บทสัมภาษณ์ ผู้บริหาร ปตท. คุณเทวินทร์ วงศ์วานิช
สำรวจแหล่งพลังงานและเบื้องหลังการทำงานสนุกๆ ของ คุณเทวินทร์ วงศ์วานิช CEO ของ ปตท.
จากคุณ นภษร ศรีวิลาศ
ข้อมูลจาก: https://readthecloud.co/ceo-3/
ภาพตรงหน้าจากห้องรับรองชั้นบนสุดของอาคารสำนักงานใหญ่ บริษัทพลังงานแห่งชาติ คือภาพมุมสูงของสวนรถไฟ ยาวสุดลูกหูลูกตาไปถึงสวนจตุจักร มีตึกสูงน้อยใหญ่เป็นฉากหลัง
วันนั้นเรามีนัดกับกัปตันทีมของบริษัทพลังงานแห่งชาติ ขอโทษที่เราชอบชื่อนี้มากกว่าชื่อทางการ ไม่ใช่เพราะชาตินิยม แต่ด้วยภารกิจแบกรับความคาดหวังของคนหลายฝ่าย เราคิดว่าชื่อนี้น่าจะเหมาะสมกว่า
ช่วงเวลาสั้นๆ ที่เราเริ่มต้นพูดคุยกับ คุณเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นอกจากวิสัยทัศน์ในการทำงานที่เห็นเชิงประจักษ์ ยังมีแนวคิดที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความยั่งยืน ผ่านทั้งกิจกรรมส่งเสริมสังคมและโครงการใหม่ๆ ที่ออกแบบมาเพื่อเกื้อกูลให้สังคมและธุรกิจเรียนรู้ไปด้วยกัน
คุณเทวินทร์ไม่ค่อยได้เล่าเรื่องเบื้องหลังการทำงานสนุกๆ เหล่านี้ให้ใครฟังบ่อยนัก อย่างเช่นผลงานที่ภาคภูมิใจที่สุด หน้าที่เล็กๆ ที่คิดถึงเมื่อดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหาร สิ่งที่มักจะทำเสมอเมื่อเข้าปั๊มน้ำมัน ปตท. หนังเรื่องโปรด การไปบวชที่อินเดีย และแหล่งพลังงานในการทำงานของเขา
อย่ารอช้า มาสำรวจแหล่งพลังงานของกัปตันทีมคนนี้ด้วยกัน
How I Manage
คุณเทวินทร์เคยให้สัมภาษณ์ว่า อยากให้ ปตท. เป็นเหมือนนักฟุตบอลทีมชาติไทยที่ทุกคนรักและช่วยเชียร์เต็มที่
นี่คือวิธีการที่ทำให้คนไทยรักและเชียร์ ปตท. 101 ฉบับกัปตันทีมของเรา
คุณเทวินทร์ชวนเราตั้งคำถามที่คนไทยมักสงสัยและสับสน ปตท. ทำหน้าที่เพื่อคนไทยหรือเพื่อหากำไรกันแน่ ผลประกอบการที่ดีเยี่ยมในเวทีโลก สะท้อนหรือสวนทางกับการมีความรับผิดชอบต่อสังคม จากนั้นก็วิเคราะห์โจทย์ให้เราฟังว่า “เราต้องย้อนกลับมาถามตัวเองว่า เราจะรักษาสมดุลของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเราอย่างไร หรือจะให้น้ำหนักไปกับด้านใดด้านหนึ่ง และเราเป็นองค์กรที่ดีที่คนไทยควรจะภูมิใจหรือเปล่า”
ปตท. เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีภารกิจหลัก คือดูแลความมั่นคงทางพลังงาน และภารกิจรอง คือสนับสนุนนโยบายภาครัฐเรื่องความสามารถในการแข่งขัน อีกด้านก็เป็นบริษัทมหาชนที่ทำธุรกิจ จำเป็นต้องมีผลตอบแทนที่เหมาะสมต่อการลงทุน
หากนี่เป็นเกมฟุตบอล สิ่งหนึ่งที่คุณเทวินทร์สัมผัสได้ถึงความรู้สึกภูมิใจของพนักงานที่ได้เล่นให้กับทีม ปตท. คือทุกคนเข้าใจภารกิจสำคัญ ดูแลความมั่นคงทางพลังงาน ไม่เคยทำให้ประเทศขาดแคลนพลังงาน แต่คนทั่วไปมักมองว่า ปตท. เป็นบริษัทใหญ่มาก กำไรเยอะ เลยทำให้ ปตท. ดูไม่ค่อยน่าเชียร์
“คนมักจะลืมว่า ปตท. กำลังแข่งกับบริษัทพลังงานระดับโลกที่ใหญ่กว่า ปตท. เกือบ 20 เท่า พอคนไทยไม่เชียร์ ก็เหมือนนักฟุตบอลที่ทุ่มเทฝึกซ้อมและลงเล่นอย่างตั้งใจ แต่แฟนๆ ไม่สนใจ ฝีมือน่ะมี แต่กำลังใจหมดแล้ว เราก็คงสู้เขาไม่ไหว”
วิธีที่กัปตันทีมคนนี้ใช้บริหารจัดการลูกทีม แบ่งง่ายๆ ได้ 5 ข้อ
วิธีการเล่นของกัปตันทีม
หน้าที่ของผู้บริหาร ปตท. คือนำนโยบายจากกรรมการและรัฐบาลมาแปลงเป็นยุทธศาสตร์ แล้วมอบหมายผู้เล่นในตำแหน่งต่างๆ สร้างแผนงานที่ทำให้เกิดความเข้าใจร่วมกันว่าทีมเราต้องการจะทำอะไร คุณเทวินทร์อธิบายสไตล์การเป็นกัปตันทีมในแบบของตัวเองว่า คล้ายผู้จัดการทีมมากกว่านักเตะในสนาม
“การทำธุรกิจก็เหมือนการเล่นกีฬา บ่อยครั้งที่ไม่เป็นไปตามแผนที่วางแผนไว้ เพราะคู่ต่อสู้เขาก็มีแผนของเขา ยิ่งปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนไป กฎกติกาการเล่นเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ตราบใดที่ทีมเข้าใจจุดประสงค์และความท้าทาย นักกีฬาจะมีลีลาการเล่นอย่างไรเราต้องปล่อยเขา สิ่งที่สำคัญคือ ผมจะไม่บอกว่าใครควรทำอะไร แต่ถามเขาว่า คุณจะให้ผมช่วยอะไร”
วิธีเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส
ในช่วงที่คุณเทวินทร์เข้ารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่เป็นช่วงที่ราคาน้ำมันโลกลดลงพอดี เราอยากรู้ว่าวิกฤตนั้นสร้างความท้าทายให้กับคุณเทวินทร์มากแค่ไหน แทนที่จะได้คำตอบเป็นตัวเลขและกราฟ คุณเทวินทร์ตอบคำถามนี้ด้วยท่าทีผ่อนคลายและความคิดเชิงบวกว่าอาจจะเป็นโชคดีก็ได้
“การลดลงของราคาน้ำมันโลกส่งกระทบผลประกอบการของ ปตท. จริง แต่ดีกับผู้บริโภค เมื่อราคาพลังงานถูกลง ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ลดความกดดันที่จะกระทบบริษัท เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศนำเข้าพลังงาน ถ้าเราเป็นประเทศส่งออกผมจะเหนื่อยกว่านี้ เพราะรายได้ที่หายไปคือรายได้ของประเทศ”
แล้วมันก็เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงองค์กรที่สุด เพราะเป็นภาวะที่ทุกคนรับรู้ร่วมกันว่านี่คือความท้าทาย ผมใช้จังหวะนั้นกระตุ้นบริษัทในกลุ่ม ปตท. ทั้งหมดให้ปรับปรุงเรื่องประสิทธิภาพจริงจัง”
วิธีรับฟังความคิดเห็น
โลกทุกวันนี้ซับซ้อนขึ้น ทำให้ไม่มีใครรู้ทุกเรื่องและไม่มีใครตัดสินใจถูกทุกอย่าง คุณเทวินทร์บอกว่า ต่อให้คิดรอบคอบที่สุดแล้วก็ยังมีปัจจัยอื่นอีกมากมาย เราจึงต้องรับฟังความเห็น แต่ก็ใช่ว่าจะใช้เวลาฟังความเห็นจนไม่เหลือเวลาทำงาน เพราะเรื่องที่ผ่านการรายงานและหารือมาแล้วก็ตัดสินใจได้เลยเพื่อลดเวลาและขั้นตอน หากเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่มีข้อมูลและเหตุผลสนับสนุนก็พร้อมจะใช้เวลาฟังความคิดเห็น
