การพัฒนาพลังงานทดแทน อย่างยั่งยืนด้วยนวัตกรรมพลังงาน
ปตท. ตั้งเป้าปี 2560 จะผลิตน้ำมันจากสาหร่ายในเชิงพาณิชย์เพื่อเป็นพลังงานทดแทน ชี้มีศักยภาพสูง โดยให้ผลผลิตมากกว่าปาล์มน้ำมันถึง 30 เท่า
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ปตท.
และองค์การวิทยาศาสตร์และวิจัยอุตสาหกรรมแห่งออสเตรเลีย หรือ CSIRO (ซีโร่) ได้ตกลงในข้อหารือเพื่อเดินหน้าร่วมกันในการพัฒนาสายพันธุ์สาหร่ายน้ำเค็มในออสเตรเลีย เพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่เหมาะสมในการผลิตน้ำมัน มีต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะนำมาสู่การขยายการลงทุนด้านสาหร่ายน้ำมันของ ปตท. ในออสเตรเลีย เพื่อเป็นแหล่งสำรองเชื้อเพลิงชีวภาพอีกทางหนึ่ง โดยความร่วมมือดังกล่าว ปตท.จะได้รับองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีสาหร่ายน้ำมัน เพื่อมาต่อยอดในโครงการวิจัยและพัฒนาสาหร่ายน้ำมันในประเทศไทย
ทั้งนี้ ปตท. ได้ร่วมมือกับสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศ ดำเนินงานวิจัยมาตั้งแต่ปี 2550 จนค้นพบว่าสาหร่ายน้ำจืดขนาดเล็กมีศักยภาพในการผลิตน้ำมัน และได้สร้างบ่อนำร่องผลิตน้ำมันขนาด 1 แสนลิตร ที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย หรือ วว. และที่โรงแยกก๊าซธรรมชาติ จ.ระยอง โดยใช้คาร์บอนไดออกไซด์จากโรงแยกก๊าซฯ เพาะเลี้ยงสาหร่าย ซึ่งสาหร่ายจะให้น้ำมันมากกว่าปาล์มถึง 20-30 เท่า เชื่อว่าในอีก 20-30 ปีข้างหน้า จะมีการผลิตน้ำมันจากสาหร่ายในเชิงพาณิชย์มากขึ้น และแพร่หลาย
ด้านนายวิจิตร แตงน้อย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การที่ ปตท.สนใจ ประเทศออสเตรเลียเพราะมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีสาหร่ายหลายสายพันธุ์ และมีภูมิประเทศที่เหมาะสม แม้การเพาะเลี้ยงสาหร่ายในออสเตรเลียซึ่งเป็นสายพันธุ์น้ำเค็ม จะแตกต่างกับไทยที่เป็นสายพันธุ์น้ำจืด แต่ ปตท.จะนำองค์ความรู้จาก CSIRO มาใช้ในการพัฒนาสาหร่ายน้ำมัน เพื่อเป็นพลังงานทดแทนรองรับความต้องการของประเทศในอนาคต
สำหรับน้ำมันที่สกัดได้จากสาหร่าย อยู่ที่ประมาณ 20-30% ของน้ำหนักแห้ง โดยตั้งเป้าจะผลิตเชิงพาณิชย์ให้ได้ในปี 2560 ซึ่งจะนำน้ำมันจากสาหร่ายมาผสมในน้ำมันดีเซล ในสัดส่วน 5-7% เป็นไบโอดีเซล บี 5 และบี 7 ก่อน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อโรงกลั่นในประเทศ และหากสามารถนำไปเป็นส่วนผสมในน้ำมันไบโอไฮโดรจีเนเต็ดดีเซล หรือบีเอชดี ในสัดส่วน 20-25% ได้จะช่วยลดการนำเข้า น้ำมันดิบจากต่างประเทศมากขึ้น และยังช่วยลดมลพิษ
นายกันย์ กังวาลสายชล นักวิจัยฝ่ายวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและเชื้อเพลิงทางเลือก บริษัท ปตท. จำกัด เผยว่า ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ทำให้ไทยมีจุดแข็งของสายพันธุ์สาหร่ายน้ำจืดขนาดเล็ก ที่สามารถนำมาผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซลได้ ซึ่งถือว่าการวิจัยสาหร่ายน้ำมันของ ปตท. เดินไปได้ค่อนข้างไกลเมื่อเทียบกับการวิจัยของกลุ่มอื่นๆในประเทศ
อย่างไรก็ตาม ปตท. ได้ร่วมมือกับสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยต่างๆ ดำเนินการวิจัยสาหร่ายน้ำมันมาตั้งแต่ปี 2550 ใช้เงินลงทุนรวมกว่า 90 ล้านบาท โดยขณะนี้อยู่ในระดับ Pilot scale มีการติดตั้งชุดผลิตต้นแบบ ซึ่งสามารถผลิตน้ำมันจากสาหร่ายได้ 1-2 ลิตรต่อวัน ถือเป็นก้าวเล็กๆ ของประเทศ ก่อนจะพัฒนาต่อยอดไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์
สำหรับการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจากสาหร่าย จากการวิจัย พบว่า สามารถสกัดน้ำมันได้มากกว่าปาล์มน้ำมัน โดยเมื่อเทียบการปลูกปาล์มน้ำมัน 1 ไร่ จะให้น้ำมัน 2-3 กิโลกรัมต่อวัน หรือประมาณ 600-900 ลิตรต่อปี ขณะที่การเพาะเลี้ยงสาหร่ายเพียงครึ่งไร่ ให้น้ำมันเทียบเท่าปาล์มน้ำมันที่ 2-3 กิโลกรัมต่อวัน
นายกันย์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม หากสามารถนำน้ำมันจากสาหร่ายมาเป็นส่วนผสมในน้ำมันดีเซลมากขึ้น เชื่อว่าจะช่วยตอบโจทย์ความต้องการใช้น้ำมันดีเซลของประเทศ ที่มีความต้องการใช้ประมาณ 50 ล้านลิตรต่อวัน และในอนาคต อาจพัฒนาไปสู่การผลิตน้ำมันสำหรับเครื่องบินได้ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ มองว่าในปี 2563 มีความเป็นไปได้ที่ประเทศสหรัฐฯ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น จะสามารถผลิตน้ำมันจากสาหร่ายเชิงพาณิชย์ เพราะมีเงินลงทุนมากพอสำหรับการทำการวิจัย.