รู้จริง รู้ทั่ว รู้ทัน ปตท ส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง

1.  ปตท ส่งออกน้ำมันเบนซิน ดีเซล ลิตรละ 24-25 บาทไปเขมรพม่าลาว “ทำไมคนไทยต้องจ่ายลิตรละ40”

ข้อเท็จจริง :

–                    เพราะเปรียบเทียบคนละฐานราคา ราคาส่งออกเป็นราคาที่ยังไม่รวมภาษีและกองทุน ซึ่งผู้นำเข้าแต่ละประเทศจะต้องไปจ่ายภาษีและกองทุนอีกครั้งหนึ่งตามแต่ละประเทศจะเรียกเก็บ ขณะที่ราคาจำหน่ายในประเทศที่นำเปรียบเทียบนั้นเป็นราคาขายปลีกซึ่งรวมภาษีและกองทุนต่างๆแล้ว (ปัจจุบันภาษีและกองทุนที่เรียกเก็บของไทย อยู่ที่ประมาณ 14.80 บาทต่อลิตร สำหรับเบนซิน 91 และ 12  บาทต่อลิตร  สำหรับแก๊สโซฮอล์ 95 และ 2.95 บาทต่อลิตรสำหรับน้ำมันดีเซล ณ ราคาวันที่ 19 เม.ย. 2555)

–                    เมื่อรวมภาษีและกองทุนที่แต่ละประเทศเรียกเก็บแล้ว ราคาน้ำมันที่กัมพูชาและลาวใช้ไม่ได้ถูกกว่าไทยโดยราคาเบนซินของกัมพูชาและลาวอยู่ที่ 43 บาท ขณะที่พม่าอยู่ที่ 33 บาทต่อลิตรเพราะเก็บภาษีต่ำกว่า ขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลซึ่งเป็นน้ำมันที่ใช้ในการขนส่งและผลิตที่สำคัญไทยยังมีราคาต่ำกว่าเพื่อนบ้าน โดยราคาดีเซลของไทยอยู่ที่ 32 บาทต่อลิตร ขณะที่กัมพูชา ลาว และพม่า อยู่ที่ 39.9 และ 38.7 บาท และ 34 .4บาท ต่อลิตรตามลำดับ

–                    อย่างไรก็ตามราคาส่งออกก็เปลี่ยนแปลงขึ้นลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ณ ปัจจุบันราคาส่งออกซึ่งไม่รวมภาษีและกองทุนจะอยู่ที่ประมาณ 28 บาทต่อลิตรใกล้เคียงกับราคา ณ โรงกลั่นที่โรงกลั่นไทยจำหน่าย

2.  ไทยผลิตก๊าซได้อันดับที่ 23 ของโลกอ้างอิงจาก Energy Information Administration ของอเมริกา แต่อ้างว่านำเข้าก๊าซในราคาสูง

ข้อเท็จจริง :

–           แม้ว่าประเทศไทยสามารถผลิตก๊าซฯ ได้เป็นอันดับที่ 24 ของโลกตามข้อมูลของ EIA http://www.eia.gov/countries แต่ทราบหรือไม่ว่าเราสามารถผลิตก๊าซฯได้เพียง 1.1% ของการผลิตก๊าซฯทั่วโลกเท่านั้น ในขณะที่อเมริกา รัสเซีย  ผลิตได้ถึง 19.3% และ 18.4% เพียงแค่ 2 ประเทศ รวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของโลก แล้วจะเรียกว่าเราผลิตก๊าซฯได้เยอะได้อย่างไร ไม่เชื่อลองเข้าไปดู www.bp.com/statisticalreview

–           นอกจากนั้นจาก website EIA เช่นกันที่บอกว่า ในขณะที่เราผลิตก๊าซฯ ได้เป็นอันดับที่ 24 ของโลกแต่เรามีปริมาณการใช้ก๊าซฯสูงเป็นอันดับ 20 ของโลก และเป็นผู้นำเข้าอันดับที่ 21 ของโลกเลยทีเดียว

