พลังงานไทย เพื่อคนไทย (จริงๆ) – กลุ่มประเทศ OPEC คือใคร? ประเทศไทยเทียบชั้นได้?
ในช่วงเวลานี้ มีกลุ่มที่เราเรียกว่า กลุ่มทวงคืนพลังงานไทย หรือ กลุ่มทวงคืน ปตท. นั้น ได้มีความพยายามสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจกันผิดๆว่า “ปตท ทรราชน้ำมันและเรายังมีน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติมหาศาล สามารถผลิตได้มากกว่ากลุ่มประเทศ OPEC บางประเทศเสียอีก” โดยบอกเป็นนัยๆว่า กลุ่มประเทศ OPEC นั้นเป็นประเทศส่งออกปิโตรเลียมรายใหญ่ ประชาชนจึงคล้อยตามกันว่า จริงๆประเทศไทยนั้นมีปิโตรเลียมมหาศาลจริงๆ ดังนั้นเราจึงต้องทำความเข้าใจกันให้ถ่องแท้ว่า ประเทศกลุ่ม OPEC ที่ว่านั้นคือใครกันแน่?
OPEC ย่อมาจาก Organization of the Petroleum Exporting Countries ถ้าแปลตรงตัวก็แปลว่า องค์การประเทศผู้ส่งออกปิโตรเลียม แต่โดยพฤตินัยแล้ว หมายถึงประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบนะครับ เพราะประเทศยักษ์ใหญ่แห่งก๊าซธรรมชาติอย่างรัสเซียที่มีปริมาณสำรองและการส่งออกก๊าซธรรมชาติมากที่สุดในโลกนั้น ก็ไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศ OPEC นะครับ จึงต้องเรียกกลุ่ม OPEC ว่าเป็น “องค์การประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก” โดยปริยาย ถ้ามีใครไปเปรียบเทียบการผลิตก๊าซธรรมชาติของประเทศไทยหรือบอกว่า ปตท ทรราชน้ำมันกับพวกกลุ่มประเทศ OPEC อย่างเช่น เอกวาดอร์ คูเวต อังโกลา อิรัก หรือ ลิเบีย เป็นต้น แล้วบอกว่าเราผลิตมากกว่าเค้าอย่างนี้อย่างนั้น ประเทศไทยจึงเป็นประเทศที่มีปิโตรเลียมมหาศาล!!! อย่าไปหลงเชื่อนะครับ ว่าประเทศไทยมีปิโตรเลียมมหาศาลเทียบเท่าประเทศกลุ่ม OPEC เพราะประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศนำเข้าทั้งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบนะครับ เนื่องจากเรามีการบริโภคที่มากกว่าที่ผลิตได้นั่นเอง และกลุ่มประเทศ OPEC เค้าไม่เน้นผลิตและส่งออกก๊าซธรรมชาติ เค้าเน้นการผลิตและส่งออกน้ำมันดิบครับ ผมจะเล่าประวัติศาสตร์อย่างย่อสุดๆของกลุ่มประเทศ OPEC ดังนี้นะครับ
ประเทศกลุ่ม OPEC ได้ก่อตั้งจากการประชุมที่กรุงแบกแดด ประเทศอิรัก เมื่อวันที่ 11-14 กันยายน 1960 โดย 5 ประเทศยักษ์ใหญ่แห่งวงการปิโตรเลียมคือ ประเทศซาอุดิอาระเบีย อิหร่าน อิรัก คูเวต และ เวเนซูเอล่า เพื่อความร่วมมืออย่างมีเอกภาพทางด้านนโยบายน้ำมัน ด้านการควบคุมราคาน้ำมันไม่ให้ผันผวน ด้านเศรษฐกิจที่จะผลิตน้ำมันเป็นแหล่งพลังงานของทุกประเทศที่ใช้น้ำมันด้วยผลตอบแทนที่เป็นธรรมในการลงทุนในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม หลังจากนั้นก็มีอีก 9 ประเทศขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกดังนี้ กาตาร์ (1961) อินโดนีเซีย (1962-2009) ลิเบีย (1962) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (1967) แอลจีเรีย (1969) ไนจีเรีย (1971) เอลกวาดอร์ (1973-1992, 2007-ปัจจุบัน) กาบอง (1975-1994) อังโกลา (2007)
ต่อมาประเทศเอลกวาดอร์ขอลาออกในปี 1992 แล้วก็กลับมาเป็นสมาชิกอีกครั้งในปี 2007 ส่วนประเทศกาบองได้ขอลาออกในปี 1994 และประเทศอินโดนีเซียลาออกในปี 2009 เนื่องจากกลายเป็นประเทศนำเข้าน้ำมันไปแล้ว ทำให้เหลือประเทศสมาชิกในปัจจุบัน 12 ประเทศ
รูปที่ 1: แผนที่ประเทศกลุ่มโอเปกในปัจจุบัน
ในช่วงแรกกลุ่ม OPEC มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้อยู่ 5 ปี ก็ย้ายที่ทำการไปอยู่ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ในวันที่ 1 กันยายน 1965 โดยช่วงเวลานั้นเป็นช่วงสิ้นสุดยุคล่าอาณานิคม มีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของโลก และมีการก่อตัวรัฐอิสระเป็นประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ จึงมีการใช้น้ำมันดิบเพิ่มขึ้นอย่างมากเพื่อพัฒนาและฟื้นฟูประเทศ ในเวลานั้นวงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมได้มีกลุ่มบริษัทข้ามชาติที่ทรงอิทธิพลที่สุดในยุคนั้นเรียกกันว่า “Seven Sisters” มีทั้งหมด 7 บริษัท ได้แก่ Esso, Shell, BP, Mobil, Chevron, Gulf Oil, และ Texaco (ปัจจุบันเหลือเพียง 4 บริษัท คือ BP, Shell, Chevron และ ExxonMobil เนื่องจาก Gulf Oil ขายกิจการส่วนใหญ่ให้ Chevron และขายกิจการส่วนที่เหลือให้ BP สำหรับ Texaco นั้นขายกิจการให้ Chevron และสุดท้าย Esso กับ Mobil ควบรวมกิจการกลายเป็น ExxonMobil)
รูปที่ 2: บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ กลุ่ม “Seven Sisters”
ทางกลุ่ม OPEC นั้นได้ตระหนักว่า การขุดเจาะสำรวจน้ำมันของประเทศสมาชิกได้ถูกครอบงำด้วยบริษัทข้ามชาติเหล่านี้ ทำให้รัฐที่เป็นเจ้าของทรัพยากรนั้นได้ค่าภาคหลวงและผลประโยชน์เป็นส่วนน้อย ทำให้เกิดความร่วมมือกันของเหล่าประเทศสมาชิก OPEC เพื่อจุดประสงค์สำคัญหลายประการในระยะเริ่มแรกดังนี้
- เจรจาแก้ไขผลประโยชน์รัฐกับกลุ่มบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ที่ทำการขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศกลุ่มสมาชิก เพื่อเพิ่มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกและชดเชยการอ่อนค่าของค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ
- เพื่อปกป้องผลประโยชน์และสิทธิอันชอบธรรมในทรัพยากรปิโตรเลียมของเหล่าประเทศสมาชิกจากผู้รับสัมปทานต่างชาติต่างๆ โดยสร้างอำนาจต่อรองในการยึดครองหรือโอนกิจการปิโตรเลียมกลับมาเป็นของรัฐ
- เพื่อที่จะได้ร่วมมือกันและมีอำนาจในการควบคุมราคาและกำหนดราคาน้ำมันในตลาดโลก
ในปี 1973-1985 เป็นช่วงเวลาที่กลุ่มประเทศ OPEC ได้ออกนโยบายที่เรียกว่า “Official Selling Price (OSP)” คือกลุ่มประเทศ OPEC รวมหัวกันกำหนดราคาน้ำมันกันเอง ทำให้ช่วงระยะเวลานี้ราคาน้ำมันดิบเพิ่มสูงขึ้นจาก $3 ต่อบาร์เรล เป็น $30 ต่อบาร์เรล ส่งผลทำให้อุปสงค์ หรือความต้องการน้ำมันดิบลดลงอย่างมาก เพราะราคาไม่ยุติธรรม ทำให้ส่วนแบ่งการตลาดของกลุ่ม OPEC จากเดิมที่เคยมีอยู่ 2 ใน 3 ลดลงเหลือ 1 ใน 3 เท่านั้น สุดท้ายกลุ่ม OPEC จึงต้องยกเลิกระบบ OSP ไปโดยปริยาย เพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดที่ควรจะเป็น ทำให้ราคาน้ำมันดิบลดลงเหลือราวๆ $18 ต่อบาร์เรล
ต่อมาในช่วงปี 1986 – 1993 นั้นทางกลุ่ม OPEC ได้พยายามปรับเปลี่ยนการควบคุมตลาดน้ำมันด้วยวิธีการต่างๆ หลังจากวิธีการ OSP นั้นไม่ประสบความสำเร็จ ก็ใช้วิธีการควบคุมอัตราผลผลิตแทน เมื่อเวลาราคาน้ำมันสูงขึ้น ก็จะผลิตน้ำมันดิบออกมาเยอะๆเพื่อขายให้ได้เงินเยอะๆ พอราคาน้ำมันต่ำลงก็จะผลิตน้ำมันออกมาน้อยๆเพื่อเก็บรักษาปริมาณสำรองเอาไว้เพื่อควบคุมระดับราคาไม่ให้ตกต่ำมากไปกว่าเดิม ช่วงนี้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์จะแกว่งตัวอยู่ในช่วง $14-21 ต่อบาร์เรล
ในช่วงกลางปี 1993 ก็ได้เกิดระบบโควต้า เพื่อทำให้ราคาน้ำมันดิบแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยจะกำหนดปริมาณการผลิตของสมาชิก OPEC ในแต่ละประเทศที่เหมาะสมกับความต้องการของโลกและมีกำหนดการลดอัตราการผลิตน้ำมันดิบของแต่ละกลุ่มประเทศสมาชิกในขณะที่ราคาน้ำมันมีแนวโน้มที่จะตกต่ำ เพื่อรักษาราคาน้ำมันดิบให้อยู่ในระดับที่ต้องการ แต่แล้วในปี 1996 ก็เกิดวิกฤตการณ์ขาดแคลนน้ำมันดิบ ทำให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์สูงขึ้นไปถึงระดับ $25 ต่อบาร์เรล เนื่องจากการคว่ำบาตรประเทศอิรัก ความต้องการน้ำมันดิบของโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โรงกลั่นหลายแห่งต้องปิดซ่อมบำรุง ทำให้กลุ่มประเทศ OPEC ต่างฝ่ายต่างเพิ่มอัตราการผลิตจนเกินโควต้าของตัวเอง ผนวกกับการเกิดเหตุการณ์ต้มยำกุ้งหรือวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศไทยที่ทำให้เศรษฐกิจของโลกถอดถอย ทำให้ความต้องการน้ำมันลดลงอย่างมาก รวมถึงประเทศนอกกลุ่ม OPEC ก็เริ่มมีความสามารถในการผลิตน้ำมันดิบได้เองแล้ว ดังนั้นราคาน้ำมันดิบเบรนท์จึงตกต่ำลงไปถึง $11 ต่อบาร์เรล ทำให้หลุมน้ำมันหลายหลุมที่ต้นทุนสูงต้องหยุดการผลิตไปเลย
กลุ่มประเทศ OPEC ไม่รอช้า ก็รีบทำการเจรจากับประเทศนอกกลุ่ม OPEC ที่เรียกว่า NON-OPEC producers เช่น ประเทศนอร์เวย์ เม๊กซิโก โอมาน และรัสเซีย ในปี 1997 ที่จะลดกำลังการผลิตลง เพื่อรักษาราคาน้ำมัน จนราคาน้ำมันทะยานไปที่ $27 ต่อบาร์เรล ในปี 2000 และเป็น $30 ต่อบาร์เรลในปี 2001
รูปที่ 3:สถิติราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ปี ค.ศ. 1988-2013 (ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ทำราคาปิดสูงที่สุดในวันที่ 11 กรกฎาคม ค.ศ. 2008 ที่ $145/bbl
แต่แล้วในปี 2004 นั้นบทบาทของกลุ่ม OPEC ได้ถูกลดอิทธิพลโดยยักษ์ใหญ่แดนมังกร ประเทศจีน ที่ตั้งเป้าจะเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก ปี 2008 นั้น ได้มีการกระตุ้นเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมครั้งใหญ่ ทำให้มีการเปิดตลาดแรงงานครั้งใหญ่ในประเทศจีน เพราะประเทศจีนได้เปรียบในด้านแรงงานราคาถูก ทำให้เกิดการผลิตครั้งใหญ่มหึมา มีความต้องการพลังงานสูงมาก ทำให้กลุ่ม OPEC ไม่สามารถรักษาเพดานราคาน้ำมันได้ ทั้งๆที่ผลิตน้ำมันเต็มกำลังการผลิตแล้วก็ยังไม่สามารถส่งออกน้ำมันดิบได้เพียงพอกับความต้องการของโลกรวมทั้งจีนได้ ทำให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ทะยานสูงสุดที่ $145 ต่อบาร์เรล ในเดือน กรกฎาคมปี 2008 เกิดส่วนแบ่งตลาดน้ำมันดิบจากประเทศนอกกลุ่ม OPEC มากมายที่สามารถพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในระดับราคานี้
ต่อมาได้เกิดเหตุการณ์วิกฤติเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา หรือ แฮมเบอร์เกอร์ขึ้น ธุรกิจ อุตสาหกรรม และเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างแรง ทำให้ความต้องการพลังงานของโลกลดลงอย่างมาก ราคาน้ำมันจึงดิ่งลงมาเหลือประมาณ $35 ต่อบาร์เรล เป็นจุดที่ทำให้ประเทศกลุ่ม OPEC กลับมามีบทบาทและอิทธิพลเหนือตลาดน้ำมันโลกอีกครั้ง และราคาน้ำมันดิบก็สูงขึ้นอยู่ในระดับประมาณ $95-100 ต่อบาร์เรล ตามความต้องการที่จะรักษาส่วนแบ่งตลาดของกลุ่ม OPEC ในปัจจุบัน
เนื่องจากน้ำมันดิบเป็นแหล่งพลังงานและวัตถุดิบหลักที่เป็นที่ต้องการของที่ประเทศในโลก จึงทำให้ประเทศในกลุ่ม OPEC มีอิทธิพลในด้านเศรษฐกิจและการเมืองของโลก ถ้าอยู่ๆวันนึงประเทศกลุ่ม OPEC นี้ไม่ปล่อยน้ำมันดิบออกมา จะมีผลต่อเศรษฐกิจของโลกในทันที อย่างไรก็ตาม การดำเนินการด้วยระบบโควต้าที่ยังใช้อยู่ในปัจจุบันนั้นกลับไม่ค่อยมีเอกภาพเท่าที่ควร เพราะสภาพของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน เช่นประเทศซาอุดิอาระเบีย คูเวต กาตาร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นั้นเป็นประเทศที่ร่ำรวยก็เลยสามารถปฏิบัติตามโควต้าได้อย่างเคร่งครัด ขณะที่ประเทศที่ยังยากจนอย่างประเทศไนจีเรีย รวมถึงประเทศที่มีปัญหาทางการเมืองและต้องการฟื้นฟูประเทศอย่าง ประเทศอิรัก ประเทศอิหร่าน ก็อาจจะมีการส่งออกเกินโควต้าเพื่อหารายได้เข้าประเทศเพิ่มเติม จึงทำให้เสถียรภาพของราคาน้ำมันดิบบางช่วงผันผวนและตกต่ำได้
จะเห็นได้ว่า จุดประสงค์หลักที่ผ่านมาของกลุ่มประเทศ OPEC ก็คือต้องการรักษาอำนาจต่อรองในการควบคุมและรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันดิบโลก เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มประเทศสมาชิกที่มีน้ำมันดิบเป็นสินค้าออกหลัก และเพื่อให้ประเทศในกลุ่มสมาชิกสามารถรักษาส่วนแบ่งการตลาดของโลกในระดับสูงและใช้เป็นอำนาจในการต่อรองเรียกร้องการเก็บผลประโยชน์ค่าภาคหลวงและภาษีในประเทศของตัวเองในอัตราที่สูงได้
รูปที่ 4: สัดส่วนของปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่พิสูจน์แล้ว (Proven Reserves) ของโลก โดยแยกสัดส่วนเป็น 1.กลุ่มประเทศโอเปก 2.นอกกลุ่มประเทศโอเปก (ไม่รวมประเทศไทย) 3. ประเทศไทย ประจำปีพ.ศ. 2555
ขอขอบคุณบทความดีๆจากคุณ Siriwat Vitoonkijvanich