ปตท.ตั้งโต๊ะเคลียร์ เงินเดือนข้าราชการ บอร์ด ปตท. ปัดกินเงินเดือน13ล้าน

หยุดข้อมูลบิดเบือน เงินเดือนซีอีโอ ปตท ไม่ได้สูงเกือบ 5 ล้านบาทอย่างที่คิด

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ชื่อว่าเป็นบริษัทที่อยู่ในความนิยมอันดับต้นๆ เป็นที่ที่หลายคนใฝ่ฝันอยากทำงาน ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่แก่กล้าด้วยวัยวุฒิและคุณวุฒิ เพื่อมาในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง และคณะกรรมการ (บอร์ด ) และผู้ที่ยังเพิ่งเริ่มวัยทำงาน เพราะผลตอบแทนสูง เพราะมีทั้งเงินเดือน โบนัส ค่าเบี้ยประชุม หุ้น สิทธิในการซื้อหุ้นสามัญ (Warrant) และสวัสดิการ รวมไปถึง ค่าเช่าบ้าน ค่าปฏิบัติงานต่างจังหวด และค่าล่วงเวลา ข้อมูลเหล่านี้ปรากฏชัดเจนในหนังสือรายงานประจำปีของปตท. 2550 ที่ระบุว่า ได้จ่ายผลตอบแทนให้กรรมการบริษัทซึ่งมีงานหลักในการประชุมรวมทั้งสิ้นประมาณ 42 ล้านบาท (ตาราง”42 ล้านบาทเบี้ยประชุม โบนัส กรรมการ”) โดยมีโอฬาร ไชยประวัติ ซึ่งปัจจุบันมีตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยชินวัตร และประธานกรรมการตรวจสอบ บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด และสุชาติ ธาดาธำรงเวช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง อดีตที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของนายกรัฐมนตรี (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) ด้านเศรษฐกิจ (ปี 2547-2549) ได้รับสูงสุดคนละกว่า 3 ล้านบาท (ตาราง “เบี้ยประชุม โบนัส กรรมการจัดสรรลงตัว”)

ทั้งนี้ ผู้ที่เป็นกรรมการมีรายได้ประจำแน่นอนคือ เบี้ยกรรมการรายเดือน 30,000 บาท หากประชุมได้อีกครั้งละ 20,000 บาท กรรมการคนใดที่เป็นกรรมการในชุดอื่นด้วยจะได้เบี้ยกรรมการและเบี้ยประชุมมากขึ้นตามลำดับ ส่วน เงินโบนัสจะคิดจากอัตรากำไรของบริษัท เท่ากับ 0.05% ของกำไรสุทธิ

นอกจากนี้ คณะกรรมการ ปตท. ยังประชุมครั้งที่ 11/2550 มีมติเห็นชอบประเมินผลงานของตัวเอง 3 ประเด็นคือ 1.ประเมินทั้งคณะได้คะแนน 90.39% 2.ประเมินรายบุคคล (ประเมินด้วยตัวเอง) ได้คะแนน เฉลี่ย 96.25% และ3.ประเมินรายบุคคล (ประเมินกรรมการคนอื่น) ได้คะแนนเฉลี่ย 98.10% โดยมีเกณฑ์ที่ใช้ประเมิน เช่น การมีวิสัยทัศน์ สร้างมูลค่าเพิ่มแก่กิจการ และการมีจริยธรรม จรรยาบรรณในการประกอบธุรกิจ ซึ่งคณะกรรมการตั้งเกณฑ์ไว้ว่าหากได้คะแนนมากกว่า 85% ถือว่าผลงาน “ดีเยี่ยม” มากกว่า 75% เท่ากับ “ดีมาก” ลดหลั่นลงมา หากต่ำกว่า 50% คือต้องปรับปรุง ซึ่งคะแนนเหล่านี้จะมีผลต่อการจ่ายผลตอบแทน

ข้าราชการ บอร์ด “ปตท.”
จากผลประโยชน์ของบอร์ดเหล่านี้ ทำให้เกิดคำถามว่าโครงสร้างการบริหาร ปตท. และบริษัทลูก ที่ให้ผู้บริหารหน่วยงานราชการที่กำกับดูแลกิจการด้านพลังงาน เข้ามาเป็นประธานและคณะกรรมการเหมาะสมหรือไม่ เพราะผู้บริหารหน่วยงานราชการมีภารกิจต้องรักษา และปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน ขณะที่ต้องสวมอีกใบหนึ่งในการเป็นผู้บริหารสูงสุดของบริษัทที่ต้องสร้างประโยชน์ให้บริษัท และทำกำไรสูงสุดเพื่อผู้ถือหุ้น โดยมีผลพลอยได้คือผลตอบแทนจากส่วนแบ่งของกำไรที่เกิดขึ้นในแง่ของโบนัสกรรมการ

ข้อมูลที่ปรากฏทั้งในหนังสือรายงานประจำปี ปตท. 2550 รวมไปถึงข้อมูลที่รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ และประกาศของราชการ ปรากฏว่ามีคณะกรรมการ ปตท. และบริษัทลูก มาจากหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลกิจกรรมการพลังงานของชาติ (ตาราง : คนของรัฐกับการเป็นบอร์ด ปตท. และบริษัทลูกปัจจุบัน) เช่น บางคนเป็นปลัด และรองปลัดของกระทรวงพลังงาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งบางคนมาจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีกรรมการเป็นผู้แทนจากคณะรัฐมนตรี และหน่วยงานราชการ ซึ่ง กพช. มีอำนาจหน้าที่สำคัญข้อหนึ่ง คือ การกำหนดราคาพลังงาน จำนวนนี้ได้เป็นบอร์ด ปตท. ชุดปัจจุบันถึง 4 คน คือ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และบางคนมีตำแหน่งอยู่ในบริษัทลูก ปตท.

 

Share This: