NGV ดีหรือด้อยอย่างไร…น่าดึงดูดแค่ไหนสำหรับผู้ใช้รถ?

การใช้ NGV นับว่ามีข้อดีหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงต่อระยะทางที่ประหยัดกว่าการใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าจำนวนสถานีบริการ NGV ในปัจจุบันที่ยังมีน้อย จัดเป็นอุปสรรคสำคัญส่งผลให้การหันมาใช้ NGV ไม่น่าดึงดูดใจเท่าที่ควร อีกทั้งนวัตกรรมทางยานยนต์มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทำให้มีคำถามว่าผู้ใช้รถควรจะเปลี่ยนมาใช้ NGV ดีหรือไม่ และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนี้ควรปรับตัวอย่างไร

การใช้ NGV ทั่วโลกนับว่าได้รับความนิยมมากขึ้น โดยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคจัดเป็นผู้นำในตลาดนี้ซึ่งมีปริมาณรถที่ใช้ NGV สูงเกินกว่า 50% ของจำนวนรถที่ใช้ NGV ทั้งหมดทั่วโลก อีกทั้งการขยายตัวของปริมาณรถที่ใช้ NGV1  ในช่วงปี 2002-2011 ของภูมิภาคนี้ก็ขยายตัวสูงสุดเฉลี่ยอยู่ที่เกือบ 40% ต่อปี ในขณะที่ทั่วโลกมีการขยายตัวเฉลี่ยที่ประมาณ 20% ต่อปี สำหรับประเทศไทยของเราก็ติด Top 10 เช่นกัน คือมีจำนวนรถที่ใช้ NGV คิดเป็น 2% ของทั้งโลกและมีการใช้ NGV ในปี 2011 เพิ่มขึ้นถึง 27% จากปีก่อนหน้า คิดเป็น 8% ของพลังงานที่ใช้ในภาคขนส่งทั้งหมดของไทย (รูปที่ 1)

รูปที่ 1: การใช้ NGV ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในภูมิภาค
เอเชียแปซิฟิค ส่วนประเทศไทยก็มีการใช้ NGV เป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เมื่อเทียบกับการใช้เชื้อเพลิงชนิดต่างๆ ของภาคขนส่ง

4529_20130219152526

แล้วปัจจัยใดผลักดันให้ NGV เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของพลังงานเชื้อเพลิงที่น่าสนใจสำหรับผู้ขับขี่ยานยนต์ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับเชื้อเพลิงอย่าง LPG

ค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงที่เกิดขึ้นต่อระยะทางการวิ่งของรถที่ใช้ NGV ต่ำกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น แม้ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของ NGV จะสูงกว่าของ LPG โดย NGV 1 กิโลกรัมทำให้รถสามารถวิ่งได้ประมาณ 15 กิโลเมตร ในขณะที่ LPG ปริมาณเท่ากันทำให้รถวิ่งได้ถึงเกือบ 21 กิโลเมตรแต่ด้วย ณ ราคาปัจจุบัน ของ NGV  และ LPG2  ที่ 10.50 และ 21.38 บาทต่อกิโลกรัม ตามลำดับ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงที่เกิดขึ้นต่อการวิ่ง 1 กิโลเมตรของรถที่ใช้ NGV อยู่ที่ราว 0.7 บาท ในขณะที่ของ LPG อยู่ที่ประมาณ 1 บาท หรืออาจกล่าวได้ว่าการใช้ NGV ประหยัดกว่า LPG 34% และประหยัดกว่าการใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่น3  เช่น แก๊สโซฮอล์และเบนซิน ราว 80-85%

NGV จัดเป็นเชื้อเพลิงที่ปลอดภัย เนื่องจากเบากว่าอากาศ เมื่อเกิดการรั่วไหลจะกระจายตัวขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศด้านบนอย่างรวดเร็ว ไม่เกิดการสะสมตัวตามพื้นล่างเหมือน LPG อีกทั้งขีดจำกัดการติดไฟและอุณหภูมิติดไฟด้วยตัวเองของ NGV ก็สูงกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น (รูปที่ 2)