“ฝ่ายงานที่คุ้นเคยที่ผมเคยทำงานในส่วนนั้นมาก่อนเป็นผู้บริหาร ผมจะซักถามเขาเยอะหน่อย บางทีก็ต้องยับยั้งใจตัวเองว่านั่นหน้าที่เขานะ” คุณเทวินทร์เสริมว่าผู้บริหารที่ดีควรทำหน้าที่เป็นโค้ช ทั้งรับฟังความเห็นและเสนอคำแนะนำกับเรื่องที่มีประสบการณ์ ทั้งคอยถามไถ่และให้ข้อคิด
ขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่มีท่าทีปิดกั้นจนผู้ร่วมงานไม่กล้าคิด
วิธีดูแลพนักงานกว่า 5,000 คน
“ในการบริหารธุรกิจไม่มีอะไรยากเท่าการบริหารคน” คุณเทวินทร์นิ่งคิดถึงตัวเลขพนักงานในคำถาม ก่อนยอมรับกับเราว่า ไม่มีทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่งสามารถนำไปปรับใช้และทำให้ทุกคนพอใจ
“เมื่อไม่มีสิ่งถูกผิดตายตัว คุณก็แค่ต้องมีจิตใจที่เปิดเผยและเป็นธรรม ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่เอาความรู้สึกส่วนตัวมาตัดสินใจ บางครั้งก็ต้องเปิดใจ” ในจำนวนกว่า 5,000 คน มีฝ่ายงานเกี่ยวข้องมากมาย การจะดูแลพนักงานให้ทั่วถึงได้ คุณเทวินทร์แนะนำว่าผู้บริหารต้องปล่อยและไว้วางใจทีมงานทุกคน
“เหมือนตอนที่เราเป็นพนักงานเด็กๆ หากหัวหน้าไม่ปล่อยให้เราคิดและตัดสินใจด้วยตัวเอง เราก็คงไม่เติบโต เวลาทำอะไรคงรู้สึกว่าเดี๋ยวก็มีคนมาคอยช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา” ในตำแหน่งที่นั่งไม่ห่างจากวงสนทนา เราได้ยินเสียงหัวเราะเล็กๆ ตามด้วยท่าพยักหน้าเห็นด้วยจากกลุ่มผู้ติดตาม
วิธีเจรจาโน้มน้าวเมื่อต้องนำเสนอโครงการ
ทุกครั้งที่ ปตท. จะนำเสนอโครงการต่อคณะกรรมการ รัฐบาล และผู้ถือหุ้น ทีมงานที่เกี่ยวข้องจะหารือเหตุผลและทิศทางก่อนเสมอ ก่อนจะสวมหมวกเสมือนเป็นบอร์ดและรัฐบาลเพื่อคิดว่าหากเป็นฝ่ายที่มีอำนาจตัดสินใจเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบจะมีความรู้สึกกับเรื่องนั้นๆ อย่างไร จะตั้งคำถามและเป็นห่วงกับเรื่องอะไรบ้าง กระบวนการคิดนี้จะช่วยให้วิธีเจรจาต่อรองที่เหมาะสม
“หลักๆ คือใช้กรอบความคิดเรื่อง Stakeholder Management หรือการเข้าใจความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีต่อเรา ว่าเขาต้องการอะไร เพราะฉะนั้น ไม่ว่ากับโครงการอะไร เราต้องมีคำตอบในใจว่าเขาคาดหวังจากโปรเจกต์นี้อย่างไร หากสิ่งนั้นสวนทางกัน ก็ต้องคิดใหม่ว่าสิ่งนี้เป็นคำตอบของเรื่องทั้งหมดหรือเปล่า”
ตลอดที่ฟังหลักการทำงานของคุณเทวินทร์ เราเห็นวิธีการคิดที่แสนเรียบง่ายแต่เป็นระบบ นำไปใช้ได้จริงในทุกส่วนงานที่นอกเหนือจากการบริหาร กับเรื่องการนำเสนอขอความรักความเห็นใจใครก็ตามในชีวิตจริง Stakeholder Management ก็เป็นกรอบความคิดตั้งต้นให้เราได้
Surprising Lesson
บทเรียนจากเด็กฝึกงานในปั๊มน้ำมัน
รู้ไหมว่า ผู้บริหารของ ปตท. คนปัจจุบันเคยเป็นเด็กฝึกงานในปั๊มน้ำมันมาก่อน
แม้ประสบการณ์เด็กฝึกงานปั๊มน้ำมันในวัย 14 ปี นั้นจะไม่ใช่เหตุการณ์เปลี่ยนชีวิตครั้งยิ่งใหญ่ของเขา แต่สร้างความประทับใจในใจของตัวเอง จนอยากให้ลูกๆ และเยาวชนได้ลองทำงานแบบนี้บ้าง เพื่อจะไม่ลอยตัวในความสะดวกสบายและเกรงกลัวกับความลำบากอื่นๆ ในชีวิต
บทเรียนที่ปั๊มน้ำมันสอนเด็กชายเทวินทร์ในวัย 14 ปีคือ การเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น และเข้าใจความคิดของคนที่ทำงานในแต่ละหน้าที่
ก่อนจะมาถึงสมัยเรียนปริญญาโท คุณเทวินทร์มีโอกาสทำงานในสถานีเติมน้ำมันอีกครั้งที่สหรัฐอเมริกา ในตำแหน่งแคชเชียร์เก็บเงินและดูแลความเรียบร้อย เป็นงานที่ไม่ยุ่งยากเพราะทุกอย่างเป็นระบบอัตโนมัติ
“อันตรายอยู่เหมือนกันนะ แต่เขาให้เราอยู่ในกล่องที่มีการรักษาความปลอดภัยอย่างดี หากมีเหตุด่วนเหตุร้ายให้แจ้งตำรวจ” น่าเสียดายที่ไม่มีเรื่องเล่าระทึกขวัญจากคุณเทวินทร์ อย่างการบุกปล้นปั๊มน้ำมันเหมือนในภาพยนตร์แอ็กชั่น แต่นั่นก็ทำให้เรารู้สึกถึงความหลงใหลในน้ำมันที่ค่อยๆ เข้ามามีบทบาทในชีวิตตั้งแต่วันที่เป็นเด็กเติมน้ำมันในปั๊มเล็กๆ ที่ประเทศไทย ไปจนถึงการทำงานในตำแหน่งสูงสุดของบริษัทพลังงานแห่งชาติบริษัทนี้
ความหลงใหลในการสำรวจและผลิตน้ำมัน ความหลงใหลในการขายน้ำมัน
งานแรกๆ ของคุณเทวินทร์ใน ปตท. คือเป็นวิศวกรในบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ทำหน้าที่ติดตั้งอุปกรณ์และตรวจสอบพร้อมแก้ปัญหาที่แท่นเจาะกลางทะเล
“เป็นงานที่สนุกมาก โดยเฉพาะทุกครั้งที่ออกไปกลางทะเล มันเงียบและอากาศดี รู้สึกเป็นอิสระที่ไม่ต้องอยู่ในห้องทำงานตลอดเวลา” คุณเทวินทร์พาเราย้อนไปคิดถึงลมทะเลในช่วงทำงานใหม่ๆ และในวันที่ค่อยๆ เปลี่ยนจากพนักงานปฏิบัติการมาเป็นผู้บริหาร งานที่คุณเทวินทร์บอกว่าคิดถึงที่สุดก็คือ งานเทคนิคหรืองานปฏิบัติการที่ต้องคิดแก้ไขปัญหาด้วยวิชาการซึ่งต่างจากงานบริหาร
ผลงานที่ภูมิใจที่สุดในการทำงานกับกลุ่ม ปตท. คือประสบการณ์เป็นหัวหน้าทีมเจรจาเพื่อขอซื้อกิจการจากบริษัทต่างประเทศ ในสมัยที่เป็นผู้ช่วยอยู่ที่ ปตท.สผ. ในวัย 35 ปี
“ที่จำได้ดีคือความรู้สึกในกระบวนสุดท้ายของการเจรจา เป็นบรรยากาศที่ดีมาก ภูมิใจที่ได้รับความไว้วางใจให้ทำงานสำคัญ”
