ปตท. กำไรแสนล้าน

ปตท. กำไรแสนล้าน 
ภาษาไทยเป็นภาษาซึ่งมีความซับซ้อนทางภาษา และซ่อนนัยยะการสื่อความหมายอยู่มากมาย บางคำ พูดกันอยู่โต้งๆ แต่กลับมีวาระซ่อนเร้นของความหมายที่น่ากลัว ซ่อนอคติ การติเตียน คำกำกวม และการทำให้เข้าใจผิด อย่างคำง่ายๆ ที่เราคุ้นชินในช่วงหลายปีที่ผ่านมา …ปตท. กำไรแสนล้าน
ปตท. กำไรแสนล้าน ซ่อนนัยยะอะไรให้เราตีความหมายกันบ้าง ลองคิดเล่นๆ ถ้ามีคนบอกว่าบริษัทหนึ่ง ที่เราต้องซื้อสินค้า(ที่เรารู้สึกว่าแพง)ของเขาเป็นประจำนั้น มีกำไรแสนล้าน เราคงจะรู้สึกในทันที ว่ากำไรมากมายมหาศาลเหลือเกิน กำไรนั้นต้องเป็นเงินที่ขูดรีดจากเราแน่ๆ และกำไรนั้นต้องเกิดจากการคอรัปชั่น โดยแอบซ่อนความรู้สึกอิจฉาอยู่เบาๆ เพราะเชื่อสิหากมีคนหยิบยื่นโอกาสให้คุณเป็นผู้บริหารบริษัทแสนล้าน น้อยคนนักที่จะกล้าปฎิเสธ
ข้าราชการ บอร์ด ปตท.

เอาใหม่ๆ หากเราเติมว่า “ปตท.กำไรแสนล้าน จากรายได้ 2.88 ล้านล้านบาท” (ข้อมูลสถิติ ปี 2013) ซึ่งคิดเป็นกำไรสุทธิเพียง 3.28% หมายความว่า ทุกๆ รายรับ 100 บาท เป็นกำไร 3.26 บาท หรือคิดง่ายๆ ว่าขายของ 1 ชิ้น ราคา 100 บาท จะได้กำไร 3.26 บาทเท่านั้น! อืม… ตัวเลขดูน้อยลงจนน่าใจหายเลยทีเดียว หากใครเคยทำธุรกิจ หรือแวดวงการตลาด คงจะเริ่มรู้สึกกันแล้วว่า ร้านค้าหรือบริษัทใดๆ ที่สร้างกำไรได้ เพียง 3.26% ต่อปี ไม่น่ารอดกิจการไปถึงปีหน้าได้แน่นอน นั่นคือเหตุผลที่ ปตท. จำเป็นต้องลงทุนซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อให้กำไร 3.26% งอกเงยเป็นเม็ดเงินให้มากที่สุด
ข้าราชการ บอร์ด ปตท.
ถึงตรงนี้ หลายท่านที่ยังอคติอยู่ อาจรู้สึกว่าการที่ ปตท. พยายามจะสร้างกำไรให้มากที่สุดนั้น เพียงเพื่อคนบางกลุ่มที่อยู่เบื้องหลังหรือถือหุ้นอยู่ใน ปตท. เลยจะขอเจาะลึกไปอีกสักนิด ผู้ถือหุ้นอันดับ 1 คือ กระทรวงการคลัง (รัฐ) ถือหุ้น 51.11% อันดับ 2 คือ กองทุนรวมวายุภักษ์ ของธนาคาร กรุงไทย ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (รัฐ) ถือหุ้นใหญ่สุดในธนาคาร ถือหุ้น 7.45% อันดับ 3 กองทุนรวมวายุภักษ์ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและบรรษัทการเงินระหว่างประเทศ โดยธนาคารออมสินและกระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่  ซึ่งถือหุ้น ในปตท.  7.45% นั่นหมายความว่าเม็ดเงินที่ ปตท. สร้างขึ้น ส่วนใหญ่ก็เข้าสู่มือรัฐเพื่อการพัฒนาประเทศต่อไป เพราะอย่าลืมว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่นำเข้าพลังงาน จำเป็นอย่างยิ่งที่องค์กรด้านพลังงานของประเทศจะต้องดำเนินธุรกิจให้ได้ซึ่งกำไร เพื่อนำไปลงทุน แข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันก็ไม่เป็นภาระให้รัฐที่ต้องคอยขอรับงบประมาณอุดหนุนจากรัฐบาลอีกด้วย
สรุปแล้วว่า หากจะพูดเพียงคำว่า “ปตท.กำไรแสนล้าน” โดยไม่พูดถึงบริบทอื่น จึงไม่ต่างจาก คำ ที่ถูกสร้างมาเพื่อให้เกิดความเกลียดชังอย่างไร้เหตุผล และนำไปสู่ความแตกแยกในที่สุด

Share This: