CEO “ติดดิน” ชาญศิลป์ ตรีนุชกร

CEO ติดดิน ชาญศิลป์ ตรีนุชกร
แม้จะมีภารกิจรัดตัวเนื่องจากเพิ่งเข้ารับตำแหน่งไม่ถึง 1 เดือน ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ซีอีโอใหม่ป้ายแดง บริษัทปตท. จำกัด (มหาชน) ไม่มีท่าทีรีบเร่งตลอดช่วงเวลาสัมภาษณ์กว่า 1 ชั่วโมงกับ Forbes Thailand

เขาเปิดอกคุยทุกเรื่องตั้งแต่เรื่องของครอบครัวที่พ่อ “หอบเสื่อผืนหมอนใบ” นั่งเรือสำเภามาจากเมืองจีน มารับจ้างทำแหอวน ที่ ต.ท่าฉลอม จ.สมุทรสาคร ก่อนจะขยายกิจการมีเรือประมงขนาดเล็กและขนาดกลางตามลำดับ แต่ประสบการณ์การออกเรือที่ยากลำบากทำให้เขามุมานะเรียนหนังสือเพื่อหาสัมมาอาชีพอื่น เนื่องจากพ่อขู่ว่าหากเรียนหนังสือไม่เก่งก็จะต้องมาทำงานออกเรือประมงให้ทางบ้าน

นอกจากพื้นเพทางการศึกษาที่ไม่ได้จบคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเหมือนซีอีโอ ปตท. ทั้ง 8 ท่าน ที่ผ่านมาตลอดระยะเวลา 40 ปีแล้ว ชาญศิลป์ยังถูกมองว่าเป็น “ม้ามืด” เพราะไม่ได้อยู่ในโผของการคัดเลือกตั้งแต่ต้น

ผมเป็นผู้นำที่สัมผัสได้ เข้าถึงได้ และผมใช้วิธีการแบบเข้าถึง เข้าใจ และพัฒนา เพราะคิดว่าผมคุยภาษาชาวบ้านได้ ผมเข้าถึงได้ ท่านรู้ไหมว่าเวลาม็อบมาปิดผมเนี่ย ผมเปลี่ยนเสื้อจากเสื้อไออาร์พีซี (บมจ.ไออาร์พีซี) เป็นเสื้อหลากสี แล้วก็ไปโบกรถเหมือนเป็นยามโบกรถ อยู่ประตูหลัง เพราะรถมันออกไม่ได้ ผมเจรจากับม็อบ บอกว่าเราพวกเดียวกันให้รถเขาออกดีกว่าชาญศิลป์เท้าความถึงเหตุการณ์เมื่อปี 2557 ที่ ปตท. และกระทรวงพลังงานถูกปิดล้อมโดยกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วง

 

ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ซีอีโอ ปตท.

นักเจรจา

หลังเรียนจบเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2521 ซีอีโอ ปตท. บอกว่าเขาได้พยายามสมัครหางานที่ธนาคารหลายแห่งแต่ได้รับการปฏิเสธทั้งหมดเพราะเกรดไม่ดี ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่สู้ดีนักในช่วงนั้นเพราะผลพวงจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

อย่างไรก็ตามในระหว่างที่ตกงานอยู่ประมาณ 1 ปี เขาได้งานวิจัยเป็นลูกจ้างชั่วคราวที่จุฬาฯ ก่อนจะได้ร่วมงานกับ ปตท.ซึ่งเพิ่งได้รับการจัดตั้งขึ้นไม่นานนักแม้จะเริ่มงานในตำแหน่งเศรษฐกร ชีวิตการทำงานส่วนไม่น้อยของชาญศิลป์จะเกี่ยวข้องกับงานขายและการเจรจา ซึ่งงานหนึ่งที่เขาภูมิใจคือการเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจการขายน้ำมันอากาศยาน ในฐานะผู้จัดการฝ่ายขายน้ำมันอากาศยานคนแรกของ ปตท. ที่เดินทางไปเจรจากับสายการบินและคู่ค้ากว่า 30 ประเทศทั่วโลก เป็นผู้เซตอัพระบบและวางรากฐานจนทำให้ ปตท. มีสำนักงานบริการอยู่ในสนามบินเกือบ 20 แห่งทั้งในและต่างประเทศ และมีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 ในวันนี้

“การทำงานดีลกับต่างประเทศมันทำให้เรามีทักษะในการเจรจาต่อรอง พูดคุย ผมนี่พูดคุยต่อรองมาตลอดชีวิตการทำงาน เพราะผมเป็นเซลล์มา ผมเป็นเซลล์อุตสาหกรรม เซลล์ขายราชการ เพราะฉะนั้นผู้หลักผู้ใหญ่เวลานี้ ผบ.ทอ. เวลานี้ผมรู้จักมาตั้งแต่ท่าน เป็น น.อ. (นาวาอากาศเอก) พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง ผบ.ทอ. คนใหม่ก็เหมือนกัน เคยตีกอล์ฟกันมา พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน แต่ว่าผมไม่เคยจะไปขอความเห็นใจท่านมาโปรโมทผมเลย ไม่เกี่ยว เรารู้จักกันในฐานะที่เคยค้าขาย เรามีมิตรไมตรีต่อกัน ช่วยเหลือกันไปกับทางราชการ เรื่องความมั่นคงทางพลังงาน หลายคนที่อยู่ในสภาต่างๆ ท่านพลเอกหลายคนที่เราให้บริการเรื่องน้ำมันก็รู้จักกัน พอรู้จักกันก็ทำให้เราสามารถแก้ปัญหาเพื่อประเทศ เพื่อองค์กรได้ไม่ยาก”

นักแก้ปัญหา

ชาญศิลป์เปรียบเปรยตัวเองว่าเป็นเหมือน “แมคไกเวอร์” (นักแสดงนำทีวีซีรีส์ในตำนาน “ยอดคนสมองเพชร”) เพราะมักจะถูกส่งไปแก้ไขปัญหาบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจค้าปลีกโครงการปาล์มน้ำมันที่อินโดนีเซีย แต่ที่ “ตื่นเต้นและหฤหรรษ์ที่สุด” คือที่ไออาร์พีซีที่เขาเป็นหัวหน้าทีมเจรจากับเจ้าของเดิม

“ไปอยู่ไออาร์พีซีประมาณ 5 ปี ก็ทำให้เรามีประสบการณ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องท่าเรือการวางแผนผลิต การทำโครงการ การเป็นเอ็มดีบริษัท การทำแผน คอมเมอร์เชียลพัฒนาธุรกิจ เป็นโรงเรียนที่ดีมาก เรื่องการเจรจายกเลิกคดี การจัดการ การเลิกกิจการปรับโครงสร้างหนี้ เจรจา และรวมทั้งการประท้วงบนถนน”

“วันนี้ต้องหยิบมาเนื่องจากมันเป็นเรื่องเร่งด่วนมาก ถ้าไม่ปรับอะไรเราจะลำบากแล้ว เช่น สมมติคนอื่นเขาค้าขายด้วยบล็อกเชนหรือ e-wallet แต่น้ำมันผมยังไม่ไปไหนเลยขายเม็ดพลาสติกยังช้าอยู่เลย นี่ก็ไม่ได้แล้ว”

แผนงาน digitization ปตท. จะครอบคลุมทั้งในส่วนของสำนักงานใหญ่และบริษัทในเครือที่จะมีการร่วมมือกับธนาคารและบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ อาทิ Accenture, SAP, IBM, Microsoft, Huawei เพื่อช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน อาทิ การเปลี่ยนแพลตฟอร์มในเรื่อง Internet of Things (IoT), storage และคลาวด์ ให้มีความรวดเร็ว มั่นคง และปลอดภัย และนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลยี Watsonของ IBM มาใช้ในโรงแยกก๊าซธรรมชาติ

ซีอีโอ ปตท. แย้มว่าเขาจะมีการจัดพอร์ตโฟลิโอธุรกิจ ปตท. ใหม่ ในแนวทางคล้ายๆกับที่เขาได้ดำเนินการไปในช่วงที่อยู่ไออาร์พีซีที่ได้มีการยุบ ควบรวมบริษัทในเครือจาก 36 บริษัท เหลือเพียง 6-7 บริษัท ซึ่งธุรกิจร้านสะดวกซื้อจิฟฟี่ก็เป็นหนึ่งในกิจการที่จะมีการทบทวน

ผลประกอบการ บมจ. ปตท

นอกจากนี้ในส่วนธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเคมี สำรวจและผลิตปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ เทรดดิ้ง และไฟฟ้า จะต้องปรับปรุงประสิทธิภาพให้มีต้นทุนต่อหน่วยอยู่ในกลุ่มผู้ผลิตที่มีต้นทุนต่ำที่สุด 25% แรก (top quartier) พร้อมกับแสวงหาวิธีการใหม่ในการทำธุรกิจ  “Do the old business the new way…”

“สุดท้ายอยากให้มีฐานของ new s-curve เกิดขึ้น อย่างน้อยฐานความคิดของบอร์ดของคนที่เป็นผู้บริหารระดับสูง ต้องออกไปสู่สิ่งใหม่บ้าง อาจจะไม่ลงตัว ผิดพลาดบ้างไม่เป็นตามเป้าหมายบ้าง ก็ถือเป็นโปรเกรส อย่าบอกว่าเป็นความล้มเหลว และก็ต้องมีการให้รางวัลกับโปรเกรสในการพัฒนา เราไม่เรียกล้มเหลว เราจะเรียกเป็นการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ”

 

ภาพประกอบ: มังกร สรพล
คลิกอ่านบทความฉบับเต็มของ “CEO “ติดดิน” ชาญศิลป์ ตรีนุชกร” ได้จากนิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2561
ที่นี่
forbesthailand.com/people/dine-with-the-boss/ceo-ติดดิน-ชาญศิลป์-ตรีนุ.html
 

Forbes Thailand ชาญศิลป์ ตรีนุชกร

ข้อมูลและรูปจาก http://forbesthailand.com

Share This: