บทวิเคราะห์ “ความต้องการใช้ก๊าซLPG ภาคขนส่งมีทิศทางพุ่งสวนทางราคาที่ปรับเพิ่ม”
บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ “ความต้องการใช้ก๊าซLPG ภาคขนส่งมีทิศทางพุ่งสวนทางราคาที่ปรับเพิ่ม” ระบุว่านับตั้งแต่ต้นปี 2555 จนถึงปัจจุบัน ราคาก๊าซLPG ภาคขนส่ง ได้ปรับเขึ้นไปแล้ว 3 ครั้ง ครั้งละ 0.75 บาท/กิโลกรัม รวม 2.25 บาท/กิโลกรัม ทำให้ราคาจำหน่ายเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 20.38 บาท/กิโลกรัม จาก 18.13 บาท/กิโลกรัม คาดว่าปริมาณการใช้ก๊าซLPG ในภาคขนส่ง จะยังคงมีทิศทางเพิ่มขึ้นสวนทางกับราคาที่ปรับเพิ่ม โดยพิจารณาได้จากจำนวนรถยนต์ที่ติดตั้งก๊าซLPG รายใหม่ ยังคงเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 11,000 คันต่อเดือน ซึ่งเหตุผลส่วนใหญ่เกิดจากราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2555 ไปแล้วเฉลี่ยราวร้อยละ 18.4 เป็นผลให้กลุ่มผู้ใช้น้ำมัน หันไปใช้พลังงานประเภทอื่นที่มีราคาต่ำกว่าและที่นิยมใช้มากก็คือก๊าซLPG เพราะราคาจำหน่ายยังอยู่ในระดับต่ำกว่าน้ำมันมาก ปริมาณการใช้ก๊าซLPG ที่เพิ่มขึ้น เกิดขึ้นพร้อมๆ กับภาระในการอุดหนุนราคาพลังงานของภาครัฐที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากปริมาณการผลิตก๊าซLPG ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศจึงต้องนำเข้าบางส่วนจากต่างประเทศในราคาที่สูง แต่ต้องนำมาจำหน่ายในประเทศด้วยราคาที่ต่ำกว่าเพื่อช่วยเหลือภาคประชาชน (ภาครัฐอุดหนุนราคาสำหรับก๊าซLPG ซึ่งนำเข้าในอัตราประมาณ 28 บาท/กิโลกรัม) ซึ่งถือว่าผิดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของภาครัฐ ที่มีนโยบายทยอยปรับขึ้นราคาก๊าซLPG เพื่อลดการอุดหนุน รวมทั้งชะลอการใช้เพื่อลดการนำเข้า ฉะนั้นในช่วงที่ราคาน้ำมันแพงภาครัฐจึงจำเป็นต้องเร่งส่งเสริมและสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนประเภทอื่น อาทิ แก๊สโซฮอล์ และไบโอดีเซล ที่ภาครัฐมีภาระในการอุดหนุนน้อยกว่ารวมทั้งเป็นพลังงานที่สามารถผลิตได้ในประเทศ อย่างไรก็ตามถ้าเร่งส่งเสริมพลังงานทดแทน…ลดผลกระทบจากการใช้ก๊าซLPG ภาคขนส่งที่เพิ่มขึ้น ผลจากความต้องการใช้ก๊าซLPG ภาคขนส่งที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แม้ว่าด้านหนึ่งจะช่วยลดภาระรายจ่ายด้านพลังงานของภาคประชาชนและธุรกิจ แต่ขณะเดียวกันก็จะส่งผลกระทบต่อภาคส่วนอื่นๆ ด้วยเช่นเดียวกัน อาทิ
• ผลกระทบต่อปริมาณการนำเข้าก๊าซLPG ที่เพิ่มขึ้น ความต้องการใช้ก๊าซLPG ในภาคขนส่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามราคาน้ำมันตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ไทยมีความจำเป็นต้องนำเข้าก๊าซLPG ในสัดส่วนที่สูงขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน โดยในปี 2555 นี้ คาดว่าปริมาณการนำเข้าก๊าซLPG จะปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่เฉลี่ย 160,000 ตัน/เดือน จากที่เคยคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 130,000 ตัน/เดือนในขณะที่ราคาก๊าซLPG ต่างประเทศคาดว่ายังคงทรงตัวในระดับสูงตามทิศทางราคาน้ำมัน โดยปัจจุบันราคาในต่างประเทศอยู่ที่ประมาณ 1,200 ดอลลาร์ฯ/ตัน ทำให้ภาครัฐมีภาระในการอุดหนุนราคาก๊าซLPG นำเข้าประมาณ 28 บาท/กิโลกรัม
• ภาระหนี้กองทุนน้ำมันสูง ผลจากการนำเข้าก๊าซLPG จากต่างประเทศในราคาสูง และนำมาจำหน่ายในประเทศในราคาที่ถูกกว่า ส่งผลทำให้ภาครัฐ มีภาระในการอุดหนุนราคาก๊าซเพิ่มขึ้น โดยในเดือนมกราคม 2555 มีการจ่ายเงินอุดหนุนประมาณ 2,200 ล้านบาท ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 3,800 ล้านบาทในเดือนกุมภาพันธ์ และคาดว่าในเดือนมีนาคม ภาระในการชดเชยจะสูงถึงประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสร้างภาระให้กับกองทุนน้ำมันที่ปัจจุบัน ยังมีภาระหนี้สินอยู่มากกว่า 20,000 ล้านบาท ทำให้กองทุนน้ำมันมีแผนที่จะเพิ่มวงเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินอีก 20,000 ล้านบาท จากวงเงินเดิม 10,000 ล้านบาทรวมเป็น 30,000 ล้านบาท เพื่อนำมาดูแลเสถียรภาพราคาพลังงาน
บทสรุป
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า การที่ภาครัฐทยอยปรับขึ้นราคาก๊าซLPG ในภาคขนส่ง ก็เพื่อต้องการลดการอุดหนุนและแทรกแซงราคาพลังงานโดยเฉพาะพลังงานที่ต้องพึ่งพาการนำเข้านั้นถือเป็นทิศทางที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม ผลจากโครงสร้างราคาก๊าซLPG ที่ยังไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ประกอบกับราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลทำให้ความแตกต่างระหว่างราคาก๊าซLPG ภาคขนส่ง กับราคาน้ำมัน จึงยังมีช่วงห่างกันอยู่พอสมควร ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันต่อเป้าหมายของภาครัฐที่กล่าวมาข้างต้น ในขณะเดียวกัน เนื่องจากการชดเชยราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น การชดเชยส่วนต่างราคาก๊าซLPG นำเข้า จึงยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องจากปัจจุบัน ถือเป็นภาระหนักของภาครัฐที่จะต้องแบกรับสูงขึ้นเรื่อยๆ และอาจทำให้วงเงินกู้ยืมที่กองทุนน้ำมันมีอยู่ ไม่เพียงพอที่จะรองรับการชดเชยในช่วงที่เหลือของปี จนอาจจำเป็นต้องเพิ่มวงเงินกู้ยืมใหม่อีก ซึ่งจะมีผลกระทบต่อฐานะของกองทุนน้ำมันที่ต้องมีภาระหน้าที่ในการดูแลเสถียรภาพของราคาพลังงานทั้งระบบในอนาคต
ดังนั้นรัฐจึงควรดำเนินนโยบายการปรับราคาก๊าซLPG ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ควบคู่ไปกับการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนประเภทอื่นๆ อย่างน้อยก็พอที่จะช่วยลดปริมาณการนำเข้าก๊าซLPG ลงได้บ้าง ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาดังที่กล่าวมาข้างต้นให้ทุเลาเบาบางลงได้