หยิบมาผิดตลาด แต่ด่ากราดบริษัทน้ำมัน
ไม่น่าเชื่อว่าในสถานการณ์ ณ วันที่ 14 เมษายน 63 ที่เขียนบทความนี้ ราคาน้ำมันจะถูกกว่าน้ำอัดลมบางยี่ห้อ ก็ยังมีคนบางกลุ่ม (ที่โจมตีเรื่องพลังงานเป็นประจำ) หรือนักการเมืองบางคน (ซึ่งส่วนใหญ่ก็เพื่อชิงพื้นที่ออกสื่อ) พยายามจุดกระแสโจมตีราคาน้ำมันไทยว่าแพง ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่ว่าน้ำมันจะลงเท่าไหร่ ก็จะออกมาโจมตีว่าให้ลงมากกว่านี้อยู่ดี โดยเป้าการโจมตีก็พุ่งตรงไปที่บริษัทน้ำมันรายใหญ่ของประเทศอย่าง ปตท.(ถึงตอนนี้จะกลายเป็นบริษัทลูกอย่าง PTTOR (โออาร์) ทำหน้าที่ในการจำหน่ายน้ำมันแทน ปตท. ไปแล้วก็เถอะ) เพราะคิดกันเองว่า ปตท. เป็นผู้กำหนดราคาน้ำมันในประเทศ โดย “ตลาด” ที่คนเหล่านี้ใช้อ้างอิงในการโจมตีคือ ตลาด WTI กับ Brent หรือแม้แต่เคยมีคนหัวหมอ ใช้น้ำมันดิบ Dubai ด้วยก็ตาม ซึ่งที่กล่าวมานั้นเป็น “ตลาดน้ำมันดิบ”!!!
ก่อนจะไปดูว่าทำไมเราถึงไม่สามารถใช้ 3 ตลาดนี้ในการอ้างอิงราคาได้ เรามาทำความรู้จักของตลาดทั้ง 3 แห่งกันก่อน
WTI Crude หรืออีกชื่อหนึ่งคือ West Texas Intermediate เป็น “ตลาดน้ำมันดิบ” ที่สำคัญของอเมริกา น้ำมันดิบ WTI เป็นน้ำมันประเภทเบาและหวาน (Light Sweet Crude) โดยมีค่า API อยู่ที่ประมาณ 37 – 42 ดีกรี และมีปริมาณซัลเฟอร์อยู่ที่ประมาณ 0.24%
Brent Crude มีแหล่งผลิตอยู่ในทะเลเหนือ (North Sea) หรือทะเลที่อยู่ระหว่างเกาะอังกฤษและคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย “น้ำมันดิบเบรนท์” ถือว่าเป็นน้ำมันเบาและหวาน (Light Sweet Crude) เนื่องจากมีค่า API อยู่ที่ประมาณ 39 ดีกรี และมีปริมาณซัลเฟอร์อยู่ที่ประมาณ 0.4%
Dubai Crude เป็น “น้ำมันดิบ” จากแหล่งน้ำมันใต้ทะเลทรายในเอเชียตะวันออกกลาง น้ำมันดิบที่ได้จากบริเวณนี้จะมีลักษณะที่เรียกว่าหนักและเปรี้ยว หรือที่เรียกกันว่า Heavy Sour Crude โดยน้ำมันดิบดูไบจะมีค่าความหนาแน่นจำเพาะ (API Gravity) ประมาณ 31 ดีกรี และมีปริมาณซัลเฟอร์ประมาณ 2%
จะเห็นว่าตลาดทั้ง 3 แห่งที่คนบางกลุ่มพยายามนำราคาน้ำมันไทยไปผูกสูตรอ้างอิงด้วย มันเป็นน้ำมันที่อยู่คนละภูมิภาคและที่สำคัญมันเป็นตลาดน้ำมันดิบ (ถึงแม้ปัจจุบัน จะใช้ราคาน้ำมันดิบ BRENT ดูเทรนด์ตลาดได้ก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่ในเรื่องการอ้างอิงราคาที่เกิดขึ้น) ไม่ใช่น้ำมันสำเร็จรูป ตรงนี้อยากสมมุติสถานการณ์ง่าย ๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจ
สมมุติว่าเราทำธุรกิจขายข้าว โดยข้าวเปลือกราคาประมาณตันละ 15,000 บาท ในขณะที่ข้าวสาร มีหลายรูปแบบไม่ต่างจากน้ำมัน มีทั้งข้าวสารเจ้า5% ข้าวสารเจ้า 100% ข้าวสารเจ้าใหม่ หรือแม้กระทั้งข้าวสารเหนียวชนิดต่าง ๆ ซึ่งราคาก็มีตั้งแต่ 200 – 500 บาท / 15 กิโลกรัม (หรือประมาณ 20,000 – 40,000 บาท / 1 ตัน ) ถ้าคุณทำธุรกิจขายข้าวสาร คุณจะเอาราคาข้าวสารไปเทียบราคาตลาดข้าวสารหรือตลาดราคาข้าวเปลือก? และถ้าคุณขายในประเทศนี้ คุณจะเทียบราคาภูมิภาคนี้หรือไปเทียบราคาข้าวสารภูมิภาคอื่น ทวีปอื่น?
แต่ถ้าบอกว่า 2 ตลาดนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน อันนี้ก็ไม่จริง ตลาดวัตถุดิบกับตลาดสินค้าที่ผลิตสำเร็จรอการจำหน่ายแล้วย่อมมีความสอดคล้องกันในระดับหนึ่ง แต่มีความเหลื่อมกันในเรื่องเวลา เช่น หากพูดถึงน้ำมันก็ต้องมีการขนส่งทางเรือ การกลั่นและขนส่งมาที่สถานีบริการ ซึ่งกินเวลาหลักสัปดาห์หรือหลักเดือน หรือสถานการณ์บางอย่างที่ทำให้เกิดอุปสงค์อุปทานต่างกัน เช่นช่วงนี้แหล่งน้ำมันดิบใหญ่ๆ ของโลกบางแห่งอาจเกิดปัญหาไม่สามารถผลิตน้ำมันดิบได้ ราคาน้ำมันดิบในตลาดก็จะสูงขึ้น ในขณะที่ความต้องการราคาน้ำมันสำเร็จรูปในช่วงนั้นอาจจะเป็นฤดูหนาวของประเทศในแทบเอเชีย ทำให้อัตราการใช้พลังงานลดลงและมีผลในราคาน้ำมันถูกลง เป็นต้น เห็นไหมว่าหากสถานการณ์ 2 อย่างนี้เกิดขึ้นพร้อมกัน ก็อาจนำมาซึ่งราคาที่ขึ้นลงคนละทิศทางกัน
แล้วทำไมยังมีคนพยายามหยิบ WTI , BRENT หรือ Dubai มาอ้างอิงราคาน้ำมันไทย? … โดยความเห็นของผู้เขียน คาดว่าน่าจะมาจาก 3 ประเด็นนี้
1. ตลาดน้ำมันดิบมันถูก!!!
ในเมื่อต้องการสร้างกระแสให้รู้สึกว่าราคาน้ำมันสำเร็จรูปไทยแพง ก็หยิบราคาตลาดที่เป็นวัตถุดิบมาอ้างอิงกับสินค้าที่ผลิตสำเร็จรอการจำหน่ายเสียเลย ซึ่งแน่นอนว่าตลาดวัตถุดิบต้องถูกกว่าในระดับหนึ่ง เพราะยังไม่ได้บวกต้นทุนอีกหลายๆ รายการ (เหมือนเรื่องข้าวที่ได้ยกตัวอย่างไปว่าข้าวเปลือกตันประมาณละ 15,000บาท แต่ข้าวสารบรรจุถุงพร้อมขาย ถ้าเทียบเป็นตัน ราคาประมาณตันละ 20,000 – 40,000 บาท ) เมื่อคนทั่วไปได้เห็นการเปรียบเทียบที่มีราคาแตกต่างกันมากอย่างชัดเจน ก็จะรู้สึกเป็นคำถามว่า ทำไมราคาน้ำมันไทยแพง …
2.ง่ายต่อการบิดเบือนว่าน้ำมันในประเทศไม่ขึ้นตามตลาด
อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าตลาดน้ำมันดิบและตลาดน้ำมันสำเร็จรูปขึ้นลงสอดคล้องกัน แต่ไม่ได้ขึ้นลงพร้อมกันขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัย ทำให้มีบางช่วงตลาดราคาน้ำมันดิบอาจะขึ้นลงคนละทิศทางกัน ง่ายต่อการที่บางกลุ่มหรือบางคนจะหยิบราคาตลาดน้ำมันดิบทั้ง 3 แห่งมาเพื่อโจมตีราคาน้ำมันไทย ว่าไม่ได้ขึ้นลงสอดคล้องกับตลาด
3.แยกไม่ออกระหว่างตลาดน้ำมันดิบและตลาดน้ำมันสำเร็จรูป
ตลาดน้ำมันดิบ WTI เป็นตลาดที่สามารถบ่งบอกได้ถึงสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน สื่อต่าง ๆ ในประเทศจึงลงข่าวเกี่ยวกับตลาดน้ำมัน WTI สำหรับคนที่ติดตามข่าวด้านเศรษฐกิจได้วิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจโลก แต่การลงข่าวราคาตลาด WTI โดยบอกว่าเป็นราคาตลาดโลก ทำให้หลายคนจับแมสเสจนี้ไปคิดต่อกันเองว่าในเมื่อราคาน้ำมันไทยอ้างอิงตลาด และ WTI คือราคาตลาดโลก แปลว่าราคาน้ำมันไทยอ้างอิง WTI ซึ่งมันไม่ใช่!
… ถ้าน้ำมันสำเร็จรูปเมืองไทย ไม่ได้อ้างอิงราคา WTI หรือ Brent แล้วเราอ้างอิงที่ไหนล่ะ?
หากเราเข้าเว็บไซต์ของ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ของกระทรวงพลังงาน http://www.eppo.go.th/ เราจะพบคำตอบ ซึ่งตรงนี้ผู้เขียนขอสรุปเป็นข้อๆ ให้ดังนี้
1. ราคาน้ำมันสำเร็จรูปไทยอ้างอิงตลาดราคาน้ำมันสำเร็จรูปภูมิภาค ซึ่งอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์
2. เหตุที่เป็นอ้างอิงตลาดน้ำมันสำเร็จรูปสิงคโปร์ เพราะตลาดสิงคโปร์เป็นตลาดซื้อขายใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ผันผวนน้อย ยากต่อการปั่นราคา เป็นฐานกำหนดราคาส่งออกของประเทศต่าง ๆ และอยู่ใกล้ไทยมากที่สุดจึงเป็นต้นทุนถูกที่สุดในการอ้างอิงบวกค่าขนส่ง
3. การอ้างอิงราคาเฉลี่ยแล้วใช้เวลาประมาณ 1-3 วันทำการ
ถึงตรงนี้หลายคนที่เคยตั้งคำถามว่าราคาน้ำมันในประเทศไทยขึ้นลงตามตลาดโลกหรือไม่ อาจจะเห็นภาพและเข้าใจมากขึ้น โดยเฉพาะบางคนที่หลงเชื่อความพยายามของคนบางกลุ่มในการบิดเบือนการอ้างอิงราคาทั้ง ๆ ที่รู้ดีอยู่แล้วว่าราคาน้ำมันไทยไม่ได้อ้างอิงตลาดราคาน้ำมันดิบ 2 แห่งนี้ แต่ทั้งหมดนั้นก็เพื่อความต้องการด้านการเมืองของตนเอง อาจจะตาสว่างขึ้นมาบ้าง ว่าจริง ๆ แล้ว ราคาน้ำมันไทยขึ้นลงตามตลาด และประเทศไทยหรือ ปตท.ไม่ได้เป็นผู้กำหนดราคาน้ำมันนั่นเอง