ปตท.กับรางวัล “องค์กรโปร่งใส” จากป.ป.ช. ลบล้างภาพการทุจริต
จากกระแสการโจมตีเรื่องราคาพลังงานงานจากกลุ่มคนบางกลุ่ม เพื่อหวังประโยชน์จากการกดดันให้ได้ใช้พลังงานราคาถูก โดยไม่สนผลกระทบที่จะตามมา ลามไปถึงการดิสเครดิตองค์กรด้วยการตั้งข้อสงสัยเรื่องธรรมาภิบาลและการทุจริต ซึ่งวาทะกรรมเหล่านี้ ได้สร้างความเข้าใจผิดให้กับหลายคนที่ติดตามเรื่องพลังงานในโลกโซเชียล
มองอย่างเป็นกลาง ปตท. คือองค์กรหนึ่งที่ได้รับรางวัลที่เกี่ยวข้องกับความโปร่งใสและธรรมาภิบาลมากมายมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา อย่างในปี 2019 นี้ เราก็ยังได้เห็นข่าว การได้รับรางวัลด้านธรรมาภิบาลจาก ป.ป.ช. แสดงให้เห็นถึงการดำเนินการอย่างโปร่งใส และลบล้างภาพการทุจริต กับ ปตท. ได้เป็นอย่างดี
…สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) โดยพลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ได้ให้เกียรติมอบรางวัล “องค์กรโปร่งใส” ครั้งที่ 8 แก่ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อเป็นเกียรติยศแห่งคุณธรรม จริยธรรม และความซื่อสัตย์สุจริตแก่องค์กรที่ยึดมั่นในนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี บริหารจัดการด้วยหลักธรรมาภิบาล รวมทั้งมุ่งมั่นดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ณ สำนักงาน ป.ป.ช.
ทั้งนี้นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผยว่า รางวัลนี้เป็นรางวัลอันทรงเกียรติ และทรงคุณค่าอย่างยิ่งขององค์กร ซึ่งต้องขอขอบคุณคณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคนที่ได้ร่วมกันดำเนินงาน โดยยึดหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ความซื่อสัตย์สุจริต ความโปร่งใสและชัดเจนในทุกขั้นตอน และสร้างความไว้วางใจกับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม
นอกจากนี้ นายชาญศิลป์ ยังกล่าวอีกว่า “ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี ปตท. มุ่งเน้นการพัฒนากระบวนการดำเนินงานในเชิงรุกเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่การดำเนินธุรกิจของกลุ่ม ปตท. จนเกิดเป็นต้นแบบการปฏิบัติที่เป็นเลิศ สามารถแลกเปลี่ยนแบ่งปันกันได้ทั้งภายในองค์กรและเป็นที่ยอมรับจากหน่วยงานภายนอก ในปี 2561 มีการจัดตั้งสายงานกำกับดูแลองค์กรและกิจการสัมพันธ์ โดยบูรณาการงานธรรมาภิบาล การบริหารความเสี่ยง และการปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับเข้าด้วยกัน เพื่อให้มั่นใจว่าระบบควบคุมมีความเหมาะสมและการปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิผล รวมทั้งปฏิบัติหน้าที่เป็นศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ (ศปท.) ของ ปตท. ตามแนวทางที่ภาครัฐกำหนด”
“ผมขอแสดงความยินดีกับบริษัทในกลุ่ม ปตท. ได้แก่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP) และบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC) ที่ได้รับรางวัลองค์กรโปร่งใส รวมไปถึง บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ที่ได้รับรางวัลชมเชยองค์กรโปร่งใส การได้รับรางวัลของกลุ่ม ปตท. ในครั้งนี้ถือเป็นกำลังใจสำคัญให้แก่บุคลากรของกลุ่ม ปตท. ที่ร่วมกันยืนหยัดบนเส้นทางแห่งความโปร่งใส สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการบริหารจัดการองค์กรอย่างมีธรรมาภิบาลของกลุ่มปตท. ซึ่งมีเจตนารมณ์อันแรงกล้าที่จะไม่ทนต่อการทุจริตในทุกรูปแบบ ตลอดจนการมุ่งพัฒนานวัตกรรมและสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติอย่างยั่งยืน”
จะเห็นว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรก แต่ท่ามกลางกระแสการโจมตีเรื่อง ปตท. กับการทุจริต ที่ถูกดิสเครดิตจากกลุ่มคนบางกลุ่ม ปตท. ก็ยังคงยืนหยัดและได้รับรางวัลด้านความโปร่งใสและธรรมาภิบาลอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากในและต่างประเทศ แสดงให้เห็นว่าคำว่า ทุจริต อาจเป็นเพียงคำที่ถูกใช้เพื่อสร้างความไม่ชอบธรรมให้กับองค์กรอย่างไร้หลักฐานเท่านั้น