พลังงานไทย ตอนที่ 5 : น้ำมันแพงเพราะภาษีและกองทุนฯ
ข้อโจมตีอีกประการหนึ่งของ “กลุ่มทวงคืนพลังงาน” คือ ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินในประเทศไทยมีราคาแพงในอันดับต้น ๆ ของโลก ตัวอย่างที่คนพวกนี้เผยแพร่ไปทั่วคือ ราคาขายปลีกในประเทศไทยยังแพงกว่าในสหรัฐอเมริกาทั้งที่คนไทยโดยเฉลี่ยมีรายได้ต่ำกว่าคนอเมริกันอย่างมาก
คนพวกนี้จงใจเลือกหยิบข้อมูลชำแหละ ปตท เฉพาะจุดโดยไม่กล่าวถึงภาพรวมทั้งหมด เป็นความจริงที่ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินในสหรัฐฯมีราคาต่ำกว่าไทย โดยปัจจุบันราคาขายปลีกในสหรัฐฯเท่ากับลิตรละ 32.60 บาท ขณะที่ราคาขายปลีกของไทยอยู่ที่ลิตรละ 45.25 บาท
แต่จากสถิติราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินในเกือบ 200 ประเทศทั่วโลกในเดือนเมษายน 2556 จะพบว่า ประเทศไทยมีราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินอยู่ในระดับกลาง ๆ อันดับที่ 95-100 และยังมีอีกหลายประเทศที่พลเมืองมีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าคนไทย แต่มีราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินแพงกว่า เช่น ศรีลังกา (46.8 บาท) เนปาล (47.8 บาท) กัมพูชา (49.2 บาท) ราวันดา (69.6 บาท) เป็นต้น ประเทศที่มีราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินแพงที่สุดในโลกคือ ตุรกี ที่ลิตรละ 90 บาท!
ความจริงคือ ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินไม่ได้สัมพันธ์กับระดับรายได้ของประชากรในแต่ละประเทศ ประเทศยากจนไม่จำเป็นต้องมีราคาน้ำมันถูกกว่าประเทศร่ำรวย เพราะแม้ว่าราคาตัวเนื้อน้ำมันหน้าโรงกลั่นจะไม่แตกต่างกันมากนัก แต่รัฐบาลในแต่ละประเทศก็มีนโยบายภาษีน้ำมันที่ไม่เหมือนกัน ประเทศที่จัดเก็บภาษีน้ำมันสูงก็จะมีราคาขายปลีกสูง ประเทศยากจนที่มีราคาน้ำมันแพงมาก เช่น ในอาฟริกา มักมีสาเหตุจากต้องนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากต่างประเทศ มีภาวะขาดแคลนน้ำมัน และรัฐบาลมีฐานจัดเก็บภาษีแคบ จึงต้องหันมาขูดรีดภาษีจากน้ำมันเป็นหลัก เป็นต้น
หากจำแนกโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินเฉลี่ยในประเทศไทยเดือนเมษายน 2556 ที่ราคาลิตรละ 45.25 บาท จะพบว่า เป็นราคาเนื้อน้ำมัน 21.80 บาท (ร้อยละ 48.2) ภาษีทุกชนิด 10.66 บาท (ร้อยละ 23.6) เงินสมทบกองทุนน้ำมันฯและกองทุนอนุรักษ์พลังงาน 9.45 บาท (ร้อยละ 20.9) และค่าการตลาด 3.34 บาท (ร้อยละ 7.4)
ราคาเนื้อน้ำมันคือราคาหน้าโรงกลั่น ซึ่งกำหนดเทียบเท่าราคากลางที่ตลาดสินค้าสิงคโปร์ โดยมีค่าแตกต่างไม่เกินกว่าค่าขนส่งและประกันภัย เหตุที่ต้องอ้างอิงราคากลางสิงคโปร์เนื่องจากการกลั่นน้ำมันมีวัตถุดิบเป็นน้ำมันดิบ แต่มีผลผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูปและผลพลอยได้รวมกว่าสิบชนิด (เช่น เบนซิน ดีเซล น้ำมันก๊าด น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันเตา แอลพีจี น้ำมันหล่อลื่น ยางมะตอย เป็นต้น) ซึ่งมีประโยชน์ใช้สอยและความต้องการในตลาดที่แตกต่างกันมาก จึงไม่สามารถใช้ต้นทุนเฉลี่ยน้ำมันดิบมากำหนดต้นทุนของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดเท่า ๆ กันได้ จำเป็นต้องใช้ราคาซื้อขายของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดในตลาดกลางที่มีขนาดใหญ่เป็นราคาอ้างอิง ซึ่งที่ใกล้ที่สุดคือ ตลาดกลางสิงคโปร์ ซึ่งมีปริมาณการซื้อขายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมมากเป็นอันดับสามของโลก
ตลาดน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศไทยมีขนาดเล็กจิ๋ว มีผู้ซื้อผู้ขายน้อยราย หากกำหนดราคาซื้อขายกันเองที่สูงกว่าราคากลางสิงคโปร์บวกค่าขนส่ง โรงกลั่นจะเกิดแรงจูงใจนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเข้ามาจากสิงคโปร์ หรือในทางกลับกัน หากราคากำหนดเองในประเทศไทยต่ำกว่าราคากลางสิงคโปร์หักด้วยค่าขนส่ง ก็จะมีการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปไปขายสิงคโปร์ ในที่สุด การไหลเข้าออกของน้ำมันสำเร็จรูประหว่างไทยกับสิงคโปร์จะทำให้ราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นในไทยเท่ากับราคาสิงคโปร์โดยมีส่วนต่างไม่เกินกว่าค่าขนส่ง (ยกเว้นกรณีรัฐบาลห้ามส่งออกนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปโดยสิ้นเชิง ดังที่ “กลุ่มทวงคืนพลังงาน” เรียกร้อง)
