ข้อเท็จจริง: ทวงคืน ท่อก๊าซ l ปตท. คืนท่อก๊าซไม่ครบ (ตอน1)

ทวงคืน ท่อก๊าซ / ปตท. คืนท่อก๊าซไม่ครบ 

ปตท.คืนท่อก๊าซไม่ครบ
อันที่จริงประเด็นเรื่อง ปตท. คืนท่อก๊าซให้รัฐครบหรือไม่นั้น เป็นประเด็นเดิมที่พูดถึงกันอยู่เนืองๆ แต่ช่วงหลังโดยเฉพาะหลังจาก คสช. ได้ยึดอำนาจ ประเด็นเรื่องการทวงคืน ท่อก๊าซ ดูเหมือนจะถูกหยิบยกมาเล่น ไม่ต่างจากเกมการเมืองอย่างไม่รู้จบ นั่นอาจเพราะคาดหวังให้ คสช. ใช้อำนาจโดยตรงโดยไม่ต้องผ่านศาล ซึ่งท้ายที่สุดแล้วศาลก็ตัดสินว่า ปตท. คืนท่อก๊าซ ครบแล้วและจำหน่ายคดีท่อก๊าซออกจากสารบบไปแล้วตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558 แต่กระนั้นเหมือนว่า “คำตัดสินศาล” จะไม่อาจหยุดความต้องการในการทวงท่อก๊าซ จากกลุ่มคนบางกลุ่มได้
กลายเป็นการดีเบตวาทะของกลุ่มคน 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งบอกว่าคืนไม่ครบต้องคืนทุกท่อก๊าซปตท. อีกฝ่ายเชื่อถือคำสั่งศาล ซึ่งอันที่จริงเรื่องนี้ไม่ได้มีความซับซ้อนเกินกว่าจะเข้าใจ เพียงแต่ด้วยการให้ข้อมูลแบบขาดๆ หายๆ หรือข้อมูลไม่ครบ ส่งผลให้ผู้ที่คอยติดตามเกิดความสับสนและเข้าใจเรื่องราวผิดไปจากข้อเท็จจริง

“จุดเริ่มต้น ภายหลังจากที่ได้มีการแปรสภาพการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ไปเป็นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2544 เพื่อเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ต่อมา วันที่ 31 สิงหาคม 2549 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกับพวกรวมห้าคน ได้ดำเนินการยื่นฟ้องคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ต่อศาลปกครองสูงสุด ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนพระราชกฤษฎีกาในกระบวนการแปลงสภาพการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เป็นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ขอให้ ปตท. กลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจที่ชื่อว่าการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเหมือนเดิมนั่นเอง ซึ่งต่อมา ปตท. ก็ได้ร้องขอให้ตัวเองเข้ามาเป็นผู้ถูกฟ้องคดีอีกคนหนึ่ง เพราะผลแห่งคดีที่เกิดขึ้น ปตท. ย่อมเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ หาใช่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามคนไม่

คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาออกมาในวันที่ 14 ธันวาคม 2550 สรุปได้ดังนี้
1. ให้ยกคำขอตามคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีที่ขอให้เพิกถอนพระราชกฤษฎีกาฯ ที่เกี่ยวกับการแปรรูป หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ให้ ปตท. ยังคงเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ ต่อไป ไม่ต้องถูกเพิกถอนกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจที่ชื่อว่า การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย
2. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีร่วมกันแบ่งแยกทรัพย์สินส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และสิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งให้แยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของบริษัทฯ

มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 18 ธันวาคม 2550 (รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์)

เมื่อศาลปกครองสูงสุด คดีคืนท่อก๊าซ ได้มีคำพิพากษาเช่นนี้แล้ว ต่อมา ก็ได้มีการประชุมร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง กรมธนารักษ์ กรมสรรพากร สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นต้น เพื่อเสนอแนวทางการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลต่อคณะรัฐมนตรี โดยมีมติเห็นชอบเกี่ยวกับคำพิพากษา 5 เรื่องด้วยกัน คือ

1. รับทราบคำวินิจฉัยและคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด

2. เห็นชอบหลักการแบ่งแยกทรัพย์สินอำนาจและสิทธิของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยที่จะให้เป็นของกระทรวงการคลัง และมอบหมายให้กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลังรับไปดำเนินการ โดยให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง หากมีข้อโต้แย้งทางด้านกฎหมายเกี่ยวกับการตีความคำพิพากษาในการดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณา

3. มอบหมายให้กระทรวงการคลัง โดยกรมธนารักษ์รับไปดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์ในการคิดอัตราเช่าในส่วนของทรัพย์สินระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ

4. มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมที่ดินรับไปพิจารณาเรื่องค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนเช่าทรัพย์สิน

5. มอบหมายให้กระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย รับไปพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาระภาษีที่เกิดขึ้น

จะเห็นว่า จากมติคณะรัฐมนตรีข้างต้นนี้ ได้กำหนดให้หน่วยงานต่างๆ ที่มีหน้าที่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ดังนี้
– กระทรวงพลังงานร่วมกับกระทรวงการคลัง มีหน้าที่ดำเนินการตามหลักการแบ่งแยกทรัพย์สิน
– สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน มีหน้าที่ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง
– สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มีหน้าที่ตีความคำพิพากษาในการดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สิน
– กรมธนารักษ์ มีหน้าที่ดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์ในการคิดอัตราเช่า
– กรมที่ดิน มีหน้าที่พิจารณาเรื่องค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนเช่า
– กระทรวงการคลังร่วมกับกระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่พิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาระภาษี

หลักการแบ่งแยกทรัพย์สินตามมติคณะรัฐมนตรีและคำพิพากษา
1. ที่ดินที่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยได้มาโดยการใช้อำนาจเวนคืน (อสังหาริมทรัพย์ใดที่ได้มาจากการเวนคืนย่อมเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน – ผู้เขียน)
2. สิทธิการใช้ที่ดินเหนือที่ดินของเอกชน (การรอนสิทธิ – ผู้เขียน) โดยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยจ่ายค่าทดแทน
3. ท่อส่งก๊าซธรรมชาติและอุปกรณ์ ที่อยู่ในที่ดินตามข้อ 1 และข้อ 2

…มาถึงตอนนี้อาจมีหลายคนคงสงสัยว่า การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยที่ว่านี้ ใช้อำนาจตามกฎหมายอะไรไปเวนคืนหรือใช้สิทธิเหนือที่ดินของคนอื่นเขา? คืออย่างนี้ครับ ก่อนที่จะมีการแปรรูปเป็นบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เรามีกฎหมายที่เรียกว่า พระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2521 (ตอนหลังได้ยกเลิกไปพอมีบริษัท ปตท.) ซึ่งมาตรา 30 ได้ให้อำนาจการปิโตรเลียมฯ ในการใช้ที่ดินของบุคคลใดเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อได้ แต่ต้องจ่ายค่าทดแทนให้บุคคลนั้นตามมาตรา 31 และมาตรา 38 ได้ให้อำนาจการปิโตรเลียมในการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์หากจำเป็น โดยให้ใช้กฎหมายเวนคืนมาปรับใช้ หลักการอันนี้ก็เป็นหลักการประเภทเดียวกับการใช้อำนาจในการวางรางรถไฟของการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือการวางเสาส่งไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยนั่นเอง นักกฎหมายจะเรียกกันว่า “การใช้อำนาจมหาชน” ซึ่งเป็นอำนาจของรัฐในการบังคับบุคคลอื่นให้ต้องยินยอมตาม ที่องค์กรเอกชนไม่สามารถมีอำนาจที่ว่านี้ได้… (อ่านต่อ)

Share This: