ทำไมคนไทยต้องใช้น้ำมันราคาตลาดโลก? อ้างอิงตลาดสิงคโปร์
เคยสงสัยกันมั้ยว่า ทำไมคนไทยต้องใช้น้ำมันราคาตลาดโลก ? ในเมื่อประเทศไทยก็ส่งออกน้ำมันเป็นอันดับต้นๆของโลก
ข้อมูล : อ้างอิงตลาดสิงคโปร์
บ่อยครั้งที่เรามักได้ยินคำถามจากกลุ่มคนบางกลุ่มว่า “น้ำดิบโลกลด ทำไมราคาน้ำมัน (หน้าปั๊ม) ในไทยถึงไม่ลด” หรือ “ขุดน้ำมันในไทยทำไมจึงขายราคาตลาดโลก” ทั้งที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง ทำไมราคาในไทยจึงไม่ลดตาม
อันนี้อยากจะทำความเข้าใจว่าก่อนที่จะตั้งคำถามใดๆ สิ่งสำคัญคือ “ความรู้พื้นฐาน” เพราะหากคุณตั้งคำถามโดยไม่มีความรู้พื้นฐานในด้านนั้นๆ คุณจะเข้าใจคำตอบได้อย่างไร เช่น ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกลด (ซึ่งก็มักเทียบกับอเมริกา) ทำไมน้ำมันสุกไทยจึงไม่ลด ประเด็นนี้ตั้งแต่ต้นก็ไม่สามารถเทียบกันได้ตั้งแต่ต้น เพราะน้ำมันดิบเอาไปใช้เลยไม่ได้ ต้องเสียค่ากระบวนการกลั่นเสียก่อน และอีกเหตุผลหนึ่งคือประเทศไทยอ้างอิงราคาน้ำมันสุกสิงคโปร์ ไม่ใช่น้ำมันดิบตลาดโลก ถึงตรงนี้บางคนอาจจะตั้งคำถามต่อว่าแล้วทำไมต้องอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ เราจึงขออนุญาตหยิบยกข้อมูลจากเพจน้องปอสาม และข้อมูลจาก www.eppo.go.th ของกระทรวงพลังงานมาให้อ่านกัน
“สำหรับศูนย์กลางการซื้อขายน้ำมันของโลกกระจายอยู่ใน 3 ภูมิภาค ก็คือ อเมริกา ยุโรป และเอเชีย โดยที่ตลาดกลางการซื้อขายน้ำมันของภูมิภาคเอเชียตั้งอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ เนื่องจากเป็นประเทศส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งคำว่า “ราคาสิงคโปร์” นั้นไม่ใช่ราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ประกาศโดยรัฐบาลหรือโรงกลั่นของประเทศสิงคโปร์ แต่เป็นราคาซื้อขายน้ำมันระหว่างผู้ค้าน้ำมันในภูมิภาคเอเชียที่ตกลงกันผ่านตลาดกลางฯ ที่ประเทศสิงคโปร์
ประเทศไทยอยู่ในภูมิภาคเอเชีย และตั้งอยู่ใกล้กับประเทศสิงคโปร์ จึงเลือกที่จะอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปจากตลาดกลางฯ ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งสะท้อนระดับราคาที่สมดุลกับกลไกระบบการค้าเสรีของตลาดในภูมิภาคนี้ อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงของราคาก็สอดคล้องอย่างเป็นสากลกับตลาดซื้อขายน้ำมันอื่นๆ ทั่วโลก
ถ้าโรงกลั่นตั้งราคาขายเองเกิดอะไรขึ้น?
การกำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นในประเทศไทยขึ้นเอง แทนที่จะอ้างอิงราคาจากตลาดกลางฯ ที่ประเทศสิงคโปร์ อาจจะทำให้เกิดภาวะความไม่สมดุลในการผลิตและความต้องการใช้น้ำมันภายในประเทศ เพราะหากว่าราคาน้ำมันที่กำหนดขึ้นเองในประเทศมีราคาถูกกว่าตลาดกลางฯ ที่ประเทศสิงคโปร์ ก็จะทำให้ผู้ค้าน้ำมันส่งน้ำมันสำเร็จรูปออกไปขายเพื่อทำกำไร ซึ่งมีผลให้ประเทศขาดแคลนน้ำมัน ในทางกลับกัน หากราคาน้ำมันที่กำหนดขึ้นเองในประเทศมีราคาแพงกว่าตลาดกลางฯ ที่ประเทศสิงคโปร์ ผู้ค้าน้ำมันก็จะนำน้ำมันสำเร็จรูปเข้ามาขายแข่ง ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมันภายในประเทศและการจ้างงาน
นอกจากนี้ การอ้างอิงราคาจากตลาดกลางฯ ที่ประเทศสิงคโปร์ จะทำให้โรงกลั่นภายในประเทศต้องพัฒนาศักยภาพและปรับปรุงการบริหารจัดการเพื่อลดต้นทุนการกลั่นน้ำมันให้สามารถแข่งขันกับโรงกลั่นอื่นๆ ในภูมิภาคหรือของโลกอยู่เสมอ ซึ่งจะเป็นผลดีกับผู้บริโภค และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ”
ราคาน้ำมันตลาดโลกลดเครดิต : https://www.facebook.com/nongposamm
และในส่วนของกระทรวงพลังงานก็ได้เรียบเรียงสาเหตุที่ใช้ในตลาดจรสิงคโปร์ เป็นฐานการกำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูปของไทยไว้ดังนี้
สะท้อนต้นทุนการนำเข้าของไทยในระดับต่ำสุด ตลาดสิงคโปร์เป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุด ในภูมิภาคเอเซีย ซึ่งใกล้ไทยมากที่สุด ดังนั้น ต้นทุนในการนำเข้า จึงเป็นต้นทุนที่ถูกที่สุดที่โรงกลั่นไทยต้องแข่งขันด้วย
ปริมาณการซื้อขายในระดับสูง สิงคโปร์ จะเป็นตลาดที่ทำการซื้อขายน้ำมันเช่นเดียวกับนิวยอร์ค โดยน้ำมันที่ทำการซื้อขาย อาจไม่ได้เก็บไว้ในสิงคโปร์ แต่จะมีการตกลงซื้อขายในสิงคโปร์ เนื่องจากจะมีบริษัทที่ทำธุรกิจซื้อขายน้ำมัน มาเปิดดำเนินการในสิงคโปร์ ปริมาณการซื้อขายน้ำมันในสิงคโปร์ จะอยู่ในระดับสูงเช่นเดียวกับตลาดใหญ่ ในพื้นที่อื่น (ยุโรป อเมริกา ตะวันออกกลาง) ซึ่งทำให้ยากต่อการปั่นราคา โดยผู้ซื้อหรือผู้ขาย และราคาจะสะท้อน จากความสามารถในการจัดหา และความต้องการน้ำมันของภูมิภาคนี้
ราคาสะท้อนความสามารถในการจัดหา และความต้องการของเอเซีย แม้สิงคโปร์จะมีกำลังการกลั่นรวมอยู่ที่ 1.5 ล้านบาเรลต่อวัน ซึ่งยังเป็นระดับที่ต่ำกว่า จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ แต่การกลั่นของสิงคโปร์ เป็นการกลั่นเพื่อส่งออก ในขณะที่ประเทศที่มีกำลังกลั่น มากกว่าสิงคโปร์ดังกล่าว เป็นการกลั่นเพื่อใช้ในประเทศเป็นหลัก เมื่อเหลือแล้วจึงส่งออก จากการกลั่นเพื่อส่งออกเป็นหลัก ทำให้ราคาจำหน่ายของตลาดสิงคโปร์ จะสะท้อนราคาส่งออกที่แท้จริง ซึ่งจะสะท้อนความสามารถในการจัดหา และสภาพความต้องการนำน้ำมันสำเร็จรูป ของภูมิภาคเอเซีย
ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดจรสิงคโปร์ เป็นฐานกำหนดราคาส่งออกของประเทศต่างๆ แม้ว่าการส่งออกของสิงคโปร์จะเริ่มลดลง เพราะมีกำลังกลั่นเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ แต่ราคาที่ส่งออกของประเทศต่างๆ ยังคงใช้ราคาน้ำมันของตลาดสิงคโปร์ เป็นฐานในการกำหนดราคาส่งออก และการซื้อขายเพื่อส่งออกจากประเทศต่างๆ ยังทำการซื้อขายที่สิงคโปร์เป็นหลัก
ราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์ เปลี่ยนแปลงสอดคล้องกับตลาดอื่นๆ ทั่วโลก สพช. ได้ศึกษาการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันในตลาดต่างๆ ได้แก่ ตลาดตะวันออกกลาง ตลาดยุโรป ตลาดอเมริกา และตลาดจรสิงคโปร์พบว่า ราคาน้ำมันสำเร็จรูปทุกตลาดต่างปรับตัวเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน และในระดับที่ใกล้เคียงกัน อาจมีบางช่วงที่ราคา ของบางตลาดเปลี่ยนแปลงในทิศทาง หรือระดับที่แตกต่างกับตลาดอื่นๆ ซึ่งเป็นเพราะภาวะที่ความต้องการ และปริมาณน้ำมันในตลาด ไม่มีความสมดุลในช่วงเวลานั้นๆ แต่ต่อมาราคาที่แตกต่างจากตลาดอื่นมาก จะทำให้เกิดการไหลเข้า / หรือออกของน้ำมันจากตลาดอื่น จนทำให้ระดับของราคาตลาดนั้น ปรับตัวสู่ภาวะสมดุลกับตลาดอื่น ทั้งนี้ เนื่องจากน้ำมันสำเร็จรูปที่จำหน่ายในทุกตลาด เป็นสินค้าภายใต้ระบบการค้าเสรี และเป็นสากล
ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดสิงคโปร์ ผันผวนน้อยกว่าตลาดอื่นๆ จากการสังเกตความเคลื่อนไหว ของราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดต่างๆ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาพบว่า ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดจรสิงคโปร์ มีความผันผวนน้อยกว่าตลาดอื่นๆ และการปรับตัวของราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดจรสิงคโปร์ ในช่วงที่มีความแตกต่างจากตลาดอื่นมาก ตลาดสิงคโปร์จะใช้เวลาในการปรับตัวสู่สมดุลในเวลาประมาณ 1-3 วัน ซึ่งจะเห็นว่าการแข็งตัวของราคาน้ำมันสำเร็จรูป ในเดือนมีนาคมในตลาดจรสิงคโปร์ ได้ปรับตัวสู่ระดับปกติในช่วงหลังของเดือน
หลังจากที่ได้อ่านข้อมูลกันแล้ว หวังว่าจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยสำหรับคนที่สนใจด้านพลังงาน ไม่ต้องเชื่อก็ได้ เพราะก่อนที่ท่านจะตัดสินใจเชื่อคำของใคร อยากให้ทุกท่าน ทบทวน ใช้สติและหาข้อมูลที่เป็นกลาง มีหลักฐานเชื่อถือได้ ก่อนจะตัดสินใจ เพราะเรื่องพลังงานเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจ
เครดิต : http://www.eppo.go.th