ข้อถกเถียงทำไมน้ำมันต้องอิงราคาสิงค์โปร์ – ราคาส่งออกถูกกว่าขายในประเทศ และทำไมอุตฯปิโตรเคมีซื้อก๊าซถูกกว่าประชาชน

การเปิดประเด็นเรื่องพลังงานทั้งของกลุ่มจับตาการปฏิรูปพลังงานไทยและกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน ยังคงเป็นข้อมูลคนละชุดเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่ ล่าสุดน.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตวุฒิสมาชิก กรุงเทพมหานคร กลุ่มจับตาการปฏิรูปพลังงานไทย (จปพ.) หรือ “Thai Energy Reform Watch” กล่าวว่า “น้ำมันทุกลิตรผลิตออกโรงกลั่นในประเทศแท้ๆ ขายในประเทศ ทำไมต้องอ้างอิงราคาสิงคโปร์ บวกค่าขนส่ง ค่าประกันภัย ทั้งที่ไม่ได้เกิดขึ้น” เป็นประเด็นที่ น.ส.รสนาตั้งเป็นคำถามฝากไปถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ช่วงแถลงเปิดตัว “กลุ่มจับตาการปฏิรูปพลังงานไทย” เสนอให้ยกเลิกโครงสร้างราคาน้ำมันสำเร็จรูปโดยอ้างอิงราคาสิงคโปร์ พร้อมกับตัดค่าใช้จ่ายเทียมออกไป

ต่อประเด็นนี้“กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน” ที่มีนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นแกนนำ โดยนายมนูญ ศิริวรรณ อดีตผู้บริหาร บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ชี้แจงข้อมูลว่าทำไมราคาน้ำมันที่ผลิตในประเทศ ขายคนไทยต้องอิงราคาสิงคโปร์

 

นายมนูญ กล่าวราคาน้ำมันส่งออกถูกกว่า

นายมนูญ ศิริวรรณ

นายมนูญกล่าวว่า ที่มาของการกำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูปอ้างอิงราคาสิงคโปร์ เกิดขึ้นในช่วงที่ประเทศไทยไม่มีโรงกลั่นน้ำมัน ขณะนั้นรัฐบาลต้องการจูงใจให้ต่างชาติย้ายฐานจากการผลิตจากสิงคโปร์เข้ามาตั้งโรงกลั่นในประเทศไทย โดยการันตีกับนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาตั้งโรงกลั่นในประเทศไทยต้องได้รับผลตอบแทนในรูปของค่าการกลั่น หรือ “refinery margin” น้อยกว่าตั้งโรงกลั่นน้ำมันที่สิงคโปร์

สาเหตุหลักๆ ที่ต้องมีมาตรการจูงใจต่างชาติมีดังนี้ 1.ค่าขนส่งน้ำมันจากตะวันออกกลางมาประเทศไทยมีต้นทุนสูงกว่าสิงคโปร์ เพราะระยะทางไกลกว่า 2. ความสะดวกสบายในการขนส่งสินค้าและพิธีการศุลกากร ขณะนั้นประเทศไทยสู้สิงคโปร์ไม่ได้ 3. โรงกลั่นในประเทศไทยต้องสำรองน้ำมัน ขณะที่สิงคโปร์ไม่ต้องสำรอง ทั้งหมดเป็นต้นทุนของโรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทย

“นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมต้องอิงราคาที่สิงคโปร์ บวกค่าขนส่งและประกันภัย เสมือนนำเข้าจากสิงคโปร์ เนื่องจากรัฐบาลขณะนั้นไปการันตีกับนักลงทุนต่างชาติ ต้องได้รับค่าตอบแทนไม่น้อยหน้าสิงคโปร์ ขณะเดียวกันก็มีการควบคุมการสร้างโรงกลั่น โดยกำหนดเงื่อนไขให้นักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาตั้งโรงกลั่นต้องมีพาร์ทเนอร์ อาทิ บริษัทเชฟรอน หากตั้งโรงกลั่นในประเทศไทยต้องให้ ปตท. ถือหุ้น 36% เชฟรอนถือ 64% หลังจากผลิตน้ำมันสำเร็จรูปได้แล้วต้องปฏิบัติตามสัญญารับซื้อผลิตภัณฑ์ (product offtake agreement) โดยการจัดสรรน้ำมันเป็นไปตามสัดส่วนการถือครองหุ้น เช่น โรงกลั่นผลิตน้ำมันต้องแบ่งให้เชฟรอนเพื่อนำไปขาย 64% อีก 36% เป็นของ ปตท. หรือกรณีโรงกลั่นบางจากกลั่นน้ำมันได้ต้องแบ่งให้ ปตท. 25% บางจากได้ 75% ตามสัดส่วนการถือหุ้น โดยราคาซื้อ-ขายใช้ราคาอ้างอิงสิงคโปร์ หรือราคาหน้าโรงกลั่น เมื่อซื้อน้ำมันจนครบตามสัญญาแล้ว ปริมาณน้ำมันส่วนเกินที่ไม่ได้อยู่ในข้อตกลง ในส่วนนี้ไม่ได้ใช้ราคาหน้าโรงกลั่น การกำหนดราคาเองขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรอง การแข่งขัน ดังนั้นราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นจึงมี 2 ราคา คือ ราคาอ้างอิงกับราคาตลาด” นายมนูญกล่าว

นายมนูญกล่าวต่อว่า ส่วนราคาส่งออกขึ้นอยู่กับระยะทาง ไม่ได้ใช้ราคาอ้างอิงสิงคโปร์ สมมติประเทศไทยส่งน้ำมันไปขายลาวใช้ราคาหน้าโรงกลั่นบวกค่าขนส่งไปที่ลาวมาเปรียบเทียบกับราคาน้ำมันที่ลาวซื้อจากสิงคโปร์บวกค่าขนส่งไปลาว ถ้าเปรียบเทียบแล้วราคาของไทยแพงกว่าที่ลาวซื้อจากสิงคโปร์ ลาวก็ไปสั่งน้ำมันสิงคโปร์ แต่ในแง่การแข่งขัน ถ้าโรงกลั่นไทยมีน้ำมันเหลือเยอะ และต้องการขาย ก็ต้องลดราคาแข่งกับสิงคโปร์ แต่น้ำมันที่ผลิตในประเทศไทยใช้มาตรฐานยูโร 4 ซึ่งมาตรฐานสูงกว่าสิงคโปร์ที่ใช้มาตรฐานยูโร 3 ราคาถูกกว่าไทย นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมราคาน้ำมันส่งออกถูกกว่าราคาน้ำมันในประเทศ

“ผมพูดความจริงก็ถูกด่าว่าเห็นคนไทยโง่หรือไง ขายน้ำมันให้พม่า ลาว ถูกกว่าขายให้คนไทย ผมไม่รู้ว่าพูดอย่างไร เขาไปตัดเอาคำพูดของผมบางท่อนที่ว่าราคาน้ำมันส่งออกต้องถูกว่าราคาน้ำมันในประเทศ ตัดแค่ท่อนนี้ไปโพสต์ในโซเชียลมีเดีย ผมถูกด่า แต่ข้อเท็จจริงเรื่องราคาสินค้าส่งออกถูกกว่าราคาขายในประเทศเป็นเรื่องปกติของคนทำการค้า เมื่อผลิตสินค้าเหลือจากการขายก็ส่งออก ซึ่งส่วนใหญ่ราคาถูกกว่าขายในประเทศ ยกเว้นสินค้าที่ต่างประเทศต้องการ พวกพรีเมียม อย่างนี้ขายได้ราคา แต่ผู้ส่งออกบางรายยอมขาดทุน เพราะเขาต้องเดินเครื่องผลิตสินค้าเต็มกำลังการผลิต เพื่อให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยลดต่ำลงสามารถแข่งขันได้ดีขึ้น ยอมขาดทุนในส่วนที่ส่งออก นี่คือเหตุผลทางการค้า” นายมนูญกล่าว

นายมนูญกล่าวต่อไปอีกว่า แต่อย่างไรก็ตาม สินค้าส่งออกไม่ได้มีราคาถูกเสมอไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะทางในการขนส่งด้วย เช่น ไทยส่งน้ำมันไปขายลาว พม่า ได้ราคาดีกว่า เพราะได้เปรียบในเชิงภูมิศาสตร์ ส่วนกรณีไทยส่งไปขายอินเดียมีระยะทางไกลกว่า ถ้าอยากขายต้องลดราคาแข่งกับคนอื่นๆ ซึ่งไทยไม่มีทางสู้สิงคโปร์ได้ เพราะอยู่ใกล้อินเดียมากว่า

ต่อข้อกล่าวหาที่ว่าทำไมไม่เอาน้ำมันส่วนเกินมาลดลดราคาขายในประเทศ ต้องอธิบายเชิงเปรียบเทียบว่า สมมติเราผลิตไข่ไก่ 100 ฟอง ในประเทศมีปริมาณการบริโภคเต็มที่ 80 ฟอง แม้จะลดราคาลงมาเหลือฟองละ 1 บาท ก็บริโภคได้แค่ 80 ฟอง ถามว่ามีพ่อค้าที่ไหนยอมเฉือนเนื้อตัวเอง ดังนั้น กำลังการผลิตส่วนเกินจึงต้องส่งออก โดยที่ราคาก็ต้องไปแข่งขันกับคู่แข่ง ทุกอุตสาหกรรมเป็นเช่นนี้ทั้งหมด

“ไม่มีพ่อค้าที่ไหนโง่ตั้งราคาขายในประเทศถูกกว่าส่งออก คนไทยจึงกินข้าวแพงกว่าข้าวส่งออกใช่หรือไม่ เมื่อไหร่ก็ตามที่สต็อกคุณเหลือเยอะ ระบายออกต่างประเทศ ก็ต้องถูกกดราคา ธุรกิจน้ำมันถูกด่าว่าเอาเปรียบคนไทย ดูถูกคนไทยเป็นควาย ทำให้คนไทยต้องซื้อน้ำมันราคาแพง” นายมนูญกล่าว

ส่วนประเด็นที่ทำไมธุรกิจปิโตรเคมีเครือ ปตท.ซื้อก๊าซราคาถูก นายมนูญกล่าวว่าต้องเข้าใจโครงสร้างการผลิตของปิโตรเคมีว่าแอลพีจีที่นำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตในภาคปิโตรเคมี ไม่ได้นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิง โครงสร้างราคาจึงแตกต่างกัน ภาคปิโตรเคมีซื้อแอลพีจีจากโรงแยกก๊าซโดยอ้างอิงจากราคาเม็ดพลาสติกในตลาดโลกที่ 550 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน หรือประมาณ 17.5 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ภาคครัวเรือนหรือแก๊สหุงต้มซื้อแอลพีจีในราคาควบคุมที่ 333 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน หรือประมาณ 10 บาทต่อกิโลกรัม จะได้เห็นว่าภาคปิโตรเคมีซื้อแอลพีจีแพงกว่าภาคประชาชน แต่พอภาคครัวเรือนซื้อ 10 บาทต่อกิโลกรัม บวกค่าภาษีต่างๆ ทำให้ก๊าซหุ้งต้มมีราคาขายปลีกที่ 22 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ประเด็นถูกบิดเบือนคือไปหยิบราคาขายปลีก 22 บาทต่อกิโลกรัมมาเปรียบเทียบกับราคาหน้าโรงกลั่น ที่ถูกต้องใช้ราคาหน้าโรงแยกก๊าซมาเปรียบเทียบกัน

ส่วนกรณีที่ว่าทำไมธุรกิจปิโตรเคมีซื้อแอลพีจีราคาถูก นายมนูญกล่าวว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องการจัดสรรการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด กล่าวคือ ธุรกิจปิโตรเคมีไทยได้เปรียบในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ เพราะก๊าซในอ่าวไทยเป็นก๊าซเปียก (wet gas) นำมาผ่านกระบวนการแยกก๊าซจะได้วัตถุดิบสำหรับโรงงานปิโตรเคมี ขณะที่แหล่งก๊าซธรรมชาติประเทศอื่น อย่างเช่น พม่า เป็นก๊าซแห้ง (dry gas) นำมาแยกไม่ได้ พม่าจึงไม่มีโรงงานปิโตรเคมี นี่คือทรัพยากรธรรมชาติที่ประเทศไทยมีและได้เปรียบประเทศอื่นๆ

“จากข้อเรียกร้องของอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ต้องการให้ภาคปิโตรเคมีมาใช้ก๊าซในประเทศ บอกว่าให้ไปซื้อก๊าซเปียกจากต่างประเทศมาใช้ หากเปรียบเทียบ อย่าง ชุมชนปลูกป่าสัก โรงงานต้องการตัดเพื่อทำเฟอร์นิเจอร์ ชาวบ้านบางคนไม่ยอม บอกให้ไปซื้อจากต่างประเทศเข้ามาทำเพื่อทำเฟอร์นิเจอร์ เพราะไม้สักแปลงนี้เก็บไว้ทำฟืน กรณีปิโตรเคมีก็เช่นเดียวกัน โรงงานที่ตั้งอยู่ในเมืองไทยแต่ให้ไปซื้อก๊าซเปียกจากต่างประเทศมาใช้เป็นวัตถุดิบ มันไม่มีเหตุผล ในเมื่อประเทศเรามีทรัพยากรที่สามารถป้อนอุตสาหกรรมของเราได้ ทำให้เราได้เปรียบคู่แข่ง แต่กลับให้นำเข้ามา เพราะคิดว่าปิโตรเคมีซื้อแอลพีจีถูกเกินไป เพราะเห็นว่าธุรกิจนี้มีกำไรเยอะ แต่ถ้าคิดว่าบริษัทพวกนี้หากินกับทรัพยากรของคนไทยทั้งประเทศ ก็คิดวิธีที่จะให้เขาคืนกำไรให้ประเทศในรูปแบบอื่น อาทิ เก็บภาษีเพิ่มขึ้นเพื่อรัฐมีรายได้มากขึ้น เช่น บริษัททั่วไปเสียภาษีนิติบุคคลที่ 20% ของกำไรสุทธิ ก็อาจจะเก็บภาษีในอัตรา 50% เหมือนธุรกิจขุดเจาะน้ำมัน แต่ไม่ใช่ไปห้ามไม่ให้ใช้ ทำให้การจัดสรรทรัพยากรบิดเบี้ยว” นายมนูญกล่าว

