หุ้นทั่วไป หรือ “หุ้นไอพีโอ” IPO ของ ปตท.
ในการเสนอขายหุ้นทั่วไปครั้งแรกหรือที่นักลงทุนเรียกว่า “หุ้นไอพีโอ” มาจากคำว่า IPO ซึ่งเขียนเต็มๆว่า Initial Public Offering เป็นหุ้นที่บริษัทเสนอขายประชาชนทั่วไปครั้งแรกและไม่เคยมีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์มาก่อน ซึ่งบริษัทที่จะออกหุ้นไอพีโอต้องศึกษากฎระเบียบข้อมูลที่เกี่ยวข้องและแต่งตั้งบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน โดยที่ปรึกษาทางการเงินจะตรวจสอบคุณสมบัติของบริษัทและช่วยปรับปรุงเอกสารต่าง ๆ ตลอดจนงบการเงินที่เกี่ยวข้อง ตามหลักเกณฑ์ หลัง จากนั้นจึงมีการตั้งกรรมการตรวจสอบ จากนั้นประมาณ 2-5 เดือน ก่อนยื่นคำขอดังกล่าวต้องแปรสภาพบริษัทมหาชนจำกัด และจัดเตรียมเอกสารเพื่อยื่นขอจำหน่ายหุ้นไอพีโอสำนักคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รวมทั้งวางแผนการกำหนดราคาตลอดจนการจัดจำหน่ายหุ้นและประชาสัมพันธ์ และเมื่อถึงระยะ 1- 2 เดือนก่อนยื่นคำขอจดทะเบียนต่อตลาดหลักทรัพย์ บริษัทต้องจัดตั้งกองทุน สำรองเลี้ยงชีพ แต่งตั้งนายทะเบียนหลักทรัพย์ยื่นคำขออนุญาตขายหุ้นต่อสำนักคณะกรรมการ ก.ล.ต. ตลอดถึงเตรียมเรื่องการเยี่ยมชมกิจการและตอบข้อซักถามของสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. และเมื่อยื่นคำขออนุญาตขายหุ้นต่อตลาดหลักทรัพย์แล้วต้องเตรียมการเรื่องการเยี่ยมชมกิจการและตอบข้อซักถามของตลาดหลักทรัพย์โดยสามารถเตรียมพร้อมกันกับส่วนของ ก.ล.ต. แล้วจึงเสนอขายแก่ประชาชนได้และสามารถเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ภายใน 2 วันทำการ นับจากวันที่มีการสั่งรับหลักทรัพย์จดทะเบียน
ในการกำหนดราคาของบริษัทที่จะนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นั้นจะเป็นหน้าที่ของวาณิชธนกิจ ที่จะคำนวณราคาเหมาะสมในการ IPO โดยส่วนใหญ่จะหาค่า Intrinsic Value (มูลค่าที่แท้จริง)ก่อนโดย Dividend Discount Model (การประเมินมูลค่าหุ้นโดยการคิดลดเงินปันผล), Residual Income Model (การวัดมูลค่าหลักทรัพย์ตามวิธีกําไรส่วนเกิน) และ Discounted Cash Flow (การประเมินมูลค่าหุ้นด้วยวิธีคิดลดกระแสเงินสด) หรือ Capital Asset Pricing Model (CAPM) ซึ่งเป็นแบบจำลองความสัมพันธ์ระหว่างอัตราผลตอบแทนกับความเสี่ยง รวมทั้ง การเปรียบเทียบกับราคาหุ้นอื่น ทั้งในตลาดไทย กับ อุตสาหกรรมเดียวกัน ในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market)
ซึ่งในอดีตที่ผ่านมีข้อครหาเกี่ยวหุ้นปตท.ในเรื่องของราคาความเหมาะสมว่าราคา IPO นั้นต่ำไป และระยะเวลาในการจองซื้อที่ขายให้ประชาชนทั่วไปหมดภายในระยะเวลาอันสั้น นั้นคือ 77 วินาที ซึ่งมีประชาชนที่เป็นนักลงทุนจำนวนมากผิดหวังกับการพลาดโอกาสการจองซื้อ IPO ของ ปตท. และรายชื่อผู้ที่ได้รับจัดสรรหุ้น IPO กลับกลายเป็นนามสกุลของนักการเมืองและญาติมิตรจำนวนมาก ตอนนั้น IPO หุ้น ปตท. ขายทั้งหมด 920 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 35 บาท รวมมูลค่า 32,200 ล้านบาทในครั้งนั้น(พ.ย. 2544) วันนี้(19 ก.ย.) ปตท. มีมูลค่ามาร์เก็ตแคปสูงเป็นอันดับหนึ่งของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วยมูลค่า 1.3 ล้านล้านบาท สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ประเทศและชุมชนได้มหาศาล
และเมื่อจะมีการนำบริษัทลูกของ ปตท. คือ โออาร์ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก็จะมีกลุ่มที่เป็นขาประจำมาโจมตีในเรื่องการทำให้ประเทศชาติเสียผลประโยชน์และขายสมบัติชาติทั้ง ๆที่ ปตท. กลายเป็นบริษัทมหาชนมานานแล้ว แต่ยังคงอยู่ภายใต้กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่เกินร้อยละ 50 ของหุ้นทั้งหมด จากการอธิบายถึงวิธีการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และการกำหนดราคา รวมถึงการตรวจสอบที่เข้มงวดทุกขั้นตอน คงเป็นการยากที่จะมีการเกิดการทุจริตหรือการเอื้อผลประโยชน์แก่ใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
การที่อดีตมีข้อครหาของหุ้น ปตท. ว่าราคาหุ้น IPO ไม่เหมาะสมแต่หลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์ราคาที่ซื้อขายในกระดานกลับลงต่ำกว่าราคา IPO อยู่นาน ก็เป็นที่น่าสงสัยว่าทำไมไม่มีการพูดถึงในกรณีนี้ เพราะใครที่ไม่ได้หุ้น IPO ก็สามารถซื้อในกระดานซื้อขายได้เลย ซึ่งในการคำนวณราคาหุ้นของโออาร์คงคำนึกถึงความเหมาะสมและทำการสำรวจความต้องการ วาณิชธนกิจก็คงทำอย่างรอบคอบและพิจารณาเวลาที่เหมาะสมด้วย เพราะถ้าหากกระจายหุ้นได้ไม่หมด วาณิชธนกิจก็ต้องรับผิดชอบหุ้นจำนวณที่เหลือจากการจองเอาไว้เองทั้งหมด
ในส่วนของการกระจายหุ้นก็เป็นไปตามกฎระเบียบข้อบังคับทาง ก.ล.ต. อยู่แล้ว แต่สมัยก่อนเทคโนโลยีการสื่อสารอาจจะไม่ทันสมัย และการกระจายหุ้นที่เป็นเอกสารอาจจะทำให้เกิดข้อขัดแย้งที่ว่า ทำไมรายใหญ่ที่มีนามสกุลนักการเมือง ไฮโซบางคนได้หุ้นมากผิดปกติ แต่นั้นก็อาจจะเป็นเพราะนักลงทุนรายใหญ่รายและผู้มีรายชื่อเหล่านั้นเป็นลูกค้าโบรกเกอร์หลายๆที่ จึงมีการกันหุ้นเอาไว้ให้ ซึ่งปัจจุบันนี้เหตุการณ์เหล่านี้คงเกิดขึ้นยาก เพราะกองทุนทั้งในและต่างประเทศก็คงไม่ยอม และเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารถูกเชื่อมโยงกันสามารถตรวจสอบได้ง่ายกว่าสมัยก่อน