รูปที่ 2: NGV จัดเป็นเชื้อเพลิงที่ปลอดภัย หากเกิดการรั่วไหลจะลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ
อย่างรวดเร็ว และการติดไฟค่อนข้างยากมาก

4530_20130219152549

ขณะเดียวกัน การใช้ NGV จะช่วยลดปัญหามลภาวะทางอากาศ ด้วยคุณสมบัติพิเศษของ NGV ที่เป็นเชื้อเพลิงสะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นที่ทราบกันดีว่า ไอเสียของรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินและดีเซล มีปริมาณฝุ่นละออง และก๊าซพิษต่างๆที่เป็นอันตรายต่อร่างกายและต่อโลกของเราปะปนเป็นปริมาณมาก การเปลี่ยนมาใช้ NGV ซึ่งมีคุณสมบัติเผาไหม้สมบูรณ์กว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น ทำให้มีปริมาณฝุ่นละอองและก๊าซพิษต่างๆ ที่ปล่อยออกมาค่อนข้างต่ำ ช่วยลดปัญหามลภาวะทางอากาศที่มีผลต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน โดยผลทดสอบมลพิษในเครื่องยนต์จาก TNO Road-Vehicles Research Institute (Holland)พบว่า เมื่อใช้ NGV เป็นเชื้อเพลิง จะสามารถลดปริมาณคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ได้ถึง 60% และลดปริมาณออกไซด์ของไนโตรเจน (NOX) ได้ 13% เมื่อเทียบกับการใช้น้ำมันเบนซิน อีกทั้งคุณภาพไอเสียของรถที่ใช้ NGV เป็นเชื้อเพลิงก็ถือว่าดีกว่าการใช้ LPG เช่นกัน

แต่เมื่อพิจารณาด้านความสะดวกในการเข้าถึงสถานีบริการ การเปลี่ยนมาใช้ NGV อาจยังไม่สามารถตอบสนองความพึงพอใจของผู้ใช้รถได้มากนัก ปัจจุบันประเทศไทยมีสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงประมาณ 21,000 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ ในขณะที่มีสถานีบริการ NGV เพียง 474 สถานี (รูปที่ 3) อย่างในเขตกรุงเทพมหานครเราจะสามารถพบสถานีบริการน้ำมัน และสถานีบริการ LPG ได้เฉลี่ยทุกๆ 2 ตารางกิโลเมตร และ 6 ตารางกิโลเมตร ตามลำดับ แต่ของ NGV จะใช้ระยะทางไกลถึงกว่า 12 ตารางกิโลเมตร ส่งผลให้รถที่ใช้ NGV ยังคงเผชิญความยากลำบากในการหาสถานีบริการ อีกทั้งตามกฎกระทรวงพลังงานก็ระบุไม่ให้มีการเปิดสถานีบริการ NGV ในเขตชุมชน เช่น โรงพยาบาล, โรงเรียน, ศูนย์การค้าฯลฯ และสถานีฯ จะต้องมีระยะห่างจากสถานที่ดังกล่าวไม่น้อยกว่า 60 เมตรรวมทั้งต้องมีพื้นที่จำนวนมากเพื่อก่อสร้างอาคารคอมเพรสเซอร์และให้รถขน ส่งก๊าซ NGV สามารถเข้า-ออกและกลับรถภายในสถานีฯ ได้ ประกอบกับต้นทุนในการลงทุนสร้างสถานีบริการ NGV สูงกว่าสถานีบริการ LPG ราว 1-2 เท่า ก็ยิ่งทำให้การขยายการเปิดสถานีฯ เผชิญอุปสรรคมากขึ้นจากข้อจำกัดเหล่านี้