โรงกลั่นได้รับประโยชน์ในรูปของ “ค่าการกลั่นรวม” ซึ่งเป็นผลต่างระหว่างต้นทุนน้ำมันดิบ (บวกค่าขนส่งถึงโรงกลั่น) กับราคาเฉลี่ยหน้าโรงกลั่นของผลผลิตการกลั่นทุกชนิด (อ้างอิงราคาสิงคโปร์) แต่ค่าการกลั่นดังกล่าวยังไม่ใช่ “กำไร” ของโรงกลั่นเพราะยังไม่ได้หักต้นทุนค่าใช้จ่ายภายในโรงกลั่น ต่อเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้ว จึงเรียกว่า “ค่าการกลั่นสุทธิ” ซึ่งเป็นกำไรของโรงกลั่น จะมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับทิศทางของราคาน้ำมันดิบเทียบกับทิศทางของราคาผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปและต้นทุนการกลั่น (ซึ่งก็มีทิศทางเดียวกันกับราคาผลิตภัณฑ์เพราะการกลั่นก็ต้องใช้พลังงานเช่นกัน)
ค่าการกลั่นรวมสามารถคำนวณได้จากตัวเลขราคาน้ำมันดิบและราคาผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปทุกชนิดรวมกัน แต่ “ค่าการกลั่นสุทธิ” เป็นข้อมูลภายในของธุรกิจโรงกลั่น ในประเทศไทย บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เป็นธุรกิจโรงกลั่นล้วน ๆ ฉะนั้น “กำไรสุทธิ” ของไทยออยล์น่าจะสะท้อนแนวโน้มค่าการกลั่นสุทธิโดยคร่าว ๆ ได้ ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แสดงว่า ในปี 2555 ไทยออยล์มีกำไรสุทธิ 12,320 ล้านบาท ขณะที่ในปีเดียวกัน ไทยออยล์กลั่นน้ำมันดิบประมาณ 100 ล้านบาร์เรล คำนวณเฉลี่ยแล้ว คิดเป็นกำไรสุทธิลิตรละ 0.77 บาทเท่านั้น
ยิ่งกว่านั้น กำไรสุทธิดังกล่าวยังคิดเป็นเพียงร้อยละ 2.75 ของยอดขายรวม 447,432 ล้านบาท เป็นร้อยละ 7.2 ของสินทรัพย์รวม 170,676 ล้านบาท และเป็นร้อยละ 13.6 ของส่วนผู้ถือหุ้นสุทธิ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่สูงมากและไม่แตกต่างจากค่าเฉลี่ยของทั้งตลาดหลักทรัพย์มากนัก ข้อสังเกตคือ กำไรสุทธิของไทยออยล์ขึ้นลงผันผวน เช่น ปี 2553 มีกำไรสุทธิ 8,956 ล้านบาท ขณะที่ปี 2551 มีกำไรสุทธิเพียง 224 ล้านบาทเท่านั้น
ธุรกิจโรงกลั่นซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปมีความเสี่ยงค่อนข้างสูงจากความผันผวนของต้นทุนกับราคาผลิตภัณฑ์ และก็มิได้มีผลตอบแทนที่ห่างไกลจากธุรกิจที่มีกำไรโดยทั่วไป
ฉะนั้น ตัวการที่ทำให้คนไทยต้องใช้น้ำมันแพง ก็คือ ภาษีและเงินสมทบกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงนั่นเองดังจะเห็นได้ว่า ราคาน้ำมันเบนซิน 95 และน้ำมันดีเซลหน้าโรงกลั่น ณ สิ้นเดือนเมษายน 2556 เท่ากับลิตรละ 21.85 บาทและ 22.20 บาทเท่านั้น ขณะที่ราคาขายปลีก ณ สถานีจำหน่ายกลับสูงถึงลิตรละ 44.35 บาทและ 29.99 บาทตามลำดับ นัยหนึ่ง ภาษีบวกเงินสมทบกองทุนฯ รวมกันสูงถึง 22.50 บาทในกรณีเบนซิน และ 7.79 บาทในกรณีดีเซล ลักษณะดังกล่าวเป็นผลจากนโยบายบิดเบือนราคาพลังงานที่ตกทอดต่อเนื่องกันมาหลายรัฐบาลนับสิบปีจนถึงปัจจุบัน
แต่เหตุใด “กลุ่มทวงคืนพลังงานไทย” จึงมุ่งโจมตีแต่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จ้องที่จะชำแหละ ปตท และบริษัทโรงกลั่นเป็นหลัก? ก็เพราะพวกเขาพยายามจะเบี่ยงเบนประเด็นจากนโยบายราคาน้ำมันของรัฐบาลที่ตกทอดกันมา ไปเป็นประเด็นการเมือง โดยชี้ให้เห็นว่า มี “กลุ่มทุนสามานย์” เข้าไปแสวงประโยชน์อยู่ในสัมปทานปิโตรเลียมและในปตท. ด้วยความร่วมมือจากรัฐบาลพรรคเพื่อไทยนั่นเอง แม้คนพวกนี้จะไม่ได้ระบุชัดในเวทีสาธารณะว่า ใครคือ “ทุนสามานย์” แต่ก็เป็นที่รู้กันทั่วไปว่า พวกพันธมิตรฯเสื้อเหลืองใช้คำนี้หมายถึงทักษิณ ชินวัตรและพรรคพวกนั่นเอง
ติดตามอ่านข่าวสารอื่นๆได้ที่ https://www.xn--72caab2fl6azbbby8lpav6ezjxc.com/