ศาลตัดสิน! ปตท. คืนท่อส่งก๊าซธรรมชาติครบ (ตอน2)
ต่อจากตอนที่แล้ว ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดซึ่งถูกนำมาปฏิบัติโดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 มีทรัพย์สินอยู่สามประเภทข้างต้นที่ ปตท. จะต้องส่งคืนท่อก๊าซให้แก่กระทรวงการคลัง เพราะเป็นการได้มาโดยการใช้อำนาจมหาชนของรัฐ
รูปภาพ :www.pttplc.com
1. ที่ดินที่ได้มาจากการใช้อำนาจเวนคืน
– ที่ดินส่วนนี้ คือ ที่ดินในโครงการท่อส่งก๊าซระยอง – โรงไฟฟ้าบางปะกง – โรงไฟฟ้าพระนครใต้ (ท่อสายประธาน) จำนวน 106 แปลง ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดระยอง จังหวัดชลบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดสมุทรปราการ
2. ที่ดินที่เป็นสิทธิการใช้ที่ดินเหนือที่ดินของเอกชน ประกอบด้วยที่ดินประมาณ 4,070 ไร่ 2 งาน 26.75 ตารางวา จำนวนเจ้าของที่ดินประมาณ 7,508 ราย อยู่ในโครงการ ดังนี้
-โครงการท่อบางปะกง – วังน้อย
-โครงการท่อจากชายแดนไทยและพม่า – ราชบุรี
-โครงการท่อราชบุรี – วังน้อย
3. ท่อส่งก๊าซธรรมชาติและอุปกรณ์ ที่อยู่ในที่ดินตามข้อ 1 และ 2
ทรัพย์สินตามข้อ 1, 2 และ 3 รวมมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 16,176.22 ล้านบาท
ท่อก๊าซธรรมชาติในทะเลต้องคืนด้วยหรือไม่?
เรื่องท่อในทะเล ปตท. จะต้องคืนด้วยหรือไม่นั้น ก็ต้องพิจารณาตามหลักเกณฑ์การแบ่งแยกทรัพย์สินข้างต้นทั้งสามประการดังที่ได้กล่าวมาแล้ว คือ
– ได้มาจากการใช้อำนาจเวนคืนหรือไม่?
– เป็นสิทธิการใช้ที่ดินเหนือที่ดินของเอกชนหรือไม่?
– เป็นท่อส่งก๊าซธรรมชาติและอุปกรณ์ ที่อยู่ในทรัพย์สินตามข้างต้นหรือไม่?
ซึ่งการวางท่อก๊าซธรรมชาติในทะเลนั้น มิได้มีการใช้อำนาจมหาชนในการเวนคืนหรือใช้อำนาจรอนสิทธิเหนือพื้นดินเอกชนแต่อย่างใด จึงไม่เข้าหลักการแบ่งแยกทรัพย์สินที่กำหนดไว้
…เรื่องท่อก๊าซธรรมชาติในทะเลนี้มีการพูดกันมากว่า ทำไม ปตท. ไม่ยอมส่งคืน ซึ่งตอนนี้ท่านผู้อ่านคงจะเห็นแล้วว่าการที่จะส่งคืนท่อก๊าซธรรมชาติ ต้องมีหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้เป็นตัวอ้างอิง ซึ่งถ้าจะให้ส่งคืนท่อในส่วนนี้ ก็คงต้องมานั่งกำหนดหลักเกณฑ์กันใหม่ละครับ ว่าจะเอาเกณฑ์ไหนเป็นตัวอ้างอิงแน่ ไม่ใช่ตัดสินกันด้วยความรู้สึกอย่างเดียว…”
ส่วนกรณีที่คุณรสนาออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องการทวงคืน ท่อก๊าซ และ ปตท.ยังคืนท่อก๊าซไม่ครบนั้น “ผู้เขียนเห็นว่าคุณรสนาฯ เข้าใจถูกต้องแล้วว่า คำพิพากษาฉบับนี้ให้ ปตท. ส่งคืนทรัพย์สินที่ได้มาจากการใช้อำนาจมหาชนของรัฐกลับไปให้กระทรวงการคลัง (ซึ่งต่อมาก็ได้มีการตั้งหลักเกณฑ์ร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วว่า คือ ทรัพย์สินที่ได้มาจากการเวนคืน ทรัพย์สินที่ได้มาจากการรอนสิทธิ ทรัพย์สินที่อยู่ในทรัพย์สินทั้งสองข้างต้น) แต่การที่จะบอกว่าทรัพย์สินทั้งหมดที่ ปตท. ได้มาสมัยเป็นการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเป็นการใช้อำนาจมหาชน จึงต้องคืนทรัพย์สินทั้งหมดนั้น ผู้เขียนเห็นว่าเป็นหลักการกฎหมายที่ไม่ถูกต้อง
ด้วยความเคารพ หากคุณรสนาได้มีการศึกษากฎหมายปกครองก็จะทราบว่า การได้มาซึ่งทรัพย์สินของหน่วยงานรัฐนั้น ไม่ใช่เป็นการใช้อำนาจมหาชนทั้งหมด แต่อาจจะเป็นนิติกรรมแบบเอกชนก็ได้ เช่น การเช่าหรือการซื้อ เป็นต้น ซึ่งนิติกรรมประเภทนี้นักกฎหมายจะทราบกันดีอีกเช่นกันว่า ไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง แต่อยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม
ยกตัวอย่างเช่น หากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐและนิติบุคคลมหาชน) เข้าไปขอซื้อที่ดินจากชาวบ้านโดยทำสัญญาซื้อขายที่ดินธรรมดา ก็ต้องถือว่าเป็นการทำนิติกรรมซื้อขายกันแบบทั่วไป ไม่มีการใช้อำนาจมหาชนมาเกี่ยวข้อง แต่มิใช่ว่าการที่หน่วยงานของรัฐไปทำนิติกรรมอะไรแล้วจะเป็นการใช้อำนาจมหาชนทุกกรณี อันนี้เป็นหลักการที่สำคัญมากในหลักกฎหมายปกครองที่ต้องเข้าใจให้ชัดเจนนะครับ เพราะเกี่ยวข้องกับเขตอำนาจศาลด้วย คือ ต้องดูที่นิติกรรมเป็นหลักไม่ใช่ดูที่ตัวองค์กร”