แผนปฏิรูป ปตท. ลดการผูกขาดพลังงานไทย ทำอย่างไรให้ถูกทาง
มีกระแสเรียกร้องจากบางฝ่ายที่ต้องการปฏิรูปพลังงานให้ทวงคืน ปตท.โดยมองว่า ปตท.ผูกขาดด้านพลังงาน ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง การทวงคืน-ปฏิรูปพลังงานได้สร้างความตื่นตัวในสังคมไม่น้อย แม้เป็นกระแสรายย่อยแต่ก็มีการผลักดันกันทุกรูปแบบ แนวคิดสังคมนิยมควบกับชาตินิยม เกิดเป็นประชานิยมที่โดนใจทั้งผู้มีรายได้น้อยและคนชั้นกลาง เช่น การกำหนดราคาน้ำมันถูกๆ เพราะคิดว่าไทยมีปิโตรเลียมเหลือเฟือ การทวงคืน ปตท.หรือผลักดันระบบแบ่งปันผลผลิต รวมถึงการตลาดแบบ hate speech และให้เหตุผลว่าถ้าทวงคืน ปตท. มาเป็นของประชาชนลดการผูกขาดได้จะทำให้ราคาพลังงานโดยเฉพาะน้ำมันมีราคาถูกลง ซึ่งถ้ามองความเป็นจริงแล้ว สามารถทำได้แต่ก็มีผลกระทบ
แม้ World Economic Forum ได้จัดให้ภาคพลังงานของไทยเป็นอันดับที่ 1 ในอาเซียน ตาม Energy Architecture Performance Index แต่ก็มีปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไขและปฏิรูปให้ถูกทางโดยเร็ว เช่น การปรับโครงสร้างราคาเพื่อให้การใช้มีประสิทธิภาพ และเกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ใช้พลังงานกลุ่มต่างๆ สวัสดิการสังคมเป็นสิ่งที่ดีแต่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ราคาพลังงานเป็นเครื่องมือ หากจำเป็นก็ควรทำเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย ไม่ให้กระทบต่อกลไกตลาด และมีกรอบการใช้เงินที่ชัดเจน
และที่สำคัญคือการลดการแทรกแซงแสวงหาประโยชน์ในกิจการพลังงานที่รัฐถือหุ้น และป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนของข้าราชการ
- แยกการกำกับดูแล กำหนดนโยบาย และการดูแลผลประโยชน์ของรัฐในฐานะของผู้ถือหุ้นออกจากกัน
- ปรับปรุงระบบสรรหาและแต่งตั้งกรรมการในบริษัทที่รัฐถือหุ้นให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลของบริษัทชั้นนำ มีความโปร่งใสให้ประชาชนรับรู้ได้
- ข้าราชการที่ไปเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติหน้าที่ หากมีผลตอบแทนส่วนที่เกินสมควรให้นำส่งคลัง
- เมื่อแยกกิจการท่อส่งก๊าซธรรมชาติออกจาก บมจ.ปตท.แล้ว ให้ลดการถือหุ้นของรัฐใน บมจ.ปตท.ให้ต่ำกว่า 50% ให้พ้นสภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจ เพื่อลดการแทรกแซงจากภายนอก เพิ่มความคล่องตัวและประสิทธิภาพ
สุดท้ายคือการปรับปรุงกระบวนการในการกำหนดนโยบาย และการขออนุญาต ให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น ตั้งสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานแบบ EIA ของสหรัฐฯ เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลที่ถูกต้องและทำหน้าที่เผยแพร่อย่างสมบูรณ์และเป็นที่ยอมรับ แก้กฎกติกาที่ซ้ำซ้อน เพื่อแก้ปัญหาความล่าช้า บทความนี้ไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มการเมืองหรือกลุ่มผลประโยชน์ใด ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล ในขั้นแรกควรจะเปิดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งนักวิชาการ ส่วนราชการ ผู้ประกอบการด้านพลังงาน ผู้ใช้พลังงาน และภาคประชาชนทุกฝ่ายต้องเปิดใจฟังความเห็นของผู้อื่นอย่างเป็นมิตร เพื่อให้ได้ทิศทางการปฏิรูปและลดการผูกขาดด้านพลังงานที่ยั่งยืน