ภาษีคนไทย – กำไรเอกชน ปตท เป็นโจรปล้นชาติ จริงหรือ?
วิพากย์วิจารณ์กันต่างๆนานา ว่าจริงๆแล้วปตท นั้นมาเก็บค่าท่อนำก๊าซกับประชาชนก็เพื่อหวังกำไร การลงทุนทุกสิ่งทุกอย่างก็ต้องหวังกำไร ปตท ก็เช่นกันเพราะปตท ก็คือธรุกิจค้าน้ำมัน อีกทั้งทำไมปตท ต้องขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีด้วยล่ะ ทั้งๆที่ตอนแรกก็ถูกดีอยู่แล้ว? แล้วในเมื่อประเทศไทยก็ผลิตก๊าซ LPG เองได้ แล้วจะนำเข้ามาอีกทำไม?
• ปตท. ไม่ได้นำทรัพย์สินของรัฐไปหาประโยชน์จากการจ่ายค่าเช่าท่อให้รัฐถูกๆ แล้วคิดค่าท่อกับประชาชนแพงๆ รายได้จากค่าผ่านท่อที่ปรับเพิ่มขึ้นไม่เกี่ยวข้องกับการจ่ายคืนค่าเช่า 1,335 ล้านบาท และ ปตท. ไม่ได้นำค่าเช่าดังกล่าวมาคำนวณเป็นค่าผ่านท่อ แต่เป็นภาระที่ ปตท. รับไว้แต่เพียงผู้เดียว
• รายได้ค่าผ่านท่อที่เพิ่มขึ้น 2,000 ล้านบาทเป็นรายได้จากการลงทุนขยายท่อส่งก๊าซฯ ระบบใหม่ และลงทุนเพิ่มในการบำรุงรักษาท่อปัจจุบันให้มีอายุการใช้งานเพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 15 ปี รายได้ในส่วนนี้ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายที่ต้องเพิ่มขึ้นจากการลงทุนระบบท่อใหม่และการบำรุงรักษาเพิ่มอีก และที่สำคัญรายได้ส่วนนี้คิดเป็นเพียง 1% ของเงินลงทุนที่ ปตท. ลงไปเท่านั้น
ปตท ขูดรีดคนไทย แล้วทำไมเราคนไทยแท้ๆ ไม่เห็นเคยรู้เรื่องนี้เลยล่ะ
• ปตท จะขูดรีดคนไทยได้ยังไง ในเมื่อหลักการคำนวณราคาก๊าซฯ และค่าผ่านท่อได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และได้เผยแพร่เป็นประกาศโดย กพช. ใน Website สนพ. ตั้งแต่ 2544 รวมทั้งประกาศดังกล่าวได้แนบไว้ในหนังสือชี้ชวนขายหุ้นสามัญ ปตท. เพื่อให้นักลงทุนทราบ
• ดังนั้นไม่มีการรวบรัดจัดทำคู่มือการคำนวณดังกล่าวตามที่กล่าวอ้าง โดยคู่มือเป็นเพียงการระบุให้ลดผลตอบแทน การลงทุนจาก 16% เป็น 12.5% ตามมติคณะรัฐมนตรีเท่านั้น ซึ่งจะทำให้ค่าผ่านท่อใหม่ปรับลดลงเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ซึ่งคู่มือมีการเผยแพร่ใน Website เช่นกัน ไม่มีการปิดบังหรือเป็นยุทธการปล้น ปตทแต่ประการใด
เหตุที่ต้องขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี อย่างนี้ก็เป็นกลโกงปตทน่ะสิ
• เป็นเรื่องจริงที่ปัจจุบันประเทศไทยขาดแคลน LPG!! สาเหตุจากปริมาณการใช้ LPG ของภาคครัวเรือน ภาคขนส่งภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการควบคุมราคา LPG ไว้ต่ำกว่าราคาตลาดโลก และต่ำกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่นเป็นระยะเวลานานมากว่า 30 ปี เป็นภาระต่อกองทุนน้ำมันจำนวนนับหลายแสนล้านบาท
• อุตสาหกรรมปิโตรเคมีเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2523 ตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการสนับสนุนให้มีการนำก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นทรัพยากรของประเทศมาใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และก่อประโยชน์ได้มากกว่าการนำก๊าซธรรมชาติที่มีคุณค่าไปเผาเป็นเชื้อเพลิง โดยที่ราคาจำหน่ายก๊าซ LPG เป็นวัตถุดิบให้ภาคปิโตรเคมีเป็นไปตามกลไกตลาด ไม่เคยได้รับการอุดหนุนหรือชดเชยจากภาครัฐนับตั้งแต่อดีต
• หากย้อนไปในปี 2538 นอกจากไทยจะไม่จำเป็นต้องนำเข้าก๊าซ LPG แล้ว ยังเคยเป็นผู้ส่งออก LPG ติดต่อกันถึง 13 ปีตั้งแต่ปี 2538–2550 แต่เมื่อความต้องการใช้ LPG ภายในประเทศไม่เพียงพอและเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไทยจึงกลายเป็นผู้นำเข้า LPG ตั้งแต่เมษายน ปี 2551 เป็นต้นมา โดยในปี 2554 ไทยมีปริมาณการผลิตก๊าซฯ LPG ประมาณ 5 ล้านตัน/ปี ในขณะที่มีปริมาณการใช้สูงถึงเกือบ 6.5 ล้านตัน/ปี
• ที่สำคัญก็คือผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่ผลิตได้สามารถนำไปต่อยอดเป็นวัตถุดิบให้กับอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ อีก
มากมาย ซึ่งนำไปใช้ประโยชน์เป็นสินค้าอุปโภคบริโภคในการดำรงชีวิตประจำวันของประชาชน และลดภาระการนำเข้าให้กับประเทศ เป็นการช่วยสร้างงานกว่า 300,000 คน และสร้างรายได้ให้ประชาชน และเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ประเทศอย่างมากจนถึงทุกวันนี้
• ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือการที่ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่แข็งแกร่ง ช่วยให้บริษัทผลิตรถยนต์ที่คิดจะย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นทำได้ยาก เพราะอุตสาหกรรมต่อเนื่องในกลุ่มยานยนต์ของไทยที่ใช้ปิโตรเคมีเป็นวัตถุดิบนั้นแข็งแกร่งตลอดสายโซ่การผลิตซึ่งการจะสร้างให้เป็นเช่นนี้ได้ต้องใช้เวลา และต้องมีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่เข้มแข็ง
สรุปว่าการที่ประเทศไทยนำก๊าซ LPG มาเป็นวัตถุดิบให้แก่ภาคปิโตรเคมีนั้น เป็นรากฐานที่ดีของทุกฝ่าย ทั้งช่วยผลักดันให้สร้างงานสร้างรายได้แก่ประชาชน ยังเป็นการสร้างรายได้ในภาคปิโตรเคมีให้แก่ประเทศอีกด้วย สิ่งที่เราควรทำในตอนนี้ ไม่ใช่มานั่งเถียงกันว่าใครผิดหรือถูก แต่ควรช่วยกันประหยัดพลังงาน เพราะทรัพยากรธรรมชาติเป็นสิ่งที่ใช้แล้วหมดไป ไม่สามารถหามาทดแทนได้ในระยะเวลาสั้นๆ