นายมนูญกล่าวอีกว่า LPG ที่ใช้ในประเทศไทย ปัจจุบันมาจาก 3 แหล่ง คือโรงกลั่นน้ำมัน,โรงแยกก๊าซธรรมชาติและนำเข้า กรณีที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงถูกกำหนดให้ขายที่ราคาควบคุม 333 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ดังนี้

1) LPG ที่ผลิตจากโรงกลั่นน้ำมันประมาณ 24% ถูกกำหนดให้ขายราคาควบคุม(333 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน) ส่วนปริมาณการผลิต LPG ที่เหลือ 76% กำหนดให้ขายราคาตลาดโลก (CP) ส่วนต่างที่เกิดขึ้นระหว่างราคาควบคุมกับราคาตลาดโลก รัฐให้กองทุนน้ำมันนำเงินมาจ่ายชดเชยให้โรงกลั่นน้ำมัน โดยไม่ผ่านปตท.

2)LPG ที่หน้าโรงแยกก๊าซ กรณีใช้เป็นเชื้อเพลิงถูกกำหนดให้ขายราคาควบคุม (333 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน) ส่วนต่างระหว่างราคาควบคุมกับราคาตลาดโลกได้รับเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันเช่นเดียวกัน แต่ถ้าขายให้ภาคปิโตรเคมีส่วนนี้กองทุนน้ำมันไม่จ่ายเงินชดเชย

3)LPG นำเข้า ให้ใช้ราคาตลาดโลกบวกค่าใช้จ่ายนำเข้า ส่วนต่างระหว่างราคาควบคุมกับราคาตลาดโลก กองทุนน้ำมันจ่ายเงินชดเชยให้บริษัทปตท. โดยให้ปตท.จ่ายเงินนำเข้า LPG ไปก่อน กว่าจะได้รับเงินจากกองทุนน้ำมัน 4-5 เดือน ดอกเบี้ยก็ไม่ได้รับ ปัจจุบันจึงไม่มีผู้ประกอบการรายใดนำเข้า LPG ตรงนี้ก็ถูกนำมาเป็นประเด็นกล่าวโจมตีปตท.ว่าผูกขาดการนำเข้า LPG ซึ่งข้อเท็จจริง ปตท.ต้องการให้ผู้ประกอบการรายอื่นเข้ามาแบกรับภาระส่วนนี้บ้าง แต่ไม่มีผู้ประกอบการรายใดที่มีสายป่าน หรือมีทุนเพียงพอ

“ข้อเสนอที่ให้ประชาชนมาใช้ก๊าซที่โรงแยกก๊าซก่อน อันตรายมาก อาจจะสนับสนุนให้ผู้บริโภคใช้ LPG กันอย่างฟุ่มเฟือย รถยนต์แห่ติดแก๊สเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ราคาขายปลีกไม่สามารถปรับขึ้นได้ เกิดปัญหาการลักลอบส่งออก กองทุนน้ำมันต้องจ่ายเงินชดเชยมากขึ้น ไม่สามารถยกเลิกนโยบายการนำเงินกองทุนน้ำมันมาอุดหนุนภาคธุรกิจบางกลุ่มได้ เพราะรัฐบาลไม่รู้จะหาเงินจากแหล่งไหนมาจ่ายชดเชย ในที่สุดก็แก้ไขปัญหาอะไรไม่ได้ วนเป็นงูกินหาง” นายมนูญ กล่าว

อย่างไรก็ตามจากการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) วันที่ 12 มิถุนายน 2557 พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ฐานะรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานที่ประชุม ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า ในวันอาทิตย์ที่ 15 มิถุนายน 2557 คสช. จะเชิญทุกฝ่ายที่มีความคิดเห็นขัดแย้งเกี่ยวกับการปฏิรูปพลังงานมาให้ข้อมูล เพื่อนำไปใช้ในการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน

(อ่านเพิ่มเติมแนวคิดของพล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา เรื่องการปฏิรูปพลังงาน)

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก: https://thaipublica.org/2014/06/energy-reform-group-sustainability-1

Share This: