ปรับโครงสร้างราคาพลังงาน : ใครได้ ใครเสียจากการขึ้นราคา LPG

จากนโยบายการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน LPG และ NGV เมื่อปลายปีที่แล้ว และปรับใช้จริงในส่วนของ LPG เมื่อต้นปีที่ผ่านมา สร้างกระแสต่อต้านให้พูดถึงมากในสังคม เหตุผลหลักคงหนีไม่พ้นการทำให้ราคา LPG สูงขึ้น จนกลุ่มคนบางกลุ่มเข้าใจว่า การปรับโครงสร้างราคาในครั้งนี้ แท้จริงแล้ว เป็นการขึ้นราคา LPG นั่นเอง
ปัญหา “โครงสร้างราคาพลังงานบิดเบี้ยว” เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานาน เกิดจากการใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงผิดวัตถุประสงค์ นอกจากรักษาเสถียรภาพด้านราคาแล้ว ยังใช้กองทุนน้ำมันฯ เป็นเครื่องมือในการทำประชานิยม โดยกำหนดราคาขายปลีก LPG ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงให้มีราคาต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริง ส่งผลให้คนใช้เบนซินต้องจ่ายเงินอุดหนุนคนใช้แก๊ส นอกจากนั้น LPG ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงยังมีหลายราคาก่อให้เกิดปัญหาการลักลอบขายแก๊สผิดประเภท (ขายข้ามภาค) รวมทั้งลักลอบส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่ขาย LPG ในราคาแพงกว่า

ขึ้นราคา LPG

จากการที่ราคา LPG ถูกกำหนดให้ต่ำกว่าต้นทุน สามารถสรุปเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้ดังนี้
1. ผู้ผลิต LPG จะเลือกขายให้ภาคปิโตรเคมีก่อน (เนื่องจากราคาภาคปิโตรเคมี ผู้ซื้อและผู้ขายตกลงราคากันเอง) ส่วนที่เหลือจึงจะขายให้ภาคเชื้อเพลิง (รัฐกำหนดราคาไว้ที่ 333 ดอลลาร์/ตัน) หากไม่เพียงพอจะนำเข้า LPG มาใช้เป็นเชื้อเพลิง

2. เมื่อมีความต้องการใช้ LPG ในภาคปิโตรเคมีเพิ่มขึ้น จะส่งผลให้ก๊าซเหลือให้ภาคเชื้อเพลิงน้อยลง ภาคเชื้อเพลิงจะนำเข้า LPG ในราคาสูงมากขึ้น และ ปริมาณมากขึ้น

3. ผู้ผลิต LPG จะไม่ขยายการผลิตแต่การใช้มีแนวโน้มสูงขึ้น ก็จะทำให้การนำเข้าสูงขึ้นด้วย

4. ภาคเชื้อเพลิงเป็นผู้รับภาระในส่วน LPG นำเข้าเท่านั้น เมื่อราคาตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น จะส่งผลให้ประชาชนรับภาระมากขึ้น ในขณะที่ภาคปิโตรเคมีไม่ต้องรับภาระในส่วน LPG นำเข้า

5. เมื่อเข้าสู่ AEC และผู้ผลิต LPG สามารถส่งออกได้ การกำหนดราคาไว้ต่ำกว่าต้นทุน ผู้ผลิตจะไม่ขาย LPG ในประเทศ จะส่งขายต่างประเทศ จะส่งผลทำให้เกิดภาวการณ์ขาดแคลน LPG ในประเทศได้

นอกจากปัญหาการลักลอบใช้เนื่องจากแต่ละภาคส่วนใช้ราคาไม่เท่ากันแล้ว สำหรับใครที่มองว่าทำไมภาคปิโตรเคมีจึงมีสิทธิ์ใช้ก่อน อย่างที่เขียนเรียนไปแล้วในบทความก่อนๆ ว่า ธุรกิจปิโตรเคมีเป็นธุรกิจที่ผลักดันให้เกิดโรงแยกก๊าซ รวมถึงการใช้ LPG เป็นวัตถุดิบสามารถต่อยอดสร้างมูลค่าได้มากกว่า สร้างการจ้างงานในธุรกิจต่อเนื่องกว่า 3 แสนคน สร้างรายได้ให้ประเทศ 7 แสนล้านบาทต่อปี คิดเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มให้รัฐถึง 31,000 ล้านบาท เพราะฉะนั้นหลายท่านที่กำลังคิดว่า การใช้ปิโตรเคมีเป็นการเอาเปรียบและอยากให้จ่ายเท่ากัน (ทั้งๆ ที่ตามโครงสร้างเท่ากันอยู่แล้ว ต่างกันที่เสียภาษี) การปรับโครงสร้างราคาพลังงานยิ่งจะเป็นการผลักให้ต้นทุนการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีมากขึ้น และประชาชนต้องเสียเงินมากขึ้นตามไปด้วย

กราฟเปรียบเทียบ LPG หลังจากปรับโครงสร้างราคา

ปรับโครงสร้างราคาพลังงาน
โครงสร้างราคาใหม่
1. กำหนดราคาซื้อตั้งต้นของ LPG ทุกภาค ให้อยู่ในระดับเดียวกัน เพื่อสร้างความเท่าเทียมให้กับทุกภาคส่วน เมื่อต้นทุนจากการจัดหาเพิ่มขึ้นทุกภาคส่วนต้องรับภาระที่เพิ่มขึ้นเหมือนๆ กัน

2. ราคาสะท้อนต้นทุนการจัดหามากขึ้น

–                    ผู้ผลิต LPG เพิ่มการผลิตมากขึ้น

–                    เมื่อผลิตมากขึ้นจะส่งผลให้การนำเข้าลดลง ราคาซื้อตั้งต้นของ LPG ทุกภาค ลดลง

–                    เมื่อเข้าสู่ AEC โครงสร้าง LPG ของประเทศไทย จะไม่มีความแตกต่างกับประเทศเพื่อนบ้านมากนัก

ในส่วนของการปปรับโครงสร้างราคาพลังงานราคา NGV นั้น นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงาน เตรียมเสนอการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตก๊าซธรรมชาติเหลวสำหรับยานยนต์ หรือ NGV ต่อกระทรวงการคลัง เพื่อปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตเชื้อเพลิงทุกประเภทให้เท่าเทียมกัน เนื่องจากปัจจุบันได้จัดเก็บภาษีเชื้อเพลิงอื่นๆ ไปแล้ว เช่น ในกลุ่มของน้ำมันมีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเฉลี่ยที่ 4-5 บาท/ลิตร ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้น้ำมันที่มีประมาณ 25 ล้านคัน ไม่ต้องแบกภาระอยู่กลุ่มเดียว
โดยการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต NGV ยังต้องรอการปรับโครงสร้างราคาก่อน เพื่อให้เห็นต้นทุนของ NGV ที่มีราคาขายขณะนี้อยู่ที่ 13 บาท/กิโลกรัม แต่ต้นทุนที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ 15 บาท/กิโลกรัม หลังจากนั้น จะมีการเก็บภาษีดังกล่าวเพิ่มอย่างไร ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) นำเสนอกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลังต่อไป

โดยสรุปจะเห็นว่าการปรับโครงสร้างพลังงานแม้ว่าจะทำให้ผู้ใช้ LPG ต้องจ่ายมากขึ้น แต่ถือว่าเป็นธรรมกับผู้ใช้น้ำมันเบนซิน ที่ไม่ต้องควักกระเป๋าช่วยจ่ายค่าพลังงาน รวมถึงเป็นธรรมต่อผู้ผลิต ส่งผลให้เกิดอุปทานในการผลิตเพื่อนำมาจำหน่ายมากขึ้น ลดการนำเข้า LPG จากต่างประเทศ เสถียรภาพทางพลังงานย่อมมากขึ้นตามไปด้วย ทั้งยังช่วยหยุดการลักลอบใช้ LPG ข้ามประเภท และสุดท้ายกองทุนน้ำมันกลับมาเป็นบวก จึงมีงบประมาณในการช่วยเหลือยามที่น้ำมันโลกราคาผันผวนอีกด้วย

 

Share This: