แจง! ส่งออกน้ำมันถูกกว่าที่ขายในประเทศ-ผูกขาดขายน้ำมันแพง?
ซีอีโอ “ปตท.” แจง! ส่งออกน้ำมันถูกกว่าที่ขายในประเทศ-ผูกขาดขายน้ำมันแพง?
จากกรณี กระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องราคาน้ำมันในประเทศสูง โดยเฉพาะในโลกโซเชี่ยลมีเดียที่มีโจมตี บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้น้ำมันมีราคาสูง ล่าสุด เทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ได้ออกมาโพสต์ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ในเรื่องราคาน้ำมัน ดังนี้
“หยุดเติมน้ำมัน ปตท.” อารมณ์ เหตุผล หรือเจตนาแอบแฝง ?
ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นถึง 20% ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน ดีเซล และ LPG สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลกด้วยเช่นกัน ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบ มีค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น
ผู้ที่ได้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้คือประเทศผู้ส่งออกพลังงาน ซึ่งก็เคยประสบปัญหารายได้หายไปเมื่อราคาพลังงานดิ่งลงตั้งแต่ 4 ปีที่แล้ว เป็นวัฏจักรที่มีการขึ้นลงเช่นเดียวกับอุสาหกรรมอื่นๆที่มีการลงทุนขนาดใหญ่และมี lead time นาน
คนทั่วไปอาจจะไม่เข้าใจธุรกิจพลังงานและกลไกตลาดโลก จึงเริ่มมองหาจำเลยที่จะระบายความโกรธแค้นที่เขาต้องเดือดร้อน ใกล้ตัวที่สุดคือผู้ค้าขายน้ำมัน โดยเฉพาะ ปตท. ซึ่งเป็นผู้ค้าสำคัญในประเทศไทย จนถึงขั้นมีขบวนการรณรงค์ให้หยุดเติมน้ำมัน ปตท. และบิดเบือนต่ออีกว่า ปตท. ก็ไม่เดือดร้อนเพราะขายน้ำมันต่างประเทศเป็นหลัก
ในส่วนที่ต้องดำเนินการทางกฎหมายกับผู้จงใจบิดเบือนข้อมูล หมิ่นประมาท และสร้างความเสียหายกับองค์กร ขอแยกไว้ก่อนนะครับ เรามาวิเคราะห์สาเหตุกันดีกว่าว่าเพราะอะไร ถึงเป็น ปตท. ผมรวบรวมได้ 8 ข้อ ถ้าสนใจและมีเวลา อ่านคำตอบด้านล่างนะครับ แล้วจะเห็นว่า ข้อกล่าวหาต่างๆนั้นไม่ตรงกับความจริง ซึ่งก็ต้องขอขอบคุณเพื่อนๆหลายคนที่ช่วยออกมาอธิบาย และเตือนสติการใช้อารมณ์เกาะตามกระแสที่จะสร้างความเสียหายกับประเทศ
ข้อเท็จจริงต่างๆเหล่านี้ ได้มีการชี้แจงกับสังคมมาโดยตลอด แต่ก็ยังมีขบวนการที่ตั้งใจโจมตีปตท.มาอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ต้องคิดต่อว่า
– วัตถุประสงค์ที่แท้จริงคืออะไร ?
– ใครคือผู้อยู่เบื้องหลัง ?
– เขาไม่เข้าใจพื้นฐานของอุตสาหกรรมพลังงานจริงๆหรือ ?
– ใครได้ประโยชน์อะไรจากการที่ทำให้บริษัทพลังงานของชาติเสียหายและอ่อนแอลง !
– เราจะลงโทษพวกที่ชอบสร้างกระแสในโลกโซเชียลมีเดีย จากความเท็จ หรือพูดจริงครึ่งเดียวยังไงดี ?
เพราะมีคนไทยจำนวนหนึ่ง ที่อ่าน Hate Speech ของขบวนการนี้แล้วคล้อยตาม ตกเป็นเครื่องมือในการบั่นทอนความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ และทำลายองค์กรไทยด้วยกันเอง
ผมเขียนเรื่องนี้ เพื่อจุดประกายให้เพื่อนๆตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรดี
1. หยุดเติม ปตท. ตามกระแส
2. ตั้งสติ ใช้ปัญญา พิจารณาเหตุผล และแชร์ข้อเท็จจริงในเครือข่าย ตามที่เห็นว่าเหมาะสม
3. ปกป้องสังคม ด้วยการประจานและต่อต้านผู้ที่มีเจตนาแอบแฝง
สิทธิในการเลือกเป็นของทุกคนครับ ขอให้เลือกโดยใช้ปัญญาวิเคราะห์ข้อเท็จจริงด้วยเหตุและผล เพื่อประโยชน์ส่วนรวมนะครับ
สุดท้ายผมขอยืนยันว่า ผมและชาว ปตท.ทุกคน ตั้งใจทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด เพื่อความมั่นคงทางพลังงานของคนไทยอย่างยั่งยืน จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่แคร์คนไทย และจะปลดพนักงาน ตามที่มีเพจลงข้อความที่เป็นเท็จ
เทวินทร์ วงศ์วานิช
26 พ.ค. 2561
เทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.
ข้อกล่าวหา 8 ประเด็น
- ปตท. ขายน้ำมันแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ?
ตอบ: มีทั้งแพงกว่าและถูกกว่า
– เมื่อเปรียบเทียบราคากับเพื่อนบ้าน มาเลเซียต่ำที่สุด สิงคโปร์สูงที่สุด ในขณะที่ประเทศอื่นๆใกล้เคียงกับเรา
– ปัจจัยของราคาขายปลีกคือ ต้นทุนเนื้อน้ำมันและค่าการตลาดของผู้ค้าที่จะไม่ต่างกัน ที่แตกต่างมากคือภาษีที่แต่รัฐบาลแต่ละประเทศกำหนด
– มาเลเซียมีรายได้จากการส่งออกน้ำมันและก๊าซมาก จึงแทบไม่เก็บภาษีผู้ใช้ในประเทศ
– สิงคโปร์เก็บเยอะ เพราะต้องการจำกัดการใช้รถยนต์
– ไทยและประเทศอื่นๆเป็นผู้นำเข้าน้ำมัน จึงเก็บภาษีสรรพสามิตมาเป็นงบรัฐ สำหรับสร้าง/ซ่อมถนน และพัฒนาระบบขนส่งมวลชนให้คนส่วนใหญ่
– สำหรับราคาในประเทศไทย ปั๊ม ปตท. ไม่เคยสูงกว่าปั๊มต่างชาติ และจะต่ำกว่าเป็นบางวัน
- ปตท. ส่งออกน้ำมันถูกกว่าที่ขายในประเทศ ?
ตอบ: ราคาส่งออกใกล้เคียงกับราคาหน้าโรงกลั่นที่ขายในประเทศ
– ราคาที่ ปตท. ส่งออกเป็นราคาตลาดในภูมิภาค ซึ่งจะสะท้อนราคาเนื้อน้ำมันเป็นหลัก ยังไม่รวมภาษีสรรพามิต
– เพื่อนบ้านที่ซื้อไป ก็ขายที่ปั๊มในราคาที่สูงขึ้น เพราะต้องบวกภาษีในประเทศเขา
– สิงคโปร์ ซึ่งนำเข้าน้ำมันดิบมากลั่น ก็ส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปในราคาที่ต่ำกว่าที่ขายในประเทศเช่นกัน
- ปตท. แอบขึ้นราคาน้ำมันต่อเนื่อง โดยไม่บอกประชาชน ?
ตอบ: ไม่จริง
– การขึ้นราคาขายปลีกในประเทศเป็นไปตามราคาตลาดโลก
– ไทยมีโรงกลั่นเอง แต่ต้องนำเข้าน้ำมันดิบมากลั่น
– ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา น้ำมันดิบโลกมีราคาสูงขึ้น 20 %
– ปตท.ปรับราคาขายปลีกเท่าที่จำเป็นเพื่อรักษาค่าการตลาดประมาณ 1.60-1.80 บาทต่อลิตร
– ตั้งแต่ 6 เม.ย. ปตท. ปรับขึ้นราคา 6 ครั้ง ราคาต่ำกว่าปั๊มต่างประเทศรวม 9 วัน
– ในอดีต ปตท.เป็นหนึ่งในผู้ค้าไม่กี่รายที่ประกาศการปรับราคาล่วงหน้าเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค
– ตั้งแต่ 26 เม.ย. กระทรวงพลังงานขอความร่วมมือผู้ค้าทุกรายไม่ให้ประกาศล่วงหน้าเพื่อสร้างการแข่งขันด้านราคา ปตท. จึงปฏิบัติตาม โดยไม่มีเจตนาปิดบังแต่อย่างใด
– ปัจจุบัน กระทรวงพลังงานได้ผ่อนผันเรื่องนี้ ปตท.จึงกลับมาประกาศล่วงหน้าสำหรับการปรับราคาลงในวันที่ 26 พ.ค. นี้
- ปตท. กำไรเยอะ จากการผูกขาดขายน้ำมันแพง ?
ตอบ: ไม่จริง
– ธุรกิจค้าขายน้ำมันเป็นตลาดเสรี มีผู้ค้ามากมายกว่า 30 ราย แต่ละรายมีสิทธิตั้งราคาเอง
– ค่าการตลาด 1.60-1.80 บาท/ลิตร แบ่งให้ Dealers เจ้าของปั๊มแล้ว ยังไม่คุ้มค่าการลงทุน ทุกปั๊มจึงต้องเปิดร้านสะดวกซื้อและร้านค้าอื่นเพิ่มขึ้นเพื่อหารายได้เสริม
– กำไรทั้งหมดของปตท.มาจากธุรกิจน้ำมันเพียง 10 % ที่เหลือเป็นผลตอบแทนจากการลงทุนจำนวนมากในธุรกิจก๊าซ สำรวจและผลิต โรงกลั่นและปิโตรเคมี
– ณ สิ้นปี 2560 ปตท. มีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น (Total Assets) 2.23 ล้านล้านบาท มีกำไร 135,000 ล้าน คิดเป็นผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (ROA) 6 % ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของการทำธุรกิจทั่วไป
- ปตท. ผลิตก๊าซและน้ำมันในประเทศมากมาย ควรเอามาอุดหนุนราคา ?
ตอบ: ไม่ควร
– เพราะ ปตท.สผ. (บ.ลูกของ ปตท.) มีสัดส่วนการผลิตก๊าซและน้ำมัน 30% ของผู้ผลิตในประเทศ เทียบเท่าเพียง 10% ของการใช้พลังงานทั้งหมด
– รายได้จะไม่เพียงพอที่จะนำมาอุดหนุนราคาได้อย่างมีนัยสำคัญ
– นอกจากนั้นยังต้องสำรองรายได้สำหรับการขยายการลงทุนเพื่อความมั่นคงทางพลังงานในอนาคต
- คุณภาพน้ำมันและบริการของ ปตท. ต่ำกว่ามาตรฐาน ?
ตอบ: ไม่จริง
– ปตท. พัฒนาคุณภาพน้ำมันสูงกว่ามาตรฐานทั่วไป ทั้งเรื่องประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
– ปตท. เป็นผู้นำด้านการสรรหาสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการและอำนวยความสะดวก ปลอดภัยของลูกค้า
- ปตท. มุ่งแต่ทำกำไร ไม่เคยช่วยเหลือสังคม ?
ตอบ: ไม่จริง
– ปั๊ม ปตท. เปิดพื้นที่ให้เกษตรกร ชาวนา ชาวสวนนำผลิตภัณฑ์มาวางขายตรงให้ลูกค้า โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
– ปั๊ม ปตท. จัดกิจกรรม เช่น ห้องน้ำ 20 บาท โครงการแยกขยะ เพื่อนำรายได้ไปช่วยสถานศึกษาในชุมชน
– ปตท. ตั้งบริษัท Social Enterprise เพื่อสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนให้สร้างรายได้ร่วมกับธุรกิจของ ปตท.
– ปตท. ร่วมกิจกรรมดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ปลูกป่า หญ้าแฝก รางวัลลูกโลกสีเขียว โรงเรียนวิทยาศาสตร์กำเนิดวิทย์ สถาบันวิทยสิริเมธี ป่าในกรุง ฟื้นฟูคุ้งบางกะเจ้า จัดประกวดศิลปกรรม ปตท. ทุกปี สนับสนุนสมาคมกีฬา 5 ประเภท ทำโครงการ Pride of Thailand
- นายทุน / นักการเมือง เป็นเจ้าของ ปตท. ?
ตอบ: ไม่จริง
– รัฐบาลไทย โดยกระทรวงการคลังและกองทุนวายุภักษ์ ถือหุ้น ปตท. ประมาณ 63.5 %
– อีก 32 % ถือโดยสถาบันการเงิน/กองทุน
– ที่เหลือ 4.5 % คือนักลงทุนรายย่อย
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_1144750