นอกจากนี้ ค่าติดตั้งอุปกรณ์ NGV สำหรับเครื่องยนต์เบนซินและดีเซลสำหรับรถยนต์ทั่วไป (Light Duty Vehicle) ที่นับว่าค่อนข้างสูงอยู่ที่ 38,000-65,000 บาท เมื่อเทียบกับค่าติดตั้งอุปกรณ์ LPG ที่ประมาณ 15,000-43,000 บาท ประกอบกับความจุของตัวถัง NGV ที่บรรจุเชื้อเพลิงได้น้อยกว่า LPG ส่งผลให้ผู้ใช้ NGV ต้องเข้าสถานีฯ เพื่อเติมเชื้อเพลิงถี่กว่าทั้งๆ ที่มีสถานีฯ รองรับน้อยกว่า ขณะเดียวกัน พบว่าการเข้าใช้บริการในสถานีฯ แต่ละครั้งจะต้องรอคิวค่อนข้างนานถึงกว่าครึ่งชั่วโมง4  จึงไม่น่าแปลกใจที่การเปลี่ยนมาใช้ NGV อาจไม่น่าดึงดูดสำหรับใครหลายๆ คน

รูปที่ 3: ปัจจุบันประเทศไทยมีสถานีบริการ NGV เพียง 474 สถานี ในขณะที่จำนวน
สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงสูงถึงประมาณ 21,000 แห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ
สะท้อนถึงความไม่สะดวกในการเข้าถึงสถานีบริการ NGV

4534_20130219152800

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของภาคขนส่งเชิงพาณิชย์ การปรับเปลี่ยนมาใช้ NGV ยังนับว่าคุ้มค่า เนื่องด้วยการเดินรถโดยสารมีเส้นทางที่แน่นอน หรือมีแผนการขนส่งสินค้าไปยังจุดต่างๆ อย่างชัดเจน ทำให้ผู้ประกอบการด้านขนส่งเชิงพาณิชย์สามารถวางแผนหรือกำหนดพื้นที่ที่จะ เข้าใช้บริการสถานีบริการ NGV ได้อย่างชัดเจน จึงไม่ได้รับผลกระทบในการเข้าถึงสถานีบริการที่มีจำนวนค่อนข้างน้อยใน ปัจจุบัน อีกทั้ง ณ ค่าพลังงานที่เท่ากัน ระดับราคา NGV ที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ ก็ยิ่งมีส่วนจูงใจให้รถขนส่งเชิงพาณิชย์หันมาใช้ NGV

นอกจากนี้ นวัตกรรมทางยานยนต์ที่พัฒนาอย่างรวดเร็วท่ามกลางกระแสอนุรักษ์พลังงานโลก ทำให้รถ Hybrid และ Electric น่าจะก้าวเข้ามาเป็นรถแห่งอนาคตที่ได้รับความนิยมมากกว่ารถที่ใช้เชื้อเพลิง ฟอสซิลอย่าง NGV สังเกตได้ว่าการออกแบบเทคโนโลยียานยนต์ในระยะหลัง มุ่งเน้นด้านการประหยัดพลังงานโลกอย่างมาก โดยจากการศึกษาของ International Energy Association (IEA) ได้ข้อสรุปว่า ตั้งแต่ปี 2020 ยอดขาย Electric vehicles และ Hybrid vehicles จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (รูปที่ 4) ในขณะที่ปริมาณการขาย Fossil fuel vehicles เช่น รถที่ใช้ดีเซล เบนซิน LPG และ NGV กลับเดินสวนทิศทาง โดยคาดการณ์ว่ายอดขายรถดังกล่าวจะทยอยปรับลดลงอย่างช้าๆ

รูปที่ 4: รถ Hybrid และ Electric มีแนวโน้มก้าวเข้ามาเป็นรถแห่งอนาคต

4532_20130219152630

ขอบคุณที่มาจาก: http://www.scbeic.com/THA/document/note_20130219_ngv/

Share This: