ปตท. ใช้เงินปิดปากสื่อ ข่าวเท็จจริงเป็นอย่างไร
ปตท. ใช้เงินปิดปากสื่อ
ผู้เขียนใช้ความพยายามอย่างมากเพื่อให้ไม่พูดถึงสื่อหลักช่องใดๆ หรือหนังสือพิมพ์หัวใดก็ตาม ซึ่งยอมรับว่าเป็นเรื่องยาก แต่จะพยายามหลีกเลี่ยงและกล่าวถึงให้น้อยที่สุดแล้วกัน …. คำถามที่มักถูกตั้งขึ้นและโหนกระแสเป็นช่วงๆ คือ ปตท. ใช้เงินปิดปากสื่อหรือไม่? ซึ่งจากคำถามนี้ ชี้ให้เห็นว่าบุคคลที่ตั้งคำถามนี้มีความเคลือบแคลงใจต่อการปฎิบัติหน้าที่ของสื่อ ที่มักไม่พูดถึงสถานการณ์ที่กลุ่มบางกลุ่มพยายามตั้งคำถามต่อรัฐ เช่น ราคาน้ำมันแพง ราคาแก๊สแพง ปตท. ฉ้อฉล หรือแม้แต่กำไร ปตท. เกิดจากการขูดรีดประชาชน ว่าจริงหรือไม่?
มองในฐานะประชาชนที่เสพข่าว สื่อมักเลือกประเด็นข่าวที่ประชาชนส่วนมากให้ความสนใจ โดยตัดเรื่องความคิดเห็น ทรรศนะหรืออคติ ที่มีต่อข่าวนั้นๆ ออก ใช้เพียงข้อเท็จจริงในการนำเสนอข้อมูล โดยประชาชนเองเป็นผู้เสพข้อมูลนั้นๆ และตัดสินใจตามความคิดของแต่ละคน โดยเราต้องแยกให้ออกระหว่างตัว “ข่าวกับบทความจากบุคคลต่างๆ ที่ลงในสื่อข่าว” ว่ามีเป้าหมายและตัวเนื้อความที่แตกต่างกันชัดเจน บางครั้งเราอาจเห็นนักเขียนที่มีชื่อแสดงทรรศนะด้านการเมือง ด้านพลังงานลงในสื่อหนังสือพิมพ์ สิ่งนั้นไม่ใช่ข่าวแต่คือ “บทความ” โดยเราจะเห็นว่ายิ่งสื่อใดๆ ที่มีจำนวนคนเสพเป็นจำนวนมาก เช่นสื่อโทรทัศน์ช่องหลัก หรือหนังสือพิมพ์ทั่วไปที่ไม่ลงข่าวเฉพาะทาง สื่อนั้นๆ จะยิ่งระวังตัวเป็นอย่างมากในการนำเสนอข่าวที่ไม่เข้าข้างใดข้างหนึ่งหรือโน้มน้าวให้คนเชื่อในทิศทางที่ตนต้องการ ตามจรรยาบรรณในการทำงานของตนเอง
กลับมาที่คำถามว่า ปตท. ใช้เงินปิดปากสื่อจริงหรือไม่ ผู้เขียนไม่อยากฟันธงลงไป เนื่องจากอยากให้ข้อมูลที่เป็นกลางเพื่อให้ผู้อ่านสามารถเลือกตัดสินใจได้ แน่ล่ะว่าเรื่องของ “เงิน” เป็นเรื่องใหญ่ในการทำธุรกิจ ไม่มีสื่อข่าวใดๆ ที่ทำโดยไม่หวังผลกำไรตอบแทน จะเห็นได้จากข่าวหน้าหนึ่งตามหน้าหนังสือพิมพ์ ที่จะเน้นไปทางข่าวดารา ข่าวอาชญกรรม รวมถึงข่าวแปลกๆ ที่เรียกคนอ่านทั่วไปได้มากกว่าข่าวอื่นๆ จึงไม่น่าแปลกใจที่ข่าวพวกนี้จะถูกพูดถึงในสื่อต่างๆ กลบกระแสข่าวด้านพลังงาน ที่คนให้ความสนใจน้อยกว่า และสร้างฐานคนเสพข่าวได้น้อยกว่า นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่สื่อทั่วไปมักไม่หยิบเรื่องพลังงานมาเล่น
กล่าวถึงตรงนี้บางฝ่ายอาจตั้งคำถามว่า เพราะสื่อพวกนี้ได้รับเงินหรือไม่จึงไม่นำเสนอข่าว ขออธิบายง่ายๆ ว่า ประชาชนทั่วไปย่อมชอบเสพข่าวที่เป็นกลาง สื่อใดที่ประชาชนเริ่มรู้สึกว่าข่าวนั้นๆ เริ่มมีการเอนเอียงและไม่เป็นกลาง ประชาชนก็มักให้ความสนใจกับสื่อข่าวนั้นๆ น้อยลง ซึ่งคุ้มหรือไม่กับการที่สื่อยอมขายข่าวแลกเม็ดเงินเพียงหยิบมือ แต่มีผลกระทบต่อสื่อนั้นๆ ในระยะยาว เพราะอย่าลืมว่าประชาชนทุกวันนี้ไม่ได้ถูกปิดหูปิดตาขนาดนั้น เรายังมีสื่อออนไลน์ซึ่งเป็นการสื่อสารสองทาง มีการแสดงทัศนคติ หรือใส่ความรู้สึกโต้ตอบลงไปในโซเชียล ดังนั้นสื่อใดที่ไม่นำเสนอข่าวเป็นกลางยิ่งง่ายต่อการถูกต่อต้านจากกระแสสังคม และประการสุดท้าย ซึ่งถือว่าสำคัญมากคือเรื่องความน่าเชื่อถือของข่าว ข่าวที่จะนำมาต้องมีการพิจารณาแล้วว่าข่าวนั้นมีข้อเท็จจริงเพียงใด แม้อาจจะมีบ้างที่มีการพาดหัวข่าวจนก่อให้เกิดความเข้าใจผิดบ้าง แต่โดยรวมแล้วเนื้อข่าวที่มีข้อมูลถูกต้อง ยังเป็นหนึ่งในจรรยาบรรณที่สำคัญของนักข่าว
ดังนั้นเรื่องพลังงานต่างๆ ที่ถูกถกเถียงกันในสังคม ต้องถามกลับว่าสิ่งที่เอามาถกเถียงกันนั้น มีข้อมูลถูกต้องมากน้อยเพียงใด เช่น ราคาน้ำมันแพง ซึ่งเป็นความรู้สึกของบางกลุ่ม โดยคำว่า “แพง”ไม่มีปริมาณที่แน่ขัด บ้างก็บอกว่าแพงกว่าประเทศอื่นๆ แต่ตามหลักฐานแล้วราคาเราอยู่ในระดับกลาง หรือบ้างก็ว่าน้ำมันแพง กำไรเข้า ปตท. ซึ่งพอมาดูหลักฐานที่ค่าการตลาดจริงๆ จะพบว่าน้ำมันลิตรละประมาณ 30 บาท มีค่าการตลาดอยู่ที่ราว 2 บาทกว่าเท่านั้น หรือแม้แต่ประเด็นอื่นๆ เช่น คนนั้นคนนี้โกงพลังงาน ก็ต้องนำหลักฐานมาชี้แจงเสียก่อน การกล่าวอ้างเพียงลอยๆ โดยไร้หลักฐานใดๆ สื่อต่างๆ ก็ไม่สามารถนำมาเสนอได้ เพราะอาจกลายเป็นข่าวเท็จ ดังนั้นก่อนที่จะกล่าวอ้างว่า ปตท. ใช้เงินปิดปากสื่อหรือไม่ ลองมาทบทวบถึงสิ่งที่พูดกันในโซเชียลและฟังความทั้ง 2 ข้างเสียก่อน การมานั่งฟังความข้างเดียวและใช้อคติว่าความคิดของตนถูกต้อง คนอื่นผิด ไม่ใช่ความคิดแบบสากล จึงไม่แปลกใจหากสื่อข่าวต่างๆ จะไม่ตื่นตูมไปกับสถานการณ์ที่กลุ่มบางกลุ่มเพียงต้องการสร้าง เพื่อผลประโยชน์บางอย่างของตน