“ชาญศิลป์” ซีอีโอ ปตท.คนใหม่ยันสรรหาโปร่งใส-ไม่มีเอี่ยวคดีทุจริตปลูกปาล์ม
บอร์ด ปตท.อนุมัติตั้ง “ชาญศิลป์” ซีอีโอคนใหม่ตามที่คณะกรรมการสรรหาฯ เสนอ โดยมีวาระอยู่ในตำแหน่ง 1 ปี 8 เดือน ระบุกระบวนการสรรหาซีอีโอโปร่งใส ยัน “ชาญศิลป์” ไม่ได้ถูก ป.ป.ช.กล่าวหาทุจริตโครงการปลูกปาล์มน้ำมัน
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ในการประชุมครั้งที่ 3/2561 เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2561 ได้มีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการสรรหาประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.ได้เสนอชื่อ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ให้ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.คนใหม่ต่อจาก นายเทวินทร์ วงศ์วานิช โดยให้มีผลในวันที่ 31 สิงหาคม 2561 และมีวาระการดำรงตำแหน่ง 1 ปี 8 เดือน นับจากวันที่ได้รับการแต่งตั้ง (เนื่องจากนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร จะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 12 พฤษภาคม 2563)
ทั้งนี้ กระบวนการสรรหาดำเนินการด้วยความโปร่งใสภายใต้แนวทางการสรรหาผู้บริหารสูงสุดตามมาตรา 8 จัตวา วรรค 3 แห่งพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสาหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 และฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร จะต้องดำเนินการเจรจาค่าตอบแทนและข้อสัญญาจ้างกับคณะอนุกรรมการพิจารณาผลตอบแทนฯ หลังจากนั้นจะได้นำผลการเจรจาดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการ ปตท.เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบและแต่งตั้งอย่างเป็นทางการต่อไป
“คณะกรรมการ ปตท.มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม ปตท.เป็นผู้ที่เหมาะสมจะดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.คนต่อไปแทนนายเทวินทร์ วงศ์วานิช ที่จะหมดวาระในวันที่ 30 สิงหาคม 2561 โดยประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.คนใหม่ ซึ่งเป็นซีอีโอ คนที่ 9 นับตั้งแต่ก่อตั้ง ปตท.มา จะเริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2561 เป็นต้นไป” นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการ ปตท.
นายชาญศิลป์เป็นผู้มีประสบการณ์สูงในการทำงานใน ปตท.มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ตอบสนองแผนกลยุทธ์ของ ปตท.ในเรื่อง Disruptive Technology เพื่อแสวงหาธุรกิจใหม่ของ ปตท. และสามารถขับเคลื่อนธุรกิจของ ปตท.ต่อไป โดยมีวิสัยทัศน์ที่จะนำนโยบาย CHANGE for Future of Thailand 4.0 เพื่อนำพาให้ ปตท.เป็นองค์กรแห่งความภาคภูมิใจ เน้นความโปร่งใส สู่ความยั่งยืน
ทั้งนี้ คณะกรรมการสรรหาได้พิจารณาคุณสมบัติของนายชาญศิลป์ตามกฎหมายแล้ว และตามข้อมูลที่ ปตท.ได้รับทราบนั้น นายชาญศิลป์ไม่ได้เป็นผู้ถูกกล่าวหาโดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีการลงทุนในธุรกิจปาล์มตามที่มีข่าวแต่อย่างใด จึงเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วน ไม่มีลักษณะต้องห้ามในการเป็นกรรมการผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจและบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
ด้านนายสุพจน์ เหล่าสุอาภา ประธานคณะกรรมการ บริษัท ปตท กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (PTTGE) กล่าวว่า สืบเนื่องจาก ปตท.ได้ตรวจสอบพบความผิดปกติของโครงการปลูกปาล์มน้ำมันที่ประเทศอินโดนีเซีย และต่อมาคณะกรรมการ ปตท.ได้มีมติส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณานั้น ขณะนี้เรื่องดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
สำหรับประเด็นข่าวที่ปรากฏว่า นายนิพิฐ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ PTTGE และอดีตผู้บริหารของ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ถูกเลิกจ้างแล้ว) ได้ร้องเรียนไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อให้สอบสวนการกระทำของคณะกรรมการ PTTGE นั้นยังไม่ทราบรายละเอียด เนื่องจาก ป.ป.ช.ยังไม่เคยแจ้งกรณีดังกล่าวให้ทราบ หรือเรียกให้ทางบริษัทเข้าไปชี้แจงข้อเท็จจริงแต่อย่างใด
ข้อพิพาทที่เป็นคดีอาญาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโครงการปลูกปาล์มน้ำมันนั้น ขอชี้แจงเพิ่มเติมว่า นายนิพิฐได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบุคคลหลายคน ซึ่งรวมถึงคณะกรรมการ PTTGE ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางรวม 5 คดี ซึ่งปัจจุบันศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้พิจารณาแล้วเห็นว่าคดีอาญาทั้ง 5 คดีเป็นเรื่องเดียวกันกับคดีที่สำนักงาน ป.ป.ช.กำลังไต่สวน ศาลจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีทั้ง 5 คดีไว้ชั่วคราวเพื่อรอฟังผลการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก: https://mgronline.com/business/detail/9610000026598