เจาะโครงสร้างราคาน้ำมันไทย เค้าว่าแพง!
นอกจากจะรับบทแพะว่าเป็นต้นทุนของราคาสินค้าทุกประเภทแล้ว “น้ำมัน”ยังถูกโจมตีเรื่องราคาจากกลุ่มที่หวังผลทางการเมืองอยู่เสมอ กลายเป็นสินค้าที่ขยับขึ้นลงแต่ละที คนทั่วไปก็พร้อมจะกร่นปนบ่นด่ากันอยู่เสมอ
ทำไมราคาน้ำมันแพง … เป็นคำถามที่หลายคนอาจจะสงสัย โดยไม่เคยเปิดดูโครงสร้างราคาและทราบที่มาที่ไปของแต่ละส่วน เลยถือโอกาสนี้หยิบโครงสร้างราคามาให้ดูกัน
โครงสร้างราคาน้ำมันไทย แบ่งออกเป็น 4 ส่วนหลักๆ ได้แก่ ราคาหน้าโรงกลั่น ภาษี กองทุนต่าง ๆ และค่าการตลาด ประกอบออกมาเป็นราคาหน้าปั๊มที่เราใช้กัน
- ราคาหน้าโรงกลั่น คือ ราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่น โดยอ้างอิงจากตลาดราคาน้ำมันสำเร็จรูปภูมิภาค ได้แก่ สิงคโปร์ ซึ่งราคาที่ใช้จะบวกเพิ่มมาจากสิงคโปร์เล็กน้อย จากค่าขนส่งจากสิงคโปร์ ค่าปรับปรุงคุณภาพเนื่องจากน้ำมันที่ประเทศไทยใช้มีมาตรฐานยูโรสูงกว่าตลาด รวมถึงการผสมพลังงานทดแทนลงไปในเนื้อน้ำมัน ทั้งเอทานอลที่ผสมกับเบนซิน และไบโอดีเซล B10 B20 โดยการปรับขึ้นลงราคาในส่วนนี้ก็เป็นไปตามกลไกของตลาดน้ำมันสำเร็จรูปสิงคโปร์
- ภาษี คือ ส่วนสำคัญที่รัฐเก็บเพื่อนำไปพัฒนาประเทศ สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน รวมถึงสาธารณูปโภคที่เกี่ยวกับการคมนาคมต่าง ๆ อาทิ ถนน สะพาน ไฟถนน จราจร ที่ไม่ใช่แค่สร้าง แต่รัฐต้องใช้เงินมหาศาลในการทำนุบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพดีอยู่เสมอ รวมไปถึงการจัดการสิ่งแวดล้อมจากกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดจากการใช้พลังงาน โดยส่วนนี้รัฐมีหน้าที่กำหนดและจัดเก็บ
- กองทุนน้ำมัน มีหน้าที่หลักๆ ที่รัฐใช้เพื่อประกันราคา หากมีเหตุที่ทำให้ราคาน้ำมันผันผวนอย่างรุณแรงจนกระทบต่อภาคประชาชน นอกจากนี้กองทุนน้ำมันยังถูกใช้เป็นกลไกในการผลักดันเรื่องพลังงานทดแทน เช่น การอุดหนุนราคาน้ำมัน E85 หรือ การอุดหนุนราคาน้ำมัน B20 ในปัจจุบัน
- ค่าการตลาด หลายคนชอบตั้งคำถามถึงค่าการตลาดว่าสมควรมีหรือไม่ หรืออาจโจมตีว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ราคาน้ำมันแพง หากแต่เราต้องมองความจริงที่ว่าเราไม่สามารถเดินทางไปเติมน้ำมันได้เองที่โรงกลั่น การกระจายหัวจ่ายน้ำมันหรือปั๊มน้ำมันไปตามสถานที่ต่าง ๆ ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ก็มีต้นทุน มีค่าบริหารจัดการต่าง ๆ หากไม่มีส่วนนี้ปั๊มก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน เพราะค่าการตลาดยังไม่ได้รวมการจัดการบริหารภายในปั๊ม
ความจริงที่ว่าไทยเป็นประเทศที่ใช้น้ำมันไม่ถึง 1% ของการใช้น้ำมันทั้งโลก และเราก็นำเข้าน้ำมันเป็นสัดส่วนกว่า 88% ของปริมาณการใช้ในประเทศ ย่อมแสดงให้เห็นว่าเราไม่มีอำนาจในการตั้งราคาได้เอง และไม่น่าแปลกใจที่รัฐจำเป็นต้องจัดให้น้ำมันเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย เนื่องจากตัวเลขปริมาณการนำเข้าที่มหาศาลและสาธารณูปโภคที่รัฐต้องสร้างเพื่อรองรับการใช้น้ำมันของคนในประเทศอีกมหาศาล กับกองทุนน้ำมันที่จำเป็นต้องมีเพื่อผลักดันพลังงานทดแทน เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมัน ส่งเสริมผลผลิตในประเทศ และสุดท้ายคือเพื่อประกันราคาผันผวน
จากที่กล่าวมาจะเห็นว่าทุกส่วนของโครงสร้างราคาต่างมีหน้าที่รับผิดชอบ และความจำเป็นที่จะต้องมี ไม่ว่าส่วนใดขาดหายไปย่อมมีผลกระทบต่อเสถียรภาพทางพลังงานของประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อม
และขอตอบคำถามง่าย ๆ ที่ว่า “ทำไมราคาน้ำมันไทยจึงแพง” ว่าน้ำมันไทยไม่ได้แพงอย่างที่คิด หากเทียบกับทั้งโลกแล้วราคาน้ำมันไทยอยู่ในระดับกลาง หากแต่ NGO พลังงานบางกลุ่มต่างหาก ที่พยายามบิดเบือนและนำเสนอราคาน้ำมันไทยเทียบเฉพาะกับราคาน้ำมันประเทศที่ถูกกว่าไทยต่างหากที่สร้างความเข้าใจผิดในเรื่องราคาน้ำมัน