างอิง จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับประเทศผู้ซื้อจะเปรียบเทียบระหว่างของโรงกลั่นของประเทศใดมาเทียบเคียง เพราะเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นคือ โรงกลั่นจะขายไปต่างประเทศในราคาที่สูงกว่า ในประเทศ หากจะเลือกใช้วิธีนี้ รัฐบาลก็ต้องเป็นผู้สร้างกลไกอย่างเข้มข้นเข้ามาจัดการ เช่น การกำหนดมาตรการสำหรับการผลิตเพื่อใช้ในประเทศก่อน เหลือจึงขายไปต่างประเทศ (วิธีการนี้ใช้อยู่กับสินค้าน้ำตาล ซึ่งจะต้องเข้มงวดมากในกรณีที่ราคาตลาดโลกพุ่งสูงขึ้น เพราะจะมีผู้ที่พยายามลักลอบออกไป อาจะไม่ใช่โรงกลั่น / แต่จะมีผู้ค้าน้ำมันที่ซื้อไปจากโรงกลั่น ในโควต้าขายในประเทศ แล้วในทางปฏิบัติกลับลักลอบนำไปขายต่างประเทศแทน เพราะจะได้ประโยชน์จากราคาที่มีค่าขนส่งเป็นองค์ประกอบนั่นเอง เรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นอยู่เสมอสำหรับสินค้าน้ำตาลทราย เพียงแต่ไม่บ่อยนักเพราะวงจรโครงสร้างของราคาจะมีการขึ้นลงอย่างผิดปกติในทุก 4 ปี แต่กรณีของน้ำมัน ภาวะอย่างนี้ จะซ้ำเติมกับประชาชนผู้บริโภคตาดำๆ ซ้ำไปอีก เพราะโรงกลั่นก็จะต้องนำเข้าน้ำมันต้นทุนที่มากขึ้น (เพราะมีส่วนรั่วไหลออกไป) เสียเงินตราต่างประเทศมากขึ้น และอื่นๆที่เป็นผลพวงตามมาอีกมากมาย นอกจากนั้น หากเป็นโรงกลั่นที่ไม่ใช่โรงกลั่นน้ำมันของไทย ก็ย่อมจะเลือกที่จะลดการกลั่นน้ำมันในไทยลงไป แล้วไปเพิ่มปริมาณการผลิตให้กับโรงกลั่นในเครือในประเทศอื่นที่ขายแล้วได้ premium แทน นอกจากนั้น สถานการณ์ในประเทศจะเกิดขึ้นภาวะขาดแคลนน้ำมัน / จะมีการลักลอบน้ำมันออกไปขายต่างประเทศ แล้วสุดท้ายราคาน้ำมันขายปลีกแทนที่จะถูก กลับแพงและหาซื้อไม่ได้
หากเราใช้กฎการทำงานของดีมานด์ซัพพลาย มาพิจารณา เราก็ต้องยอมรับใน “ค่าขนส่ง” ว่าเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญในโครงสร้างราคา พอๆกับราคาอ้างอิงตลาดโลก หากเราจะให้โรงกลั่นคิดราคาน้ำมันต้นทุน ที่เป็นต้นทุนของการกำหนดราคา ณ โรงกลั่น โดยไม่มีค่าขนส่งจากประเทศสิงคโปร์ ย่อมเป็นการละเมิดในหลักการเบื้องต้นของระบบความเชื่อข้างต้น แต่ขณะเดียวกันค่าขนส่งที่นำมาคิดก็ไม่ควรที่เท่ากับค่าขนส่งแบ 100 % แบบเป๊ะๆ ต้องคิดคำนวณในระดับที่พอเหมาะพอควร แล้วใครละ ที่จะมาเป็นผู้พิจารณาความพอเหมาะพอควรข้างต้น คำตอบก็คือ โครงสร้างราคาน้ำมันที่ใช้ปฏิบัติกันมาในประเทศไทยนั้น อยู่ในความดูแลของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. /กระทรวงพลังงาน โดยมี สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน หรือ สนพ. เป็นผู้ดูแลในการเปลี่ยนแปลงปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อองค์ประกอบของโครงสร้างราคาน้ำมัน เท่ากับว่า ภายใต้การลอยตัวราคาน้ำมันขายปลีกที่บริษัทน้ำมัน ประกาศขึ้นและลงในแต่ละครั้ง (รวมทั้งการคิดราคา ณ โรงกลั่น) ย่อมอยู่ภายใต้กรอบขององค์ประกอบในโครงสร้างราคาที่ กพช. ดูแลอยู่ ไม่ใช่ว่า จะประกาศขึ้น /ลง ราคา แบบใดก็ได้ หรือไปฮั๊ว กัน ณ จุดใดจุดหนึ่ง เพราะน้ำมันเป็นสินค้าทุนที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับประชาชนผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตประจำวัน / การเดินทาง / การจับจ่ายใช้สอย (เป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ของสินค้า)
เรื่องของโครงสร้างราคาน้ำมัน ไม่ใช่เรื่องของ ปตท.อยู่ดี / โรงกลั่นใดโรงกลั่นหนึ่ง / ไม่ใช่เรื่องที่ ปตท.จะมีอำนาจเหนือตลาดในตลาดโรงกลั่น แต่เป็นเรื่องของโครงสร้างการจัดการพลังงานไทยทั้งปวง ทั้งภาครัฐ / นโยบาย ทั้งส่วนที่เป็นการกำหนดตัวบทกฎหมายและการกำกับดูแล ผู้ประกอบการทั้งที่เป็นหน่วยงานของรัฐและเอกชน ตลอดจนวิสาหกิจผู้ประกอบการและประชาชนโดยทั่วไป นอกจากนี้แล้วเรื่องของพลังงาน ยังเป็นเรื่องที่ต้องเกี่ยวกับการค้า การลงทุน บรรษัทข้ามชาติ และความขัดแย้งในระดับโลก แต่ไม่ใช่ว่าการบริหารจัดการของปตท.ในฐานะที่เป็นทุนของรัฐก้อนนี้ ในทุกวันนี้ จะไม่มีประเด็นที่ต้องพูดถึงหรือวิพากษ์วิจารณ์ กลับตรงกันข้าม กลับต้องพูดถึงกันมากขึ้น เพราะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ /นโยบายของรัฐ และประเด็นสาธารณะที่เกี่ยวข้องการจัดการทุนของรัฐ (รัฐวิสาหกิจ) และพลังงาน เพียงแต่ว่าต้องลงลึกและนิ่งพอที่จะฟังแต่ละคนพูดแล้วมาไตร่ตรอง และแลกเปลี่ยนกันให้มากขึ้นครับ