ก่อนที่เราพาคุณตัดภาพกลับมายังปัจจุบัน แล้วเอ่ยปากถามคุณเทวินทร์ถึงสิ่งที่มักจะทำทุกครั้งเมื่อเข้าไปในสถานีเติมน้ำมัน ปตท. ซึ่งหากคุณบังเอิญพบเขาที่นั่น คุณจะเห็นว่าเขากำลังสังเกตขั้นตอนการบริการว่าครบถ้วนเป็นไปตามมาตรฐานไหม จากนั้นเดินไปดูห้องน้ำว่าเรียบร้อยดีหรือเปล่า และเขาอาจจะเดินไปดูร้านประชารัฐสุขใจว่ามีคนเยอะไหม สำรวจถังขยะโครงการแยกขยะ แล้วเดินไปที่ร้านกาแฟ
ความรู้สึกกับการทำงานร่วมกับคนอายุ 20
นอกจากความรู้สึกประหลาดใจในประสาทสัมผัสรอบด้านของเด็กรุ่นใหม่ คุณเทวินทร์รู้สึกชื่นชมที่คนรุ่นใหม่เป็นคนกล้าคิด กล้าลอง ตื่นตัว และทำอะไรใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา
“หากจะเอาความแข็งแรงและพรสวรรค์ของคนรุ่นใหม่ผนวกกับความทุ่มเทตั้งใจและความมีอุดมการณ์แบบคนรุ่นเก่า เราจะได้มนุษย์พิเศษที่เป็นความหวังชาติในอนาคต” คุณเทวินทร์กล่าว
แต่ไม่ต้องถึงกับรอความหวังจากโลกอนาคตหรอก เพราะหากจะมีเกณฑ์มาตรฐานใดขีดวัดว่าคนรุ่นใหม่คือคนที่ทันโลกทันเหตุการณ์ สำหรับเรา กัปตันทีมคนนี้ก็เป็นหนึ่งในคนนั้นได้ หากคุณไม่เชื่อ เราขอให้ลองค้นหาเพจเฟซบุ๊กชื่อ Tevin at PTT
การสร้างความรู้สึกที่ดีร่วมกัน
ก่อนถึงวันนัดพบคุณเทวินทร์ เราประหลาดใจที่พบกับเพจเฟซบุ๊ก Tevin at PTT แฟนเพจของคุณเทวินทร์โดยบังเอิญ
ภายใต้ตารางการทำงานที่แน่นขนัด คุณเทวินทร์เลือกแบ่งปันช่วงเวลา 5 ทุ่ม – ตี 1 มาบอกเล่าเรื่องราวของคนไทยที่ชนะรางวัลระดับโลก นักกีฬาในรายการแข่งขันที่ไม่มีการถ่ายทอดสดในช่องทางหลัก หรือการแข่งขันทางวิชาการของเด็กนักเรียนหัวกะทิ ไปจนถึงการวิเคราะห์สถานการณ์ในต่างประเทศที่ส่งผลต่อพวกเรา ซึ่งไม่มีการวิเคราะห์แบบนี้ในสื่อทั่วไป
คุณเทวินทร์เล่าเหตุผลง่ายๆ ซึ่งเป็นเหตุผลที่เราทุกคนต่างยอมรับและถือความไม่ปกติของสังคมจนกลายเป็นหนึ่งในความปกติ อย่างการที่เรามองเห็นแต่เรื่องแย่ๆ กล่าวโทษสิ่งต่างๆ กันไปมา จนลืมมองสิ่งที่เป็นความภาคภูมิใจของคนไทย เขาจึงเชิญชวนให้มาร่วมกันเชียร์ ส่งพลังใจให้กับคนไทยที่ออกไปสร้างความภาคภูมิใจให้กับประเทศ (Pride of Thailand) ผ่านช่องทางออนไลน์ส่วนตัวเพื่อส่วนรวมนี้
เพราะอยากให้คนไทยภาคภูมิใจในคนไทยด้วยกันเอง และเป็นกำลังใจให้คนที่ตั้งใจ
“เชียร์คนที่ทำในสิ่งที่ดีเพื่อให้เขามีกำลังใจ เราก็เกิดความรู้สึกที่ดีร่วมกัน” คุณเทวินทร์กล่าวทิ้งท้าย สิ่งนี้อาจจะไม่ได้สร้างความปรองดองในความหมายที่ยิ่งใหญ่ แต่อย่างน้อยก็ช่วยลดอุณหภูมิร้อนๆ ที่จ้องจะจับผิดและต่อว่ากันและกัน
PTT Guide to Good Business
ที่ผ่านมา ปตท. รับทราบผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจอยู่เสมอ เพียงแต่การทำงานที่แยกส่วนอย่างชัดเจนของฝ่ายดูแลธุรกิจก็ทำเรื่องธุรกิจ และฝ่ายกิจกรรมเพื่อสังคม