–           จากข้อมูลของ สนพ. ในปี 2554 ประเทศไทยสามารถผลิตก๊าซฯได้เพียง 3,581 MMSCFD แต่เรามีปริมาณการใช้ก๊าซฯ ถึง 4,143 MMSCFD พูดง่ายๆ ก็คือ เราใช้มากกว่าเราผลิตได้ เพราะอย่างนี้เราจึงต้องนำเข้าก๊าซฯจากต่างประเทศ จำนวน 928 MMSCFD  ถึงจะเพียงพอกับความต้องการใช้ของเรา

–           ข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งก็คือเราต้องนำเข้าก๊าซฯจาก พม่าตั้งแต่ปี 2541 และเพราะความต้องการใช้พลังงานของเราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงตอนนี้ก๊าซฯจากประเทศเพื่อนบ้านก็ยังไม่พอ ดังนั้นในปี 2554 เราจึงต้องนำเข้าก๊าซฯ ในรูปของของเหลว หรือ LNG (Liquefied Natural Gas)  ที่ต้องผ่านการควบแน่นให้เป็นของเหลว และขนมาไกลจากตะวันออกกลางทำให้ก๊าซฯมีราคาแพงนั่นเอง

30-4-2556 9-22-43

 

Source : http://www.eia.gov/countries/country-data.cfm?fips=TH&trk=p1

3.  เว็บไซต์ของอเมริกาแจ้งว่าประเทศไทยมีก๊าซเป็นอันดับสองของโลก จริงไม่จริงลองเข้าไปดูข่าวพบแหล่งก๊าซและน้ำมันที่โน่นที่นี่ (แต่คนไทยยังจนเหมือนเดิมหรืออาจจะมากกว่าเดิม)

ข้อเท็จจริง :

–           เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อนอย่างมากที่บอกว่าประเทศไทยมีก๊าซฯ เป็นอันดับสองของโลก เพราะจากข้อมูลของ EIA เช่นกันที่พบว่าประเทศไทยมีปริมาณสำรองก๊าซฯที่พิสูจน์แล้วเป็นอันดับที่ 36 ของโลก โดยมีปริมาณสำรองประมาณ 12 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ซึ่งคิดเป็นปริมาณสำรอง 0.17 % ของโลกเท่านั้น  อย่างนี้เราคงพูดไม่ได้ว่าเรามีใช้ก๊าซฯเหลือเฟือ

4.  ไทยส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปปี 2551 มูลค่า 7,913  ล้านเหรียญ X 30 = ประมาณ 240,000 ล้านบาท  

ข้อเท็จจริง:

–           หากเราดูแต่ข้อมูลการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป เราคงจะหลงนึกไปว่าประเทศไทยเป็นเศรษฐีน้ำมัน มีรายได้เป็นแสนล้านจากการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป แต่ความจริงก็คือ รายได้นั้นต้องต้องหักต้นทุนของการผลิตซึ่งส่วนใหญ่คือน้ำมันดิบ ที่เราต้องนำเข้ามาเกือบทั้งหมด เพราะประเทศไทยไม่สามารถผลิตน้ำมันดิบได้เพียงพอต่อความต้องการใช้ ดังนั้น เราต้องนำเข้าน้ำมันดิบทั้งจากแหล่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น  ตะวันออกกลาง ตะวันออกไกล และแหล่งอื่นๆ กว่า 85% ของการใช้  โดยอีก 15% เราใช้น้ำมันดิบที่ผลิตได้จากแหล่งในประเทศ เมื่อหักลบต้นทุนจากน้ำมันดิบที่เราต้องนำเข้าแล้ว รายได้ของประเทศไทยจะได้เพียงค่าการกลั่นซึ่งประมาณลิตรละบาทกว่าๆเท่านั้น ซึ่งในปี 2553 เราส่งออกประมาณ 15,710 ล้านลิตร  หรือคิดเป็นเพียง 16,000 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งรายได้ดังกล่าวนี้ยังไม่ใช่กำไรสุทธิของการกลั่น เพราะยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายในการลงทุน และค่าใช้จ่ายอื่นที่เกิดขึ้นจากการกลั่นเช่น ค่าเชื้อเพลิง ค่าดำเนินงาน และค่าดอกเบี้ย เป็นต้น

ปี 2553 ประเทศไทย

  • นำเข้าน้ำมันดิบมูลค่า               750,000 ล้านบาท
  • นำเข้าผลิตภัณฑ์                     43,000 ล้านบาท
  • ส่งออกน้ำมันดิบ                     26,000             ล้านบาท
  • ส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป              190,000 ล้านบาท

Source: Energy Statistics of Thailand 2011 สนพ.

–          อีกสาเหตุที่ทำให้การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปที่เหลือใช้จากโรงกลั่นในประเทศมีปริมาณมากขึ้น  เนื่องจากผู้บริโภคหันมาใช้แอลพีจีในภาคขนส่งแทนน้ำมันมากยิ่งขึ้น  จนกลายเป็นว่าประเทศต้องจ่ายเงินชดเชยการนำเข้าแอลพีจีเพิ่มขึ้นอีกต่างหากด้วย  (ในปี 2000 ไทยใช้ LPG ในภาคขนส่งเพียง 162,000 ตัน และเพิ่มเป็น 680,000 ตันในปี 2010 เท่ากับเพิ่มขึ้นถึงเฉลี่ยปีละ 15%)

5.  น้ำมันในอ่าวไทยเป็นเกรดที่แพงที่สุดในโลก เบา กลั่นง่าย มลพิษต่ำ เป็นที่ต้องการของประเทศที่พัฒนา เราส่งออกไปที่อเมริกา  เมื่อส่งออกแล้ว พลังงานขาดแคลนก็ไปนำเข้ามาจากตะวันออกกลาง ซึ่งกำมะถันสูง พอต้องกำจัดกำมะมัน ก็ไปขอค่าใช้จ่ายจากกองทุนเชื้อเพลิง เท่ากับว่าเอาของดีส่งออก แต่เอาของเสียเข้ามาใช้ในประเทศ แล้วยังต้องเสียเงินเพิ่มอีก

ข้อเท็จจริง :

5.1 น้ำมันในอ่าวไทยไม่ใช่เกรดที่แพงที่สุดในโลก

–          น้ำมันดิบที่ผลิตได้ในประเทศไทยนั้นเป็นน้ำมันดิบชนิดเบาและกำมะถันต่ำจริง แต่ไม่ใช่น้ำมันดิบเกรดที่ดีที่สุด อีกทั้งมีข้อจำกัดด้านคุณภาพด้านอื่นอาทิ น้ำมันดิบที่มีปริมาณสารปรอทสูงมาก ซึ่งเป็นคุณสมบัติเฉพาะของน้ำมันดิบในอ่าวไทย นอกจากนั้นยัง มีคุณสมบัติ Pour Point สูง  ซึ่งเป็นอุปสรรคในการบริหารจัดการด้านขนส่งและการจัดเก็บ  จากคุณสมบัติดังกล่าวจึงไม่เป็นที่ต้องการของตลาด

5.2  เราส่งออกไปที่อเมริกาเพียงบางส่วน

–          น้ำมันดิบที่ส่งออก ณ ปัจจุบัน ผู้ผลิตเป็นผู้ส่งออกโดยตรงปริมาณ ประมาณ 30,000 บาร์เรลต่อวัน จากปริมาณการผลิตกว่า 150,000 บาร์เรลต่อวัน  โดยการส่งออกดังกล่าวเป็นการส่งออกน้ำมันดิบที่มีคุณสมบัติไม่เหมาะกับความต้องการในประเทศ  เนื่องจากน้ำมันดิบมีสาร Organic chloride สูงทำให้โรงกลั่นในประเทศไม่สามารถนำเข้ากลั่นทั้งหมดได้

5.3.  เพราะเราขาดแคลน จึงต้องนำเข้ามาจากตะวันออกกลาง

–          กำลังการผลิตของน้ำมันดิบในประเทศ (Domestic Crude) ของปี 2553 นั้นคิดเป็นเพียง 16% ของความต้องการใช้น้ำมันดิบของประเทศ ดังนั้นประเทศไทยต้องนำเข้าน้ำมันดิบอีกว่า 800,000 บาร์เรลต่อวัน  โดยส่วนใหญ่จะเป็นการนำเข้าน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางเนื่องจากเป็นแหล่งผลิตขนาดใหญ่ ประกอบกับคุณสมบัติที่สามารถผลิตน้ำมันดีเซลได้มาก (ซึ่งเป็นความต้องการหลักของประเทศ)  อีกทั้งยังคงมีราคาที่ถูกกว่าน้ำมันดิบจากภูมิภาคอื่น

6.  ราคาน้ำมันขายปลีกของไทยแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้านจริงหรือไม่  เพราะเหตุใด

ข้อเท็จจริง :

–           ราคาน้ำมันของไทยและประเทศเพื่อนบ้านล้วนอ้างอิงราคาน้ำมันในตลาดโลก  ซึ่งราคาน้ำมันของไทยไม่ได้สูงกว่าประเทศอื่นในอาเซียนทั้งหมด  ยกเว้น เวียดนาม เนื่องจากการ Subsidy ของภาครัฐ มาเลเซีย เนื่องจากสามารถผลิตน้ำมันดิบได้เอง และมีการ Subsidy ของภาครัฐ

–           คุณสมบัติน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศไทยเป็น Euro IV ในขณะที่คุณสมบัติน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศเพื่อนบ้าน ยังคงเป็น Euro II ซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่า

–           โครงสร้างราคาน้ำมันของประเทศไทย และแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน  ขึ้นกับนโยบายการบริหารจัดการของแต่ละประเทศ

7.  ทำไมราคา ณ โรงกลั่นต้องอ้างอิงราคานำเข้าสิงคโปร์

ข้อเท็จจริง : สาเหตุที่ต้องอิงราคาสิงคโปร์

–           เพื่อทดแทนการนำเข้าจากการตั้งโรงกลั่นในประเทศ

–           ต้องแข่งขันกับราคานำเข้า : ตลาดสิงคโปร์ใกล้ที่สุดสะท้อนราคานำเข้าต่ำที่สุด

–           ราคาในตลาดสิงคโปร์เป็นราคาที่สะท้อนอุปสงค์และอุปทานน้ำมันที่แท้จริงของภูมิภาค ที่ไม่มีผู้ค้ารายใดสามารถครอบงำได้  เนื่องจาก

ž   เคลื่อนไหวตามทิศทางเดียวกับตลาดในภูมิภาคอื่นๆ ของโลกแต่มีความผันผวนน้อยกว่า

ž   เป็นศูนย์กลางการซื้อขาย (ส่งออก/นำเข้า) ของภูมิภาคจึงเป็นราคากลางของตลาดเอเชีย

ž   มีปริมาณซื้อขายในระดับสูงเช่นเดียวกับตลาดในภูมิภาคอื่นๆ และมีผู้ซื้อ/ขายมากราย

ทั้งนี้ ราคาสิงคโปร์เป็นราคาซื้อขายในตลาดสิงคโปร์แต่ละวัน ไม่ใช่เป็นราคาที่ประกาศโดยประเทศสิงคโปร์ หรือโรงกลั่นสิงคโปร์ หรือขายปลีกสิงคโปร์ แต่เป็นราคาเฉลี่ยที่รายงานโดยสำนักพิมพ์  Platts’Oilgram ณ สิงคโปร์ (Mean of Platts : MOP Singapore) และสะท้อนถึงการซื้อขายของทุกประเทศในภูมิภาคนี้

Share This: