มติ ครม.ให้ปิโตรเคมีใช้ก๊าซจากอ่าวไทย
มติ ครม.ให้ปิโตรเคมีใช้ก๊าซจากอ่าวไทย
มักมีการกล่าวอ้างว่า “ปิโตรเคมีแย่งประชาชนใช้ก๊าซ” ในสังคมโซเชียล หรือบ้างก็ว่า LPG ในภาคปิโตรเคมี เป็นเหตุผลให้ไทยต้องนำเข้าก๊าซอยู่ในปัจจุบัน และหากตัดธุรกิจในส่วนนี้ไป ก๊าซที่ผลิตได้นั้นเพียงพอต่อความต้องการใช้ก๊าซ ในประเทศ
ทำความเข้าใจกันสักนิด ย้อนไปในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 ปี 2525 – 2529 ได้กล่าวถึงแผนการพัฒนาชายฝั่งตะวันออกให้กลายเป็นศูนย์กลางความเจริญแห่งใหม่ โดยได้วางบทบาทพื้นที่มาบตาพุดเป็น “แหล่งอุตสาหกรรมหลัก” เช่น อุตสาหกรรมแยกก๊าซ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า อุตสาหกรรมโซดาแอชเป็นต้น นั้นหมายความว่า “ปิโตรเคมี” เป็นหนึ่งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา รวมถึงเป็นเหตุผลในการสร้างโรงแยกก๊าซอีกด้วย
อ้างอิงไปถึง มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติที่ 3/2551 (ครั้งที่ 122) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ในข้อที่ 7 ว่าด้วย มาตรการด้านการค้า ในข้อที่ 7.1.1 “โดยหลักการจัดสรรการผลิตก๊าซ LPG ในประเทศ จะถูกจัดสรรไปให้กับภาคครัวเรือนและปิโตรเคมีเป็นลำดับแรก และจัดสรรให้ภาคขนส่งและอุตสาหกรรมเป็นลำดับต่อไป ทั้งนี้ หากปริมาณการผลิตก๊าซ LPG ที่เหลือจากการจัดสรรให้กับภาคครัวเรือนและปิโตรเคมีไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ในภาคขนส่งและอุตสาหกรรมให้มีการนำเข้าก๊าซ LPG จากต่างประเทศมารองรับกับความต้องการใช้ในส่วนที่ขาด” นั่นหมายความว่า ภาคครัวเรือนและปิโตรเคมีจะได้ใช้ LPG ที่จัดหาได้ในประเทศ (อ่าวไทย) ก่อน ส่วนที่เหลือถึงจะเป็นของภาคอุตสาหกรรมและภาคขนส่ง และหากไม่พอใช้จึงนำเข้าจากต่างประเทศ หรือแปลได้อีกนัยว่า “มติ ครม.ให้ปิโตรเคมีใช้ก๊าซจากอ่าวไทย”
ในความเป็นจริง “ปิโตรเคมี” มีส่วนสำคัญกับเศรษฐกิจประเทศเราค่อนข้างมาก เนื่องจาก สามารถต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในประเทศและส่งออกมากมาย โดยมีสารปิโตรเคมีที่สำคัญ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มโอเลฟินส์ ใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตพลาสติกชนิดต่างๆ เช่น พอลิไวนิลคลอไรด์ (พีวีซี) พอลิเอทิลีน (พีอี) นอกจากนั้นยังใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตสารเคมีอีกหลายชนิด เช่น ลิเนียร์แอลคิลเบนซีน (Linear Alkyl Benzene) ซึ่งใช้ผลิตผงซักฟอก กลุ่มอะโรเมติกส์ ใช้เป็นตัวทำละลายและใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตสารเคมีอื่นๆ ซึ่งแบ่งย่อยเป็น 3 ประเภท
- เบนซีน ใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตสบู่และผงซักฟอก ใช้ผลิตพลาสติกชนิดที่เรียกว่า “ABS” ซึ่งใช้ทำตัวเครื่องโทรทัศน์ ตัวตู้โทรทัศน์ หมวกกันน็อก ฯลฯ
- โทลูอีน ใช้เป็นตัวทำละลายในอุตสาหกรรมสี ทินเนอร์ กาว ยาฆ่าแมลง ฯลฯ
- ไซลีน ใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตเส้นใย เส้นด้าย ขวดใส่อาหาร ถุงใส่อาหารร้อน ฯลฯ
กลับมามองที่สัดส่วนการใช้ จะเห็นว่าภาคปิโตรเคมี ภาคครัวเรือน และภาคอุตสาหกรรม มีแนวโน้มคงที่ ลดลงบ้างเพียงเล็กน้อย ในขณะที่ภาคขนส่งมีอัตราการใช้สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยสถิติ ในปี 2545 มีสัดส่วนการใช้อยู่ที่ 14.3% ในขณะที่ปัจจุบันพุ่ง สูงขึ้นเกือบ 2 เท่า เป็น 26% แล้ว คำกล่าวที่ว่าภาคปิโตรเคมีแย่งภาคประชาชนใช้จึงเป็นคำกล่าวที่ไม่ถูกต้องนัก
อย่างไรก็ตาม การพยายามหาคนผิดว่าภาคไหนใช้มากน้อยอย่างไรไม่ควรเป็นประเด็นหลักที่ภาคประชาชนจะให้ความสำคัญมากกว่า เราจะจัดสรรทรัพยากรอย่างไรให้พอเพียงกับความต้องการของคนในประเทศ รวมถึงพึ่งพาการนำเข้าให้น้อยที่สุด