แล้วจะมีแนวทางใดที่องค์กรขนาดใหญ่จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ยืนยาวกว่าที่เคย
ก่อนอื่น เราขออธิบายความหมายของ CSR และ SE โดยย่อดังนี้
แนวคิดของความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ หรือ CSR ดูจะเป็นดาราที่มีชื่อเสียงที่สุดในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา หลังจากองค์กรสำคัญในโลกประกาศให้สิ่งนี้เป็นแนวทางสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจ แต่ดูเหมือนว่าบ่อยครั้ง CSR ที่เกิดขึ้นไม่ได้สร้างผลลัพธ์ที่ดีอย่างที่หลายฝ่ายตั้งใจ มากไปกว่าการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร นั่นเพราะกิจกรรมเพื่อสังคม กิจกรรมรับผิดชอบต่อสังคม หรือเพื่อสังคมในชื่ออื่นๆ นั้นทำได้ง่าย ง่ายมาก ไปจนถึงง่ายมากๆ จนหลายครั้งฉาบฉวย แต่ไม่ได้สะท้อนถึงความต้องการของผู้รับผลกระทบ (จนองค์กรต้องมารับผิดชอบ) จริงๆ
ในขณะที่ วิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise (SE) ถือกำเนิดไม่นานมานี้ โมเดลใหม่ของโลกที่แก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศโลกที่สามอย่างบังกลาเทศ ก่อนจะเป็นที่ยอมรับในระดับโลก เพราะพิสูจน์แล้วว่าแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ได้จริงในประเทศอังกฤษ ดินแดนที่ถือกำเนิดทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ (และทุนนิยม)
SE เป็นกิจการที่ดำเนินงานอย่างธุรกิจ สำคัญที่สุด คือกิจการนั้นมีจุดเริ่มต้นจากโจทย์ที่ต้องการแก้ไขเรื่องบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กๆ อย่างการหากิจกรรมให้แม่ที่เกษียณอายุอยู่บ้านเฉยๆ แก้ปัญหารถติดในกรุงเทพฯ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ อย่างแก้ปัญหาคนไร้บ้านและปัญหาเรื่องการศึกษา ข้อสำคัญถัดมาคือ ต้องมีแผนธุรกิจชัดเจน มีสินค้าและบริการที่เป็นรูปธรรมให้หน่วยกิจการสามารถดำเนินต่อไปได้จริงๆ จนบรรลุการแก้ไขปัญหาพร้อมๆ กับสามารถอยู่รอดได้ด้วยผลประกอบการ
โจทย์ในการแก้ไขปัญหา แผนธุรกิจ และการดำเนินตามแผน เพื่อให้กิจการดำเนินได้ ทำให้ SE แตกต่างจาก CSR ที่มีโจทย์การแก้ไขปัญหาและแก้ไขปัญหาด้วยความถนัดขององค์กร ไม่ว่าจะเป็นในรูปของตัวเงิน เทคโนโลยี หรือองค์ความรู้จากบุคลากรในองค์กร
จึงเป็นคำตอบว่าทำไมวันนี้ ปตท. จึงสนใจ SE มากกว่าที่จะดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมในรูปแบบเดิม
สิ่งที่น่าสนใจคือคือ ปตท. นิยามและเรียกคำว่า SE ในแบบของตัวเองว่า ‘ธุรกิจเกื้อกูลสังคม’ เพราะรู้ว่า เมื่อไม่สามารถดำรงอยู่เพื่อสังคมได้อย่างเต็มตัวด้วยปัจจัยต่างๆ การดำรงอยู่อย่างเกื้อกูลก็เป็นทางที่เหมาะสม
ธุรกิจเกื้อกูลสังคมของ ปตท. ไม่ใช่การเปลี่ยนรูปกิจการ แต่เป็นการริเริ่มโครงการเล็กๆ ขึ้นใหม่ แล้วพัฒนาให้เป็นหน่วยธุรกิจที่อยู่รอดและแก้ไขปัญหาไปพร้อมกัน
ปตท. ทำได้เป็นอย่างไร และทำไมธุรกิจเกื้อกูลจึงเป็นคำตอบ
1. เปลี่ยนจากความช่วยล้นให้เป็นความช่วยเหลือ
คุณเทวินทร์มองว่าการช่วยสังคมในเชิงกิจกรรมที่ ปตท. ทำอย่างต่อเนื่องเป็นเรื่องที่ดีและควรทำ เพียงแต่ควรกระจายความช่วยเหลือให้กว้าง ขณะเดียวกันการให้เพียงอย่างเดียวสร้างค่านิยมการรอรับไม่ได้ทำให้ผู้รับแข็งแรงขึ้น
ขั้นแรก ปตท. เปลี่ยนกิจกรรมเพื่อสังคมที่แก้ปัญหาเป็นเรื่องๆ ในแต่ละพื้นที่ ให้เป็นกิจกรรมทางสังคมแบบ Create Shared Value (CSV) ซึ่งมีเงื่อนไขว่าชุมชนจะต้องแข็งแรงขึ้นและเลี้ยงตัวเองได้
2. ค้นหาปัญหาที่แท้จริง เริ่มอย่างธุรกิจและสร้างการมีส่วนร่วม
โดยธรรมชาติของคนที่ทำธุรกิจ ซึ่งจะคิดเชิงธุรกิจเป็นหลักว่าทำอย่างไรให้มีผลประกอบการและอัตราการเติบโตที่ดี จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะคิดแผนธุรกิจเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและแก้ปัญหาสังคม เพราะ ปตท. ไม่คุ้นเคยหรือคิดถึงการชวนภาคสังคมมามีส่วนร่วมในธุรกิจมาก่อน
จึงเป็นที่มาของทีมงานเล็กๆ ใน ปตท. ที่มีความเชี่ยวชาญในการทำงานด้านสังคมและมีความรู้เชิงธุรกิจมาร่วมทำงานวิเคราะห์โจทย์จากปัญหาที่ ปตท. สร้างผลกระทบ ก่อนจะศึกษาปัญหาและทำความเข้าใจที่จริงจังมากกว่าเดิมเพื่อให้ได้โจทย์ในการทำงาน ทั้งหาจุดเชื่อมโยงของธุรกิจที่เชื่อมโยงกับสังคมจนเกิดความคิดที่ต่างไปจากเดิม
3. เริ่มจากสิ่งที่ทำได้ดี
คุณเทวินทร์ยกตัวอย่างธุรกิจกาแฟ ซึ่งมีโจทย์ว่า นอกจากลูกค้าแล้ว ภาคส่วนต่างๆ ในสังคมจะเข้ามามีส่วนร่วมกับธุรกิจได้อย่างไร เช่น การเชื่อมโยงไปยังเกษตรกรและสหกรณ์ผู้ปลูกกาแฟ สร้างตลาดรับซื้อ กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ เพิ่มคุณภาพ เพิ่มมูลค่าเมล็ดกาแฟและสร้างคุณภาพชีวิต
4. สำคัญที่การเชี่อมโยงและเข้าถึง
เหตุผลที่ไม่มีองค์กรขนาดใหญ่ประสบความสำเร็จในการทำงานร่วมกับสังคม ปัจจัยแรกคือ การเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจขนาดเล็กที่สร้างความคุ้นเคยทำให้เข้าถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ง่ายกว่า ขณะที่องค์กรขนาดใหญ่ทำไม่ได้เพราะมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในวงที่กว้างขวางกว่า
“ผู้บริหารองค์กรขนาดใหญ่จึงห่างไกลจากความรู้สึกนี้ รวมถึงระบบภายในที่รองรับการทำธุรกิจขนาดใหญ่มากกว่าจะทำเรื่องเล็กๆ ที่ไม่ส่งผลต่อผลประกอบการ” คุณเทวินทร์กล่าว เพราะมองเห็นปัญหานี้มาโดยตลอด
เมื่อความสนใจและความเข้าใจแตกต่างกัน จึงนำไปสู่ประสิทธิภาพที่แตกต่างกัน
5. ถ่ายทอดแนวคิดนี้ให้อยู่ในคนที่ทำธุรกิจทุกคน
แม้จะอยู่ในระยะเริ่มต้น ปตท. มีความตั้งใจให้ทุกธุรกิจในกลุ่มมีธุรกิจเกื้อกูลสังคม โดยการนำของทีมงานเชี่ยวชาญเฉพาะเพื่อรวบรวมองค์ความรู้และขยายแนวคิดนี้ออกไป โดยให้อยู่ในแนวทางของการทำธุรกิจ
และแม้ในบางกิจการของกลุ่ม ปตท. จะยังนึกไม่ออก ซึ่งอาจใช้เทคโนโลยีที่มีในกิจการไปช่วยชาวบ้านและชุมชน คุณเทวินทร์จึงหมั่นถามกลับไปถึงทีมบริหารของบริษัทในกลุ่ม ปตท. เสมอ ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นแค่กิจกรรมหรือเป็นธุรกิจเกื้อกูลสังคมแล้ว เพราะสิ่งนั้นต้องไปด้วยกันทั้งธุรกิจและชุมชน รู้ร้อนหนาวไปด้วยกัน เจอผลกระทบก็ร่วมแก้ไข ไม่เกิดกำไรก็ได้แต่กิจการต้องเลี้ยงตัวเองได้
10 Questions Answered by President and CEO, PTT
- สิ่งแรกที่คุณทำเมื่อถึงโต๊ะทำงาน: จริงๆ ถ้าเป็นเรื่องงานผมเตรียมตั้งแต่ออกจากบ้านแล้ว เวลาทำงานของผมจึงไม่ได้เริ่มต้นที่โต๊ะทำงาน แต่เริ่มต้นตั้งแต่อยู่ในรถ บางที่ลายมือผมจะดูไม่ได้เลยเพราะต้องเซ็นเอกสารบนรถ
- แหล่งพลังงานของคุณ: ผมชอบดูหนังซ้ำๆ พวก X-Men เมื่อคืนก็เพิ่งดู Mission: Impossible ซ้ำอีกรอบ ข้อดีของหนังแอ็กชั่นคือดูแล้วไม่ต้องคิดมาก สามารถเซ็นงานระหว่างดูหนังไปได้ด้วย
- หนังสือเล่มล่าสุดที่คุณอ่าน: Are You a Tiger, a Cat or a Dinosaur? ของ Prof. Stephane Garelli เกี่ยวกับขีดความสามารถในการแข่งขันและความเป็นผู้นำขององค์กร
- ทริปการเดินทางที่เปลี่ยนชีวิตคุณ: ทริปไปบวชที่อินเดียเมื่อ 7 – 8 ปีที่แล้ว เริ่มต้นบวชที่พุทธคยา เดินทางไปสังเวชนียสถานแล้วสึกที่เมืองสาวัตถี การบวชครั้งนั้นทำให้เรามั่นใจในสิ่งที่เคยคิด ทั้งเรื่องพระธรรมคำสอนและเข้าใจความเป็นไปของชีวิต
- กิจกรรมนอกเวลางานที่ไม่ว่าคุณจะยุ่งแค่ไหน คุณก็จะหาเวลาไปทำให้ได้คือ: ต้องหาเวลาไปกินข้าวกับคุณแม่และครอบครัว
- นอกจากเรื่องพลังงาน คุณยังมีความสนใจอื่นๆ: สนใจเรื่องความสามารถในการแข่งขัน
- ชมรมสมัยเรียนมหาวิทยาลัย: เป็นประธานชมรมวิชาการ สมัยเรียนปี 4 ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่จุฬาฯ
- Hidden Place ที่ ปตท. : ชั้นดาดฟ้าของตึก ปตท.สผ. อากาศร้อนไปหน่อยแต่สวยดี เหมาะกับการนั่งประชุม
- ความสนใจของคุณตอนอายุ 25 และ 35 : ตอน 25 นอกจากงานและเทนนิสแล้ว เพิ่งแต่งงานมีลูกคนแรก เลยสนใจเรื่องลูก ส่วนตอน 35 กำลังขึ้นเป็นผู้บริหาร ตอนนั้นสนใจเรื่องการลงทุนต่างประเทศ
- คุณไปแข่งรายการ แฟนพันธุ์แท้ ตอนไหนได้บ้าง: นิยายกำลังภายใน
ภาพ: ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)